3 พ.ย. 2022 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
Climate Change ปัญหาของอุตสาหกรรมน้ำหอม
ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เมือง Grasse ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งให้กำเนิดน้ำหอมชั้นเยี่ยม จะอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของดอกกุหลาบ ดอกทูเบอโรส และ ดอกมะลิ
ถึงแม้ว่าเมือง Grasse จะเป็นเมืองเล็ก ๆ และเทียบกับทั่วโลกแล้ว
ที่นี่จะคิดเป็นสัดส่วนอุตสาหกรรมขนาดย่อม แต่คุณภาพของดอกไม้ที่นี่ โดยเฉพาะดอกมะลิอาจมีราคาขายสูงกว่าทองคำเลยทีเดียว ทำให้เมืองนี้มีความสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมน้ำหอม โดยเฉพาะ น้ำหอมแบรนด์หรูอย่าง CHANEL
แต่สภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป กำลังสร้างผลกระทบต่อผลผลิตพืชพรรณ
และอุตสาหกรรมน้ำหอมในปัจจุบัน
📌 การผลิตน้ำหอม ส่งผลต่อโลกขนาดไหน ?
อุตสาหกรรมน้ำหอมนั้นมีความสัมพันธ์ต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนซัปพลายเชนที่ซับซ้อน
โดยน้ำหอมมีส่วนของแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ เอทานอล ซึ่งมีราคาถูก ไม่มีกลิ่น และจะระเหยอย่างรวดเร็วเมื่อถูกความร้อนจากผิวของมนุษย์
ซึ่งการผลิตเอทานอลเกิดจากการนำพืชมาหมัก เพื่อเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล
จากนั้นเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอลล์ โดยใช้เอนไซม์และยีสต์
แล้วจึงนำเข้าสู่กระบวนการกลั่น เพื่อให้ได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์
จากข้อมูลของ American low carbon ethanol plant Attis Biofuels พบว่า
โรงงานผลิต เอทานอลสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมหาศาล
ปกติแล้ว การผลิตเอทานอล 50 ล้าน แกลลอน จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 150,000 เมตริกตัน
1
ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทจึงหาวิธีการใหม่ในการผลิตเอทานอลให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แต่ประเด็นเรื่องการผลิตเอทานอลก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เพราะยังมีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น การตัดไม้ทำลายป่า เตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกพืชพรรณที่ใช้สำหรับการผลิตน้ำหอม
ในปี 2021 มีรายงานออกมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “กำยาน” ว่าสามารถสกัดจากยางไม้ที่ออกมาจากต้นไม้ตระกูล Boswellia ที่พบในแอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันตก อินเดีย โอมาน และเยเมน
โดยต้น Boswellia เป็นแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียวสำหรับคนในท้องถิ่นจำนวนมาก
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ตามมา และนักอนุรักษ์คาดการณ์ 50% ของป่า Boswellia อาจหายไปในเวลาไม่กี่ปี
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ได้ พบว่า การผลิตน้ำหอมสังเคราะห์ สร้างมลพิษทางอากาศในระดับเดียวกับการปล่อยปิโตรเลียมจากรถยนต์
และตามรายงานของ The Soil Association องค์กรการกุศลของอังกฤษ พบว่า การผลิตน้ำหอมสังเคราะห์ส่งผลให้เกิดของเสียที่เป็นพิษมากกว่าวัตถุดิบธรรมชาติอื่น ๆ ที่ผ่านการรับรอง
📌 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่ออุตสาหกรรมน้ำหอม
จากข้อมูลของ Allied Market Research พบว่า อุตสาหกรรมวัตถุดิบที่ใช้ผลิตน้ำหอม มีมูลค่าราว 516,528 ล้านบาท ในปี 2019 และคาดการณ์ว่าในปี 2027 อุตสาหกรรมนี้มูลค่าจะอยู่ที่ 611,478 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) ที่ 3.8%
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ที่เมือง Grasse ประเทศฝรั่งเศส และอีกหลาย ๆ พื้นที่ในยุโรปต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง ทำให้พืชพรรณ ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมต่าง ๆ นั้นเสียหาย จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำหอม
คุณ Carole Biancalana ที่ปลูกดอกทูเบอโรส (Tuberose) ดอกกุหลาบ และ มะลิให้กับแบรนด์ Dior กล่าวว่า ผลผลิตดอกทูเบอโรสลดลงไป 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ผู้ปลูกดอกไม้คนอื่น ๆ ต่างก็เห็นตรงกันว่า ในปีนี้ผลผลิตนั้นลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง
โดยในปีนี้หลาย ๆ พื้นที่ต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งค่อนข้างนาน
รวมไปนึงข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งน้ำ ทำให้ผู้ปลูกเข้าถึงแหล่งน้ำได้ลดลง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามอนาคตของน้ำหอม
โดยในตอนนี้มีการถกเถียงถึงศักยภาพของทางเลือกสังเคราะห์ ซึ่งง่ายต่อการจัดหา ควบคุม และจดสิทธิบัตร
ผลกระทบของภาวะโลกร้อน ความแห้งแล้ง การแปรปรวนทางฤดูกาล แและอุณหภูมิสูงที่สูงขึ้น กำลังเปลี่ยนแปลงผลผลิตและคุณสมบัติบางอย่างของพืช แม้แต่กลิ่นที่พืชต่าง ๆ ผลิตขึ้น
ในปี 2016 มีการศึกษาจาก Hebrew University of Jerusalem ว่า อุณภูมิที่สูงขึ้นทำให้กลิ่นหอมของดอกไม้ลดลง
ส่วน University of Copenhagen ก็พบว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อกลิ่นอโรมาของพืช พบว่าองค์ประกอบทางพันธุกรรมของดอกไม้ที่ผลิตสารประกอบอะโรมาติกนั้นจะผลิตกลิ่นหอมลดลง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
สิ่งเหล่านี้อาจกลายมาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ผลิตน้ำหอมได้ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลก
อย่าง CHANEL หรือ Dior ที่คุณภาพและมาตรฐานของน้ำหอมต้องคงที่
เช่น ผู้ที่ใช้กลิ่น CHANEL No. 5 ในวันนี้ต้องได้กลิ่นเหมือนตอนที่ Marilyn Monroe เคยใช้ ซึ่งผู้ผลิตกลิ่นรายใหญ่ของโลกอย่าง Givaudan ก็เริ่มกังวลถึงผลผลิต patchouli (พืชในตระกูลมินต์)
เนื่องจาก 80% ของพืชนั้นมาจากอินโดนีเซีย ที่เผชิญกับความแห้งแล้วรุนแรง
ทำให้ผลผลิตของพืชนั้นลดลง
ดังนั้นการที่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทำให้ผู้ที่ปลูกพืชพรรณเหล่านี้ต้องปรับตัวตามให้ทัน
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา