20 พ.ย. 2022 เวลา 12:19 • กีฬา
Kevin Plank ผู้สร้างอาณาจักร Under Armour จากห้องใต้ดินของคุณย่า
มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเสมอเวลาเราย้อนกลับไปสืบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นอย่างไร
และหนึ่งในจุดเริ่มต้นของบริษัทที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ก็คือ การเริ่มต้นสร้างออฟฟิศทำงานโดยใช้บ้านของตนเองเป็นที่ตั้ง
เพราะมันมักจะแสดงถึงการเริ่มต้นของบริษัทที่มีข้อจำกัด และต้องทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ
ซึ่งเป็นที่มาของบทความในวันนี้ ซึ่งเราได้หยิบเรื่องของ Kevin Plank ผู้สร้าง Under Armour ให้กลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทกีฬายักษ์ใหญ่ของโลกได้
นักกีฬามหาลัยผู้ชุ่มเหงื่อ กับการสร้างธุรกิจจากบ้านคุณย่า
Kevin Plank เป็นลูกคนสุดท้ายจากทั้งหมด 5 คน โดยมีคุณพ่อเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และมีคุณแม่เป็นอดีตนายกเทศมนตรี
Plank เป็นคนผู้มีความชื่นชอบในเกมอเมริกันฟุตบอลตั้งแต่วัยเด็ก จนเกิดเป็นความฝันที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นนักกีฬาอาชีพ
อย่างไรก็ดี ด้วยการแข่งขันในวงการอย่างเข้มข้น สุดท้ายตัวเขาก็ไม่สามารถเข้าสู่ลีกอาชีพได้ แต่เส้นทางอาชีพสายนักกีฬาที่จบไป ก็ทำให้เขามองเห็นโอกาสสู่สายอาชีพนักธุรกิจต่อมา
โดย Kevin Plank เคยเล่าว่า สมัยเล่นอเมริกันฟุตบอล เขาเป็น “นักกีฬาที่เหงื่อออกมากที่สุดในทีม” ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวกับเสื้อผ้าที่นักกีฬาสมัยนั้นใช้กัน
1
จนได้ออกมาพัฒนาเสื้อที่สามารถระบายอากาศได้ดี และก็แห้งได้ไว เพื่อตอบโจทย์กับนักกีฬามากขึ้น
โดยเงินตั้งต้นธุรกิจส่วนหนึ่งมาจาก ธุรกิจการขายดอกไม้ ที่เขาทำในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงแววความเป็นนักธุรกิจตั้งแต่สมัยยังเรียนไม่จบเลย
ความพิเศษอีกอย่างของจุดเริ่มต้นธุรกิจนี้ คือ การที่คุณ Plank เริ่มตั้งออฟฟิศขึ้นที่ชั้นใต้ดินบ้านของคุณย่าในปี 1996 กลายมาเป็น Under Armour ตั้งแต่ตอนนั้น
ปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้ธุรกิจในช่วงแรกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ สายสัมพันธ์กับเพื่อนนักกีฬาที่กลายมาเป็นนักกีฬาอาชีพ
โดย Plank ได้เสนอกับเพื่อนให้ลองนำสินค้าของเขาไปใช้ และลองแบ่งปันให้กับเพื่อนในทีมดู พร้อมทั้งการันตีว่า ผลงานในสนามของคนที่ใส่เสื้อที่เขาพัฒนามา จะดีกว่าคนที่ใส่เสื้อระบายอากาศยากๆ แบบเดิม
ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้เขาได้รับสัญญาการขายเสื้อล็อตใหญ่รายแรกกับ Georgia Tech เป็นมูลค่า 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นในปี 1999 เมื่อบริษัทได้ทำสัญญาให้ลูกจ้างทำงานแบบไม่จ่ายเงินชั่วคราว มารวมกับเงินเกือบทั้งหมดที่บริษัทเก็บไว้
เพื่อซื้อโฆษณากับนิตยสารกีฬาชื่อดังอย่าง “ESPN The Magazine” ซึ่งการเสี่ยงครั้งนี้ก็ได้รับผลตอบรับดียิ่ง โดยมันทำให้พวกเขามีรายได้ทะลุ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีต่อมา และก็เติบโตขึ้นในวงการบริษัทขายของกีฬาอย่างต่อเนื่อง
กุญแจสู่ความสำเร็จจากการดึงดูดนักกีฬาระดับโลก
การมีผลิตภัณฑ์ซึ่งมีคุณภาพย่อมเป็นเรื่องสำคัญในวงการกีฬา แต่แค่นั้นมันไม่เพียงพอจะพาให้บริษัทกลายเป็นยักษ์ใหญ่ได้
ในวงการนี้ถ้าคุณอยากให้บริษัทเติบโตขึ้นไปอีกขั้น ต้องพยายามดึงดูดนักกีฬาอันดับต้นๆ ของวงการเข้ามาเซ็นสัญญากับบริษัทให้ได้
ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เพราะนักกีฬาที่เก่งมากๆ ก็มักจะอยากเซ็นสัญญากับบริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการกีฬาอยู่แล้ว ดีกว่ามาเสี่ยงกับบริษัทที่เล็กกว่า
แต่ทาง Under Armour ก็พยายามอย่างสุดกำลังเพื่อเรื่องนี้ โดยหนึ่งวิธีที่พวกเขาทำ คือ การดูแลทุกคนซึ่งเชื่อใจพวกเขาอย่างดีที่สุด
ซึ่งความจริงใจต่อคนที่อยู่ในสังกัดนี้ ก็ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสเซ็นสัญญากับนักบาสที่โด่งดังและประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งในช่วง 10 ปีหลัง คนนั้นก็คือ Stephen Curry
โดยย้อนกลับไปในปี 2013 ทาง Under Armour ต้องการที่จะเจาะรองเท้ากีฬาบาสเกตบอลมากขึ้น แต่ก็ต้องเจอกระดูกชิ้นโตอย่าง Nike ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในวงการบาสอยู่
ทำให้ในช่วงแรกทาง Under Armour เซ็นสัญญาได้กับนักกีฬาที่ไม่โด่งดังมากนัก หรือไม่ก็เป็นนักกีฬาบาสที่พึ่งจะเข้าสู่ลีกอาชีพได้ไม่นาน
แต่แม้นักกีฬาเหล่านี้จะยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง บริษัทก็ให้การดูแลพวกเขาอย่างดีเสมอ จนเพื่อนๆ ร่วมทีมของนักกีฬาผู้ เซ็นสัญญา Under Armour ต่างต้องประหลาดใจ
Stephen Curry ก็เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่เห็นเพื่อนร่วมทีมของเขาในตอนนั้นอย่าง Kent Benzmore ได้รับการดูแลจาก Under Armour อย่างยอดเยี่ยม
ประจวบเหมาะกับในปี 2013 เป็นช่วงที่สัญญาของ Curry กับ Nike กำลังจะหมดลงพอดี ทำให้เขาเริ่มมองหาโอกาสต่างๆ ในการเซ็นสัญญา
1
โดยผู้เข้าสู่การตัดสินใจรอบสุดท้าย มีอยู่สามบริษัทด้วยกัน คือ Nike, Adidas และ Under Armour
ตัว Curry เองมีจิตใจเอนเอียงมาทาง Under Armour จากสิ่งที่เขาเห็นบริษัทดูแลเพื่อนร่วมทีม และก็คำสัญญาที่บริษัทจะปั้นให้เขาเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร
1
ต่างจากทาง Nike ที่มองว่า Curry ยังไม่ใช่นักกีฬาระดับ Top ของวงการ และให้ความสำคัญกับนักกีฬาคนอื่นมากกว่า
ประกอบกับการตัดสินใจสุดท้ายที่ว่ากันว่า Curry ได้นำรองเท้าจากทั้งสามแบรนด์มาวางไว้ต่อหน้าลูกสาวซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ หากเธอเดินไปเลือกคู่ไหน เขาก็จะเซ็นสัญญากับแบรนด์นั้น
และก็เป็นรองเท้าจาก Under Armour ที่ลูกสาวเขาหยิบมากลับมาคืนคุณพ่อ
หลังจากนั้นก็เป็นประวัติศาสตร์ Curry ก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาผู้ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งในช่วง 10 ปีหลัง และเป็นคนที่ส่งอิทธิพลต่อการเล่นบาส ยุคปัจจุบันมากที่สุดก็ว่าได้
เป็นหนึ่งในดีลซึ่งประสบความสำเร็จที่สุดของ Under Armour ซึ่งมันก็เกิดมาจากการดูแลคนอย่างใส่ใจของพวกเขานั่นเอง
ท้ายที่สุดนี้ ขอปิดท้ายกันด้วยคำพูดของ Kevin Plank ที่แสดงถึงทัศนะการเป็นผู้ที่พร้อมจะยอมเปิดใจ และยอมรับในสิ่งที่ตนไม่รู้อยู่เสมอว่า
ในช่วงเวลาตลอดมานี้ ผมทำตัวไร้เดียงสามากพอที่จะรู้ว่า
อะไรคือสิ่งที่ผมไม่สามารถจะทำสำเร็จได้
(I was always… naive enough to know what I could not accomplish)
Kevin Plank
2
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา