18 พ.ย. 2022 เวลา 01:00 • ปรัชญา
“ไม่มีใครทำอริยมรรคให้เกิดได้
อริยมรรคเกิดเอง
เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์แล้ว”
“ … สติเป็นตัวเห็นสภาวะ ว่ามีสภาวะอะไรกำลังมีอยู่เป็นอยู่
จิตมีความตั้งมั่นคือสมาธิ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเกิดปัญญา
ส่วนปัญญานั้นคือความเข้าใจความเป็นจริง
ของสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์
ถ้ามีปัญญา จิตก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
ไม่มีเส้นทางที่ 2 เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นมากกว่านี้แล้ว
ในขณะที่เราเจริญสติปัฏฐานไป
เบื้องต้นเราได้สติ เบื้องปลายได้ปัญญา
พอเรามีปัญญาจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางกับโลก
ความเป็นกลางต่อรูปธรรมนามธรรม
เรียก “วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง”
แล้วถัดจากนั้นกำลังเราพอ ก็จะเกิดอริยมรรคขึ้นมา
ไม่มีใครทำอริยมรรคให้เกิดได้
อริยมรรคเกิดเอง
เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์แล้ว
ไม่มีใครทำให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา
สติไม่ได้ทำให้จิตบริสุทธิ์
สมาธิไม่ได้ทำให้จิตบริสุทธิ์
สติทำให้จิตขยันหมั่นเพียรทำงานว่องไว
สมาธิทำให้จิตมีเรี่ยวมีแรง
ตัวที่ไว้ล้างกิเลสคือตัวปัญญา
ที่เทศน์ให้ฟังวันนี้ก็คือ พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้
แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้
อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก
อย่างสภาวะของอากิจจัญญายตนะ แค่ชื่อมันก็จะตายแล้ว เราไม่เห็นหรอก เพราะเราไม่เคยมี เราไม่เคยเห็น หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะ เราไม่เคยมี ไม่เคยเห็น ไม่ต้องไปดู เพราะมันไม่มีให้ดู
ดูของที่มี มีอะไร มีโลภ มีโกรธ มีหลง ดูมันไป
มีสุข มีทุกข์ ดูมันเข้าไป
มีร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า
มีร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นั้นล่ะ
ดูมันเข้าไป ดูของที่มี
จะใช้อะไรเป็นฐานก่อนก็ได้
ใช้กายเป็นฐานก็ได้
ใช้เวทนา คือดูสุขทุกข์ก็ได้
หรือใช้จิตที่เป็นกุศล อกุศล เป็นฐานก็ได้
หลวงพ่อตอนทำสมถะ ตอนเด็กๆ เรียนกับท่านพ่อลี หลวงพ่อใช้อานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นฐานของการทำอานาปานสติ ใช้ตัวลมหายใจ
แล้วตอนมาเดินปัญญา หลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อใช้เวทนานุปัสสนาทางใจ จิตตานุปัสสนา แล้วก็ธัมมานุปัสสนา ควบกันอยู่อย่างนี้ ใช้ 3 อันนี้
บางทีก็เห็นเวทนาทางใจ
บางทีก็เห็นสังขารในใจ
บางทีก็เห็นสภาวธรรม
สิ่งนี้มีเพราะสิ่งนี้ สิ่งนี้ไม่มีเพราะสิ่งนี้ไม่มี ก็เห็น
ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม
สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต
สัญญาเกิดร่วมกับจิต
สังขารเกิดร่วมกับจิต
แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ
ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว
เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้
พวกเราถือศีล 5 ไว้ ถ้าเราไม่อยากพลาด
ถือศีล 5 ไว้ให้ดี แล้วก็พัฒนาสติของเรา
วิธีพัฒนาสติมันก็อยู่ในสติปัฏฐานนั่นล่ะ
แต่ฟังชื่อสติปัฏฐานแล้วมันน่ากลัว
เอาง่ายๆ เลยก็คือ ให้เรามีเครื่องอยู่
ทุกวันทำในรูปแบบไว้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่
หลวงพ่อพุธท่านบอก “ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ” เราจะอยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจก็ได้ อยู่กับท้อง ร่างกายที่พอง ร่างกายที่ยุบก็ได้
แต่อย่างจะอยู่กับลมหายใจ ขอแนะนำให้อยู่กับร่างกายที่หายใจ อย่าอยู่กับตัวลมหายใจตรงๆ ให้รู้สึกลงไปทั้งตัวนี้กำลังหายใจอยู่
เวลาเดิน ไม่ต้องไปรู้สึกอยู่ที่เท้า เวลาเดินก็รู้สึกทั้งตัว ว่าตัวนี้กำลังเดิน
เวลานั่งรู้สึกทั้งตัวว่า ตัวนี้กำลังนั่ง
เดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่
ท่านไม่ได้บอกว่า เดินอยู่ให้รู้เท้า
เวลาตีความธรรมะ พอตีความผิดมันก็ไปไกล กลายเป็นเพ่งไปหมด
ฉะนั้นเราหายใจออกรู้สึกตัว
คู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว
ตัวไหนหายใจ
ร่างกายหายใจออก รู้
ร่างกายหายใจเข้าก็รู้
เวลาร่างกายยืนก็รู้ว่าร่างกายมันยืน
ร่างกายมันเดิน รู้ว่าร่างกายมันเดิน
ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่” ท่านไม่ได้บอกให้รู้เท้า
นั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ ท่านไม่ได้ให้รู้ที่ก้นสัมผัสกับไม้ ไม่ใช่
ท่านให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม
ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวทั่วพร้อมไว้
ค่อยๆ รู้สึกๆ ไป
แล้วก็ทำกรรมฐานของเราไป
แล้วเคล็ดลับมันอยู่ตรงที่ว่า
เมื่อทำกรรมฐานแล้วจิตเคลื่อนไปจากอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน
เมื่อทำกรรมฐานอยู่ จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน
สิ่งที่ผิดใหญ่ๆ มี 2 อันเท่านั้น
ทำกรรมฐานอยู่แล้วจิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน
ส่วนใหญ่หลงไปคิด
หรือจิตไปเพ่ง
เห็นร่างกายหายใจก็ถลำลงไปเพ่งลมหายใจ คอยรู้ทัน
ไม่ต้องห้ามหรอก ไม่ต้องห้าม ทำไปเรื่อยๆ
แล้วจิตจะทรงกำลังมากขึ้นๆ
แล้วต่อไปมันก็จะเห็นไตรลักษณ์ได้เอง ไม่ใช่เรื่องยาก
ถ้าจิตถูกแล้ว การเดินปัญญาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว
จิตที่ถูกมีเครื่องมือ 2 ตัว
ตัวที่หนึ่งคือสติ สติเกิดจากการเราที่หัดรู้สภาวะบ่อยๆ
เช่นจิตหลงแล้วรู้ จิตเพ่งแล้วรู้ สติก็จะเกิด
พอหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย เพ่งปุ๊บรู้ปั๊บ
ส่วนสมาธิคือความตั้งมั่น มันตั้งขึ้นเอง พอสติรู้สภาวะ
เช่น จิตหลงไปคิดรู้ทันปั๊บ สมาธิเกิดเอง แต่เกิดนิดเดียว
ฉะนั้นหลงแล้วรู้ๆ บ่อยๆ สมาธิก็จะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น
พอสมาธิเราแข็งแรง
จิตมันจะเหมือนมีกำลัง
พอจิตมันมีกำลังพอแล้ว ก็เดินปัญญาได้
ดูรูปแสดงไตรลักษณ์
ดูนามแสดงไตรลักษณ์
ดูตัวไหนก่อน
ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 พฤศจิกายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา