1 พ.ย. 2022 เวลา 08:36 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 8
✨ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรอิตาลีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (Kingdom of Italy)
ภาพถ่ายของทหารอิตาลีกำลังยืนพักที่แนวรบอาซิอาโก้ (Asiago) ขอขอบคุณรูปภาพ: Q65126
✨ด้านการเมืองและรัฐบาลของราชอาณาจักรอิตาลี
อิตาลีนั้นถือเป็นชาติที่ยังเยาว์วัย อันที่จริงแล้วราชอาณาจักรอิตาลีพึ่งจะได้รับการสถาปนาขึ้นในปี ค.ศ. 1861 จากการรวมตัวกันของรัฐอิตาลีต่างๆ แต่ว่าในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศอิตาลีนั้นมีมาช้านานเสียมากแล้ว หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน อิตาลีก็ไม่เคยได้รวมตัวกันเป็นชาติอีกครั้งเลย
แต่หลังจากการทำสงครามถึง 3 ครั้งกับออสเตรีย-ฮังการีและการแทรกแซงของฝรั่งเศส กลุ่มชาตินิยมภายใต้การนำของนายพล จูเซปเป การีบัลดี (General Giuseppe Garibaldi) ก็ได้สร้างชาติอิตาลีของพวกเค้ากลับคืนมา การรวมชาติอิตาลีในระยะแรกนั้นอาจจะยังไม่สงบดีนัก แต่เมื่อย่างเข้าปี ค.ศ. 1870 การเมืองในอิตาลีนั้นก็เริ่มที่จะสงบลงเมื่อพวกเสรีนิยมเข้ามามีอำนาจในประเทศ (The Great War, Italy, 2015) (Sondhaus, World War One, 2020, #31-33)
อย่างไรก็ตามหลังจากการรวมชาติของอิตาลีนั้นก็มีผู้คนมากมายที่มองว่า ยังคงมีดินแดนอีกหลายส่วนที่เป็นของชาติอิตาลีแต่ยังมิได้ถูกรวบรวม ซึ่งพื้นที่หลักๆเลยก็คือเทือกเขาแอลป์ทางตอนใต้ ซึ่งก็คือเทรนทีโน่ (Trentino) และท่าเรือทรีเยส (Trieste) ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
ภาพถ่ายของท่าเรือตรีเยสเต (Trieste)
เพราะฉะนั้นสิ่งที่นำอิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็คือลัทธิสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืน (Irredentism) การทวงดินแดนของอิตาลีกลับคืนมา ส่วนระบอบการปกครองของอิตาลีก็คือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมี พระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอลที่ 3 แห่งอิตาลี (Victor Emmanuel Ⅲ) ครองชารย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 - 1946
ภาพถ่ายของพระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 3 แห่งอิตาลี (Victor Emmanuel Ⅲ) ในปี ค.ศ. 1919
แต่ก็ยังคงมีฝ่ายพรรคการเมืองคริสตจักรคาทอลิกอนุรักษนิยมที่เรียกร้องให้พระสันตะปาปา พายยัสที่ 9 (Pope Pius Ⅸ) ประท้วงรัฐบาลอิตาลีที่ตัดสินใจผนวกกรุงโรมโดยการคว่ำบาตรการเมืองอิตาลี ปัญหาเรื่องสถานะของสมเด็จพระสันตะปาปาที่มีต่อรัฐบาลอิตาลีนั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งได้มีการเซ็นสนธิสัญญาลาเตรันของเบนิโต มุสโสลินีในปี ค.ศ. 1929 (Lateran Treaty of 1929) และได้มีการก่อตั้งนครวาติกันขึ้นมา (The Great War, Italy, 2015) (The Great War, Italy, 2015)
ยุคเสรีนิยมของอิตาลีนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 - 1914 (Liberalism) และในช่วงเวลานั้นเอง จีโอวานนี่ จีโอลิทตี้ (Giovanni Giolitti) ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลี อันที่จริงแล้วช่วงเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 - 1914 นั้นถูกเรียกกันว่ายุคจีโอลิทตี้
ภาพถ่ายของ โจวันนี้ โจลิตตี (Giovanni Giolitti)
ท่านถือเป็นหนึ่งในผู้คลั่งแนวคิด ‘ทรานสฟอร์มิสโม่’ (Transformismo) หรือก็คือแนวคิดในการแยกกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายแบบสุดขีด–ฝ่ายขวาแบบสุดขีด (Extreme Left wing - Extreme Right wing) และสร้างรัฐบาลผสมขึ้นมา จีโอลิทตี้นั้นเป็นคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมและยังได้อนุมัติแผนการปฎิรูปสังคมมากมายเพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้เริ่มต้นขึ้นท่านก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
จีโอลิทตี้นั้นถูกแทนที่ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1914 ด้วย แอนโทนิโอ้ ซาแรนดร้า (Antonio Salandra) ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ว่ากันว่ากลุ่มพรรคการเมืองสุดขีดนั้นเกลียดจีโอลิทตี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลัทธิสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืน กลุ่มพวกนี้คิดว่าความคิดของจีโอลิทตี้นั้นไร้วิสัยทัศน์และอ่อนแอ นอกจากนี้ประเทศอิตาลีเองยังเต็มไปด้วยกลุ่มพรรคการเมืองที่มีแนวคิดหัวรุนแรง ทำให้ช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายและยุ่งเหยิงสำหรับประเทศอิตาลี
✨ด้านการค้า/อุตสาหกรรมและสังคมความเป็นอยู่ของผู้คนชาวอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 19-20
ในปี ค.ศ. 1914 ประเทศอิตาลีนั้นจะมีประชากรอยู่ที่ราวๆ 35 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีขนาดพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้อิตาลีได้กลายมาเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหกของยุโรป ถึงกระนั้นอิตาลีก็ยังคงเป็นประเทศที่ยากจนและเน้นการทำงานภาคเกษตรกรรมเป็นหลักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป มิหนำซ้ำรายได้ต่อคนนั้นอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศฝรั่งเศส
แผนที่ของจักรวรรดิอิตาลีในปี ค.ศ. 1914
หลังจากการรวมชาติราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ยังจะต้องพบเจอกับปัญหามากมายตั้งแต่ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตลอดไปจนถึงปัญหาทางการเมือง สังคม และการแบ่งแยกชนชาติและชนชั้น ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหากรรมเหล็กของอิตาลีก็มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังต้องพึ่งการนำเข้าถ่านหินและข้าวสาลีจากอังกฤษ (The Great War, Italy, 2015) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #320-321) (Sondhaus, World War One, 2020, #31-33)
ภาพถ่ายของบ้านเมืองอิตาลีในปี ค.ศ. 1890
ในเชิงวัฒนธรรมเองก็ยุ่งเหยิงไม่แพ้กัน จริงอยู่ที่ว่าอิตาลีนั้นได้ถูกรวบรวมขึ้นมาเป็นชาติแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้รวบรวมจิตใจความเป็นหนึ่งเดียวในหมู่ประชาชนเลยแม้แต่น้อย ในเชิงของภาษาแล้วชาวเวนิส เมืองทางตอนเหนือของอิตาลี ไม่สามารถพูดคุยกับชาวซิซิลีได้อย่างรู้เรื่อง ซึ่งก็คือเมืองทางตอนใต้ของอิตาลี ภาษาอิตาลีนั้นเป็นภาษาถิ่นของฟลอเรนซ์และมักจะใช้ในการสื่อสารของเหล่ากลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น
นอกจากนี้การรวมชาติอิตาลีเองก็ยังไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ได้มีการปฎิรูปสังคมตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้อำนาจและความมั่งคั่งนั้นตกไปอยู่กับเจ้าของที่ดินและนักอุตสาหกรรมเสียมาก หนึ่งในบทความหลังจากการรวมชาติอิตาลีเป็นไปดังนี้:
ตอนนี้เราได้สร้างอิตาลีขึ้นมาแล้ว เรายังต้องสร้างชาวอิตาเลียน
Now we have made Italy, we still have to make the Italians
อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การเมืองอิตาลีนั้นค่อนข้างรุนแรงกว่าประเทศอื่นในยุโรป หรือแม้แต่ในตัวศิลปะเองก็เช่นกัน คุณจะสามารถเห็นวีรบุรุษของชาติที่ถูกยกย่องในภาพวาด หรือศิลปะที่เกี่ยวกับรถยนต์ ปืน หรือความคิดชาตินิยมสำหรับสงคราม อย่างเช่นบทความนี้
พวกเราต้องการที่จะยกย่องสงคราม ความคิดเดียวที่เหมาะสมสำหรับโลกใบนี้ ลัทธิทหารเอย ลัทธิรักชาติเอย ความคิดอันสวยงามทั้งหลายที่เราควรจะตายเพื่อมัน
We want to glorify war - the only hygiene for the world - militarism, patriotism… beautiful ideas to die for
✨ความฝันในการสร้างจักรวรรดิโรมันอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเกิดเป็นชาติอย่างจัดเจนแล้ว อิตาลีเองก็มีแนวคิดเรื่องการล่าอาณานิคมไม่ต่างจากชาติอื่นๆ แต่กว่าที่อิตาลีจะลงมือหาอาณานิคมก็เหลือแต่ดินแดนที่ไม่ค่อยมีค่าทางด้านเศรษฐกิจเสียเท่าไหร่แล้ว อย่างไรก็ตามแผนการสร้างอาณานิคมก็ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลอิตาลีอยู่ดี ชาวอิตาลีนั้นมีความคิดที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ในปี ค.ศ. 1869 อิตาลีได้ซื้อท่าเรือขนาดเล็กจากผู้คนท้องถิ่นในเอริเทรีย (Eritrea) และเริ่มขยายอิทธิไปในบริเวณนั้น จนในที่สุดอิตาลีก็ได้ยึดครองเอริเทรียเป็นอาณานิคมในปี ค.ศ. 1885 และเข้ายึดโซมาลิแลนด์ในปี ค.ศ. 1886 แต่พื้นที่ของทั้งสองดินแดนนี้ไม่มีความอุดมสมบูรณ์เอาเสียเลย อิตาลียังคงโลภมากและอยากจะขยายอาณาเขตต่อไป (มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป, 1997, #219) (Johnsen, How did Italy Lose Ethiopia, 2018)
แต่นั่นก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะสานฝันในการสร้างจักรวรรดิโรมันของอิตาลีได้สำเร็จ ต่อมาประเทศอะบิสซิเนีย ปัจจุบันรู้จักกันในนามเอธิโอเปีย ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 (Menelik Ⅱ) ก็ได้ล้มเลิกข้อตกลงในการดำเนินตามนโยบายการต่างประเทศของอิตาลีที่ได้ลงนามกันไว้ในปี ค.ศ. 1889
ไม่เพียงแค่นั้นกลุ่มผู้ก่อการร้ายเอธิโอเปียยังได้ทำการเข้าโจมตีอาณานิมของอิตาลีด้วยเช่นกัน ส่งผลให้อิตาลีได้อ้างเหตุผลดังกล่าวเข้าโจมตีและยึดครองเอธิโอเปียในปลายปี ค.ศ. 1894 เอธิโอเปียได้รับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิรัสเซียที่ปกครองโดยรัฐบาลของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้นับถือศาสนาคริสเตียนออร์โธดอกซ์เหมือนกัน
ผลที่ตามมานั้นคือทางสหาราชอาณาจักรอังกฤษที่เป็นปรปักษ์กับรัสเซียเรื่องการตีแผ่อำนาจในทวีปเอเชียก็ได้ตัดสินใจหนุนหลังอิตาลี ในสงครามอิตาลี-เอธิโอเปียครั้งที่ 1 อิตาลีได้เข้ารุกรานเอธิโอเปียและดูเหมือนกำลังจะมีชัยแต่ท้ายที่สุดก็ได้พ่ายแพ้ในยุทธการอัดวา
ภาพวาดของยุทธการอัดวา
อิตาลีจึงต้องถอนกำลังกลับไปยังเอริเทรียและเซ็นสัญญายอมรับความพ่ายแพ้ณสถานที่ แอดดิส อาบาบา ซึ่งก็คือเมืองหลวงของเอธิโอเปีย ความล้มเหลวในสงครามครั้งนี้ทำให้อิตาลีต้องอับอายขายขี้หน้าในระดับนานาชาติ เพราะพวกเค้าได้พ่ายแพ้ให้แก่ประเทศที่ด้อยพัฒนาและล้าหลังในแอฟริกา และยังทำให้อิลาตีจำต้องยอมรับในอธิปไตยของเอธิโอเปีย (Knowledgia, Why wasn't Ethiopia Colonized?, 2021) (มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป, 1997, #219) (Johnsen, How did Italy Lose Ethiopia, 2018)
อย่างไรก็ตามอิตาลียังคงดำเนินตามแผนการที่จะขยายอาณานิคมของตนไปอย่างไม่หยุดยั้ง และยังได้พยายามที่จะทำให้อิตาลีกลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลก นับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม - 7 กันยายน ค.ศ. 1901 อิตาลีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังพันธมิตรทั้งแปดชาติในการปราบปรามกบฎนักมวยในประเทศจีน
ภาพถ่ายของหน่วยแยกทหารเรืออิตาเลียนที่เทียนจิน (Tiānjīn/Tientsin)
ส่งผลให้ในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901 รัฐบาลของราชวงศ์ชิงได้ส่งมอบพื้นที่สัมปทานเขตเช่าที่เมืองเทียนซินให้แก่อิตาลี (Tientsin) ได้มีการตกลงเซ็นสัญญาขั้นตอนสุดท้ายในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1902 ทำให้พื้นที่สัมปทานดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้ จึงนำไปสู่การจัดตั้งกงสุลอิตาลีเพื่อเข้าครอบครองและทำการบริหารจัดการเขตดังกล่าว
ต่อมาในปี ค.ศ. 1911 อิตาลีได้ประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันและเข้ารุกรานดินแดนตริโปลิเตเนีย (Tripolitania) เฟชชัน (Fezzan) และไซเรโนกา (Cyrenaica) ซึ่งรวมกันเป็นดินแดนลิเบีย สงครามได้จบลงในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1912
ภาพถ่ายของทหารอิตาลีกำลังยิงปืนใส่ทหารชาวเติร์กที่ตริโปลิ ในปี ค.ศ. 1911
เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เซ็นสนธิสัญญายุติสงครามกัน ผลจากชัยชนะในสงครามครั้งนี้ก็คืออิตาลีสามารถยึดครองลิเบียมาเป็นอาณานิคมของตน ความสำเร็จในสงครามครั้งนี้ยังทำให้เหล่าชนชั้นสูงสุขสำราญกับชัยชนะและเชื่อว่าอิตาลีนั้นเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง
แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในอิตาลีกลับมองต่างออกไป ทางรัฐบาลนั้นสัญญาว่าจะจบสงครามแต่โดยไวและนำชัยชนะอันยิ่งใหญ่กลับมาสู่ชาวอิตาเลียน แต่นั่นก็ไม่ได้เกิดขึ้นและมันใช้เวลาถึงปีในการที่จะจบมัน จริงอยู่ที่ว่าพวกเขาได้ดินแดนลิเบียเป็นผลตอบแทน แต่สงครามก็ได้สร้างหายนะทางเศรษฐกิจและต้องใช้กำลังพลเป็นจำนวนมากในการจบมัน
นอกจากนี้แล้วชัยชนะในครั้งนี้ยังไม่ได้ช่วยปรับปรุงชื่อเสียงทางการทหารของอิตาลีต่อเหล่าประเทศมหาอำนาจในยุโรปเลยแม้แต่น้อย แต่มันยังทำให้มีทหารอิตาลีเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พอคิดเป็นตัวเลขแล้วจะมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 3,500 นาย และบาดเจ็บอีก 4,250 นาย (รูปที่ 8) (รูปที่ 9) (The Great War, Italy, 2015) (History.com Editors, Boxer Rebellion, 2019) (Coco, 2018, #2) (Simon, 2016) (The Great War, Italo-Turkish War, 2021)
✨ทางการทหารของประเทศอิตาลี
นอกจากนี้อิตาลีนั้นยังได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของไตรพันธมิตร (Triple Alliance) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการทหารระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลี ที่ได้ลงนามกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1882 อย่างไรก็ตามพันธมิตรนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่คนอิตาลีมากนัก เนื่องจากพันธมิตรของอิตาลีซึ่งก็คือออสเตรีย-ฮังการียังคงครอบครองภูมิภาคที่มีผู้คนที่ใช้ภาษาอิตาลีในการสื่อสารเป็นหลักอยู่ ทางเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีจึงสงสัยว่าถ้าหากในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นจริง อิตาลีจะยังคงทำตามสนธิสัญญาที่ให้ไว้ได้หรือไม่
ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 รัฐบาลอิตาลีได้ประกาศบังคับใช้กฎการเกณฑ์ทหาร แต่มีกำลังพลเพียงแค่ 25% ของจำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิในการเกณฑ์ทหารได้รับการฝึกซ้อม กองทัพบกอิตาลีนั้นมีชื่อว่า ‘เรโจ้ย แซชิโต๊ะ’ (Regio Esercito) อันที่จริงอิตาลีมีทหารประจำการอยู่เพียงแค่ประมาณ 250,000 นาย ทำให้กองทัพยามสงบของอิตาลีมีขนาดเล็กที่สุดในยุโรปเลยก็ว่าได้
ภาพถ่ายของนายพล ลูอิจิ คาดอน่า (General Luigi Cadorna) กำลังพูดคุยกับทหารอิตาเลียนในสงครามโลกครั้งที่ 1
ส่วนกองทัพเรืออิตาลีมีนามว่า ‘ริเกียร์ มารีน่า’ (Regia Marina) เมื่ออิตาลีเข้าร่วมสงครามโลกในปี ค.ศ. 1915 กองทัพเรืออิตาลีจะมีเรือเดรดนอทอยู่ 4 ลำซึ่งเทียบเท่ากับของกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการี
ภาพถ่ายของเรือประจัญบานเดรดนอท จูลิโอ เชสซึเร่ (Giulio Cesare) ในปี ค.ศ. 1914
อิตาลีนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่เรียนรู้ถึงศักยภาพของเครื่องบินได้ช้า กองทัพอากาศอิตาลีมีนามว่า ‘คอโป แอร์ริโนติโก มิริตาลี’ (Corpo Aeronautico Militare) และเมื่อกองทัพอากาศอิตาลีเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเขาจะมีเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการทางการอยู่เพียงแค่ 86 ลำ และยังมียานเหาะอีกประมาณ 4 ลำด้วยกัน (The Great War, Italy, 2015) (Simkin, Italy 1914, 2020) (Sondhaus, World War One, 2020, #32-33) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #331)
ภาพถ่ายของเครื่องบินอิตาลีในสงครามอิตาลี-ตุรกี
บรรณานุกรม
โฆษณา