6 พ.ย. 2022 เวลา 03:59 • ไลฟ์สไตล์
“เราสามารถพัฒนาจิตใจตนเอง
ให้มันร่มเย็นเป็นสุขอยู่ด้วยตัวเองได้”
“ … ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
วันนี้เข้าฤดูหนาวแล้ว เริ่มหนาวแล้ว เวลาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องหมาย ฤดูกาลมันเป็นเครื่องบอกเรา วันเวลาล่วงไปๆ
นี่ใกล้ลอยกระทง ลอยกระทงเราก็สนุกสนานกัน ที่จริงวันลอยกระทง มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องนางนพมาศ แต่เป็นวันที่พระสารีบุตรปรินิพพาน 6 เดือนก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน
พระอัครสาวกท่านจะต้องนิพพานก่อน เป็นประเพณีอย่างนั้น หลังจากนั้นอีก 15 วัน พระมหาโมคคัลลานะนิพพาน
การที่พระอัครสาวกมีธรรมเนียม ที่จะนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า มองดูมันก็มีเหตุผล คือถ้าพระอัครสาวกยังอยู่ พระพุทธเจ้านิพพานมันก็จะมีคนรับช่วงเป็นศาสดาต่อ พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ธรรมวินัยเป็นศาสดาของพวกเรา ของชาวพุทธ
ภายหลังจากท่านปรินิพพาน เมื่อสิ้นพระสารีบุตร สิ้นพระมหาโมคคัลลานะแล้ว พระผู้ใหญ่ที่สุดก็คือพระมหากัสสปะ ท่านก็เลยเป็นผู้นำสังคายนา
สังคายนาครั้งแรกมีพระวินัย กับพระสูตร พระธรรมะ ธรรมวินัย ส่วนของพระวินัยพระอุบาลีท่านเก่ง ส่วนของธรรมะที่อธิบายจัดหมวดหมู่ พระอานนท์ คนอินเดียไม่รู้จักพระอานนท์ คนสมัยพุทธกาลท่านชื่อพระอานันทะ คนไทยมาเรียกว่าพระอานนท์
ฉะนั้นธรรมะก็ค่อยๆ ฝัง ค่อยๆ หยั่งรากลง แข็งแรงขึ้น กระจายตัวออกไป ผ่านไปประมาณ 200 ปี ธรรมะแท้ๆ ก็เริ่มลบเลือน พวกอลัชชีมากมาย เพราะคนจำนวนมากนับถือพระพุทธศาสนา พากันปรนเปรอพระ พวกชั่วๆ มันก็เข้ามาบวช ก็มาทำความเสียหาย พระดีๆ ท่านก็หลบเร้นออกไป
จนพระเจ้าอโศกทำสังคายนาครั้งที่ 2 จัดสังคายนา เที่ยวไปหาว่าจะหาพระองค์ไหน มาเป็นประธานในการสังคายนา ไปได้พระโมคคัลลีบุตรติสสะ มาเป็นประธาน
มันเป็นเรื่องประหลาดอย่างหนึ่ง องค์ที่เป็นประธานสังคายนาครั้งที่ 2 คือพระโมคคัลลีบุตรติสสะ คนไม่รู้จัก คนรู้จักแต่พระอุปคุต ธรรมะจริงๆ มันอยู่ยากจริงๆ เราไปสร้างตำนานพระอุปคุตขึ้นมา
ธรรมะที่ยกระดับของเราให้พ้นจากความเป็นสัตว์
พระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะ ที่ยกระดับของเราให้พ้นจากความเป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง ฉะนั้นมันฝืนกิเลสอย่างรุนแรงเลย
ในโลกก็มีตัวมีตน พระพุทธเจ้าบอกไม่มีตัวตน
ในโลกเขาแย่งชิงให้มากที่สุด พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง
มันสวนกระแส สวนกับธรรมชาติจิตใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธ มันอยู่ได้ไม่ค่อยนานเท่าไร
มีคนมีบุญบารมีรวมกันมาเกิดเป็นชุดๆ ไป
ชุดนี้เกิดมาสะสมบุญบารมีมากพอ
ก็บรรลุมรรคผลนิพพานหมดไปชุดหนึ่ง
ชุดอื่นก็เข้ามาต่อเป็นกลุ่มๆ ไป
ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอก เมื่อหลายสิบปีมาแล้วท่านบอกว่า “สัตว์นรกมันขึ้นมามากแล้ว ต่อไปพวกเราคนมีศีล มีธรรม จะอยู่กับเขายาก ให้พวกเราเร่งภาวนา ต้องหนีมันต่อไป อย่าไปอยู่กับมันเลย”
จะไปต่อสู้เอาชนะมัน มันก็เยอะเหลือเกิน สัตว์ที่มันตามใจกิเลส สู้กับมันไม่ไหวหรอก เราก็ถอยไป
ภาวนาพ้นไปได้ก็พ้นไปเลย
พ้นไม่ได้ท่านบอกว่าให้ไปต่อในเทวโลก ในพรหมโลก
แต่ถ้าไปเป็นพรหม ให้เป็นพรหมที่เป็นรูปพรหม
อย่าไปเป็นอรูปพรหม
แล้วเวลามีการแสดงธรรม ในสวรรค์เขาก็แสดงธรรมกันอยู่เรื่อยๆ พระอริยะมีอยู่ หรือเวลาพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะได้มาฟังธรรมต่อ
ท่านบอกไว้อย่างนี้นานแล้ว ว่าท่านมองว่า สัตว์ในนรกมันถึงวาระที่ขึ้นมามากมาย เต็มไปหมดเลย อันนี้ท่านเล่า จริงหรือเปล่าหลวงพ่อไม่มีญาณพิเศษอะไรจะรู้หรอก
แต่มาดูสังคมเราทุกวันนี้ มันโหดร้ายทารุณขึ้นเรื่อยๆ อย่างเมื่อก่อนเราไม่เคยเจอ อยู่ๆ ก็ไปไล่ฆ่าเด็ก ไม่ได้โกรธได้แค้นกับเด็ก อยากทำอะไรแปลกๆ ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้คนทำไม่ได้ มนุษย์ทำไม่ได้ มนุษย์แปลว่าผู้มีใจที่สูง
อย่างพวกเราให้ไปฆ่าหมาสักตัว เรายังทำไม่ได้เลย ฆ่าแมวสักตัวเราก็ทำไม่ได้ จิตใจมันไม่เสมอกัน มันมาอยู่ด้วยกัน มันอึดอัด อยู่ยาก
ฉะนั้นให้พวกเราตั้งอกตั้งใจภาวนา มันเป็นทางที่เราจะพ้นไปจากวังวนของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนของสัตว์ทั้งหลาย จะได้พ้นจากวังวนอันนี้ไป
พ้นความเป็นสัตว์มาเป็นมนุษย์ มนุษย์แปลว่าผู้มีใจสูง
คือใจที่มันมีศีลมีธรรม
แต่เดิมเราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง
มีกิเลสหนาปัญญาหยาบเหมือนคนอื่นเขา
ไม่ต้องไปเกลียดเขาหรอก
เมื่อก่อนเราก็เลวอย่างนั้น
แต่อาศัยที่เรามีความตั้งใจดี เข้ามาศึกษาปฏิบัติ
รู้จักทำทาน รู้จักรักษาศีล รู้จักภาวนา
ใจของเราก็สูงขึ้นๆ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ
จิตของมนุษย์เป็นจิตที่เหมาะสมที่สุดที่จะปฏิบัติธรรม จิตในภพภูมิอื่นปฏิบัติธรรมลำบาก
อย่างสูงสุดเลยมันภพของพรหม พรหมอายุยืนยาวมาก ชีวิตมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นมักจะติดในความสุข สบาย เพลินๆ ไป มีอายุยืนมาก
พวกเทพเขาก็ติดในกามกัน ทั้งมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัสที่น่าเพลิดเพลิน น่าพอใจ มีความสุขมากไป ก็เหมือนพวกคนบางคน เขามีความสุข เขาไม่ภาวนา ไม่รู้จะภาวนาทำไม ชีวิตมีความสุขอยู่แล้ว
อย่างพรหมอายุยืนยาวไปจนประมาท
พวกเทพมีความสุขมากไปจนประมาท
สัตว์นรกมีความทุกข์เกินไป จนไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติ
อสุรกายมันมีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดต่างๆ นานา ก็ปฏิบัติไม่ได้
เปรตมีแต่ความอดอยาก หิวโหย มันก็ปฏิบัติไม่ได้
ใจมันเต็มไปด้วยโลภะ ต้องการ
ขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง ใจไม่มีความสงบสุข
สัตว์เดรัจฉาน ในภพภูมิทั้งหลาย ภพของพรหมมันสูง พวกที่ต่ำที่สุดคือเดรัจฉาน เราเห็นว่าหมาบางตัว โอ้ เจ้าของรัก อยู่ดี กินดี
แต่ถึงสัตว์เดรัจฉานไปได้รับการเลี้ยงดูดีแค่ไหน สัตว์เดรัจฉานก็เต็มไปด้วยโมหะ เต็มไปด้วยความหลง ไม่มีความรู้สึกตัว ใจล่องลอยไปเรื่อยๆ สัญชาตญาณกระตุ้นให้วิ่งไปเรื่อยๆ ฉะนั้นพวกนี้ภาวนาไม่ได้ จิตมีโมหะรุนแรง
ในขณะที่มนุษย์ เรามีทั้งดี มีทั้งชั่ว
อายุเราก็ไม่ได้ยืนเกินไป จนกระทั่งคิดว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้า
ร่างกายเราก็ไม่ได้แข็งแรงเกินไปที่จะอยู่ไปตั้งนานๆ
ชีวิตเราก็เจอความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง
สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง
ไม่ได้มีแต่ความสุขล้วนๆ ความสุขมากมาย จนกระทั่งประมาท
เวลาความสุขเกิดขึ้นก็เกิดไม่นาน
เวลาความทุกข์เกิดขึ้นก็เกิดไม่นาน
เวลาจิตใจมีกุศลก็อยู่ไม่นาน
จิตใจโลภ โกรธ หลงขึ้นมาก็อยู่ไม่นาน
ร่างกายของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว
แต่ว่าไม่ได้เร็วมากเกินไป
อย่างสัตว์เดรัจฉานบางพวกอายุ 2 – 3 วันก็ตายแล้ว ไม่ทันพัฒนาจิตใจ
มนุษย์อายุไม่ยืนจนกระทั่งประมาท และก็ไม่อายุสั้นเกินไป
มันเป็นภพภูมิที่ดี มนุษย์มีสติ มีปัญญา
สามารถที่จะพัฒนาจิตใจตนเองได้
ด่านสุดท้ายคือการปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
การจะได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นของยากมาก โอกาสที่จะเป็นมนุษย์นั้นยากมากเลย แล้วเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างพวกเรา ก็ถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีร่างกายปกติ มีจิตใจปกติ ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก
แล้วมนุษย์อย่างพวกเราได้ฟังธรรมะ คนที่ร่างกายปกติ จิตใจปกติ มีส่วนน้อยจริงๆ ที่ได้ยินธรรมะ ได้ฟังธรรมะ
อย่างต่างชาติเขาโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมะน้อยเต็มที ชาวตะวันตกหลังๆ นี้หันมาสนใจพุทธศาสนา แต่เขาสนใจในเรื่องของสมาธิ ไม่ได้สนใจเรื่องปัญญา เขาได้ส่วนนิดเดียวของศาสนาพุทธ
1
เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นคนก็ยากลำบาก
แล้วเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งกายทั้งใจอย่างนี้ ก็ยากลำบากมากขึ้น
แล้วมีคนส่วนน้อยเท่านั้นได้ยินได้ฟังธรรมะ
ในจำนวนคนส่วนน้อยที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ
มีส่วนน้อยลงไปอีกที่คิดว่าจะต้องตั้งใจปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นคนที่จะบรรลุมรรคผลได้ จะเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ มันมีน้อยอย่างยิ่ง
โบราณเขาเปรียบบอก “จำนวนคนเหมือนกับขนวัว วัวตัวหนึ่งมีขนไม่รู้กี่ล้านเส้น แต่คนที่เข้าถึงธรรมะมีแค่เหมือนเขาวัว” เขาวัวมี 2 เขาเอง เทียบกับจำนวนพวกที่ไม่มีโอกาส
พวกเราทั้งหลายได้เป็นมนุษย์แล้ว ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว
เรามีศรัทธา เราเข้ามาใกล้พระ มาฟังธรรม
เหลืออยู่อย่างเดียว เราปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
เหลืออันสุดท้ายอันเดียวเท่านั้นพวกเรา
ด่านที่ยุ่งยากเราได้ผ่านมาหมดแล้ว
เหลือด่านสุดท้ายแล้ว
คือปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
ไม่ใช่เอาเวลาไปวุ่นวายอยู่กับโลกมากมาย
1
อย่างไปแย่งชิงอะไรกันในโลก มันจะอยู่นานสักแค่ไหน
มีเงินหมื่นล้านแสนล้าน มันจะใช้ได้ตลอดไปหรือเปล่า
ชีวิตมันก็ไม่ได้ยืนยาวอะไรนักหนา
เพราะฉะนั้นเรามาหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารสูงสุด ให้กับตัวเราเอง ให้สมกับที่เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่มีบุญวาสนา มีศรัทธา ได้เข้าใกล้พระ ได้ฟังธรรม เหลืออันสุดท้ายปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมการปฏิบัติธรรม
ไม่ใช่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ตื้นเกินไป
การปฏิบัติธรรมก็คือ การปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกให้ทำ
ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ท่านบอกว่าอย่าทำ
ท่านบอกอย่าทำกรรมชั่วให้ทำกรรมดี
กรรมดีของเราก็คือทาน ศีล ภาวนา
เราพยายามสะสมของเราไป
การทำทาน ทำเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว
อย่างเรามีเหลือเฟือ อย่างเสื้อผ้าของเรา
บางคนมีเสื้อผ้าเยอะ มีตั้งหลายตู้
ตอนนี้ก็เริ่มหนาวแล้ว ลองไปค้นที่บ้านดู
อันไหนส่วนเกินให้กับคนที่ขาดแคลนไป
อันนั้นมีประโยชน์ เก็บไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
เห็นสวยๆ ก็ซื้อมา พักเดียวมันก็ตกยุคแล้ว ไม่กล้าใส่ ใส่แล้วเชย เอาไปให้คนซึ่งเขาลำบากกว่าเรา รู้จักให้ ไม่ได้เห็นแก่ตัวเองจะหาผลประโยชน์อย่างเดียว รู้จักให้บ้าง ใจเราก็จะสูงขึ้น เพราะว่าเราสามารถลดละกิเลส คือความเห็นแก่ตัวได้
แล้วต้องรักษาศีล นั่นคือการปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่ง
การทำทานก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง
มีผลในทางลดละกิเลส
การรักษาศีลก็เป็นการปฏิบัติธรรม
เราไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมตามใจกิเลส
ขัดเกลาจิตใจตัวเองให้มันเข้มแข็งขึ้น
อย่างเรามีความโลภอยากได้ของคนอื่น
เราก็ต้องข่มใจตัวเองไว้ รู้จักต่อสู้ไม่ตามใจกิเลส
การที่เราคอยอบรมจิตใจตัวเอง ให้มันเข้มแข็ง
แรกๆ มันยาก แรกๆ ยาก
แต่ต่อไปๆ จิตใจมันคุ้นเคยที่จะรักษาศีล
การรักษาศีลจะเป็นของง่าย
การทำผิดศีลจะเป็นของยาก
มันจะกลับข้างกัน
อย่างเราไม่เคยรักษาศีล แต่ก่อนเราก็ทำอะไรชั่วๆ เหมือนที่สัตว์ทั้งหลายมันทำอย่างนั้น นี้พอเรามาหัดรักษาศีลเข้า เวลาเราคิดจะทำชั่ว มันไม่กล้าทำ มันละอายใจ ละอายใจไม่อยากทำ เบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นสักนิดหนึ่งก็ไม่อยากทำ มันมีความเมตตา มีความสงสารเกิดขึ้น
ใจมันมีพัฒนาการที่จะสูงขึ้นๆ
จิตใจที่เคยเต็มไปด้วยโลภ โกรธ หลง ก็ลดลง
เกิดจิตใจที่มีเมตตากรุณาเกิดขึ้นมาแทนที่
มีหิริโอตัปปะ ละอายที่จะทำบาป
เกรงกลัวผลของการทำบาป
มันจะไม่กล้าทำชั่ว
ค่อยๆ ฝึกตัวเองให้สะอาดหมดจดขึ้น
ทำทานก็เพื่อฝึกจิตใจให้มันไม่เห็นแก่ตัว
รักษาศีลก็ฝึกตัวเองให้มันสะอาดหมดจดมากขึ้นๆ
ก้าวขึ้นสู่การภาวนา
พอถึงขั้นภาวนา ภาวนามี 2 ขั้นตอน
ก็มีการฝึกให้จิตมันสงบนี้อันหนึ่ง
ฝึกให้จิตมันฉลาดมีปัญญา เข้าใจความเป็นจริง
นี่อีกอันหนึ่ง 2 อัน
ฝึกจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น เรียกว่าสมถกรรมฐาน
ฝึกจิตให้มีสติ มีปัญญาแก่กล้า เข้าใจความเป็นจริงเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน
เพราะฉะนั้นงานก็มี 2 งานในการฝึกจิตจริงจัง
การทำทาน ถือศีล เป็นการวางพื้นฐานที่ดี
เพื่อวันหนึ่งเราจะก้าวขึ้นมาสู่การภาวนา
การภาวนาเบื้องต้นคือสมถกรรมฐาน ทำอย่างไร
น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข
แล้วอารมณ์นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่ไม่กระตุ้นกิเลส
เช่นเราทำความสงบอะไรไม่เป็น เราไหว้พระ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ สวดมนต์ในใจของเราไปเรื่อยๆ ขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ก็ยืนสวดมนต์ไปในใจเรา ดีกว่าวอกแวกฟุ้งซ่านไป ไม่จำเป็นต้องสวดยาว ไม่จำเป็นต้องสวดเยอะ หาธรรมะสักบทหนึ่งที่เราพอใจ เราก็สวดไป
อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนก็สวด ชอบบทนี้ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว” บทนี้ ชอบ จะสวดยาวๆ ให้เต็มบทก็ได้
หรือจะบริกรรมมันอยู่แค่นี้ก็ได้ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ” สมมติเราเอาแค่นี้ แค่นี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวดยาวๆ รัตนสูตร มงคลสูตร อาฏานาฏิยสูตร ไม่จำเป็น
หรือสติปัฏฐานสูตร ยาวๆ ชินบัญชร ไม่จำเป็นต้องยาวอย่างนั้นหรอก สวดมันสั้นๆ สวดอะไรไม่ได้ “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” แค่นี้ก็ดีถมไปแล้ว
ให้ใจอยู่กับคำบริกรรม อยู่กับการสวดมนต์ไปเรื่อยๆ
แทนที่จะปล่อยให้มันคิดฟุ้งซ่านไปตามใจกิเลส
ก็มาอยู่กับการสวดมนต์ของเรา ในใจเรา
ทำไปเรื่อยๆ จิตจะค่อยๆ มีแรง ค่อยๆ สงบ
แล้วก็มีกำลังมากขึ้นๆ
ชีวิตเราก็จะเริ่มเข้าใจคำว่า “สงบสุข” มากขึ้นแล้ว
เราจะพบเลยว่า โอ้ ตลอดชีวิตที่ผ่านมา มีแต่ความวุ่นวาย ไม่เคยรู้จักคำว่าสงบสุขเลย เรามาสวดมนต์ในใจของเรา สวดไปเรื่อยๆ มีโอกาสเมื่อไรก็สวดไปเรื่อยๆ ใจเราก็ยังสงบสุขได้ มันมีคุณค่ามากกว่า การไปแย่งชิงอะไร
ได้มาแล้วก็มีความสุข แป๊บเดียว เดี๋ยวความสุขก็หายไปแล้ว
อันนี้ไม่ต้องแย่งกับใคร ไม่ต้องไปขอใคร
ไม่ต้องแย่งใคร ไม่ต้องง้อใคร
เราสามารถพัฒนาจิตใจตนเอง
ให้มันร่มเย็นเป็นสุขอยู่ด้วยตัวเองได้ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
29 ตุลาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา