10 พ.ย. 2022 เวลา 01:08 • อาหาร
สรุปวิกฤติ “อุตสาหกรรมกิมจิ”
กิมจิ อาหารประจำชาติเกาหลี ที่เรามักจะเห็นเป็นเครื่องเคียงในทุก ๆ เมนู กำลังเจอวิกฤติ
เนื่องจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผลผลิตผักกาดขาวลดลงไปอย่างมาก จนทำให้ราคาผักกาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้กิมจิจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็รุนแรงจนรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
นอกจากกิมจิ จะเป็นเครื่องเคียงที่สำคัญในมื้ออาหารเกาหลีแล้ว
กระบวนการผลิตกิมจิ ยังได้รับการยกย่องโดย UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี 2013 อีกด้วย
เนื่องจากกระบวนการผลิตกิมจิ หรือ ที่คนเกาหลีเรียกว่า กิมจัง นั้น
ต้องใช้การลงแขก ร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในช่วงฤดูหนาวมาช่วยกันทำกิจกรรมสำคัญนี้
📌 วิกฤติกิมจิเกิดจากอะไร ?
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลผลิตผักกาดขาวลดลง
โดยในปีนี้ ราคากิมจิได้แพงขึ้นหลายเท่าตัว และขนาดผักกาดขาวก็เล็กลง
เกษตรกรต่างก็กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิที่สูงขึ้น
และ ฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณกิมจิในประเทศ
บริษัทผู้ขายกิมจิกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านราคามากกว่าปีไหน ๆ
โดยต้นทุนกิมจิเพิ่มขึ้นมากว่า 2 เท่า ใน 3 เดือน และราคากิมจิก็พุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี
ทำให้ผู้ผลิตกิมจิรายย่อยไม่สามารถหาซื้อผักในประเทศมาทำกิมจิได้
จนผู้ผลิตกิมจิรายย่อยเลิกกิจการมากกว่า 1,000 ราย
โดยผู้ผลิตกิมจิ อย่าง Cheongone Organic กล่าวว่า สต็อกวัตถุดิบที่ใช้ผลิตกิมจิหลังราคาขึ้นนั้นหมดแล้ว
โดยจากที่เคยผลิตกิมจิได้ 15 ตันต่อวัน ก็เหลือผลิตได้เพียง 10 ตันหรือน้อยกว่านั้น
ส่งผลให้บริษัทต้องขึ้นราคากิมจิของตัวเอง
ในขณะที่การผลิตกิมจิในครัวเรือนที่เป็นวัฒนธรรมของเกาหลีมาอย่างยาวนานก็เริ่มได้รับผลกระทบ
เนื่องจากสถานการณ์ราคาผักแพง วัตถุดิบในการดองผักแพงขึ้นเรื่อย ๆ
หลายครัวเรือนจึงหันมาซื้อกิมจิสำเร็จรูปจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน
ซึ่งยอดขายกิมจิสำเร็จรูปจาก Hanaro Mart พุ่งสูงขึ้น 20%
ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่า ความนิยมกิมจิจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากกระแส Soft Power ของเกาหลี
แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะดีต่อเกาหลีเสมอไป
เพราะเกาหลีต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างประเทศจีน
โดยในขณะนี้ กิมจิจากจีนที่มีราคาถูกกว่า ได้เข้ามาขายในเกาหลี
และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในเกาหลีใต้กว่า 40% แล้ว
ซึ่งอีกความเสี่ยงหนึ่งของเกาหลีใต้ คือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจะไปกระทบกับผลผลิตผักกาดขาว
โดยงานวิจัยจาก South Korea’s National Institute of Agricultural Sciences พบว่า
หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ภายในปี 2090s ผลผลิตผักกาดขาวจะลดลงไปถึง 99%
นั่นหมายความว่า จะไม่มีผลผลิตผักกาดให้มาผลิตกิมจิอีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้เกษตรกรหลาย ๆ คนเริ่มหันไปปลูกผักชนิดอื่นที่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้มากกว่า
โดย คุณ Jeon Sang-min ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายของสหกรณ์การเกษตรแทแบก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตผักกาดนั้นลดลงเรื่อย ๆ และเกษตรกรในแทแบก ได้เริ่มหันไปปลูกพืชชนิดอื่นกันแล้ว
📌 แนวทางแก้ไขของรัฐบาล
รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนการที่จะสร้างโกดังสำหรับเก็บผักกาดขนาดใหญ่ 2 แห่ง
โดยพื้นที่แต่ละแห่งอยู่ประมาณ 9,900 ตารางเมตร ซึ่งจะสามารถเก็บผักกาดได้ถึง 10,000 ตัน
อีกทั้งยังสามารถผลิตกิมจิได้ประมาณ 50 ตันต่อวัน
โดยโกดังเก็บกิมจินี้คาดว่าจะใช้งบประมาณการสร้างอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐและจะแล้วเสร็จในปี 2025
แต่นั่นหมายความว่า ในอีก 3 ปีนับจากนี้ หากเกาหลีใต้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนผักกาดได้เกษตรกรและผู้ผลิตในประเทศจะยังคงต้องเผชิญกับปัญหาด้านราคาต่อไป
และวิกฤติกิมจิในประเทศอาจจะยังคงไม่ทุเลาลงในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของเกาหลีใต้ คือ Soft Power ที่แข็งแกร่ง
โดยในปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มียอดการส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น 10.7%
หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 160 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งก็มาจากการที่วงการบันเทิงของเกาหลีมักจะสอดแทรก กิมจิไว้ในรายการต่าง ๆ ให้เราเห็นกันจนชินตา นั่นเอง
หากแผนการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมกิมจิในครั้งนี้สำเร็จ ประกอบกับ Soft Power ที่แข็งแกร่ง อาจทำให้อุตสาหกรรมกิมจิเกาหลีกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา