8 พ.ย. 2022 เวลา 02:22 • ปรัชญา
“วิธีพ้นออกไปจากวังวน หยุดวงจร
เหลือแต่กิริยา ไม่เกิดเป็นวิบากกรรมขึ้นมา
ไม่เกิดผลพวงที่ต้องเสวยไม่มีที่สิ้นสุดขึ้นมา”
" … ธรรมชาติของจิต ที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝน
ก็จะหลงเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกว่า เกิดนันทิ ความเพลิดเพลินในอารมณ์
ทำให้เกิดความเครียด ความกังวล
ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความเศร้าโศกเสียใจ
ความเดือดเนื้อร้อนใจ
ก็เกิดความทุกข์ต่าง ๆ ตามมา
เรียกว่า เกิดจากการที่จิตส่งออกไป เพลิดเพลินอยู่กับสิ่งต่าง ๆ หลงยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ละนันทิ (ความเพลิดเพลินในอารมณ์) จิตหลุดพ้น"
ความเพลิดเพลิน ส่วนใหญ่แล้วก็เรียกว่าหลงเพลิดเพลิน หลงติดข้องอยู่ กับกาย กับความคิด กับอารมณ์ต่าง ๆ กับสิ่งต่าง ๆ ในโลกนั่นเอง
การที่เราจะละความเพลิดเพลิน เพื่อกลับคืนสู่ความเป็นกลาง เครื่องมือที่พระองค์ทรงแนะนำ ก็คือสิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง
การเพลิดเพลิน มันทำให้ใจเราเกิดการเอนเอียงไป เรียกว่าเกิดจิตส่งออก ไปติดข้องอยู่กับสิ่งต่าง ๆ
ความเอนเอียง ความติดข้องกับสิ่งต่าง ๆ นี่แหละ
ที่เป็นอุปสรรคต่อการคืนสู่ความเป็นกลาง
ธรรมชาตินั้นมีความเป็นกลาง แต่พวกเราเกิดการเอนเอียง เกิดการเพลิดเพลิน เกิดการติดข้องอยู่กับสิ่งต่าง ๆ
เมื่อเกิดการเอนเอียง เกิดกิเลสความเศร้าหมอง ก็จะทำให้หลงกระทำกรรม
เมื่อหลงทำกรรม ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิบากกรรม ผลแห่งการกระทำ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เจตนาเป็นตัวกรรม"
เมื่อหลงทำกรรมเกิดขึ้น การกระทำจบไปแล้ว
แต่สิ่งที่มันไม่ยอมจบ ก็คือสิ่งที่เรียกว่าผลของการกระทำ ก็คือวิบากกรรมนั่นเอง
มันจะให้ผลสืบต่ออย่างยาวนานเลย
เกิดการเวียนว่ายตายเกิดนับภพชาติไม่ถ้วน
เกิดเป็นวังวนของวัฏสงสาร ในระดับจิตวิญญานขึ้นมา
นี่มาจากการที่เราเอนเอียง หรือเกิดการดิ้นรนกระวนกระวาย ที่เรียกว่า เกิดตัณหา
เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วก็ติดข้องต่อกาย ความคิด อารมณ์
เราจะละการติดข้องต่อกาย ต่อความคิด ต่อเรื่องราว ต่อสิ่งต่าง ๆ ละความเพลิดเพลิน เพื่อกลับสู่ความเป็นกลาง เครื่องมือที่ใช้ในการฝึกฝน ก็คือสิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง
การเอนเอียง หลงทำกรรม เกิดผลแห่งการกระทำ แล้วก็ต้องเสวยผลแห่งการกระทำ เกิดเป็นวังวน ไม่มีที่สิ้นสุด
เราจะหยุดวงจรตรงนี้ ก็ต้องดึงกลับ คืนสู่ความเป็นกลาง ที่เรียกว่ามันจะเหลือแต่กิริยา ไม่เกิดเป็นวิบากกรรมขึ้นมา ไม่เกิดผลพวงที่ต้องเสวยไม่มีที่สิ้นสุดขึ้นมา
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่แหละ เป็นปฏิปทาเพื่อความดับไม่เหลือแห่งกรรม สติปัฏฐาน ๔ ก็เช่นกัน
สติปัฏฐาน ๔ คือ เครื่องมือในการดึงกลับ ที่เราเอนเอียงไป เกิดการติดข้อง เกิดการเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งต่าง ๆ
กลับมาสู่ความตั้งมั่นที่ถูกต้อง
แล้วคืนสู่ความเป็นกลางนั่นเอง
นั่นคือวิธีที่จะพ้นออกไป
จากวังวนของวัฏสงสารทั้งปวง … "
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา