7 ต.ค. 2022 เวลา 08:23 • การศึกษา
ค่าความนิยม (Goodwill) คืออะไร?
Image Credit: - https://www.facebook.com/MaepranomThailand/
หากเรากำลังเลือกซื้อน้ำจิ้มไก่สักขวดหนึ่งในซุเปอร์มาร์เก็ตโดยมีคู่เทียบอยู่ 2 ยี่ห้อ ระหว่าง “น้ำจิ้มไก่ตราแม่ประนอม” กับ “น้ำจิ้มไก่ตราแม่แตงโม” คุณจะเลือกซื้อขวดไหน?
หากพิจารณากันถึงการมีอยู่มาอย่างยาวนาน ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของตราสินค้า หรือแม้แต่รสชาติที่คุ้นเคยถูกปาก แน่นอนว่ายี่ห้อแรกก็จะถูกหยิบออกจากชั้นวางสินค้าโดยไม่ต้องมีข้อสงสัย
สิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้เราเรียกมันว่า “Goodwill” หรือในภาษาไทย “ค่าความนิยม” โดยสิ่งนี้จะถูกวัดจากความมีชื่อเสียง ความนิยมในตัวบุคคล (เช่น Steve Jobs อดีต CEO ของ Apple) ความน่าเชื่อถือของเครื่องหมายการค้าหรือกิจการหนึ่งๆ ซึ่งทำให้กิจการนั้นมีความสามารถในการหารายได้มากกว่ากิจการอื่นในประเภทเดียวกัน
โดยอาจจะเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้ามาอย่างยาวนาน มีสมรภูมิที่ตั้งที่ดี การบริหารงานดี หรือก่อร่างสร้างกิจการมาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เหมือนกับตัวอย่าง “แม่ประนอม” ที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว
Image Credit: - https://www.facebook.com/MaepranomThailand/
ทำให้ “Goodwill” ของแบรนด์นี้มีมากกว่าสินค้าในหมวดเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย หรือแม้แต่ถ้าเทียบราคากันแล้วอาจจะแพงกว่าสินค้ายี่ห้อใหม่ที่เพิ่งออกมาตีตลาด ลูกค้าก็ยอมจ่ายเพราะเชื่อมั่นว่าจะได้กินน้ำจิ้มที่รสชาติอร่อย และถูกปากแน่นอน
“Goodwill” ภายใต้กฎหมายของราชอาณาจักรไทยไม่มีระบุไว้ว่าถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ แต่ในหลักการทางบัญชีถือเป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” (Intangible Asset) เช่นเดียวกับทรัพย์สินทางปัญญา อย่างเช่นพวกงานวิจัย สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ เป็นต้น
โดยกิจการที่มีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนี้ จะทำการวัดมูลค่าเริ่มแรกด้วยราคาทุน ซึ่งก็คือราคาที่กิจการต้องจ่ายเพิ่มในการซื้อเพื่อให้ได้มา ซึ่งหากเราต้องการซื้อกิจการเหล่านี้ก็ต้องยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าซื้อกิจการอื่นในประเภทเดียวกัน
Image Credit: WallStreetMojo
จึงทำให้ Goodwill เปรียบเสมือนอาวุธชิ้นเอกของกิจการ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการการันตีจำนวนลูกค้า และรายได้ที่มีโอกาสเข้ามามากกว่าในอนาคตอีกด้วย
สำหรับ Goodwill ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนนั้น จะถูกตีมูลค่าเพื่อบันทึกบัญชีเมื่อมีการซื้อหรือควบรวมกิจการ (Acquisition/Merger) โดย Goodwill คือส่วนต่างระหว่างมูลค่ากิจการตามบัญชี (Equity) (สินทรัพย์-หนี้สิน) กับมูลค่าที่ซื้อขายจริง
เช่น บริษัท A เข้าซื้อกิจการของ บริษัท B ในราคา 100 ล้านบาท โดยที่บริษัท B มีสินทรัพย์-หนี้สินตามมูลค่ายุติธรรมของตลาด (Fair Value) ดังนี้
1. บัญชีลูกหนี้ (Account Receivable) 50 ล้านบาท
2. สินค้าคงเหลือ (Inventory) 20 ล้านบาท
3. บัญชีเจ้าหนี้ (Account Payable) 10 ล้านบาท
รวมสินทรัพย์สุทธิของบริษัท B --> 50+20-10 = 60 ล้านบาท
ดังนั้น มูลค่า Goodwill ที่บริษัท A ต้องจ่ายในการซื้อกิจการของบริษัท B
คือ 100 - 60 = 40 ล้านบาท (ราคาที่ซื้อ-ราคาปกติ)
Image Credit: Pixabay
เมื่อบริษัท A จ่ายเงินออกไป และจะบันทักสินทรัพย์มูลค่า 60 ล้านบาท ของบริษัท B เข้ามาในงบแสดงฐานะการเงินของตน และส่วนต่างที่เหลืออีก 40 ล้านบาท จะบันทึกเป็น Goodwill เพื่อให้งบแสดงฐานะการเงินสมดุลกันพอดีระหว่างทรัพย์สินใหม่กับทรัพย์สินเก่า
ทั้งนี้ หากบริษัท A ซื้อบริษัท B ได้ราคาถูกกว่ามูลค่ากิจการตามบัญชี เช่น ซื้อกิจการมาในราคา 30 ล้านบาท มีส่วนต่างอยู่ 30 ล้านบาท (60-30 ล้านบาท) ส่วนนี้จะถูกบันทึกเป็นกำไรจากการต่อรองราคาซื้อ (Bargain Purchase)
เมื่อ Goodwill ถูกบันทึกเรียบร้อย มันจะเป็นสินทรัพย์ที่อายุไม่จำกัดตราบเท่าที่ความนิยมยังคงอยู่ด้วยมูลค่าที่บันทึก ณ ตอนเริ่มต้น และแม้ชื่อเสียงของกิจการจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ Goodwill ก็จะยังคงมูลค่านั้นในบัญชี
แต่ถ้าวันหนึ่งเจ้าของกิจการมองแล้วว่า Goodwill เริ่มลดลงหรือด้อยค่า ก็สามารถประมาณการได้ว่า Goodwill จะอยู่ไปได้อีกกี่ปี และก็ทำการตัดจำหน่ายค่า Goodwill ออกจากบัญชีในระยะเวลาเท่านั้น ซึ่งก็จะถูกตัดเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการในแต่ละปีไป
Image Credit: Pixabay
แม้ Goodwill จะไม่มีตัวตน แต่มีมูลค่า และมีคุณค่า ซึ่งหากกิจการ หรือธุรกิจใดๆ นำมันมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะสามารถบันทึกเป็นมูลค่าทางบัญชีได้แล้ว มันจะถูกบันทึกไว้เป็นคุณค่าในใจผู้บริโภคด้วย.
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
โฆษณา