Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
13 ต.ค. 2022 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
“การฝึกปฏิบัติมันมีเป็นสเต็ป ๆ
การละกิเลสก็มีเป็นระดับ ๆ ไป”
บางคนถามว่า “ปรารถนาพ้นทุกข์ เป็นตัณหาไหม”
“อยากปฏิบัติธรรมเป็นกิเลสไหม”
...
สุดท้ายแล้ว การจะเข้าถึงความเป็นกลางของธรรมชาติได้ กลับไม่ใช่เกิดจากความพยายาม เมื่อใดก็ตามที่หมดความพยายามต่างหาก จึงจะคืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติ
ตรงกันข้ามกับที่ทำมาทั้งชีวิตเลย
“ … พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“สิ่งที่เรียกว่าธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อการคลายความกำหนัด
เพื่อความสงบระงับ เพื่อการสลัดคืน
สิ่งนั้นเรียกว่า ธรรม
สิ่งใดไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย
ไม่เป็นไปเพื่อความคลายความกำหนัด
ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
สิ่งนั้นไม่ใช่ธรรม"
นี่เป็นหลักง่าย ๆ เราใช้ได้ทุกเรื่องเลยนะ วิถีพระพุทธศาสนาจะเป็นวิถีที่นำไปสู่ ความเรียบง่าย ความสงบระงับ ความเป็นกลาง
ซึ่งความเป็นกลางของธรรมชาติ เป็นผลของการฝึกปฏิบัติ อยู่ ๆ เราไปตั้งใจให้มันเป็นกลาง ให้ปล่อยวาง ทำไม่ได้หรอก เพราะว่ามันคือผล
การไม่ยึดมั่นถือมั่น การปล่อยวาง ความเป็นกลาง คือ ผลจากการฝึก
กิเลสมีทั้งระดับหยาบ ระดับกลาง แล้วก็ระดับละเอียด เรื่องของการหลุดจากการยึดมั่นถือมั่น มันเป็นเรื่องของระดับละเอียดแล้ว
ซึ่งเราจะถึงตรงนั้นได้ เราจะละกิเลสระดับละเอียดได้ มันต้องผ่านการละของหยาบก่อน
อย่างเช่น บอกว่าเราน่ะปล่อยวาง แต่ยังผิดศีลผิดธรรมอยู่เลย จิตยังคลุกเคล้าอยู่กับกามคุณอารมณ์อยู่เลย ก็เป็นเรื่องความหลงล้วน ๆ นั่นเอง ต้องละของหยาบ ๆ ให้ได้ก่อน
คือจิตละความตระหนี่ มีศีลมีธรรม แล้วก็ละกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ มันต้องละกิเลสอย่างหยาบให้ได้ก่อน
ใครที่บอกว่า ตัวเองปล่อยวาง ๆ แต่ถ้ายังละกิเลสอย่างหยาบไม่ได้ ก็เป็นเรื่องความหลงล้วน ๆ เลย
มันละกันเป็นขั้น ๆ แบบนี้ ละของหยาบ แล้วก็ของละเอียดในระดับสมาธิ จนของละเอียดต่าง ๆ
สุดท้ายแล้ว การจะเข้าถึงความเป็นกลางของธรรมชาติได้ กลับไม่ใช่เกิดจากความพยายาม เมื่อใดก็ตามที่หมดความพยายามต่างหาก จึงจะคืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาติได้
ตรงกันข้ามกับที่ทำมาทั้งชีวิตเลย
1
ถ้าเราหมดความพยายามตั้งแต่แรกนี่ ไปไม่เป็นแล้ว มันต้องขวนขวายพากเพียรใช่ไหม ?
มันเป็นเรื่องของระดับละเอียด ปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง มันเห็นมันเข้าใจสัจธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว มันหมดแล้ว ความอาลัยในโลก มันหมดแล้วความทะยานอยากทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรม
อยากจะอรหันต์ อยากจะบรรลุ ก็หมดแล้ว หมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว สิ้นอาลัยในตัณหานั่นเอง
เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา ความทะยานอยากไปในเรื่องกามคุณอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก
ภวตัณหา ความทะยานในความมี ความเป็นในภพต่าง ๆ
วิภวตัณหา บางทีเราไม่เอา ๆๆ ก็กลายเป็นวิภวตัณหาอีก ความทะยานในความไม่มี ไม่เป็น
กิเลสละเอียด มันละยากตรงนี้ แต่จะถึงจุดนั้นมันต้องละกันเป็นขั้น ๆ อย่างหยาบ อย่างกลาง ไปถึงจุดหนึ่ง พอบ่มพุทธสภาวะได้ที่จริง ๆ เหมือนผลไม้ที่สุกเต็มที่ มันพร้อมที่จะหลุดออกจากขั้วเองโดยธรรมชาติ โดยที่เราไม่ได้กำหนดใด ๆ ทั้งสิ้น
มันคือผล
มันหมดแล้ว ความพยายามทั้งหลายทั้งปวง
มันสิ้นแล้ว อาลัยในตัณหา
ความอาลัยยินดี เยื่อใยทั้งหลายทั้งปวง
เมื่อมันหมดแล้วนั่นแหละ มันหลุดคืนสู่ความเป็นกลางของธรรมชาตินั่นเอง
เพราะฉะนั้นการฝึกปฏิบัติมันมีเป็นสเต็ป ๆ
การละกิเลสก็มีเป็นระดับ ๆ ไป
กิเลสอย่างหยาบก่อน ยังละของหยาบไม่ได้ อย่าเพิ่งไปมองไกล
บางคนถามว่า "ปรารถนาความพ้นทุกข์ เป็นตัณหาไหม ? " "อยากปฏิบัติธรรม เป็นกิเลสไหม ?"
ก็ไปละของหยาบก่อนนะ จะไปคิดละของละเอียดโดยที่ของหยาบยังไม่ละ เขาเรียกว่ามันผิดขั้นตอนในการฝึกปฏิบัตินั่นเอง
พระพุทธเจ้าถึงวางแบบแผนการฝึกเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้วนะ
ความเป็นผู้มีศีล การสำรวมตนเอง
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
ความเป็นผู้ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่
การนั่ง การนอน ในที่อันสงบสงัด ปรารภความเพียร
เป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะต่าง ๆ
จนสงัดจากกามและอกุศลธรรม
เข้าถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
จนสามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาญาน
เห็นตามความเป็นจริง
เมื่อเห็นตามความเป็นจริง
ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น จากการยึดมั่นถือมั่น
สลัดคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
เพราะฉะนั้นให้เรียนรู้วิถีแบบเป็นขั้นเป็นตอน การฝึกปฏิบัติแบบนี้
ถ้าเราเอาหัวมาหาง
เอาหางมากลาง จะยุ่งนะ
สุดท้ายมันก็ออกนอกทางกันทั้งนั้น
แต่ถ้าเดินเป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้ ไม่หลง ตรงทางตรงธรรม ตรงต่อการหลุดพ้นจากทุกข์นั่นเอง …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
https://youtu.be/i9Tw2PMZiAo
เยี่ยมชม
youtube.com
การหลุดจากการยึดมั่นถือมั่น | ธรรมให้รู้•2564 : ตอนที่ 200
Photo by : Unsplash
1 บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกล็ดธรรมคำครู
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย