Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TTW Public Company Limited
•
ติดตาม
3 พ.ย. 2022 เวลา 08:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำความรู้จักกับ “Warrant”
Image Credit: Pixabay
“ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ” หรือ “Warrant” นั้น คือตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างถึงอยู่ (Underlying Asset) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือหุ้นบริษัทที่ออก Warrant (หุ้นแม่)
(หากเป็น Warrant ที่ให้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัทอื่นจะเรียกว่า “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” หรือ Derivative Warrant: DW)
ตัวอย่าง สมมุติเรากำหนดหุ้นแม่เป็นหุ้น “ABC” เวลาออก Warrant ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์เป็นการปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือเพิ่มสภาพคล่อง เราก็จะเติม “W” ต่อท้ายหุ้นแม่เข้าไป เช่น ABC-W1, ABC-W2, ABC-W3 (ตัวเลขด้านหลังที่เพิ่มขึ้นก็จะแปรผันไปตามจำนวนล็อตที่ออก Warrant)
โดยจะมีการกำหนดราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) และจำนวนที่ให้ใช้สิทธิ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะนิยมใช้เป็นอัตราส่วน เช่น 1:2 ก็คือ 1 Warrant สามารถแลกเป็นหุ้นได้ 2 หุ้น ภายในช่วงระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ อาจจะเป็นทุกเดือน, ทุก 3 เดือน, ทุก 6 เดือน หรืออื่นๆ ตามกำหนด
Image Credit: Pixabay
และโดยทั่วไปแล้ว Warrant ก็มักจะมีอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งผู้ลงทุนควรตรวจสอบ และบริหารจัดการให้ดีว่าจะขาย จะใช้สิทธิอย่างไรไม่ให้มันหมดอายุกลายเป็นเศษกระดาษไปซะก่อน
## แล้วผลตอบแทนจาก Warrant ละมาจากไหน? ##
อย่างแรกเลยถ้าเปรียบเทียบ Warrant แล้วก็คือใบจองประเภทหนึ่งสำหรับการซื้อหุ้นตัวนั้นๆ คล้ายกับเวลาที่เราไปจองเพื่อซื้อคอนโด ซึ่งแน่นอนว่าเราก็มีโอกาสที่จะขายใบจองนี้ออกไปได้ในราคาที่สูงกว่าราคาจองเพื่อทำกำไร
หรือในกรณีที่เราใช้สิทธิ Warrant แปลงเป็นหุ้นสามัญ (หุ้นแม่) ก็จะได้จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น และหากหุ้นตัวนั้นๆ ราคาปรับตัวดีในตลาด ก็มีโอกาสขายทำกำไรจากส่วนต่างได้อีก
อย่างไรก็ตามอาจจะต้องระมัดระวังเรื่องมูลค่าของ Warrant ด้วย โดยในกรณีที่ราคาใช้สิทธิรวมกับราคา Warrant ต่ำกกว่าราคาหุ้นแม่ในตลาด เราก็มักจะใช้สิทธิซื้อหุ้น และเอาหุ้นนั้นๆ ไปขายทำกำไรในตลาด Warrant นั้นจะถือว่ามีมูลค่า (in-to the money)
Image Credit: Pixabay
แต่กลับกัน ถ้าราคาใช้สิทธิรวมกับราคา Warrant สูงกว่าราคาหุ้นแม่ในตลาด ก็มักจะไม่ค่อยมีใครใช้สิทธิ เนื่องจากไปซื้อหุ้นในตลาดเลยจะได้ราคาที่ถูกกว่า ทำให้ Warrant ก็จะไม่มีมูลค่า (out-of-the money)
## ความ “ถูก” หรือ “แพง” ของ Warrant ดูอย่างไร? ##
การวัดความถูกแพงของราคา Warrant ในตลาดจะเทียบจาก “ราคาหุ้นแม่ในตลาด” กับ “ราคาหลังการใช้สิทธิ” เช่น หุ้น ABC ปัจจุบันราคา 10.70 บาท มี Warrant คือ ABC–W1 ราคาใช้สิทธิ 3.1852 บาท อัตราการใช้สิทธิ 1 : 1.0203 วันหมดอายุ 25 ธ.ค. 2567 ราคา Warrant ปัจจุบัน 7.55 บาท มีวิธีการคำนวณดังนี้
"ราคาหลังการใช้สิทธิ = (ราคา Warrant x อัตราการใช้สิทธิ) + ราคาใช้สิทธิ"
= [7.55 x (1/1.0203)] + 3.1852
= 10.60 บาท
จากตัวอย่าง ราคาหลังการใช้สิทธิ 10.60 บาท ราคาหุ้นแม่ในตลาด 10.70 ราคาหลังใช้สิทธิต่ำกว่าราคาหุ้นแม่ ก็จะเข้าเกณฑ์ “In-the money” ซึ่งหมายความว่าเมื่อทำการใช้สิทธิแปลง Warrant แล้วเราได้กำไรนั้นเอง
อีกสิ่งที่ทำให้ Warrant มีความน่าสนใจก็คือ ความ Leverage หรือ “ลงทุนโดยใช้เงินน้อยแต่มีโอกาสได้กำไรมาก” หากผิดพลาดอย่างมากก็แค่เสียราคาต้นทุนที่ได้ Warrant มา หรือบางคนได้มาฟรีเลยก็ไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนกรณีที่ซื้อมาแล้วใช้สิทธิไม่ทันตามกำหนด ก็จะขาดทุนเท่าราคาที่ซื้อมานั่นเอง
Image Credit: Pixabay
อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ ราคา Warrant ไม่ได้ขึ้นลงตามหุ้นแม่เสมอไป ถึงแม้มันจะมีปัจจัยพื้นฐานเดียวกัน เพราะ Warrant มีข้อจำกัดเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นวันหมดอายุ วันใช้สิทธิ หรือแม้แต่มีความเสี่ยงสูงที่ดึงดูดคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงให้เข้ามาลงทุน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระทบราคา Warrant ทั้งสิ้น
## ผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทมีอะไรบ้าง? ##
การออก Warrant จะส่งผลกระทบต่องบการเงิน เมื่อผู้ถือ Warrant ใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ โดย...
“ผลกระทบทางบวก” จะทำให้บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากเงินสด และทำให้มีสภาพคล่อง ซึ่งสังเกตดูได้จากอัตราส่วนสภาพคล่องและอัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็วเพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ลดต่ำลง นั่นก็หมายถึงบริษัทมีความเสี่ยงทางการเงินลดลงไปด้วย
Image Credit: Pixabay
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มี “ผลกระทบทางลบ” ที่ทำให้เกิด Dilution Effect ซึ่งการเพิ่มทุนนี้จะทำให้กำไรต่อหุ้น (Earnings per share: EPS) ลดลง เพราะบริษํทมีกำไรเท่าเดิม แต่ตัวหารหรือจำนวนหุ้นกลับเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) ต่ำลง เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งในมุมของผู้ถือหุ้นก็อาจจะรู้สึกไม่ค่อยโอเคสักเท่าไร บริษัทจึงต้องพิจารณาว่าจะนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรที่มากขึ้นกลับมาได้อย่างไร
“Warrant” หรือ “ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ” จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจ ซึ่งหากผู้ลงทุนได้ศึกษาข้อมูล มีความเข้าใจเรื่องการลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างดีแล้ว ก็มีโอกาสทำกำไรจาก Warrant ได้ไม่ยาก
แต่ในอีกมุม Warrant ก็มีความเสี่ยงสูง เป็นตราสารที่มีอายุ มีการกำหนดช่วงเวลาการใช้สิทธิ และราคาก็สามารถผันผวนไปกว่าหุ้นแม่ได้ด้วย จึงควรที่จะต้องบริหารจัดการ วางแผนการลงทุนให้รอบคอบ และถี่ถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดทุน หรือเก็บ Warrant ไว้จนเลยกำหนดใช้สิทธิ ท้ายที่สุดมันก็จะมีมูลค่ากลายเป็น 0 นั่นเอง
ถึงเวลานั้น...คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่ามองดูกระดาษและปาดน้ำตากันไป...
## อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีย์ "ทำความรู้จักกับ" -->
https://bit.ly/3sPPlM9
Image Credit: Pixabay
Ref:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-
https://www.sec.or.th/TH/Pages/Investors/EquityProduct-Warrants01.aspx
-
https://www.mrlikestock.com/2022/warrant/
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website:
www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
warrant
หุ้น
ลงทุน
บันทึก
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ทำความรู้จักกับ...
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย