1 พ.ย. 2022 เวลา 14:32 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 9
✨ประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (German Empire)
1
แผนที่ของประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 1914  ขอขอบคุณรูปภาพจาก: oerproject
✨ด้านการเมืองและรัฐบาลของจักรวรรดิเยอรมนี
ภายใต้การนำของ ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ปรัสเซียก็มีชัยเหนือเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1864 มีชัยเหนือออสเตรียในปี ค.ศ. 1866 แต่สงครามครั้งสำคัญที่นำมาสู่การรวมชาติเยอรมนีเลยก็คือ สงครามแฟรงโก้-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1870 - 1871
1
ภาพถ่ายของอัครมหาเสนาบดี ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)
และท้ายที่สุดปรัสเซียก็มีชัยเหนือฝรั่งเศส โดยที่กองทัพปรัสเซียได้เดินย่ํายีไปทั่วผืนดินฝรั่งเศส เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังได้นำไปสู่การสถาปนา ‘ไรช์ที่สอง’ (Second Reich) หรือก็คือจักรวรรดิเยอรมนีนั่นเอง โดยมีพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซียเป็นจักรพรรดิ (William Ⅰ) และมี ออทโท ฟอน บิสมาร์ค เป็นอัครมหาเสนาบดี (Sondhaus, World War One, 2020, #26-27)
2
ภาพวาดของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นได้รับการอภิเษกให้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิเยอรมนีที่พึ่งถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพระราชวังแวร์ซาย วันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1871
ระบอบการปกครองของจักรวรรดิเยอรมนีนั้นค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่น ระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1871 ของจักรวรรดิเยอรมนีสามารถอธิบายได้เป็นสองอย่าง อย่างแรกก็คือเราสามารถอธิบายได้ว่าเป็นสหพันธ์ของอาณาเขตที่เคยเป็นอธิปไตยและรัฐในเมืองอิสระ แปลว่าแต่ละรัฐก็จะมีเจ้าชาย รัฐธรรมนูญ และรัฐบาลเป็นของตนเอง โดยมีกษัตริย์แห่งปรัสเซียเป็นประธานในสหพันธและดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิแห่งเยอรมนี หรือเรียกกันว่า ‘ไคเซอร์’ (Kaiser)
อย่างที่สองก็คือเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีรัฐบาลกลางและยังมีการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามทางเทคนิคแล้วเยอรมนีถือเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลประกอบไปด้วยสองรัฐสภาซึ่งก็คือ สภาผู้แทนราษฎรหรือเรียกว่า ‘ไรช์สตัก’ (Reichstag) และสภาผู้แทนรัฐในสหพันธ์หรือเรียกกันว่า ‘บุนเดินสราท’ (Bundesrat)
นอกจากนี้ลัทธิทหารเองยังเป็นส่วนสำคัญและมีอิทธิพลทั้งในด้านการเมืองและการปกครองด้วยเช่นกัน ไรช์สตักนั้นถือเป็นรัฐสภาแห่งเดียวในยุโรปที่รัฐมนตรีสามารถใส่ชุดเครื่องแบบและพกดาบเข้าไปได้ มันคือรัฐบาลที่รวบรวมทั้งแนวคิดระบอบศักดินา ข้าราชการและเผด็จการเข้าด้วยกัน โดยที่พวกเขาทั้งหมดเป็นปรปักษ์กับฝ่ายเสรีนิยมและผู้ที่มีแนวคิดจะพัฒนาระบอบการปกครอง
ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1912 พรรคการเมืองสังคมประชาธิปไตยได้รับการโหวต 35% จากคะแนนโหวตทั้งหมด ถือเป็นสองเท่าของพรรคอื่นๆ และได้ที่นั่งประมาณ 27% ในรัฐสภาไรช์สตัก การขยายตัวของพรรคการเมืองนี้ทำให้จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีและกลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นกังวล
เพราะว่ากลุ่มพรรคสังคมประชาธิปไตยนั้นต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่แท้จริงและยังต่อต้านนโยบายต่างประเทศเชิงรุก พวกเค้าพยายามที่จะโหวตต่อต้านงบประมาณสำหรับกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปและกองทัพเรือที่แข็งแกร่งเป็นอันดับสองในยุโรป (Oppelland, Germany Government, 2016) (German Monarchy: Titles & Timeline, n.d.) (Sondhaus, World War One, 2020, #27-29) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #182)
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของจักรวรรดิเยอรมนียังกำหนดให้จักรพรรดิเป็นผู้แต่ตั้งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีขึ้นตรงกับจักรพรรดิเสียมากกว่าที่จะเป็นรัฐสภา โดยที่อัครมหาเสนาบดี บิสมาร์คได้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1871 - 1890 หลังจากที่ปรัสเซียชนะสงครามกับเดนมาร์ก บิสมาร์คก็ได้ทำการผนวกแคว้นชเลสวิก-โฮลชไตน์ และหลังจากชนะสงครามกับฝรั่งเศส ปรัสเซียก็ได้ผนวกแคว้นอัลซาส-ลอร์เรนน์
นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังต้องจ่ายค่าประติมากรรมสงครามให้แก่เยอรมนีเป็นจำนวนเงิน 5 พันล้านฟรังก์ ภายใต้สนธิสัญญาแฟรงค์เฟิร์ต ไม่มีทางเลือกอื่นฝรั่งเศสทำได้แค่เพียงชดใช้ค่าเสียหายของสงคราม อย่างไรก็ตามบิสมาร์คทราบดีว่าฝรั่งเศสนั้นแค้นเคืองกับความพ่ายแพ้ในสงครามแฟรงโก้-ปรัสเซียและในภายภาคหน้าฝรั่งเศสจะต้องหวนคืนกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง จนท้ายที่สุดก็แก้แค้นเยอรมนีเป็นแน่แท้
ด้วยวิสัยทัศน์เหล่านี้บิสมาร์คจึงได้ประกาศบังคับใช้นโยบายเลือดและเหล็ก ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่บิสมาร์คได้ดำรงตำแหน่ง เค้าทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างระบบพันธมิตรที่จะกีดกันฝรั่งเศสให้โดดเดี่ยวและเยอรมนีจะต้องลายล้อมไปด้วยพันธมิตร แต่การที่จะดำเนินนโยบายเหล่านี้ย่อมหมายถึงการทอดทิ้งนโยบายที่จะสามารถหาผลประโยชน์สำหรับจักรวรรดิเยอรมนี
ลองจิตนาการในกรณีที่สองจักรวรรดินั้นมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ เยอรมนีก็จะต้องทำตัวเป็นกลางเพื่อสมดุลผลประโยชน์สำหรับทั้งสองจักรวรรดินี้เพื่อรักษาความสัมพันธ์การทูตและกีดกันให้ฝรั่งเศสต้องโดดเดี่ยวต่อไป
ส่วนตัวเยอรมนีเองก็จะไม่ได้ผลประโยชน์อะไรตอบแทนกลับมาแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตามทางเยอรมนีเองก็ได้พยายามผูกมิตรกับรัสเซียและออสเตรีย-ฮังการีจนนำไปสู่การสร้างระบบพันธมิตรที่มีนามว่า ‘สัญญาสันนิบาตสามจักรพรรดิ’ (League of the Three Emperors) แต่ท้ายที่สุดสนธิสัญญานี้ก็ต้องแตกสลายไป ดังนั้นบิสมาร์คจึงเลือกออสเตรีย-ฮังการีมาเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในปี ค.ศ. 1879
✨ด้านการค้า/อุตสาหกรรมและสังคมความเป็นอยู่ของผู้คนชาวเยอรมันในช่วงศตวรรษที่ 19-20
แผนที่ของจักรวรรดิเยอรมนีในปี ค.ศ. 1914
อาณานิคมของจักรวรรดิเยอรมนีในทวีปแอฟริกา ปี ค.ศ. 1914 ขอขอบคุณรูปภาพจาก: oerproject
อาณานิคมของจักรวรรดิเยอรมนีในทวีปเอเชีย ปี ค.ศ. 1914 ขอขอบคุณรูปภาพจาก: oerproject
จักรวรรดิเยอรมนีนั้นมีพื้นที่ประมาณ 541,000 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 49 ล้านคนในปี ค.ศ. 1890 เป็น 67 ล้านคนในปี ค.ศ. 1914 ส่วนทางด้านอาณานิคมของพวกเขาก็จะมีประชากรรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ราวๆ 9.75 ล้านคน นอกจากนี้ในปีก่อนหน้านั้นเองเยอรมนียังได้กลายมาเป็นผู้นำยุโรปในด้านอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน เป็นรองก็แค่เพียงสหรัฐอเมริกากับอังกฤษเมื่อเทียบกันในด้านอุตสหากรรมระดับโลกแล้ว
ในปี ค.ศ. 1890 เยอรมนีสามารถผลิตถ่านหินได้ 89 ล้านตัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1914 เยอรมนีจะสามารถผลิตได้ถึง 277 ล้านตัน นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 - 1918 เยอรมนียังสามารถคว้ารางวัลโนเบลได้สูงถึง 20 สาขาด้วยกัน จักรวรรดิเยอรมนีได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านการแพทย์ ไฟฟ้า วิทยาศาสตร์ และวรรณกรรม
ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมเหล็กเองก็เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้กันโดยที่ในปี ค.ศ. 1890 อัตราการถลุงเหล็กอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านตัน เมื่อเทียบกับอังกฤษที่สามารถถลุงได้ 3.6 ล้านตัน แต่ในปี ค.ศ. 1913 เยอรมนีจะสามารถถลุงเหล็กได้ 18.6 ล้านตัน เมื่อเทียบกับอังกฤษที่สามารถทำได้แค่เพียง 6.9 ล้านตัน มีเพียงแค่ด้านการเกษตรกรรมเท่านั้นที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับจักรวรรดิเยอรมนี นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1914 เยอรมนียังได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้แห่งยุโรป
หลังจากที่รากฐานอุตสาหกรรมเยอรมนีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วแล้ว จักรวรรดิเยอรมนีเองก็ยังเป็นสถานที่เดียวในยุโรปที่ทั้งกีดกันและสนับสนุนความทันสมัย เช่นเดียวกันอังกฤษที่ต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องการปฏิรูป เยอรมนีเองก็ต้องพบเจอกับปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ ระบอบการปกครองและลำดับชนชั้นแบบสมัยเก่าไม่ได้หายไปสะทีเดียวในขณะที่การปฏิรูปแบบใหม่ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น
สถานภาพทางสังคัมนั้นก็แตกต่างกันมากจนถึงขึ้นที่ประชนชนบางคนได้กล่าวไว้ว่า พวกเขากำลังอาศัยอยู่ในสองยุคสมัยพร้อมกัน สังคมของชาวเยอรมันนั้นค่อนข้างอ่อนแอและแตกแยก กลุ่มเสรีนิยมนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวต่อลัทธิสังคมนิยม
เช่นเดียวกันกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวต่อลัทธิเสรีนิยมและประชาธิปไตย ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด อยู่เหนือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและประชาธิปไตย แน่นอนว่าชนชั้นแรงงานจะมีจำนวนเยอะที่สุดในบรรดาชนชั้นทั้งหมด
เหล่าชนชั้นนายทุนบางท่านหรือกลุ่มชนชั้นกลางบางกลุ่มก็ต่อต้านการปฏิรูปทางสังคม เพราะพวกเขากลัวที่จะสูญเสียอิทธิพลที่เคยมีต่อสังคมไป ดังนั้นจักรวรรดิเยอรมนีจึงสามารถมองได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็รวดเร็วเกินไปจนไม่สามารถปรับตัวเข้าหากับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน
ภาพถ่ายของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี (Kaiser Wilhelm Ⅱ of Germany) ในปี ค.ศ. 1902
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1888 ไคเซอร์ เฟรเดอริกที่ 3 แห่งปรัสเซียก็ได้ขึ้นครองราชย์ (Frederick Ⅲ of Prussia) แต่ก็โชคร้าย พระองค์ทรงครองบัลลังก์อยู่ได้แค่เพียง 99 วัน ก็สวรรคตด้วยโรคมะเร็งในคอ ดังนั้นพระโอรสของท่านที่มีนามว่า วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1888 (Kaiser Wilhelm Ⅱ of Germany) เมื่อทรงมีพระชนมายุ 29 พรรษา
สองปีให้หลังท่านได้ปลดบิสมาร์คออกจากตำแหน่งเพราะท่านต้องการที่จะดำเนินนโยบายการต่างประเทศด้วยตัวพระองค์เอง บิสมาร์คผู้ซึ่งอุทิศตนเองเพื่อปกป้องจักรวรรดิเยอรมนีและทำงานอย่างหนักได้ทำนายอนาคตของจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มไว้ว่า
ถ้าหากท่านยังดำเนินการต่อไปเช่นนี้ หายนะจะมาสู่จักรวรรดิเยอรมนีและตัวท่านเองภายใน 20 ปีข้างหน้า และมันก็เป็นไปอย่างที่บิสมาร์คได้ทำนายไว้ จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มดำเนินการนโยบายต่างประเทศตามตามอําเภอใจและใช้อารมณ์เป็นหลัก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรนีกับประเทศอื่นไม่เคยยืนยาวและไม่มีเสถียรภาพเอาสะเลย (The Great War, Kaiser Wilhelm II, 2014) (มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป, 1997, #246) (Extra Credit, Otto von Bismarck - The Wildman Bismarck - Extra History - #1, 2017)
✨จักรวรรดิเยอรมนีกับนโยบาย ‘เวลโพลิทิค’ (Weltpolitik)
ภาพวาดล้อเลียนนโยบาย ‘เวลโพลิทิค’ (Weltpolitik) ของเยอรมนี
จริงอยู่ที่ว่าเยอรมนีนั้นมีรากฐานอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งกว่าของอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เยอรมนีนั้นกลับไม่มีอาณานิคมเฉกเช่นเดียวกับสองประเทศนี้เสียเลย ดังนั้นในปี ค.ศ. 1897 จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนมาใช้นโยบายใหม่ที่เรียกว่า ‘เวลโพลิทิค’ (Weltpolitik) เป้าหมายของนโยบายนี้คือการเปลี่ยนเยอรมนีให้เป็นมหาอำนาจระดับโลก ผ่านการยึดครองอาณานิคมและสร้างกองทัพเรือชั้นนำระดับโลก
ถึงแม้ว่าจักรวรรดิเยอรมนีจะเริ่มต้นการล่าอาณานิคมช้าไปเสียหน่อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่พยายามเข้าไปช่วงชินดินแดนในแอฟริกาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1880 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเยอรมนีจะไม่พยายามในการเริ่มมัน พวกเริ่มต้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1884 เยอรมนีได้เข้ายึดครองดินแดนแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ต่อมาเยอรมนีก็ได้เข้ายึดครองแคเมอรูน นอกจากนี้เยอรมนียังได้เข้ายึดครองบางส่วนของเกาะนิวกินีในเอเชีย
ทหารเยอรมันชรุสทรุปเปอร์ อัสก้าริ (Schutztruppe askaris) กำลังทำการฝึกซ้อมยิงปืนอยู่
แต่นั่นก็ยังคงไม่สามารถสานฝันการสร้างจักรวรรดิเยอรมนีที่มีอาณานิคมทั่วทุกมุมโลกได้สำเร็จ ทางเยอรมนีนั้นชื่นชมจักรวรรดิอังกฤษเป็นอย่างมากเพราะเธอนั้นมีอาณานิคมอยู่ทั่วทุกมุมโลก ชาวเยอรมนีหลายคนนั้นเชื่อว่ากองทัพเรืออันทรงพลังของอังกฤษเป็นกุญแจสำคัญในการยึดครองอาณานิคมทั่วโลกและนำความมั่งคั่งมาสู่อังกฤษ ดังนั้นเยอรมนีจึงใช้งบประมาณจำนวนมากกับการพัฒนากองทัพเรือให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับของอังกฤษ
ภาพถ่ายของจอมพลเรือ อัลเฟรท ฟอน เทียร์พิทซ์ (Grand Admiral Alfred von Tirpitz)
จอมพลเรือ อัลเฟรท ฟ็อน เทียร์พิทซ์ (Grand Admiral Alfred von Tirpitz) ยังได้กล่าวประโยคเหล่านี้ไว้อีกด้วยว่า อนาคตของเยอรมนีนั้นขึ้นอยู่บน
พื้นผิวน้ำ
Auf dem Wasser (On the water)
เทียร์พิทซ์ต้องการที่จะพัฒนากองทัพเรือเยอรมัน ซึ่งมีนามว่า ‘ไคเซอร์ลิเชียร์ มารีน่า’ (Kaiserliche Marine) ให้เป็นหนึ่งในกองทัพเรือชั้นนำของโลก และจุดประสงค์เดียวของกองทัพเรือนี้ก็คือมีไว้เพื่อท้าทายราชนาวีอังกฤษ แต่ทางอังกฤษซึ่งมีภูมิประเทศที่เป็นเกาะอยู่แล้วและมีอาณานิคมอยู่ทั่วทุกมุมโลก จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งเจ้าสมุทรต่อไปและไม่สามารถให้เยอรมนีมาท้าทายอำนาจนี้ได้ ดังนั้นจึงเกิดการแข่งขันสร้างเรือรบขึ้นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1898 - 1910
ภาพถ่ายของกองเรือเยอรมันที่ 1 และ 2 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะเริ่มต้นขึ้น
ภาพถ่ายของเรือเรือประจัญบานเดรดนอท เอส.เอ็ม.เอส ไคเซอร์ (SMS Kaiser) ในปี ค.ศ. 1913
และผลที่ออกมาก็น่าประทับใจมาก เทียร์พิทสำเร็จในการสร้างหนึ่งในกองทัพเรือที่ทันสมัยที่สุดของโลก แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขันครั้งนี้ โดยในปี ค.ศ. 1914 กองทัพเรือเยอรมนีจะมีเรือเดรดนอทอยู่ 16 ลำ เทียบกับราชนาวีอังกฤษที่มี 22 ลำ — เรือประจัญบานลาดตระเวนอีก 5 ลำ — เรือพรีเดรดนอทและเรือป้องกันชายฝั่งอีก 30 ลำ
ผลกระทบของการแข่งขันสร้างเรือรบเหล่านี้ได้ทำลายสมดุลทางอำนาจในยุโรป เหล่าบุคคลชั้นสูงและนักการเมืองในเยอรมนีเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถดำเนินนโยบายเวลโพลิทิคแบบสันติได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเหล่าประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส หรืออังกฤษ ไม่มีทางที่จะยอมให้จักรวรรดิเยอรมนีตีแผ่อำนาจออกไปและกลายเป็นคู่แข่งในที่สุด (Tucker, The Great War 1914-1918, 1998, #17) (Konstam, British Battleships 1914–18 (1), 2013, #5) (House of History, Germany before WW1, 2018)
หนึ่งในสิ่งที่เยอรมนีต้องการจะหลีกเลี่ยงที่สุดเลยก็คือสงครามสู้รบทั้งสองด้าน ในกรณีนี้ก็คือสู้รบกับฝรั่งเศสในด้านตะวันตก และสู้รบกับรัสเซียในด้านตะวันออก แต่ฝันร้ายนั้นก็ได้กลายเป็นจริงในปี ค.ศ. 1894 เมื่อฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย แปลว่าถ้าหากสงครามได้เริ่มต้นขึ้นจริงเยอรมนีจะต้องสู้กับฝรั่งเศสที่อยู่ทางด้านซ้ายและกับรัสเซียที่มีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลกที่อยู่ทางด้านขวา
แต่สถานการณ์โดยรวมกำลังจะแย่ลงไปอีก ต่อมาในปี ค.ศ. 1904 ฝรั่งเศสได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ และท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 1907 ฝรั่งเศส อังกฤษและรัสเซียก็ได้กลายเป็นพันธมิตรกันมีนามว่า ‘ไตรภาคี’ ทางเยอรมนีรู้ตัวดีว่าถ้าหากเกิดสงครามขึ้นพวกเขาจะถูกล้อมจากทุกทิศทาง เหล่าผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันต้องการที่จะทำลาย
เอ็นคายซุง หรือก็คือการถูกโอบล้อม
Einkreisung
หลังจากที่อังกฤษกับฝรั่งเศสได้กลายเป็นพันธมิตรกันในปี ค.ศ. 1904 ฝรั่งเศสก็สัญญาว่าจะสนับสนุนอังกฤษให้เข้าไปมีอิทธิพลเหนืออียิปต์ และฝรั่งเศสเหนือโมร็อกโก แต่เยอรมนีไม่เห็นด้วย และต้องการที่จะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษจึงนำไปสู่ ‘วิกฤตการณ์โมร็อกโก’ (Morocco Crisis) ที่เกิดขึ้นถึงสองครั้งในปี ค.ศ. 1905 กับค.ศ. 1911
เยอรมนีไม่ได้แค่เพียงคว้าน้ำเหลวแต่ยังกลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก ในวิกฤตการณ์สองครั้งนี้ความบาดหมางระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีนั้นค่อนข้างรุนแรงมากจนเกือบจะก่อให้เกิดเป็นสงครามขึ้น ดังนั้นผู้คนในเยอรมนีและทั่วทั้งยุโรปจึงทราบดีว่าสงครามในยุโรปมิใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด (House of History, Germany before WW1, 2018) (The Great War, French North Africa, 2018)
ในช่วงการแข่งขันสร้างเรือรบ กองทัพเรือเยอรมนีได้ใช้งบประมาณถึง ⅓ ของงบประมาณป้องกันประเทศ แต่ในปี ค.ศ. 1913 หลังจากที่เยอรมนีล้มเหลวในการแข่งขันสร้างเรือรบไปแล้ว รัฐสภาไรช์สตักก็ได้อนุมัติให้เพิ่มขนาดกองทัพยามสงบของเยอรมนีเป็น 890,000 นาย กองทัพบกเยอรมนีมีนามว่า ‘เฮีย’ (Heer)
ภาพถ่ายของกรมทหารราบที่ 15 กำลังสร้างที่กำบังในการซ้อมรบของปี ค.ศ. 1905  ขอขอบคุณรูปภาพจาก IWM  HU 68477
ภาพถ่ายของทหารเยอรมันกำลังทำการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่สนามในปี ค.ศ. 1902  ขอขอบคุณรูปภาพจาก: IWM HU 68446
นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1910 ทางกองทัพเยอรมนียังได้ทำการซื้อเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการทางทหารมาเป็นจำนวน 7 ลำ และก่อตั้งกองทัพอากาศสังกัดกองทัพบกขึ้นมาขึ้นมามีนามว่า ‘ดี ฟรีเกอร์ทรุปเปน เดส ดอยซ์เช่น ไคเซอร์ฮายเชียส’ (Die Fliegertruppen des deutschen Kaiserreiches)
ภาพถ่ายของเครื่องบินเยอรมัน เอวีอาทิค บี.2 (Aviatik B.Ⅱ)
มักจะถูกเรียกย่อๆว่า ‘ดี ฟรีเกอร์ทรุปเปอร์’ (Die Fliegertruppe) หรือมีอีกชื่อว่า ‘กองทัพอากาศเยอรมันแอร์เซอร์วิส’ (Imperial German Army Air Service) เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้นกองทัพอากาศเยอรมันจะมีเครื่องบินอยู่ที่ประมาณ 232 ลำ และมียานเหาะอีกประมาณ 12 ลำ (Sondhaus, World War One, 2020, #27-29) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #210) (Carruthers & Neumann, The German Air Force I Knew 1914-1918, 2014, #8-9) (Kennett, The First Air War, 1999, #20-21, #21)
บรรณานุกรม
โฆษณา