9 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
ป่าชายเลน จุดพลิกสำคัญของการรักษาทะเล ตอนที่ 2
ในบทความเรื่องป่าชายเลนตอนที่ 1 ผมได้เล่าให้เห็นคุณประโยชน์และความน่าทึ่งของระบบนิเวศของป่าชายเลน ความอึดของพืชและชุมชนดั้งเดิมในป่าชายเลน ความกัดกร่อนของไอเกลือ และความร่อยหรอลงของป่าชายเลนจากการรุกของ ''เงิน''
ที่จริงป่าชายเลนในแผนที่ป่า มีกฎหมายคุ้มครองแยะพอควร เพราะเป็นป่าจึงตกอยู่ภายใต้ พรบ. ป่าไม้ 2484 พรบ. อุทยาน 2562 พรบ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม 2535 แต่ที่ออกมาได้ตรงๆ เรื่องเลยก็จะเป็น พรบ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 และ เนื่องจากป่าชายเลนมีสัตว์มาอาศัยในนั้นหลากหลาย จึงอยู่ใต้ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ด้วย
มีมติ ครม.เรื่องป่าชายเลน 37 ฉบับ อันที่จริงก็นับว่าไม่มาก แต่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมาเชียวล่ะ โดยมี มติ ครม.สำคัญ ๆ ในปี 2534 ที่เป็นครั้งแรกที่ ครม. ให้ระงับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน โดยเด็ดขาด แต่คงไม่เด็ดขาดจริง เพราะ ยังต้องมามีมติยกเลิกสัมปทานทำไม้ในป่าชายเลนเอาตอน 2539
จากนั้นครม.ปี 2543 ดึงพื้นที่งอกชายฝั่งที่เกิดใหม่มารวมเข้าเป็นเขตอนุรักษ์ทั้งหมด และห้ามมิให้มีการอนุญาตใช้ประโยชน์ในป่าชายเลนทุกกรณี ทั้งคำขอของภาครัฐหรือเอกชน
ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในป่าชายเลนมาเดิมก่อนปี 2534 แม้จะให้อยู่อาศัยได้ แต่มติครม. ปี2543กำหนดว่า ห้ามทำกินในป่าชายเลน และต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ทุกปี เพื่ออยู่อาศัยต่อ
ครั้นพอมาในปี 2556 ครม.ขณะนั้น มีมติให้หน่วยงานที่จะขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลน ต้องปลูกป่าชายเลนทดแทน ทำให้เกิดระเบียบการจ่ายค่าปลูกป่าชายเลนเป็นเงิน 20 เท่าของพื้นที่ที่ขอใช้ประโยชน์ให้รัฐ ซึ่งจะว่าไปก็อัฐยายซื้อขนมยายนี่เอง
แต่ป่าชายเลนถูกขอเอาไปทำท่าเรือ ไปทำโรงไฟฟ้า ไปขุดทำร่องเดินเรือ ซึ่งก็คงได้ประโยชน์อยู่หรอก แต่ทำไมหน่วยงานไม่หาจุดที่ไม่เป็นป่าชายเลนหรือจะไปเวนคืนจ่ายราคาที่ดินให้ราษฏรเสียก็ไม่รู้ และทำไมครม.จึงยอมให้เข้าไปใช้ป่าชายเลนเสียอีกแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน
จุดนี้ทำให้ผมงงๆหน่อย ว่าป่าชายเลนที่มีมติกันเด็ดขาดว่าต้องสงวนรักษามาต่อเนื่องถึง20ปีเพราะเห็นว่ามีคุณค่า และเหลือน้อยนั้น ตกลงจะห้ามหรือจะให้ใช้ถ้าจ่ายสตางค์ให้รัฐกันแน่ และเงิน20เท่าที่เอามาจ่ายก็คงเป็นเงินราชการจ่ายราชการอยู่ดีหรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆคือทุกรัฐบาลจะประกาศว่าเข้มงวดกับการบุกรุกป่าชายเลนล่ะ
รายงานของคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านทะเลและชายฝั่ง ของวุฒิสภา ซึ่งมีพลเรือเอกชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทรเป็นประธาน ระบุว่า
มีคดีบุกรุกป่าชายเลนระหว่างปี 2546-2562 อันเป็นช่วงที่นากุ้งยังระบาด รวมทั้งสิ้น 2,092 คดี แต่เป็นคดีที่มีตัวผู้ต้องหาแค่ 856 คดี ที่เหลืออีก 1,236 คดี ไม่มีผู้ต้องหา ตอนนี้คดีถึงที่สุดไป 1,069 คดี
ศัตรูเก่าของป่าชายเลนคือสัมปทานเผาถ่านที่ให้เอกชนครับ น่าเสียดายโดยแท้ แต่หลังยุคค้นเจอก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กุ้งกุลาดำก็แซงหน้ามาทำลายป่าโกงกางหนักมาก จนภายหลังเมื่อการเลี้ยงนากุ้งไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะสภาพแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรม แถมราคากุ้งกุลาดำผันผวน เลยทิ้งเป็นบ่อกุ้งร้าง ช่วงนั้นพื้นที่จำนวนมากถูกขายเปลี่ยนมือกันไปอย่างผิดกฏหมาย คือไม่มีใบอะไรสักอย่าง ตานี้พวกที่ซื้อมาก็เอามาทำการเกษตร เลี้ยงปลา หรือไม่ก็เอามาทำกิจการด้านท่องเที่ยว
การสำรวจใหม่ในปี2557 พบว่า แผนที่ที่เคยบอกว่าเป็นป่าชายเลนในกระดาษนั้น เหลือที่เป็นสภาพป่าจริงแค่ 53% ที่เหลือไม่เป็นสภาพป่าแล้ว และไม่มีพื้นที่ไหนถูกทิ้งร้างแล้วด้วย
ที่เล่ามานี้ใช่ว่ามีแต่ปัญหา ที่จริงก็มีพื้นที่ป่าชายเลนที่รัฐและชาวบ้านสามารถกู้คืนกลับมาหรือรักษาไว้ได้สำเร็จให้ไปสัมผัสได้หลายๆแห่ง ไม่ว่าจะเพราะมีโครงการพระราชดำริ โครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ การดึงพื้นที่ชายฝั่งหรือเกาะแก่งเข้าเป็นอุทยาน หรือทำโครงการปลูกป่าชายเลนด้วยพลังต่างๆทั้งฝ่ายรัฐ ชุมชนและเอกชนหลายๆแห่ง ผ่านกระบวนการเรียนรู้หลายๆอย่าง
ในหลวงรัชกาลที่เก้าเคยรับสั่งว่า ''...พื้นที่ป่าชายเลนที่ปลูกมาแล้ว ถ้าแน่นไป แสดแดดส่องลงไปไม่ถึง ไม่มีออกซิเจน สัตว์น้ำไม่สามารถอยู่ได้ จำเป็นต้องตัดสางและไม้ที่สางออก ให้นำไปเผาถ่านหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น...''
เกร็ดความรู้อย่างนี้สำคัญนะครับ เพราะป่าบกของไทยก็ผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว ตอนเจตนาดีระดมคนเมืองนั่งรถไปปลูกป่า แต่ไม่ทันคิดเรื่องไม้ต้องโตแบบมีแดดถึงพื้น ปรากฎว่าปลูกชิดกันเกินไป พอต้นไม้ยืนต้นสูงขึ้นก็แย่งแดดกัน คนปลูกหลงดีใจว่าไม้ฉันโตเร็ว
แต่ที่ไหนได้ความที่เร่งเขย่งแย่งไปเอาแดดทำให้ต้นไม้ไม่ได้สร้างความอ้วนของลำต้นไว้เพียงพอ เมื่อลมแรงมาปะทะ ไม้จำนวนหนึ่งจึงหักล้มลงตายไปอย่างน่าเสียดาย บางป่านั้นสัตว์ใหญ่เดินไม่สะดวกเพราะต้นไม้แน่นเกินปกติ เลยต้องอ้อมป่าปลูกไปเดินหาป่าโปร่งที่ก็ชักหายากเต็มที นักธรรมชาติวิทยาบอกว่า ธรรมชาติจัดสรรนั้นดีแล้ว แต่ต้องสังเกต
อีกพระราชดำรัสที่รัชกาลที่เก้าเคยทรงสอนเรื่องป่าชายเลนคือ
...''พื้นที่ป่าชายเลนควรขุดเป็นหลุมเป็นแอ่งบ้าง เพื่อเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ...''
นี่ก็ได้พิสูจน์กันมานักต่อนักในป่าบก ว่าถ้ามัวแต่ปลูกป่าจนเต็มเขา แต่ไม่เผื่อที่ทำแอ่งน้ำ พอสัตว์ป่าไม่มีน้ำกินก็ต้องออกมาชายป่า หนักเข้าก็ลุยสวน เดินพาเหรดไปกินน้ำสระน้ำชาวบ้าน ทะเลาะกับคนเปล่าๆ
สิ่งที่จะเสริมกำลังเชิงบวกอีก เช่น มีนโยบายที่ชัดเจนต่อเนื่องจริงจังจากรัฐ ซึ่งอันนี้คงหวังพึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติพอได้ หรือบางฝ่ายก็พยายามดันป่าชายเลนสำคัญๆบางแห่งให้เข้าเป็นมรดกโลก มรดกอาเซียน ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเสริม
การจัดระเบียบการถือครองของราษฎรด้วยกระบวนการ คทช. (คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ) นี่ก็สามารถต่อยอดจากที่รัฐบาลก่อนเลือกตั้งได้ริเริ่มไว้ได้ แต่ควรเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น ไม่งั้นขืนทอดเวลาไปก็จะมีผู้บุกรุกรายใหม่ วนเข้ามาไม่รู้จบ และถ้ารายใดยอมไปเอาที่ทำกินที่ไม่รบกวนป่าชายเลนได้ก็ควรอนุโมทนาพาออกไปดีกว่า
ควรพัฒนาขยายเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลให้กว้างขวางเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ และส่งเสริมให้เป็นเครือข่ายของการดูแลป่าชายเลนคู่ไปกับการดูแลทะเล
อีกอย่างคือควรต้องระวังดูแลไม่ให้สารพิษและน้ำเสียมาลงในแนวที่มีหรืออยากให้มีป่าชายเลนมากนัก ปากแม่น้ำมีส่วนส่งขยะและน้ำเสียมาถึงชายฝั่ง ขยะและคราบน้ำมันจากเรือและอู่ซ่อมก็จะทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยลง แถมยังทำให้การสลายตัวของอินทรีย์สารช้าลง เพราะจุลินทรีย์ผู้ทำหน้าที่ย่อยก็ต้องการออกซิเจนในน้ำเหมือนกัน
ความรู้เรื่องนิเวศป่าชายเลนนั้นซับซ้อน การมีเส้นทางเรียนรู้อย่างเป็นระบบให้คนได้เข้าไปศึกษาสัมผัสรู้ ดูจะเป็นหนทางจำเป็นคู่ไปกับการอนุรักษ์
ถ้าป่าชายเลนแข็งแรง สัตว์น้ำจะแข็งแรงตาม ถ้าป่าชายเลนมีมาก สัตว์น้ำก็จะมากตาม ถ้าป่าชายเลนขยายเป็นแนวยาว การกัดเซาะชายฝั่งก็จะน้อยลง ถ้าประชาชนและสังคมเข้าใจระบบนิเวศชายฝั่งได้มาก ประเทศก็จะเกิดความขัดแย้งที่แนวชายฝั่งน้อยลง
เราจึงควรสนใจความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกันมากๆ เพื่อให้ ''ประเทศได้ป่า ประชาชนมีรายได้ นิเวศชายฝั่งได้คืนความแข็งแรง''

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา