27 ก.ย. 2022 เวลา 07:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” (Margin of Safety)
Image Credit: Pixabay
“ปลอดภัยไว้ก่อน” เชื่อว่าคำนี้เป็นคำที่ได้ยินกันมาเนิ่นนาน ถูกนำมาใช้ในหลายบริบท นัยของคำนี้น่าจะต้องการให้คิดเผื่อไว้ และเลือกทำอะไรที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรืออันตรายกับตัวเอง
ในบริบทของการลงทุนก็เช่นกัน มีคำที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้การลงทุนมีความปลอดภัย และลดโอกาสการขาดทุนให้น้อยที่สุด คำๆ นั้นก็คือ “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” หรือ Margin of Safety
คำนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกโดยเบนจามิน แกรเฮม ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
คอนเซปต์ของคำนี้ “เรียบง่าย” และ “เข้าใจไม่ยาก” แต่ก็ “ทรงพลัง” มากด้วยเช่นกัน หรือพูดง่ายๆ คือ หากพอจะมีพื้นฐานในการวิเคราะห์บริษัทนั้นๆ หรือปัจจัยพื้นฐานได้บ้างแล้ว...
เมื่อใดที่ตลาดหุ้นเผยให้เห็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้นๆ ก็เพียงแค่ “เข้าไปซื้อในจุดที่มีความปลอดภัย เสี่ยงต่ำกว่านักลงทุนคนอื่น คุณก็จะได้พบกับโอกาสในการได้กำไรสูง และโอกาสที่จะขาดทุนน้อยลง” นั่นเอง
Image Credit: Investopedia
## ทำไมต้อง Margin of Safety? ##
นักลงทุนส่วนใหญ่ที่นำหลักการนี้มาใช้ มักจะเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาว แต่ด้วยสถานการณ์ และปัจจัยต่างๆ ที่แสนจะเลวร้ายในปัจจุบัน
อะไรๆ ก็อาจจะเข้ามากระทบตลาดหุ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งโรคระบาด สงคราม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ปัญหาภายในตัวธุรกิจเองก็ตาม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อราคาหุ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถล่วงรู้ หรือคำนวณราคาหุ้นในอนาคตได้เลยว่าราคาของหุ้นตัวนี้ควรจะอยู่ที่เท่าไรกันแน่
ตัวอย่างเช่น เราประเมินมูลค่าหุ้น AAA ไว้ที่ราคา 100 บาท/หุ้น ซึ่งอาจจะไม่ค่อย Make sense สักเท่าไรหากจะไปซื้อมันในราคา 99 บาท/หุ้น (เผื่อส่วนต่างแห่งความปลอดภัยไว้แค่ 1%)
เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ด้านลบมากระทบ และเราประเมินราคามันผิดไปละ ส่วนต่างราคาแค่ 1 บาทมันไม่สามารถรองรับมูลค่าที่ประเมินผิดไปได้
Image Credit: Pixabay
หรือจะหวังทำกำไรจากหุ้นที่มี “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” เพียงแค่นี้ก็เป็นไปได้ยากมาก ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะซื้อได้ในช่วงราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด (Market Price) ไม่ได้ขาดทุนจากการเข้าซื้อหุ้นตัวนี้ก็ตาม
แต่ว่าก็จะพลาดโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งหากในอีกกรณีหนึ่งที่ได้เผื่อส่วนต่างฯ ไว้อย่างเหมาะสม ด้วยการเข้าซื้อหุ้นตัวนี้ในช่วงเวลาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ และหลังจากนั้นก็แค่รอให้มันกลับเข้าสู่มูลค่าโดยเนื้อแท้ (Intrinsic Value) ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ตลาดหุ้นไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย มีอารมณ์แปรปรวนตลอดเวลายิ่งกว่าคลื่นลมในทะเล ทุกๆ เช้าราคาหุ้นมีการปรับราคาขึ้น-ลง ซึ่งมันช่างแสนเย้ายวน
มันมักจะมากดกริ่งเสนอซื้อ หรือเสนอขายหุ้นให้กับเรา นั่นแหละคือเหตุผลที่ราคาหุ้นไม่เป็นไปตาม “มูลค่าโดยเนื้อแท้” ของกิจการ
มูลค่าโดยเนื้อแท้ก็คือมูลค่าที่แท้จริง หรือมูลค่ายุติธรรมของบริษัท/กิจการ ที่ไม่ว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ส่วนต่างแห่งความปลอดภัยก็คือ “ความแตกต่างระหว่างราคาหุ้นกับมูลค่าโดยเนื้อแท้นั่นเอง”
Image Credit: Investopedia
ทั้งนี้ ส่วนต่างแห่งความปลอดภัยมันควรจะเป็นเท่าไรนั้น 10% 20% หรือ 30% ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการในใจเฉพาะตัวของผู้ลงทุนเอง หากรู้จัก เข้าใจ และรับความเสี่ยงจากการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนต่างฯ ตรงนี้ก็อาจลดลงไปได้บ้าง
โดยที่การตัดสินใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับหุ้นตัวอื่นๆ ที่มีให้เลือกลงทุนด้วย เช่น หากหุ้นตัวนี้มีส่วนต่างแห่งความปลอดภัยอยู่ถึง 30% แน่นอนมันก็ดูน่าซื้อมาก
แต่บังเอิญว่ามีหุ้นอีกตัวที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกันกำลังลดราคาอยู่ถึง 50% คำถามคือ...มีเหตุผลอะไรละที่เราจะไม่ซื้อของ On Sale ที่ถูกลงครึ่งหนึ่งละ
Image Credit: Pixabay
อย่างไรก็ดีในการพิจารณาเรื่องนี้นั้น ก็อาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละหมวดอุตสาหกรรม เราควรพิจารณาว่าธุรกิจนั้นๆ กำลังอยู่ในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตกดิน หรืออาจจะถูก Disrupt จากเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ได้ไหม มีต้นทุนดำเนินงานต่ำกว่าธุรกิจแบบเดียวกันไหม
หรือธุรกิจนั้นได้สัมปทาน หรือสิทธิพิเศษอะไรจากภาครัฐหรือเปล่า...มีค่านิยม (Goodwill) ที่เหนือกว่าคู่แข่งหรือไม่ และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือมี “หนี้สิน” มากน้อยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาประกอบกันทั้งสิ้น
เมื่อนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้ว ที่เหลือก็เพียงแค่ว่าจะเผื่อ “ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย” ไว้แค่ไหน ซึ่งก็มีแค่คุณเท่านั้นที่จะเลือกได้ตรงใจตัวเอง.
Reference:
- หนังสือ “เรียนบัญชีกับวอร์เรน บัฟเฟตต์” โดย Stig Brodersen, Preston Pysh เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา