12 พ.ย. 2022 เวลา 09:25 • สุขภาพ
เมื่อชีวิตรักมีปัญหา ถึงเวลา (รึยัง?) ที่จะทำความเข้าใจ
โดย อรทิพ นิมกาญจน์นนท์, 9 Nov 2022
เคยไหมที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการมีแฟน เพราะแทนที่จะเติมเต็มความสุขกลับรู้สึกทนทุกข์ทรมาณอย่างบอกไม่ถูก บ้างก็อยู่กับความขัดแย้งแทบจะตลอดเวลา บ้างก็อยู่กับความมึนตึงที่ยาวนาน หรือบางทีก็เป็นความเฉยชาที่แม้จะมีคู่ก็รู้สึกเหมือนเราอยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ คือหากลองวัดอุณหภูมิความสัมพันธ์ดู ถ้าไม่ร้อนผ่าวๆ เหมือนจมอยู่ในกองไฟ ก็หนาวเหน็บราวกับถูกจับไปขังเดี่ยวอยู่ที่ไซบีเรีย
มันเกิดอะไรขึ้น?
ก่อนอื่น ลองนึกย้อนไปดูว่าเราเคยเป็นแบบนี้กับใครอีกบ้าง ส่วนใหญ่ปัญหาในความสัมพันธ์มักมีรูปแบบที่เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ (relational pattern) โดยเฉพาะกับความสัมพันธ์ที่มีความรู้สึกผูกพันธ์แบบลึกซึ้ง (attachment) เข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนบอกว่าไม่เป็นแบบนี้กับเพื่อนหรือคนอื่น เป็นแต่กับแฟนอย่างเดียว นั่นก็เพราะว่า กับเพื่อนมักจะไม่มีความรู้สึกผูกพันธ์ลึกซึ้งเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง
รูปแบบในความสัมพันธ์กับแฟนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เหล่านี้ มาจากอิทธิพลของ attachment style หรือรูปแบบของความผูกพัน ที่มีต้นตอมาจากความสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู ในวัยเด็ก การตอบสนองที่มากหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้เรามีต้นแบบของความผูกพันธ์ที่ไม่มั่นคงได้ และเมื่อถึงวัยที่มีแฟน ความรู้สึกไม่มั่นคงนี้จะแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อหน่ายเพราะหาทางออกไม่ได้
เป็นที่เขาหรือเรากันแน่?
ในเมื่อความสัมพันธ์มีสองคน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นใครคนใดคนหนึ่งที่เป็นต้นตอของปัญหา ในการบำบัดคู่รัก เรามักจะเปรียบเทียบความสัมพันธ์เสมือนกับการเต้นรำ ซึ่งมีตัวเราและคู่ของเราเต้นไปด้วยกัน นักจิตบำบัดจะไม่มองเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่จะมองลึกลงไปที่ dynamic ของการเต้น ซึ่งก็คือท่วงท่าของการเต้น จังหวะ การรับ การส่ง การทำงานร่วมกันเป็นทีม และอะไรที่ทำให้การเต้นไปด้วยกันตัดขัดซ้ำๆ
บางคู่อาจเต้นแบบดุเด็ดเผ็ดมัน เต้นไปเหยียบเท้ากันไป แต่ก็ไม่มีใครหยุด บางคู่อาจต่างคนต่างเต้น เหมือนกำลังดูหนังคนละม้วน บางคู่อาจเหลือคนเต้นอยู่คนเดียว ในขณะที่คู่ของตัวเองหยุดเต้นไปนานแล้ว ไม่ว่าจะเต้นแบบไหน ในที่สุดมักลงเอยด้วยการยกธงขาวทั้งคู่
เมื่อความสัมพันธ์มีปัญหา เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย ความเป็นตัวตนของแต่ละคน เมื่อเจอกับตัวตนของอีกคนจะเกิดเป็น dynamic ที่กลายมาเป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ (relational pattern) ที่อาจนำไปสู่ปัญหาได้ ในการทำจิตบำบัดคู่รัก นักบำบัดมักจะเริ่มจากการชวนมองให้เห็น pattern นี้เป็นอย่างแรก เพื่อไปสู่การทำความเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ไม่ได้มาจากคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่มาจากตัวตนของทั้งคู่ที่มาเจอกันและเกิดเป็น dynamic ขึ้นมาในความสัมพันธ์
สำรวจตัวเอง...ความสัมพันธ์ของเราเป็นแบบไหน
มาดูกันว่า คู่ของคุณกำลังเต้นรำกันแบบไหน เพื่อช่วยให้เห็นภาพ เรามาดูรูปแบบของความสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยและอาจจะนำไปสู่ปัญหาในระยะยาวกัน
• Pursuer/Distancer หรือคนนึงเข้าหา อีกคนถอยห่าง รูปแบบนี้พบได้บ่อยมาก โดยฝ่ายเข้าหามักจะเรียกร้องเวลาและความใกล้ชิด ในขณะที่ฝ่ายถอยห่างมักจะต้องการระยะห่าง เวลาทำอะไรเป็นของตัวเอง และมีความเป็นส่วนตัวสูง
ปัญหาของความสัมพันธ์รูปแบบนี้ มักเกิดขึ้นเวลาที่มีความขัดแย้งกัน ฝ่ายเข้าหามักต้องการคำตอบหรือความชัดเจนจากอีกฝ่าย ในขณะที่ฝ่ายถอยห่างมักเงียบหรือหลบฉาก เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน เมื่อฝ่ายเข้าหายิ่งต้องการถามหาความชัดเจน เรียกร้องให้อธิบาย หรือเคลียร์ปัญหาให้จบๆ ฝ่ายถอยห่างยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยและยิ่งถอยห่างขึ้น ด้วยการนิ่งเงียบ ไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่อง หรือออกไปจากห้องเลยก็มี
ซึ่งจะยิ่งทำให้ฝ่ายเข้าหาเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย และยิ่งไล่ตามอีกฝ่าย ที่ก็ยิ่งถอยหนีไปใหญ่ หากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมเปลี่ยนวิธีของตัวเอง ปัญหาในความสัมพันธ์มักจะเกิดขึ้นในระยะยาว โดยฝ่ายเข้าหาอาจรู้สึกถูกทอดทิ้ง และฝ่ายถอยห่างอาจรู้สึกท้อ เพราะไม่รู้จะตอบสนองอย่างไรให้อีกฝ่ายรู้สึกพอใจ
• Attack/Attack หรือคนนึงสู้ อีกคนก็สู้ รูปแบบนี้สังเกตได้จากอุณภูมิของความสัมพันธ์ที่ร้อนผ่าวๆ คือมีการทะเลาะ ต่อว่า ตำหนิ หรือโทษกันไปมา เพราะต่างฝ่ายต่างมีการแสดงออกความรู้สึกไม่พอใจ หงุดหงิด หรือโกรธอีกฝ่ายอย่างชัดเจน เพื่อหวังให้อีกฝ่ายเข้าใจและปลอบประโลมตัวเอง
ปัญหาของความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ มักตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ส่วนคู่ของเราเป็นฝ่ายผิด ในเมื่อเธอผิด เธอก็ต้องยอมรับแล้วมาง้อสิ แต่เมื่ออีกฝ่ายเป็นนักสู้และคิดเหมือนกัน จึงทำให้เกิดการสู้และกล่าวโทษกลับ จนเป็นการทะเลาะกันหนักขึ้น จนในที่สุดฝ่ายหนึ่งอาจเริ่มถอยห่างเพื่อจบการสู้รบ แต่ครั้งต่อไปที่เกิดความขัดแย้งก็กลับไปเป็นนักสู้อีก นานวันเข้า ทั้งคู่อาจเริ่มถอยห่างจนกลายเป็นรูปแบบ Withdraw/Withdraw
• Withdraw/Withdraw หรือคนนึงถอยห่าง อีกคนก็ถอยห่าง รูปแบบนี้สังเกตได้จากอุณหภูมิของความสัมพันธ์ที่เย็นยะเยือก มีความเงียบและเย็นชาเข้ามาครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ชอบการแสดงออกความรู้สึก และมักรอให้อีกฝ่ายเป็นคนริเริ่ม เวลาเกิดความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างหลีดเลี่ยงการพูดคุยหรือเผชิญหน้า จนนำไปสู่ความรู้สึกเหินห่างทางจิตใจ และไม่เข้าใจกันในระยะยาว
ปัญหาของความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ มักเกิดจากความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว คล้ายๆ กับมีแฟนก็เหมือนอยู่คนเดียวแบบไม่มีแฟน หรืออยู่ด้วยกันก็รู้สึกเหมือนอยู่กับรูมเมทที่แบ่งความรับผิดชอบกัน แต่ไม่มีความรู้สึกใกล้ชิดแบบคู่รัก ความสัมพันธ์แบบ Withdraw/Withdraw มักเป็นปลายทางของรูปแบบความสัมพันธ์แบบ Pursuer/Distancer และ Attack/Attack อีกทั้งเป็นสัญญาณเตือนว่า ความสัมพันธ์นี้อาจจะจบลงในเร็ววัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่อยากพยายามอีกแล้ว
• Reactive dynamic หรือรูปแบบที่ไม่มีความตายตัว เพราะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เข้ามากระตุ้นให้โต้ตอบ จากคนที่เคยเป็นฝ่ายสู้ในสถาณการณ์นึง อาจกลายเป็นฝ่ายถอยหนีในอีกสถาณการณ์นึง ทำให้อีกฝ่ายคาดเดาและปรับตามยาก รูปแบบสุดท้ายนี้ มักเกิดขึ้นในคู่ที่มีประวัติได้รับความกระทบกระเทือนทางใจ (psychologicla trauma) และมักจะไม่ดีขึ้นเอง หากไม่ได้รับการทำจิตบำบัด
หานักจิตบำบัดเมื่อไรดี
ปัญหาเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ การทำจิตบำบัดอาจไม่จำเป็นหากทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความยืดหยุ่นในการตอบรับหรือเข้าใจคู่ของตัวเอง จนทำให้สามารถปรับความเข้าใจกันได้ ไม่เก็บไปเป็นปัญหาซ้ำๆ ในอนาคต เช่นเมื่อฝ่ายที่มักจะสู้ เห็นว่าคู่รักรู้สึกเสียใจต่อคำพูดหรือการกระทำของตัวเอง ก็หันมาปลอบหรือถอยหนึ่งก้าว เพื่อช่วยให้คู่รักรู้สึกปลอบภัยขึ้น และเต้นรำไปด้วยกันอย่างราบรื่นขึ้น
เมื่อไร เริ่มเห็นว่าปัญหาในความสัมพันธ์เกิดขึ้นซ้ำๆ มีความติดขัดจนเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับมัน และอยากหาทางออกเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น หรือต่างฝ่ายต่างมีความเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อนั้น เป็นเวลาที่เหมาะแก่การทำนัดเพื่อลองปรึกษานัดจิตบำบัดที่ได้รับการอบรมการทำจิตบำบัดคู่รัก
ที่สำคัญ ไม่ต้องรอให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้สึกเบื่อหน่าย หรือทนไม่ได้จนพร้อมที่จะเลิกรา เพราะนั่นหมายความว่าปัญหาในความสัมพันธ์มีความซับซ้อนมากแล้ว การนัดทำจิตบำบัดในช่วงนี้ของความสัมพันธ์อาจจะสายเกินไป เพราะฝ่ายที่พร้อมจะเดินออกจากความสัมพันธ์ตลอดเวลา จึงมีแรงจูงใจค่อนข้างน้อยในการเข้าสู่กระบวนการบำบัด ที่ต้องอาศัยทั้งแรงจูงใจและความพยายามจากทั้งสองฝ่ายในการทำความเข้าใจและปรับเข้าหากัน
ทุกปัญหาในความสัมพันธ์มีทางออก หากทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะปรับและทำความเข้าใจอีกฝ่าย ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ
โฆษณา