Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจารย์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
•
ติดตาม
8 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
ป่าชายเลน จุดพลิกสำคัญของการรักษาทะเล
ในผลการศึกษาเรื่องป่าชายเลน ของคณะอนุกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง บอกไว้อย่างน่าสนใจว่า
พืชในป่าชายเลน จะมีความแปลก มีคุณสมบัติพิเศษ และมีพันธุ์ที่หาได้ยาก ขยายพันธุ์ก็ยาก เพราะต้องยึดตัวเองอยู่ในเลน มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มของทะเลเข้าถึงสลับไปมาตลอดเวลา แถมดินเลนด้านใต้ก็ถูกคลื่นและน้ำขึ้นน้ำลงโยกไปมาตลอด มีสัตว์ประเภท หอย ปู และปลาตีนขุดรูเป็นโพรงอยู่ใต้ต้นไม้เหล่านี้ตลอดเวลา
โพรงรากของแต่ละต้นจึงพยายามปรับตัวให้สามารถยึดเกาะได้มากที่สุด เปลือกและแกนไม้ต้องพบกับสภาพการกัดกร่อนของน้ำเค็มได้ดี เดี๋ยวเปียกเดี๋ยวแห้งสลับไปมาโดยไม่มีคำว่าหน้าฝนหน้าแล้ง การงอกของต้นใหม่ต้องเผชิญกับคลื่นจึงทำให้มีทั้งแตกหน่องอกกอและทิ้งผลได้
นับเป็นนิเวศของพืชที่น่าจะมีวิวัฒนาการระดับแชมป์มากๆ
แถมภารกิจนอกเหนือจากการเป็นทั้งโรงเรียน และโรงคลอดอันปลอดภัยให้สัตว์ทะเลนานาชนิดแล้ว ป่าชายเลนยังรับบทเป็นเกราะกำบังแผ่นดินชายฝั่งจากพายุ ทั้งลม และคลื่นในฐานะกำแพงที่ซ่อมตัวเองได้ ขยายกำแพงให้กว้างหรือหนาขึ้นก็ได้
เป็นเหงือกที่ช่วยดักกรองปฏิกูลและสารที่เข้มข้นต่างๆไม่ให้ผ่านจากบกลงทะเล เช่น โลหะหนัก เพราะสิ่งเหล่านั้นจะตกตะกอนไว้ที่บริเวณนี้ ตะกอนดินที่มาถึงปากแม่น้ำได้อาศัยรากและแนวป่าเหล่านี้ก่อตัวเป็นแผ่นดินตะกอนที่งอกขึ้นใหม่ ป่าชายเลนจึงมีสถานะผู้ช่วยเพิ่มพื้นที่ดินให้ประเทศไปด้วย
ป่าชายเลนจึงมีบทบาทสำคัญไปถึงแม้แต่หญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นที่หลบ ที่อาศัยให้นกทะเล หรือแม้แต่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกหลากหลาย
เล่ามาแค่นี้ เราก็รู้สึกว่า ป่าชายเลนมีค่ามากๆแล้วใช่มั้ยครับ...
นี่ยังไม่พูดถึงมนุษย์เลยนะครับ ว่าได้ใช้ป่าชายเลนทำที่อาศัย ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำที่จอดเรือหลบพายุ ถีบกระดานจับหอยจับปู
แต่เมื่อมองเข้าไปในสังคมวิทยาของมนุษย์แล้ว คนที่เกิดและโตมาในพื้นที่ป่าชายเลนมักจะเป็นคนยากไร้ แม้ไม่ถึงอดอยาก แต่มักจะยากที่จะขนส่งคมนาคมไปมา ยากที่จะเข้าถึงการศึกษา และยากที่จะมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ทำกิน เพราะที่ดินที่ตัวจะใช้นั้น ทั้งถูกทะเลและน้ำขึ้นน้ำลงซัดเคลื่อนไหวไปมา และเขตพื้นที่ป่าชายเลนก็ถูกกำหนดเป็นป่าของรัฐเพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวมและระบบนิเวศชายฝั่งเอาไว้ให้ได้ ซึ่งก็จำเป็น....
ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคนทำประมงชายฝั่งที่ประสบภัยพายุมรสุมหลายโอกาส สิ่งที่พบทำให้รู้สึกได้เลย ว่าความเป็นอยู่แม้ช่วงไม่ถูกพายุถล่มที่อยู่หลับนอนของพวกเค้าก็ยอบแยบมาก
คนทำประมงขนาดเล็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กลางแดดในเรือลำเล็กๆที่สู้คลื่นสูงไม่ค่อยได้ อุปกรณ์ทำครัวแทบไม่มีอะไรคงทนการกัดกร่อนของไอเกลือทะเลได้ เตาแก้สก็มักจะผุเพราะไอเกลือกัด สู้เตาถ่านไม่ได้ ที่ล้างและตากจานที่เป็นโลหะ สู้กาละมังพลาสติกไม่ได้ ดังนั้นแม้ถูกหวยรวยเบอร์มา เครื่องซักผ้าและจักรยาน ก็จะเขรอะด้วยสนิมในเวลาไม่นาน จะทิ้งก็แพงจะใช้ต่อก็ผุ ฝาเรือนและพื้นบ้านมักจะทำจากไม้แผ่นจากป่าบกซึ่งย่อมไม่ทนต่อนิเวศของทะเล คือชื้นเหนียวเหนอะและโยกเยกไปตามการขึ้นลงของน้ำที่ขยับดินเลนไปมาทุกวัน
ดังนั้นโครงบ้านของผู้อาศัยในป่าชายเลนจึงมักจะดูบูดๆเบี้ยวๆ เพราะเส้นโครงจะต้องแข็งแรงหนาๆ แต่จะให้ลงทุนหนาหมดก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ จึงต้องใช้ไม้อัด ไม้กระดานที่พอหาได้มาเชื่อม จึงทำให้บวมนั่นแต่บางนี่ ส่วนที่บางจะผุพังก่อน ทำให้ต้องปะผุกันไปตามโอกาส จะเดินท่อน้ำจืดมาใช้ก็เห็นท่อกันโล่งๆ เกิดแนวสีฟ้าสดของพลาสติกเอสล่อนพุ่งตัดความเข้มของป่าชายเลนไปมาอย่างหลบสายตาไม่ได้
แถมน้ำขึ้นน้ำลงย่อมทำให้พื้นเลนเปียกแฉะ จะเดินเข้าออกก็ต้องอาศัยไม้กระดานตอกพาดไปมาเป็นช่วงๆ รองเท้าและของใช้ดีๆจึงแทบไม่มีที่จะเก็บจะวาง
ทีนี้พอรัฐจำเป็นต้อง ''ยึดคืน ''และ ''ฟื้นฟู'' ป่าชายเลน ความไม่มั่นคงไม่มั่นใจย่อมเกิดขึ้นระหว่างกันและกันแน่ โจทย์ของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา ที่มีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์เป็นประธานจึงมีอยู่ว่า
ทำอย่างไรที่จะให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือดูแลรักษาพื้นที่อันซับซ้อนทางนิเวศนี้ ให้เกิดความยั่งยืน
และเราเชื่อว่า ต้นแบบการสร้างความยั่งยืน ต้องเป็นการอนุรักษ์ ควบคู่ กับการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ที่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ขณะนี้ป่าชายเลนไทยหายไปถึง54.45% ในช่วงการพัฒนาหกสิบปีที่ผ่านมา
แล้วเราจะคุ้มครอง ฟื้นฟู และดูแล ป่าชายเลนที่เหลืออยู่อย่างไร เราจะปลูกเพิ่ม เติมป่าให้ชายฝั่งของเราได้เพิ่มแค่ไหน จะทันไหม
เพราะเรามีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือใน 24 จังหวัดติดทะเลรวมๆแล้วเพียง 2.8ล้านไร่ แต่ที่ยังมีสภาพเป็นป่าชายเลนจริงนั้น เพียง 1.5 ล้านไร่ ที่เหลือกลายเป็นเมือง เป็นนาเกลือ เป็นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เป็นบ่อปลานากุ้ง และกลายเป็นบ่อร้างเสียแล้ว
ถ้าโรงคลอดและโรงเรียนอนุบาลของสัตว์ทะเลหายไป เราจะเหลืออะไรในทะเลล่ะ นอกจากขยะพลาสติก กับปลาที่หลงๆมาจากทะเลอื่น
บทความเรื่องเล่าของป่าชายเลนยังไม่จบนะครับ ติดตามอ่านต่อตอนหน้าได้ในวันพรุ่งนี้
สิ่งแวดล้อม
อนุรักษ์ธรรมชาติ
ป่าชายเลน
บันทึก
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สิ่งแวดล้อม
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย