Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2022 เวลา 09:02 • ไลฟ์สไตล์
“ผลจากการแค่เริ่มต้นผิด ดำริผิด คิดจะเอา มันไปผิดทาง”
“ … จิตของผู้ที่คิดจะให้ มันเบา เบาสบาย
จิตของผู้ที่คิดจะเอา จะหนัก
เวลาเราคิดจะเอา คิดกอบโกยเอาเข้าตัว จะเป็นการสะสมของหนักของร้อนไว้ มันจะหนัก กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่มไม่พอ หิวกระหายอยู่ร่ำไป
1
เรียกว่าเริ่มต้นผิดนั่นเอง จิตที่คิดจะเอา
อย่างเวลาถ้าเราศึกษาปฏิบัติธรรม แล้วเราคิดที่จะเอา มันเริ่มต้นผิด เรียกว่า เกิดมิจฉาทิฏฐิ ความเข้าใจที่ผิดที่ยังไม่ถูกต้อง
คือคิดจะเอา อยากได้สติ อยากได้สมาธิ อยากได้ความสงบ
อยากได้ฤทธิ์เดช อยากได้คุณวิเศษต่าง ๆ
อยากเป็นผู้วิเศษต่าง ๆ
มันคิดจะเอา คิดเข้าตัว
เมื่อเห็นผิด ก็ดำริผิด
เมื่อดำริผิด ก็ลงมือปฏิบัติผิดทาง
มีความเพียรที่ยังไม่ถูกต้อง ผลก็ไม่ถูกต้อง
เกิดความตั้งมั่นที่ไม่ถูกต้อง เรียกว่าเกิดมิจฉาสมาธิ
จากจิตที่คิดจะเอา มันไปกันคนละทาง
เกิดความตั้งมั่นที่ไม่ถูกต้อง
เกิดความสงบ เกิดอุเบกขา ก็เป็นสภาวะที่แข็งกระด้าง
ความเฉยเมย ความไม่ใยดี ความไม่แยแส ความแห้งแล้ง
เหมือนดินที่มันแห้งแล้ง มันแข็ง มันกระด้าง ร้อนระอุ เป็นอย่างไรล่ะ อะไรมันก็เฉาตายกันหมด
เหมือนทะเลทรายที่มันแห้งแล้งระอุ มีแต่ความแข็งกระด้าง มีแต่ความแห้งแล้ง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เอาเข้าตัว มีแต่ความแก่งแย่งชิงดี มีแต่ความร้อนรุ่น มีแต่ความลุกเป็นไฟขึ้นมา
ผลจากการแค่เริ่มต้นผิด ดำริผิด คิดจะเอา มันไปผิดทาง
สมาธิจะเกิดความแข็ง ความกระด้าง ความแห้งแล้ง
อุเบกขาไม่ใช่การเฉยเมย การไม่แย่แส การไม่ไยดีอะไร
แต่ถ้าเริ่มต้นถูกเป็นอย่างไร จิตที่คิดจะให้ มันเบา
จิตที่คิดจะให้ มันคลายออก สละออก จากของหนัก จากของร้อน จากความตระหนี่ จากความถือตัวถือตน ความเห็นแก่ตัวต่าง ๆ
มันมองผู้อื่น มันให้ มันเกื้อกูล มันมีความอ่อนโยน มีความเอื้ออารี มีความรัก มีความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้มองเข้าตัว แต่มองเพื่อผู้อื่น ให้ …
เมื่อมีความอ่อนโยน มีความเอื้ออารี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรียกว่าเมื่อเริ่มต้นถูก คิดจะให้ คิดที่จะสละออก เริ่มจะมองออก มันไม่ใช่เอาเข้าตัว
มันกลายเป็นสละออก คลายออก
จิตที่คลายออก มันเบา เรียกว่าเกิดความเข้าใจถูกต้อง
เกิดความเห็นที่ตรง เป็นสัมมาทิฏฐิ จิตที่คิดจะให้
ท่านจึงเริ่มต้นด้วยทานก่อนเสมอ การให้เป็นกุศลโลบาย ไม่ใช่เอาเข้าตัว แต่มองเพื่อผู้อื่น ให้ออกไป
บารมี ๑๐ ทัศ ก็เริ่มที่ทานบารมี
ทศพิศราชธรรม ก็เริ่มที่ทาน การให้
เพราะว่าเริ่มต้นถูก ก็จะดำริได้ถูกต้อง
เมื่อดำริได้ถูกต้อง ก็ลงมือปฏิบัติได้ถูกต้อง
มีความเพียรที่ถูกต้อง ผลย่อมถูกต้อง
จิตที่คิดจะให้ จิตที่มีความอ่อนโยน มีความเอื้ออารี
เมื่อเกิดความตั้งมั่นที่ถูกต้อง เรียกว่าเกิดสัมมาสมาธิ
จะมีความอ่อนโยน ละมุนละไม
เนื้อสภาวธรรมที่เป็นสัมมาปฏิบัติ เป็นความถูกต้อง ตรงทางตรงธรรมแล้ว จะเต็มไปด้วยความอ่อนโยน ละมุนละไม เหมือนเราได้สัมผัสที่อบอุ่น
ถ้าใครโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น จากพ่อจากแม่ที่เต็มไปด้วยความรักความปรารถนาดี น้ำนมของมารดาจะมีความนุ่มนวล ละมุนละไม เพราะว่าบรรจุความรัก ความปรารถนาดี ความอ่อนโยนให้แก่ลูกนั่นเอง
ใจที่มีความเห็นตรง มีดำริที่ถูกต้อง ลงมือได้ถูกต้อง
เข้าถึงความตั้งมั่นที่ถูกต้อง ที่เรียกว่าสัมมาสมาธินั้น
จะเต็มไปด้วยความอ่อนโยน ความละมุนละไม
ซึ่งมันตรงกันข้ามกับความเห็นแก่ตัว มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความแบ่งปัน ความเกื้อกูล ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ความเป็นมิตร
เพราะฉะนั้น อุเบกขาอันเป็นสัมมาสมาธิ ความนิ่งเฉย ความเป็นกลาง จึงไม่ใช่ความไม่แยแสอะไร ไม่ใช่ความแข็งกระด้าง ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่กลับเป็นความอ่อนโยน ละมุนละไม
เปรียบเหมือนพื้นดินที่อ่อนนุ่ม มีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มฉ่ำ
พื้นดินที่มีความชุ่มชื้น มีความอ่อนโยน มีความอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ธัญญาหารย่อมเติบโตผลิบานออกมาได้
เพราะฉะนั้นความเป็นกลางของธรรมชาติ ไม่ใช่ความแข็ง ความกระด้าง
หากเราปฏิบัติไป เรารู้สึกว่าจิตใจเราแห้งแล้ง มันแข็ง มันกระด้าง ก็ให้สำรวจตัวเอง ว่าเราได้เคลื่อนออกจากสภาวะที่ถูกต้องหรือไม่ ?
สภาวะที่ตรงทางตรงธรรม จะชุ่มฉ่ำ มีความละมุนละไม
แต่หากแผ่นดินได้รับความชุ่มฉ่ำเกินไปเป็นไง ? ฝนตกมากเกินไปเป็นอย่างไร ?
จากความอุดมสมบูรณ์ ก็กลายเป็นน้ำท่วม เกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็ต้องอยู่บนความพอดี ที่เรียกว่าทางสายกลางนั่นเอง
ไม่น้อยจนเกินไป จนแห้งแล้ง
ไม่มากจนเกินไป จนมันท่วมทับเกินไป
ทุกอย่างก็อยู่ในความพอดี
เอ็นดูเราเอ็นเราขาดเป็นอย่างไร ?
อ่อนโยน ให้คนอื่นก่อนตลอดเลย ตัวเองนี่อดหิวกระหาย ตึงเกินไป สุดโต่ง เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด ก็ไม่เป็นกลาง ไม่พอดี
เพราะฉะนั้นความอ่อนโยน
จึงเริ่มที่อ่อนโยนต่อตัวเอง อ่อนโยนต่อผู้อื่น
อยู่ในทางสายกลาง ทุกอย่างอยู่ในความพอดี
มีความเป็นปกติ มีความเป็นธรรมดา มีความเป็นธรรมชาติ
มีความสมดุล มีความกลมกลืน มีความกลมกล่อม
เมื่อท่านทั้งหลาย ดำเนินชีวิตอยู่ในทางสายกลาง ที่เรียกว่า จุดพอดี ชีวิตของท่านทั้งหลายจะร่มเย็นเป็นสุข ก้าวเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง จนหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
https://youtu.be/iSG3WcFdSIY
เยี่ยมชม
youtube.com
จิตที่เบาสบายของผู้ให้ | ธรรมให้รู้•2565 : ตอนที่ 283
Photo by : Unsplash
1 บันทึก
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกล็ดธรรมคำครู
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย