31 ต.ค. 2022 เวลา 23:48 • สุขภาพ
#จะทำอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมตอนตั้งครรภ์ ตอนที่ 1
สวัสดีครับ คุยเฟื่องเรื่องศัลย์กับหมอโภคิน วันนี้หมอมีเรื่องราวของ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมขณะที่ตั้งครรภ์ มาเล่าให้ทุกคนฟังกันครับ
เริ่มจาก มีอยู่วันหนึ่ง หมอได้ออกตรวจคนไข้มะเร็งเต้านมตามปกติ แต่ได้รับการส่งปรึกษาคนไข้คนหนึ่งจากคุณหมอสูตินรีเวช เนื่องจากคลำได้ก้อนขนาดใหญ่ชัดเจนมากขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน โดยที่ ครรภ์นี้เป็นครรภ์แรกของคุณแม่ท่านนี้ และเธอก็มีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น
หลังจากที่ได้ตรวจร่างกาย หมอจึงส่งคุณแม่ท่านนี้ไปตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านม และเจาะชิ้นเนื้อจากก้อนมาส่งตรวจ ผลปรากฏว่า เธอเป็น "มะเร็ง"
คำถามคือ แล้วเราจะรักษามะเร็งเต้านมในคนไข้ที่ตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
มะเร็งเต้านมในระยะตั้งครรภ์ (PREGNANCY-ASSOCIATED BREAST CANCER : PABC) หมายถึง การเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอด1ปี โดยมะเร็งในคนไข้กลุ่มนี้จะมีความยากในการเลือกแนวทางการรักษาค่อนข้างมาก เพราะ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของแม่และเด็กในการรักษา
โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสอยู่ที่ 1 ใน 10,000 คน โดยมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ผู้หญิงในปัจจุบันมีลูกช้าลง
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในหญิงตั้งครรภ์นั้น มีด้วยกัน 2 ประการคือ
1.ขณะมีการตั้งครรภ์ ร่างกายจะเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ทำให้ ถ้าเกิดผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว ก็จะเกิดการเร่งให้เกิดการโตและการแพร่กระจายของมะเร็งในช่วงที่ตั้งครรภ์นี้เอง
2.ในช่วงที่ตั้งครรภ์จะเกิดการกระตุ้นการเจริญของเต้านมด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้เกิดการกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านมากกว่าภาวะปกติในช่วงที่ตั้งครรภ์
อายุที่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งขณะตั้งครรภ์นี้จะน้อยกว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วไป โดยจะอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ในขณะผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วไปจะอยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปี นอกจากนนี้ ยังมีการโตของก้อนมะเร็งค่อนข้างไว โดยค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมขณะตั้งครรภ์ จะมีขนาดของก้อนมะเร็งอยู่ที่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป
และนอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วไปถึง 1.5-1.6 เท่า เลยทีเดียว
ถ้าคุณมีอาการผิดปกติที่หน้าอกหรือเต้านมอย่างนิ่งนอนใจ
รีบไปพบแพทย์ใกล้บ้านนะครับ
ด้วยรัก
#คุยเฟื่องเรื่องศัลย์
#หมอโภคิน
ศัลยแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ
REFERENCE
Duivenvoorden, H.M. et al. (2017) Myoepithelial cell-specific expression of stefin A as a suppressor of early breast cancer invasion. J. Pathol. 243, 496–509
Sternlicht, M.D. et al. (1997) The human myoepithelial cell is a natural tumor suppressor. Clin. Cancer Res. 3, 1949–1958
Pal, B. et al. (2017) Construction of developmental lineage relationships in the mouse mammary gland by single-cell RNA profiling. Nat. Commun. 8, 1627
Kaanta, A.S. et al. (2013) Evidence for a multipotent mammary progenitor with pregnancy-specific activity. Breast Cancer Res. 15, R65

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา