21 ก.ย. 2022 เวลา 08:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"Holding Company" คืออะไร?
Image Credit: Pixabay
เราคงเคยได้เห็นว่าบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายๆ แห่งมีรายได้หลักจากการถือหุ้น หรือลงทุนอยู่ในบริษัทอื่น
โดยที่บริษัทนั้นๆ เป็นบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือผลิตสินค้าและบริการใดๆ อย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง แต่เป็นเจ้าของและควบคุมบริษัทอื่นอยู่ (มีบางกรณีที่ก็ทำธุรกิจเองด้วย ไม่ได้เป็น Pure Holding)
ทั้งนี้ อาจจะเป็นการถือหุ้นในบริษัทลูกมากกว่า 50% หรือจะเป็นการเข้าไปถือหุ้นบริษัทร่วมที่สัดส่วน 20-50% ก็ได้เช่นกัน แต่จะต้องถือหุ้นอย่างน้อย 1 บริษัท
โดยในกรณีเป็นบริษัทที่มีเงื่อนไขในการร่วมลงทุนกับภาครัฐ หรือมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น จะต้องถือหุ้นในบริษัทหลักนั้นมากกว่าหรือเท่ากับ 40%
ซึ่งการถือหุ้นอยู่ในหลายๆ บริษัทแบบนี้จะช่วยให้บริษัทนั้นๆ มีรายได้เข้ามาจากหลายทาง กระจายความเสี่ยงจากช่วงที่ตลาดมีความผันผวน หรือในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจคาดเดาได้ยากลำบาก
...และบริษัทแบบที่กล่าวถึงอยู่นี้ก็คือ “Holding Company” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของการเป็น Holding Company ก็เพื่อควบคุมบริษัทอื่นเท่านั้น โดยอาจเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หุ้น และทรัพย์สินอื่นๆ แล้วปล่อยเช่าให้กับบริษัทลูกอื่นๆ ได้อีกด้วย
Image Credit: Pixabay
## จุดเด่นของ Holding Company” มีอะไรบ้าง? ##
- มักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มั่นคง แข็งแรง กระจายการลงทุนในหลากหลายธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง หากธุรกิจในหมวดอุตสาหกรรมหนึ่งแย่ ก็ยังมีบริษัทอื่นในอีกหมวดอุตสาหกรรมที่คอยช่วยพยุงไว้อยู่
- ผู้บริหารของ Holding Company ไม่จำเป็นต้องเก่งในทุกธุรกิจที่ลงทุนก็ได้ เพราะบริษัทย่อยแต่ละแห่งมีผู้เชี่ยวชาญบริหารจัดการอยู่แล้ว
- การลงทุนเพิ่มเติม หรือการขยายธุรกิจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เช่น เดิมถือหุ้นในธุรกิจด้านพลังงาน หลังจากนั้นเข้าไปถือหุ้นในบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ และบริษัทด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมอีก เป็นต้น โดยรับผลตอบแทนในรูปของกำไร และเงินปันผลเท่านั้น
- เวลากู้เงินจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัทย่อย ดังนั้น หากต้องการให้บริษัทย่อยขยายธุรกิจ ก็สามารถเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้ให้บริษัทย่อยนำไปขยายธุรกิจได้ Holding Company จึงมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าการที่บริษัทย่อยทำการกู้เงินด้วยตัวเอง
- การซื้อหุ้นที่เป็น Holding Company มักจะมีมูลค่าการตลาดถูกกว่ามูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ ซึ่งการซื้อหุ้นประเภทนี้จึงมักได้ส่วนลดมากกว่าเข้าไปลงทุนในหุ้นลูกๆ โดยตรงเอง
- จ่ายเงินปันผลในอัตราสูงได้ เพราะมักจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีกำไร และสร้างกระแสเงินสดกลับมาในอัตราสูง ทำให้สามารถส่งต่อผลตอบแทนไปยังผู้ถือหุ้นได้
Image Credit: Pixabay
นอกจากจุดเด่นแล้ว Holding Company ก็มีจุดด้อยที่ต้องมาพิจารณาประกอบกันด้วย
## จุดด้อยของ Holding Company” มีอะไรบ้าง? ##
- การก่อตั้งและต้นทุนของ Holding Company และบริษัทย่อยแต่ละแห่งจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการจัดตั้ง และมีต้นทุนในการจัดทำ โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่ค่อนข้างมีรายละเอียด และมีการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน ทำให้ต้นทุนสูงกว่าการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทเดี่ยว
- กรณีไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทย่อยแบบ 100% อาจจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือขัดแย้งกับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยได้ เช่น ควรนำผลกำไรไปขยายธุรกิจ หรือจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นดีกว่ากัน เป็นต้น จึงนับว่าท้าทายผู้บริหารที่ดูแล Holding Company ไม่น้อย
- เมื่อ Holding Company และบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นก็จะมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง และการบริหารจัดการ ดังนั้น หากไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้
Image Credit: Pixabay
## วิเคราะห์หุ้น Holding Company ##
1. ต้องเข้าใจโครงสร้าง Holding Company
การลงทุนของ Holding Company ในบริษัทย่อยจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจเป็น 2 ประเภท คือ
- ธุรกิจหลัก: สามารถลงทุนในบริษัทย่อย/บริษัทร่วมที่ถือหุ้นได้ในสัดส่วน 25% ขึ้นไป และรวมกันไม่เกิน 75% ของมูลค่าสินทรัพย์ของ Holding Company
- ธุรกิจอื่น: เป็นการลงทุนในบริษัทย่อย โดยทุกบริษัทในกลุ่มนี้ต้องรวมกันไม่เกิน 25% ของมูลค่าสินทรัพย์ของ Holding Company
2. การประเมินมูลค่าหุ้น Holding Company
สามารถหาได้ 2 วิธี ดังนี้
- วิธีที่ 1: การใช้มูลค่าหุ้นมาประเมินมูลค่า (Sum Of The Parts: SOTP) - เป็นการนำมูลค่าของหุ้นบริษัทลูกๆ มารวมกัน เพื่อบอกว่าหุ้น Holding Company ตัวนั้นๆ ควรมีมูลค่าเท่าไร
วิธีนี้ค่อนข้างแม่นยำกว่าการประเมินแบบอื่นๆ เพราะจะอิงกับมูลค่าหุ้นแต่ละตัวที่มีการซื้อขายในตลาด แต่ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะลดมูลค่าหุ้นที่ Holding Company ถืออยู่ลง 20% บนสมมตฐานว่าหากบริษัทขายหุ้นออกไปก็จะต้องเสียภาษีนิติบุคคลในอัตรา 20% นั่นเอง
- วิธีที่ 2: อัตราส่วนทางการเงิน - หากเป็น Holding Company ธรรมดาในสถานการณ์ทั่วไปมักจะใช้ P/E Ratio และอัตราส่วนเงินปันผล (Dividend Yield)
โดยวิเคราะห์จากภาพรวมของงบการเงิน และลงลึกไปที่กำไร จากนั้นจึงใช้ P/E Ratio เทียบกับหมวดอุตสาหกรรมที่ Holding Company นั้นอยู่ (วิธีนี้นำไปใช้กับหุ้นบริษัทลูกที่ Holding Company ถืออยู่ได้ด้วย)
Image Credit: Pixabay
3. นโยบายการจ่ายเงินปันผล
การศึกษาผลประกอบการ และดูว่ามีนโยบายการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ สัญญาณที่ผู้บริหารใช้แก้ปัญหาเวลาหุ้นมีราคาต่ำเกินไป คือ การทำกำไรจากการขายหุ้นที่ถือ และจ่ายปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้น
4. บรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG)
บรรษัทภิบาลของผู้บริหาร หรือเจ้าของที่แสดงถึงการมีความตั้งใจในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นโดยรวมมีความสำคัญมาก กรณีหุ้น Holding Company มีราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง ถ้าผู้บริหารไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อทำให้หุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงออกมา หุ้นก็จะนิ่งๆ อยู่แบบนั้น
เช่น แม้บริษัทกำไรดีแต่ผู้บริหารไม่จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเท่าตามสมควร วิธีการแก้ไขก็คือ...บริษัทอาจบอกเลยว่าจะจ่ายเป็นเงินปันผลทั้งหมดที่ได้รับจากบริษัทลูก เป็นต้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่าความตั้งใจในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นโดยรวมของผู้บริหารหรือเจ้าของนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย
มาถึงตรงนี้น่าจะเข้าใจและรู้จัก Holding Company กันมาขึ้นแล้ว แต่ไม่ว่าจะยังไงการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดต่างๆ เป็นอย่างดี
และสำหรับหุ้น Holding Company ก็เช่นกัน เพราะมีความซับซ้อนซ่อนรายละเอียด และต้องทำความเข้าใจในข้อมูลของทั้งบริษัทแม่ บริษัทย่อย และบริษัทลูก
รวมถึงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ดี หรืออาจจะลองหาบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำที่เขียนเอาไว้มาอ่านประกอบก็จะช่วยสร้างความเข้าใจหุ้นตัวนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น.
Reference:
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา