31 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
ทำความรู้จัก “Infosys” ที่มาของความมั่งคั่งของภริยานายกอังกฤษ
หลังจากที่นายริชี ซูนัค (Rishi Sunak) เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นอกจากเรื่องภาระหน้าที่อันหนักอึ้งที่เขาต้องมาพาอังกฤษผ่านช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงแล้ว
อีกหนึ่งประเด็นที่มีการถูกพูดถึงอย่างมาก คือ เรื่องของภริยาของท่าน ผู้มีชื่อว่า “อักษตา มูรติ (Akshata Murty)”
เรื่องนี้เป็นที่สนใจของประชาชน เพราะว่า คุณอักษตาเป็นทายาทของหนึ่งในมหาเศรษฐีอินเดีย ซึ่งทำให้ตัวเธอมีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท โดยที่มาของทรัพย์สินมหาศาลนี้ก็มาจากบริษัทที่คุณพ่อเธอเป็นคนร่วมก่อตั้งขึ้นมา ซึ่งมีชื่อว่า “Infosys”
จุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยค.ศ. 1981 ซึ่งในตอนนั้นคุณพ่อของ อักษตา ผู้มีชื่อว่า “นารายณ์ มูรติ (N.R. Narayana Murthy)” ได้ร่วมกับวิศวกรอีก 6 ท่าน
ก่อตั้งบริษัทให้บริการทางด้านเทคโนโลยีและซอฟแวร์กับบริษัทอื่นขึ้นในชื่อ “Infosys” โดยใช้ทุนตั้งต้นแค่ 250 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
และในอีกสองปีต่อมา พวกเขาได้ย้ายที่ตั้งบริษัทจากเมืองปูเน่ (Pune) ซึ่งอยู่บริเวณตะวันตกของประเทศมาสู่เมืองบังกาลอร์ (Bangalore) ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางค่อนมาทางใต้แทน
ซึ่งเมืองแห่งนี้ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์ของอินดีย (Silicon Valley of India)”
บริษัทขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก และก็ได้ตั้งสำนักงานในต่างประเทศแห่งแรก ที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1987
เกร็ดสำคัญอย่างหนึ่งที่คุณนารายณ์ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก คือ การตอบแทนผลกำไรของเขาเองคืนสู่สังคม โดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้าในอินเดีย ซึ่งยังมีคุณภาพชีวิตที่ยังย่ำแย่
เหตุการณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการตอบแทนสังคม คือ การสร้างองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีชื่อว่า “Infosys Foundation” ขึ้นในปี 1996
ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ก็เป็นอยู่เฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ต บริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและซอฟแวร์อย่าง Infosys ก็ได้รับประโยชน์เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงนี้
จนในปี 1999 พวกเขากลายเป็นบริษัทสัญชาติอินเดียแห่งแรก ซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq
อย่างไรก็ดี ถ้าจำกันได้ในช่วงยุคต้นคริสตวรรษที่ 21 หรือก็คือในช่วงปี 2000 ต้นๆ ได้เกิดความกังวลใจกันว่า การเปลี่ยนปีศักราชขึ้นสู่เลข 2000 จะนำมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์
 
และก็ยังตามมาด้วยวิกฤติฟองสบู่ในหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งมีชื่อว่า “Dot-Com Bubble” ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีและซอฟแวร์จำนวนมากล้มหายตายจากไป แล้วก็ทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นพยายามลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีลง
ซึ่งแทนที่มันจะเป็นผลเสียกับทาง Infosys มันกลับกลายเป็นผลดี เพราะว่า บริษัทสัญชาติอินเดียมีต้นทุนในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีที่ต่ำกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในตะวันตกอย่างมาก
ทำให้ช่วงที่บริษัทพยายามลดต้นทุนกัน ก็หันมาพึ่งพาบริษัทอินเดียแทน Infosys จึงได้รับอานิสงส์เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น
โดยในปี 2004 บริษัทมีรายได้แตะระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกหลังจากก่อตั้งมา 23 ปี แต่หลังจากนั้นเพียง 23 เดือน รายได้จาก 1,000 ล้านก็กลายเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างรวดเร็ว แสดงถึงยุคทองของบริษัท
 
ซึ่งในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่บริษัทขยายตลาดออกไปในหลายประเทศ และก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทอันดับต้นๆ ของอินเดีย
โดยในเดือนสิงหาคมปี 2021 มูลค่าทางตลาดของบริษัท Infosys เคยขึ้นไปแตะระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นบริษัทอินเดียลำดับที่ 4 ที่เคยขึ้นไปถึงระดับนั้นได้
📌 FYI
อักษตา มูรติ มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Infosys ราว 0.9% คิดเป็นมูลค่า 700 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นประมาณ 30,000 ล้านบาท (คิดอัตรา 1 ปอนด์ = 44.14 บาท)
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา