4 พ.ย. 2022 เวลา 13:00 • ข่าว
สิทธิประโยชน์เกณฑ์ใหม่ ที่ผู้ประกันตนต้องรู้
เป็นโอกาสดีของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ม.33 หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ.ประกันสังคม
โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน คือ การมีโอกาสเลือกว่าจะรับเงินที่สมทบในส่วน "เงินชราภาพ" เป็นเงิน "บำเหน็จ" (การรับเงินเป็นก้อนเดียว) หรือ "บำนาญ" (ทยอยจ่ายไปตลอดชีวิต)
ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม หลักเกณฑ์ใหม่ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง มาทำความเข้าใจกันค่ะ
หลักเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ผู้ประกันตนมีโอกาสเลือกบริหารจัดการเงินที่สะสมไว้เพื่อโอกาสต่างๆ ด้วยเกณฑ์ใหม่ ดังนี้
1. เลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ
เมื่อผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน (ณ เดือนพฤษภาคม2565)
การรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนนั้น ทางประกันสังคมจะเน้นการให้เงินแบบ บำนาญชราภาพ โดยจะได้สิทธินี้ก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพนั้นจะได้สิทธิเฉพาะกรณี คือ คนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือกรณีเป็นผู้ทุพพลภาพหรือตายก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์จะได้รับเงินเป็นเงินบำเหน็จชราภาพเช่นกัน
สรุปเงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
สรุปเงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ
- จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
2. การขอกู้
ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการขอกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ เช่น หากเราไม่มีเงินแต่มีเหตุจำเป็นต้องใช้ ถ้าจะขอกู้สถาบันการเงิน ก็ยังไม่มีเครดิตพอจะไปขอกู้
ถ้าตรวจสอบดูว่าเรามีเงินชราภาพอยู่ในระบบประกันสังคม ถ้าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน ผู้ประกันตนสามารถไปกู้สถาบันการเงินได้ โดยสามารถใช้สิทธิในเงินชราภาพไปค้ำประกัน
ซึ่งเทียบได้กับผู้ประกันตนมีหลักทรัพย์ใช้ค้ำประกันได้คล้ายที่ดินหรือสินทรัพย์อย่างอื่น เท่ากับเงินที่หักไปให้ประกันสังคมทุกเดือน ก็ถือเป็นประโยชน์เพราะเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็ไม่ต้องลำบากไปหากู้เงินนอกระบบ
3. การขอคืน
ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ออกมาใช้ก่อนบางส่วน ในส่วนที่เรียกว่า “ขอคืน” โดยการขอคืนก็ต้องมีเหตุจำเป็นจึงขอคืนได้
เช่น สถานการณ์โควิด ถูกล็อกดาวน์ และเป็นวิกฤติของโลก จึงเป็นกฎหมายข้อนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน
โดยเงินสะสมประกันชราภาพนี้สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. เข้าสู่เว็บไซต์ ของสำนักงานประกันสังคม >> www.sso.go.th
2. เลือกเมนู >> เข้าสู่ระบบ (กรณีไม่เคยลงทะเบียน สามารถกดสมัครสมาชิกให้เรียบร้อยก่อน)
3. คลิกเข้าดูที่หัวข้อ >> การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ
ทั้งนี้การเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตน นำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงิน และให้สามารถขอนำเงินบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้นั้น นับเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ประกันตน
แต่ถึงแม้ผู้ประกันตนจะสามารถเลือกรับเงินสะสมของตัวเองได้ แต่สิ่งที่ผู้ประกันตนควรจะคำนึงถึงในการตัดสินใจเลือก "บำนาญชราภาพ" หรือ "บำเหน็จชราภาพ"
ควรดูข้อดีข้อเสียอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเลือก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนชีวิตของตัวเอง และให้มั่นใจว่าการเลือกรับเงินจะไม่ส่งผลกระทบในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการขอนำเงินประกันชราภาพออกมาใช้ในยามวิกฤตินั้น ยังต้องคอยติดตามรายละเอียดต่อไปว่า จะมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา