5 พ.ย. 2022 เวลา 03:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
United Kingdom: สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทหลักใน ‘เห็ดขี้ควาย’ หรือ ‘เห็ดเมา’ ถูกพบว่ามีส่วนช่วยลดอาการดื้อต่อการรักษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ โดยใช้ร่วมกับการรักษาบำบัดทางจิต
ภาพ: Reuters
สาร ‘ไซโลไซบิน’ สารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทหลัก ที่พบใน ‘เห็ดขี้ควาย’ ถูกพบว่ามีส่วนช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีภาวะดื้อต่อการรักษา (Treatment Resistant Depression) หรือ TRD ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน และใช้ยากล่อมประสาทไม่ได้ผลอย่างน้อย 2 ชนิด โดยมีผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 233 คน ซึ่งการทดลองดังกล่าว ดำเนินการโดยบริษัท COMPASS Pathways ที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ศาสตราจารย์ กาย กู๊ดวิน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ COMPASS PATHWAYS กล่าวว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าที่มีภาวะดื้อต่อการรักษา เป็นเรื่องที่ยากมาก โดยพื้นฐานแล้ว จะเกี่ยวกับข้องกับการรักษาในปัจจุบัน และยังเกี่ยวกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตร่วมกับภาวะซึมเศร้า เพราะว่า อาการจะค่อนข้างเรื้อรัง และมีความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองมากมาย ซึ่งราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปัจจุบัน อาจมีภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา ที่อาจจะต้องใช้ความพยายามพิเศษที่เราคิดค้นขึ้นที่นี่
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วม จะได้รับยาที่มีสารไซโลไซบิน ซึ่งสกัดมาจากเห็ดขี้ควายขนาด 1 มิลลิกรัม, 10 มิลลิกรัม และ 25 มิลลิกรัม ร่วมกับการรักษาบำบัดทางจิต เมื่อได้รับยาดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะอยู่ในสภาวะ ‘ตื่นนอนกึ่งฝัน’ เป็นเวลาอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
“นี่เป็นการศึกษาที่สำคัญ เพราะว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา เป็นผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือบางครั้งก็มากถึง 4 ครั้งก่อนหน้านี้ การรักษาที่เราพยายามใช้คือ ‘Psilocybin comp 360’ เป็นผลึกสังเคราะห์จากเห็ดขี้ควาย ซึ่งเราได้ให้ยาแก่ผู้ป่วย ร่วมกับการบำบัดทางด้านจิตใจ และติดตามผลของพวกเขาหลังจากการรักษานี้ผ่านไป 12 สัปดาห์” ศาสตราจารย์ กู๊ดวิน กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาไซโลไซบิน 25 มิลลิกรัม มีอาการซึมเศร้าที่อยู่ในระดับที่ต่ำมากกว่าผู้ที่รับยาขนาด 1 หรือ 10 มิลลิกรัม หลังได้รับการรักษาเพียง 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ 29% ของผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าว ได้รับการบรรเทาให้อาการโรคซึมเศร้าอยู่ระดับมาตรฐาน
เจมส์ รัคเกอร์ นักจิตวิทยาการปรึกษาของวิทยาลัย King’s Colleage และเป็นหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะดื้อต่อการรักษา มักมีทางเลือกที่จำกัด และมาพร้อมกับผลข้างเคียงที่ยากลำบาก การค้นพบเหล่านี้ จึงนับว่าเป็นก้าวที่ดี
ราว 20% ของผู้เข้าร่วมการทดลองที่ได้รับยาขนาด 25 มิลลิกรัม พบว่า จะมีการตอบสนองตัวยาอย่างต่อเนื่อง หลังเข้ารับการรักษาได้ 3 เดือน เมื่อเทียบกับ 10% ของผู้ที่ได้รับยาขนาด 1 มิลลิกรัม โดยคาดว่า ข้อมูลจากสองการศึกษาในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อทดสอบสารประกอบดังกล่าว จะเปิดเผยได้เร็วที่สุดภายในสิ้นปี 2024
แม้ว่าสาร ‘ไซโลไซบีน’ จะถูกพบว่ามีส่วนช่วยบรรเทาอาการภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลอง แต่ขณะเดียวกัน สารดังกล่าว ก็มีผลข้างเคียงในระหว่างการรักษาได้เช่นกัน
“มันเหมือนกับเครื่องขยายเสียงของกระบวนการทางจิตใจ มีลักษณะพิเศษบางอย่าง เช่น การรับรู้ที่ผิด ๆ ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถเริ่มรู้สึกแปลกไป, ความรู้สึกของเวลาคุณอาจช้าลง หรือ เร็วขึ้น หรือ ช้าลงได้, คุณรู้สึกแปลก ๆ ผ่านร่างกาย และประสบการณ์แปลก ๆ, อารมณ์, ความรู้สึกทางร่างกาย หรือ ความทรงจำจากอดีตที่คุณอาจจะลืมไปนานแล้ว
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ และแนวคิดการรักษาด้วยไซโลไซบิน คือการอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น, เปิดใจรับสิ่งเหล่านั้น และตั้งใจที่จะเดินเข้าไปสู่ความมืดมิดของคุณ ที่คุณอาจจะพบอัญมณีแห่งความเข้าใจเล็ก ๆ ที่ว่าทำไมคุณถึงรู้สึกแบบที่คุณรู้สึก” รัคเกอร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เห็ดขี้ควาย ยังนับว่าเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง และถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายของโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้ค่อนข้างมีอุปสรรคในการที่จะนำมาใช้ด้านทางการแพทย์ แต่การวิจัยเกี่ยวกับด้านสารที่สกัดจากเห็ดขี้ควาย เพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น เริ่มมีงานวิจัยที่แพร่หลายมากขึ้น
“มันเป็นเรื่องยากในการพัฒนายาเหล่านี้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มันไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์...เมื่อมันไม่ง่ายในการใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์ เราจึงมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย และเราเป็นส่วนหนึ่งในการไล่ตามสิ่งนั้น และเราคิดว่า เราทำได้ดีเลยทีเดียว” ศาสตราจารย์ กู๊ดวิน กล่าว
📌ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
🟠Line TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt
โฆษณา