24 ต.ค. 2022 เวลา 04:03 • ไลฟ์สไตล์
"การเวียนว่ายตายเกิด คืออะไร ?
ภาษาคน VS ภาษาธรรม"
" … ท่านทั้งหลายคงจะได้ยินคำว่า เวียนว่ายตายเกิด อยู่ก่อนแล้วด้วยกันทุกคน แต่ก็ยังไม่มีความรู้อันถูกต้องและแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องอะไรกัน ก็ฟัง ๆ กันมา ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ยังไม่สามารถจะขจัดปัญหานา ๆ ประการ อันเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดนั้นได้
ในวันนี้อาตมาจึงกล่าวถึงเรื่องนี้ เมื่อพูดถึงเวียนว่ายตายเกิด ก็เป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า สังสารวัฏ
สังสารวัฏ คำนี้ก็แปลว่า วงกลมแห่งการว่ายเวียน
วงกลมแห่งการว่ายเวียน ก็คือ เวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง
เรามักจะพูดทับกันลงไปอีกทีหนึ่งว่า การว่ายเวียนในสังสารวัฏ
การว่ายเวียนนั้นเวียนไปในสังสารวัฏ คือเวียนไปในวงกลมแห่งการว่ายเวียน
และการว่ายเวียนนั้นมันมีลักษณะเป็นวงกลม จึงได้เรียกว่า สังสารวัฏ เรียกกันว่าสังสารวัฏ สั้น ๆ ง่ายๆ ก็สะดวกดี
ผู้ที่ยังไม่เข้าใจก็ยังมี จึงอยากจะบอกให้ทราบว่า สิ่งที่เรียกว่าสังสารวัฏนั้นมันตรงกันข้ามจากสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน
ถ้าไม่นิพพาน ก็ต้องเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
ถ้าไม่เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ก็คือ นิพพาน
ดังนั้นจึงกล่าวว่า นิพพาน เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
เราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท รู้อะไร หรือทำอะไรที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าสังสารวัฏ เมื่อเรามีหน้าที่อย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าสังสารวัฏ ขอให้สนใจให้ดี
สังสารวัฏ เป็นชื่อแห่งความทุกข์
นิพพาน เป็นชื่อแห่งความดับสนิทแห่งความทุกข์
การเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ก็คือเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะธรรมดาสามัญของปุถุชน ซึ่งจะเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์
สิ่งที่เรียกว่า สังสารวัฏ หรือ การเวียนว่ายตายเกิดนี้ มีอยู่ทั้งในภาษาคน และทั้งในภาษาธรรม
ขอให้จำไว้ตลอดกาลว่า ภาษาสองภาษา คือ ภาษาคนและภาษาธรรม นี้ต้องเคียงคู่กันไป ไม่มีทางที่จะเลิกเสียได้ เราจะต้องรู้พร้อมกันไปทั้งภาษาคนและภาษาธรรมในเรื่องหนึ่ง ๆ จึงจะรู้ถึงที่สุดของเรื่องนั้น ๆ
สิ่งที่เรียกว่าสังสารวัฏนี้ มีทั้งในภาษาคน มีทั้งในภาษาธรรม ปัญหามันมีว่า เราจะศึกษากันอย่างไหน ที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าหรือจำเป็นกว่า
ถ้าพูดอย่างภาษาคน สังสารวัฏก็อธิบายว่า มีคนตายแล้วเกิด ๆๆๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุถึงพระนิพพาน นี่เรียกว่าพูดอย่างภาษาคน ตามความรู้ที่ได้บอกเล่าสั่งสอนกันมา
ถ้าพูดเป็นภาษาธรรม ก็หมายถึงการเกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในจิตใจของคน แห่งความคิดนึกที่เป็นอุปาทาน คือความยึดมั่นเรื่องตัวตนของตน เกิดแล้วเกิดแล้ว ๆๆ เกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิด ๆๆๆ อย่างนี้อยู่เรื่อยไป
เรียกว่าตัวตนของตนมันเวียนว่ายอยู่ในกระแสแห่งการเกิดดับในจิตใจของคน นี้ก็อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าสังสารวัฏในภาษาธรรม
ทีนี้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถอะว่า สังสารวัฏในความหมายไหนที่มีความจำเป็น รีบด่วน ที่เราจะต้องศึกษาให้รู้ หรือว่าสังสารวัฏในความหมายไหนที่จะให้ประโยชน์แก่การประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของเราโดยเร็ว
แต่ถึงอย่างไรก็ดี อาตมายังยืนยันว่าสังสารวัฏทั้งสองความหมายยังมีประโยชน์อยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าจะต้องแยกกัน
การถือความหมายของคำว่าสังสารวัฏในภาษาคน มีคนเวียนว่ายตายเกิดนี้ก็ดี มันจำเป็นที่จะต้องมีสำหรับบุคคลที่ยังไม่รู้ธรรมะอันลึกซึ้ง
มีประโยชน์ในทางศีลธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป เขาจะได้เกิดความรู้สึกที่กลัวบาป แล้วก็กล้าบุญ แล้วก็ตั้งใจที่จะทำบุญไว้ให้มาก ๆ สำหรับจะได้เวียนว่ายตายเกิดอย่างดี
ฟังดูก็น่าประหลาดอยู่ ที่ว่าจะได้เวียนว่ายตายเกิดอย่างดี คือมีความสุข ตามที่เขาต้องการ
เขาต้องการที่จะเวียนว่ายตายเกิดไปในกองแห่งความสุข นี่มันจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ หรือมันจะน่าหัวหรือไม่
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์นั้นมองเห็นได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย แต่เวียนว่ายอยู่ในกองสุขนี้จะเป็นได้อย่างไร เดี๋ยวก็จะได้พิจารณากันดูอีกทีก็ได้
เราจะต้องมีคำสอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิดในภาษาคน คือที่รู้สึกกันอยู่ทั่ว ๆ ไปแล้วนี่แหละไว้สำหรับคนธรรมดาสามัญ ซึ่งไม่มีหนทางที่จะหยุดการเวียนว่ายตายเกิด
พร้อมกันนั้นเราก็จะต้องมีความรู้เรื่องเวียนว่ายตายเกิดในภาษาธรรม คือเกิดแห่งความคิดนึกที่เป็นอุปาทานนี้ ความรู้นี้ก็สำหรับผู้ที่มีความรู้ มีความรู้ธรรมะที่เป็นธรรมะสัจจะยิ่ง ๆ ขึ้นไป
และสามารถที่จะหยุดการเวียนว่ายเสียได้ คือมีวิธีที่จะหยุดการเวียนว่ายเสียได้ทันในปัจจุบัน ที่ทันตาเห็นนี้
จะพูดถึงการเวียนว่ายในภาษาคนโดยละเอียดต่อไปอีกหน่อย เพื่อจะเปรียบเทียบกัน
เมื่อพูดโดยภาษาคน การเวียนว่ายตายเกิดนั้นมันต้องมีคน ตามที่เขารู้สึกกันอยู่ว่ามีตัวฉัน ตัวเรา ตัวกูนี่แหละเป็นผู้เวียนว่าย ก็เป็นการพูดในภาษาคนมันก็ต้องมีคน แต่ถ้าพูดในภาษาธรรมมันไม่มีคน มันมีแต่ธรรม มันเลยกลายเป็นนามธรรมคือความคิดนึก
ถ้าพูดอย่างภาษาคน ก็มีคน ๆ หนึ่งของแต่ละคน ที่เราเรียกว่าตัวเรานี้ ก็เวียนว่ายไปในสังสารวัฏ แล้วก็เชื่อกันว่าจนกว่าจะถึงพระนิพพาน จึงจะหยุดเวียนว่าย
แต่ขอให้เข้าใจว่า การเวียนว่ายอย่างนี้ มันเป็นลัทธิที่สอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล หรือแม้ในสมัยพุทธกาลหรือหลังจากพุทธกาลของอีกพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา ซึ่งเราเรียกกันว่าของฝ่ายฮินดู
ฝ่ายฮินดูเขาก็มีคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของตัวตน ก็เวียนว่ายไป เวียนว่ายไป ก็ฉลาดขึ้น ๆ ๆ ก็เวียนว่ายไปจนฉลาดถึงที่สุด สามารถหยุดการเวียนว่ายเสียได้ เพราะว่าได้เข้าไปรวมอยู่กับตัวตนอันใหญ่ยิ่ง ที่เรียกว่าปรมาตมัน คือ บรมอัตตา
การเวียนว่ายตายเกิดของฝ่ายนี้ ฝ่ายฮินดูนี้ ก็คือ อัตตา เป็นผู้เวียนว่าย ๆ สั่งสมความดี ความฉลาด สติปัญญามากขึ้น ๆ จนเป็นมหาอัตตา เป็นมหาดอัตมา คือมีตัวตนที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมอันใหญ่หลวง
แล้วไม่เท่าไรไอ้มหาอัตตา หรือ มหาดอัตมา นี้ก็จะเข้าไปรวมกับปรมาตมัน หรือ ปริมาตรตมา คือ บรมอัตตา แล้วก็จบกัน คืออยู่เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก
อย่างนี้เขาก็มีอยู่ลัทธิหนึ่ง และก็มีอยู่แล้ว
พุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็ยอมรับเรื่องเวียนว่ายตายเกิดไปตามเหตุตามปัจจัย พูดโดยภาษาคนสำหรับคนธรรมดาฟัง ก็พูดว่าเวียนว่ายไปในวัฏสงสาร จนกว่าจะมีความรู้เกิดขึ้น กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือทำลายความรู้สึกว่าตัวตนซึ่งเป็นผู้เวียนว่ายนั้นเสีย
ท่านลองคิดดูว่ามันเดินกันคนละทางอย่างไร
เราจะหยุดเวียนว่ายได้ โดยการศึกษาจนรู้ว่า
มันไม่มีใครเวียนว่าย มันไม่มีตัวมีตน
หรือเป็นอัตตาอะไรที่ไหน ที่มาเวียนว่าย
มันเป็นแต่ธรรมชาติ
นามรูป คิดนึก รู้สึก เป็นตัวตนแล้วก็เวียนว่าย
พอรู้แจ้งว่าไม่มีตัวตน มันก็หยุดเวียนว่ายเอง
เพราะมันไม่มีตัวตนที่จะเวียนว่าย
แปลว่าเราทำลายตัวตนผู้เวียนว่ายเสีย มันก็หมดการเวียนว่าย สิ้นสุดการเวียนว่าย ก็สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่ไปเป็นอะไรนิรันดรอย่างในศาสนาฮินดู
เรื่องมันก็แตกต่างกันอยู่อย่างนี้
คือศาสนาฮินดูเขาก็มีตัวตนเรื่อยไป ตลอดเวลา จนไปรวมเป็นตัวตนใหญ่ แล้วก็อยู่เป็นนิรันดร
อย่างฝ่ายเรานี้ก็อธิบายว่า มีตัวตนด้วยความสำคัญผิดว่าตัวตนไปพลาง ก็เวียนว่ายไปตามความโง่ หรืออวิชชานั้น จนกว่าจะรู้สึกว่า … อ้าวว ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมชาติล้วน ๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
พอหยุดตัวตนเสีย มันก็ไม่มีตัวตนที่จะเวียนว่าย
สังสารวัฏก็หยุดลง
ความเป็นนิพพาน คือความดับลง สลายลงแห่งตัวตน
ก็เลยเลิกกัน
ไม่ต้องมีอะไรที่จะเหลืออยู่เป็นนิรันดร
1
ที่ว่า นิพพาน เป็นนิรันดร เป็นอมตะ ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น
หมายถึงสภาวะที่ปราศจากการปรุงแต่งนั้น
เมื่อเข้าถึงได้ก็เรียกว่า ‘เข้าถึงสภาพนิรันดร’ คือ อสังขตธรรม
ซึ่งเป็นของที่ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
มีอยู่ได้เองเป็นนิรันดร
ไม่ใช่ว่าตัวตน หรือ อัตตานี้ ไปเป็นนิรันดร
แต่ถ้าพูดอย่างนี้มันไม่ค่อยมีคนชอบ จะพูดให้ว่าตัวตนนี้มันเข้าไปสู่อสังขตะ หรือนิพพาน เป็นนิรนดรไปก็ได้เหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องพูดชนิดที่ สำหรับโฆษณาชวนเชื่อเสียมากกว่า
อย่างเดียวกับที่จะพูดว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้สนใจในนิพพาน
จริง ๆ นิพพานนั้นอยู่เหนือความเป็นสุขอย่างยิ่งไปเสียอีก มันเหนือความเป็นสุขจนไม่เกี่ยวกับความสุข นั่นคือนิพพาน แต่ถ้าพูดอย่างนี้ไม่มีใครชอบ มันไม่สนุกอะไร สู้พูดว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดว่าการเวียนว่ายตายเกิดก็ไปจบลงที่พระนิพพาน คือสลายลงแห่งตัวตน ไม่มีตัวตนจะเวียนว่ายอีกต่อไป มันก็เหลืออยู่แต่สภาพที่ไม่เวียนว่าย คือ พระนิพพาน
จงรู้จักแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างนิพพานในพุทธศาสนา กับ นิพพานในศาสนาอื่น เช่น ศานาฮินดู เป็นต้น
ขอให้เข้าใจไว้ว่า คำว่านิพพานนี้เป็นของเก่า ไม่ผูกขาดไว้ในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง มีคำว่า นิพพาน ใช้ด้วยกันทุกศาสนา เป็นคำพูดที่มีความหมายในตัวมันเองว่ามันไม่มีความทุกข์ ดับเย็นสนิทแห่งความทุกข์ ใคร ๆ ก็ชอบ แต่แล้วก็มีการสอนให้ลุถึงนิพพานโดยวิธีต่าง ๆ กัน
คนก็รับเอาไปเชื่อ เอาไปถือด้วยกันทุก ๆ ลัทธิ ตามระดับแห่งสติปัญญาของตน
สอนถูกเกินไป สอนจริงเกินไป คนโง่ก็รับเอาไม่ได้ ก็สั่นหัวแล้วก็ไม่รับเอา
ฉะนั้นต้องมีการสอนในระดับหนึ่งซึ่งคนโง่รับเอาได้ และพอใจยินดี … "
.
บางตอนจากการบรรยายประจำวันเสาร์แห่งภาควิสาขบูชาครั้งที่ 11
โดย ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา