19 พ.ย. 2022 เวลา 09:20 • ประวัติศาสตร์
Crown Prince Sado : จากมกุฎราชกุมาร สู่การประหารด้วยหีบข้าว
ในประวัติศาสตร์ของเหล่าบรรดาราชวงศ์ยุโรป มีหลายครั้งที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งของราชวงศ์มักจะมีอาการผิดปกติทางจิต หรือที่เรียกกันในสมัยก่อนว่าเป็น “บ้า” ซึ่งสาเหตุหนึ่งมักจะมาจากการดองกันของสายเลือดที่มีความใกล้เคียงกันมาก จนทำให้รัชทายาทที่เกิดมา มีสภาพร่างกายหรือจิตใจที่ไม่สมบูรณ์ และนำไปสู่การล่มสลายของหลาย ๆ ราชวงศ์
แต่ทางฝั่งเอเชียเราก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องของสมาชิกราชวงศ์ที่เป็น “บ้า” เพียงแต่ว่าด้วยวัฒนธรรมตะวันออกเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนัก
บรรยากาศของเกาหลี ในศตวรรษที่ 18 (Source: pinterest)
อย่างไรก็ตาม มีชื่อของมกุฎราชกุมารคนหนึ่งของราชวงศ์โจซอนที่ปกครองเกาหลีมาเป็นเวลานาน นามว่า “ซาโด” ที่มีพฤติกรรมทป่าเถื่อน โหดร้าย จนสุดท้ายหลายคนก็ทนไม่ได้ จนพระองค์ถูกตัดสินว่าเป็น “บ้า” และต้องถูกกำจัดในที่สุด ถือเป็นเรื่องด่างพร้อยในประวัติศาสตร์เกาหลีที่คนพูดถึงไม่มากนัก
แต่เรื่องราวของมกุฎราชกุมารซาโด อาจจะไม่ใช่เรื่องของคนบ้า แต่เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งผู้ที่ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องน่าเศร้า การโหยหาความรัก และความคาดหวังซึ่งพระองค์ไม่อาจจะทำตามได้ เหตุการณ์ในตอนนั้นเป็นเช่นไร ทำไมคนถึงหาว่าพระองค์เป็นบ้า และอะไรคือสิ่งที่ทำให้พ่อแท้ ๆ ของพระองค์ตัดสินประหารพระองค์ด้วยหีบข้าว ไปติดตามพร้อม ๆ กันได้ที่ Kang’s Journal ครับ
ภาพวาดของมกุฎราชกุมารซาโด (Source: https://www.historynaked.com/prince-sado-korea-coffin-king)
*หมายเหตุ: เนื่องจากผมไม่มีความรู้เรื่องราชาศัพท์ อาจจะมีแทรกคำสามัญธรรมดาในการเขียนบทความนี้นะครับ
ชีวิตวัยเยาว์
มกุฎราชกุมารซาโด เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1735 พระองค์มีชื่อตอนเกิดว่า “อีซอน” บิดาคือกษัตริย์ยองโจ กษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งราชวงศ์โจซอน ส่วนแม่คือชายาองค์หนึ่งนามว่ายองบิน ซึ่งผมจะขอเรียกมกุฎราชกุมารคนนี้ว่า “ซาโด” แทนอีซอน เพราะเป็นชื่อที่ทุกคนคุ้นหูมากกว่านะครับ
กษัตริย์ยองโจ กษัตริย์ลำดับที่ 21 แห่งราชวงศ์โจซอน (Source: medium)
จริง ๆ แล้วตำแหน่งมกุฎราชกุมารไม่ได้เป็นของซาโดตั้งแต่ต้น แต่เป็นของพี่ชายต่างมารดาของพระองค์นามว่ามกุฎราชกุมารฮโยจาง เพียงแต่ว่ารัชทายาทคนนี้เกิดเสียชีวิตไปก่อนในปี 1728 ด้วยวัยเพียง 9 ปี ทำให้ซาโดต้องกลายมาเป็นรัชทายาทคนต่อไปอย่างไม่มีทางเลือก และหลังจากซาโดแล้ว กษัตริย์ยองโจก็ไม่มีบุตรชายอีกเลย
ด้วยความที่เป็นรัชทายาทเพียงหนึ่งเดียว ทำให้ซาโดถูกตั้งความหวังไว้สูงว่าจะต้องเป็นคนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ ตั้งแต่วัยเด็กซาโดมักจะถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนักให้เรียนหนังสือ ซึ่งตัวพระองค์เองทำได้ไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะพระองค์สนใจการเล่นกีฬา และศิลปะการต่อสู้มากกว่า ส่งผลให้กษัตริย์ยองโจไม่ค่อยพอใจ
ภาพวาดฝีมือของมกุฎราชกุมารซาโด (Source: koreajoongangdaily)
ว่ากันว่ากษัตริย์ยองโจ มักจะเรียกซาโดมาถามเป็นประจำว่าวันนี้เรียนอะไรไป อ่านหนังสือเล่มไหนไป พร้อมให้ทวนบทเรียนในวันนั้น ๆ ให้ฟัง ถ้าองค์มกุฎราชกุมารน้อยไม่สามารถตอบได้ พระองค์จะลงโทษ รวมถึงตะคอก และดุด่าว่ากล่าวซาโดต่อหน้าเหล่าบรรดาทหาร เสนาบดี และนางสนมอยู่เป็นประจำ
ความอับอายขายหน้าที่ต้องเผชิญ ทำให้เด็กน้อยซาโดกลายเป็นเด็กขี้อาย ไม่กล้าพูด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าบิดาของตนเอง ซึ่งนั่นก็ทำให้กษัตริย์ยองโจยิ่งโมโหหนักขึ้น ทุกครั้งที่ซาโดทำพลาด หรือท่องหนังสือไม่ได้ พระองค์จะโดนตะคอกใส่เสียงดังจนต้องอับอาย ในขณะที่เมื่อใดที่ซาโดทำอะไรได้ดีหรือสำเร็จ ก็ไม่เคยได้รับคำชมจากบิดาของพระองค์เลย
1
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne กษัตริย์ยองโจ มักจะให้ซาโดทำกิจกรรมต่อหน้าธารกำนัล และถ้าทำได้ไม่ดี พระองค์ก็จะถูกตะคอกดุด่าต่อหน้าทุกคน (Source: https://qkoreanfilmorg.blogspot.com)
เมื่อเวลาผ่านไป ดูเหมือนความไม่พอใจในตัวซาโดจะยิ่งเพิ่มพูน กษัตริย์ยองโจโทษสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นทุกอย่างว่าเป็นความผิดของซาโด แก้วหรือจานแตกก็เป็นความผิดของซาโด ฝนตกก็เป็นความผิดของซาโด หรือผลผลิตทางการเกษตรไม่ดี ก็เป็นความผิดของซาโด บาดแผลตรงนี้นี่เองที่น่าจะทำให้อาการทางจิตของพระองค์ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น
ชาวบ้านเกาหลี ในสมัยราชวงศ์โจซอน (Source: Flickr)
ส่วนมารดาของพระองค์ แม้จะเป็นห่วงลูกตนเองเพียงใด แต่ด้วยพื้นเพที่มีฐานะค่อนข้างต้อยต่ำ ทำให้เธอไม่กล้าที่จะต่อร้อต่อเถียงกับสามีตนเอง ได้แต่ก้มหน้าทำตามที่สามีสั่ง
รวมไปถึงในวัฒนธรรมของราชวงศ์เกาหลีนั้น ซาโดจะถูกเลี้ยงในตำหนักที่สร้างขึ้นสำหรับมกุฎราชกุมาร ซึ่งแยกออกไปจากตำหนักของกษัตริย์และราชินี และพระองค์จะถูกเลี้ยงโดยเหล่าบรรดาพี่เลี้ยงที่ได้รับการคัดสรรมาแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นก็มักจะดูถูกแม่แท้ ๆ ของพระองค์อยู่เป็นประจำ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองไม่ได้สนิทชิดเชื้อกันอย่างที่ควรจะเป็น
พระราชวังชางกยองกุง สถานที่ที่มกุฎราชกุมารซาโดเกิด และใช้ชีวิตในวัยเด็ก (Source: wikipedia)
อภิเษกในวัยเด็ก
ต่อมาเมื่อพระองค์อายุได้ 8 ปี มีการจัดงานอภิเษกสมรสขึ้นระหว่างมกุฎราชกุมารซาโด กับหญิงที่มีนามว่าฮเยกยอง เธอเป็นลูกสาวของขุนนางที่ยากจนคนนึง แต่ก็มีเชื้อสายมาจากผู้ดีเก่า และเป็นสตรีที่มีความรู้และฉลาดเฉลียว
งานแต่งงานในเกาหลีในสมัยก่อน (Source: pinterest)
เธอผู้นี้เป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอได้เขียนอัตชีวประวัติของตนเอง ซึ่งเล่าเรื่องราวของมกุฎราชกุมารซาโด และสิ่งที่พระองค์ต้องเผชิญ รวมถึงชีวิตในวังของเธอไว้อย่างละเอียด จนทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถรับรู้เรื่องราวของมกุฎราชกุมารที่น่าสงสารคนนี้ได้
บันทึกอัตชีวประวัติของเจ้าหญิงฮเยกยอง (Source: wikipedia)
แน่นอนว่าทั้งคู่ยังไม่รู้ประสาอะไรตอนที่อภิเษกสมรสกัน ดังนั้นในตอนแรกทั้งสองเลยอาศัยอยู่ในอาคารคนละหลัง และเป็นเหมือนเพื่อนเล่นกันมากกว่า ในตอนนั้นมีพ่อของฮเยกยอง มาเยี่ยมเยียน และคอยดูแลเด็กทั้งสองอยู่เป็นประจำ ส่วนกษัตริย์ยองโจก็ยังคงทำตัวห่างเหินกับลูกชายดังเดิม
ในบันทึกของฮเยกยอง ซึ่งตอนนี้มีฐานะเป็น เจ้าหญิงฮเยกยอง เธอกล่าวไว้ว่าชีวิตในวังเต็มไปด้วยพิธีรีตรอง และความเครียด เธอรู้สึกเหมือนโดนโยนเข้าไปสู่โลกใบใหม่อย่างไม่ทันตั้งตัว และเธอมีความรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าวันหนึ่งจะต้องมีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ลายมือของมกุฎราชกุมารซาโด ในสมัยวัยเด็ก (Source: koreajoongangdaily)
คนสนิทคอยปลอบโยน
บุคคลที่องค์มกุฎราชกุมารมีความสนิทชิดเชื้อด้วยเห็นจะเป็นเจ้าหญิงฮวายอป ผู้เป็นพี่สาวแท้ ๆ ของพระองค์ที่มีอายุมากกว่าพระองค์ 2 ปี และสาเหตุของความสนิทนี้ก็มาจากการที่กษัตริย์ยองโจ ก็ไม่โปรดเจ้าหญิงฮวายอปเช่นกัน เพราะเจ้าหญิงเป็นลูกสาวคนที่ 7 ของพระองค์ ซึ่งในตอนนั้นพระองค์หวังว่าจะเป็นลูกชาย
ในปี 2017 มีการขุดพบเครื่องสำอางของเจ้าหญิงฮวายอป ทำให้นักประวัติศาสตร์ทราบถึงเรื่องราวของเครื่องสำอางโบราณ (Source: https://www.makeupmuseum.org)
มีบันทึกไว้ว่ากษัตริย์ยองโจมักจะเอาน้ำล้างพระกรรณของพระองค์ไปเททิ้งหน้าตำหนักของเจ้าหญิงฮวายอปอยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะนำสิ่งอัปมงคลออกไปจากตัว และการที่เธอไม่ได้รับความรักจากพระองค์ ก็ทำให้เจ้าหญิงฮวายอปเข้าใจองค์มกุฎราชกุมารเป็นอย่างมาก และซาโดก็รักพี่สาวของพระองค์มากเช่นกัน
อีกสองคนที่พระองค์สนิทด้วย เห็นจะเป็นย่าของพระองค์ คือราชินีอินวอน และแม่เลี้ยงของพระองค์ ราชินีชองซอง พระชายาองค์แรกของกษัตริย์ยองโจ เพราะทั้งสองมีหน้าที่ในการจัดการอบรมเลี้ยงดูเหล่าบรรดาลูกหลานของกษัตริย์ทุกพระองค์นั่นเอง ว่ากันว่าเมื่อใดที่กษัตริย์ยองโจดุด่าว่ากล่าวซาโด ทั้งสองจะคอยเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยอยู่เสมอ
พระราชินีอินวอน (รับบทโดยโอ ยอนซอ) จากซีรี่ย์เรื่อง Dong Yi
ลางร้ายเริ่มปรากฏ
แต่แล้วเมื่อผ่านไปปีครึ่ง ตอนที่ซาโดอายุ 9 ขวบย่างเข้า 10 ขวบ พระองค์เกิดป่วยหนักอย่างกะทันหัน ทุกคนในพระราชวังต่างก็เอาใจช่วย มีการเรียกแพทย์ฝีมือดีจากทั่วประเทศเข้ามารักษา มีการจัดพิธีบนบานศาลกล่าวหลายครั้ง เพราะอนาคตของราชวงศ์โจซอนขึ้นอยู่กับรัชทายาทหนึ่งเดียวคนนี้เท่านั้น
จดหมายของมกุฎราชกุมารซาโด ถึงพ่อของเจ้าหญิงฮเยกยอง (Source: wikipedia)
โชคดีที่อาการของมกุฎราชกุมารค่อย ๆ ดีขึ้น แต่สิ่งที่มาพร้อมกับร่างกายที่แข็งแรงขึ้น คือสภาพจิตใจที่แปลกออกไป ว่ากันว่าพระองค์เริ่มมีนิสัยฉุนเฉียวง่าย และอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ข้อดีคือดูเหมือนว่าพระองค์จะตั้งใจเรียนมากขึ้น สามารถจดจ่อกับชั้นเรียนได้นานขึ้น รวมถึงเล่นกีฬาต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ในสมัยนั้นที่ยังไม่ก้าวหน้า ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าพระองค์ป่วยเป็นอะไรกันแน่ แต่ในปัจจุบันคาดกันว่าพระองค์น่าจะป่วยเป็นซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคที่สามารถทำลายระบบประสาท และก่อให้เกิดอาการทางจิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา
และจากสภาพจิตใตของพระองค์ที่อ่อนแออยู่เป็นทุนเดิม จากการขาดความรักจากบิดามารดา และจากการโดนทำให้ขายหน้าอยู่เสมอ ประกอบกับผลข้างเคียงของโรค ทำให้พระองค์เริ่มมีอาการทางจิตประสาท ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne กษัตริย์ยองโจมักจะดุด่าว่ากล่าวมกุฎราชกุมารซาโดต่อหน้าธารกำนัลเป็นประจำ (Source: https://www.koreatimes.co.kr)
อย่างไรก็ตามหลังหายป่วย มกุฎราชกุมารซาโด และเจ้าหญิงฮเยกยอง ก็ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน เมื่อทั้งสองอายุ 14 ปี ก็อยู่กินกันฉันสามีภรรยาอย่างเป็นทางการ และไม่นานทั้งสองก็มีลูกชาย 1 คน ยังความปลื้มปิติมาให้กับสมาชิกราชวงศ์ทุกคน แต่น่าเศร้าที่เด็กน้อยกลับมาจากไปตอนที่อายุได้เพียง 2 ขวบ
แต่โชคยังดีที่ในอีกเพียง 1 ปีถัดมา ในปี 1752 ทั้งสองก็มีลูกชายอีก 1 คนซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงดี มาถึงตอนนี้ทุกคนก็โล่งใจได้ว่าสายเลือดแห่งราชวงศ์โจซอน จะยังคงมีอยู่สืบต่อไป
มกุฎราชกุมารซาโด (Source: pinterest)
อาการกำเริบ
อย่างไรก็ตาม การมีลูกชายเพื่อสืบสันตติวงศ์ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้อาการของพระองค์ดีขึ้น เพราะจากบันทึกของเจ้าหญิงฮเยกยอง เธอกล่าวว่า เมื่อเวลาผ่านไปพฤติกรรมขององค์มกุฎราชกุมารก็ยิ่งย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ จากที่อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ พระองค์เริ่มมีอาการหลอน และฝันร้ายอยู่บ่อยครั้ง
ว่ากันว่าอาการหลอนนี้กำเริบขึ้นหลังจากที่ซาโดได้อ่านหนังสือของลัทธิเต๋าเล่มหนึ่ง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งดินฟ้า และพระองค์เริ่มที่จะเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าองค์นี้เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่ว่าพระองค์สามารถสื่อสารกับเทพเจ้าองค์นี้ได้เลยทีเดียว
ในศตวรรษที่ 18 คนเกาหลีส่วนมากยังคงนับถือเทพเจ้าอยู่ (Source: wikipedia)
และจากปมฝังใจที่กษัตริย์ยองโจ ผู้เป็นบิดา มักจะโทษพระองค์กับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งเรื่องสภาพอากาศ หรือการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดี ทำให้พระองค์คิดว่าเทพเจ้าฟ้าดินคงกำลังลงโทษพระองค์อยู่ ซึ่งทำให้องค์มกุฎราชกุมารกลายเป็นคนที่กลัวฝน กลัวท้องฟ้า แม้แต่คำศัพท์ที่เขียนว่า “พายุ” พระองค์ยังไม่กล้าแม้แต่จะมอง
โรคกลัวเสื้อผ้า
ที่หนักไปกว่านั้นคือพระองค์เริ่มที่จะเป็นโรคกลัวเสื้อผ้า หรือที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า Vestiphobia โดยอาการของผู้เป็นโรคนี้คือรู้สึกกลัว ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็วเมื่อต้องอยู่ใกล้หรือสวมใส่เสื้อผ้าบางประเภท
1
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร หนึ่งในสาเหตุคือพันธุกรรม ซึ่งไม่น่าใช่ในกรณีของซาโดแน่นอน เพราะไม่มีบันทึกว่ามีใครในราชวงศ์โจซอนเคยป่วยเป็นโรคแปลกประหลาดนี้มาก่อน ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ก็อาจจะมาจากการที่ต้องสวมใส่ชุดที่รัดตัวอย่างชุดเกราะ หรือชุดทหาร เป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าด้วยเสื้อผ้าของราชสำนักเกาหลีในสมัยก่อนมีผ้าซ้อนทับกันหลายชั้น และมีขั้นตอนการสวมใส่ที่ซับซ้อน อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พระองค์ป่วยเป็นโรคชนิดนี้ก็เป็นได้
ชุดของฝ่ายชายในราชสำนักโจซอน ที่มีความซับซ้อนในการสวมใส่ (Source: pinterest)
ว่ากันว่าทุกเช้า เหล่าบรรดาคนรับใช้จะต้องวางชุดไว้ให้พระองค์เลือก 20-30 ชุด แล้วพระองค์จะเลือกชุดที่เหมาะสมที่สุด ชุดไหนที่ไม่เข้าตา หรือพระองค์มองว่าโชคร้าย จะต้องถูกนำไปเผาทิ้งเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ให้กับเทพเจ้าฟ้าดิน และมีหลายครั้ง พระองค์จะเกิดอาหารหัวเสียจนทำร้ายคนรับใช้ใกล้ชิด และเมื่อเลือกชุดที่จะสวมใส่ได้ พระองค์ก็จะต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ชั่วโมง จึงจะสามารถแต่งตัวได้สำเร็จ
จากบันทึกของเจ้าหญิงฮเยกยอง ว่ากันว่าวันไหนที่พระองค์สามารถแต่งตัวได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีเหตุการณ์ตึงเครียด เช่น มีเสื้อผ้าโดนเผา หรือมีคนรับใช้โดนลงโทษ ถือว่าวันนี้เป็นวันที่โชคดีสำหรับทุกคน และเนื่องจากมีเสื้อผ้ามากมายที่โดนทำลายไป ทำให้เจ้าหญิงต้องคอยซ่อมแซมเสื้อผ้าต่าง ๆ ตลอดเวลา รวมถึงหยิบยืมเงินจากพ่อของเธอ เพื่อใช้ในการซื้อเสื้อผ้าต่าง ๆ ด้วย เพราะเธอไม่อยากให้เรื่องนี้ไปถึงหูของกษัตริย์ยองโจ
2
พระราชวังชางด๊อกกุง พระราชวังที่มกุฎราชกุมารซาโดใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่น และกลางคน (Source: Freepik)
ทำงานแทนพ่อ
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของสภาพทางจิตใจที่ผิดปกติของมกุฎราชกุมารซาโด ดูเหมือนจะไม่ได้รับการถ่ายทอดไปยังกษัตริย์ยองโจมากเท่าไร เพราะพระองค์เริ่มให้ซาโด ออกว่าราชการแทนพระองค์ตั้งแต่อายุ 15 ปี เช่น การรับแขกบ้านแขกเมือง เข้าร่วมประชุมกับเหล่าเสนาบดีเพื่อตัดสินใจในกิจการบ้านเมืองบางอย่าง และที่น่าจะกระทบจิตใจขององค์มกุฎราชกุมารมากที่สุด คงเป็นการที่จะต้องรับชมการลงโทษ และประหารชีวิตนักโทษ
การลงโทษนักโทษที่ทารุณโหดร้ายในสมัยโจซอน ซึ่งมกุฎราชกุมารซาโดต้องเป็นผู้ชม (Source: https://gwangjunewsgic.com)
แต่สิ่งที่กษัตริย์ยองโจ ไม่เคยให้องค์มกุฎราชกุมารเข้าร่วมเลยก็คือ การเข้าร่วมพิธีไหว้ฟ้าดิน หรืองานมงคลต่าง ๆ ของราชวงศ์ แม้กระทั่งพิธีไหว้เคารพบรรพบุรุษ พระองค์ก็ห้ามไม่ให้ซาโดมาเข้าร่วม เพราะพระองค์มองว่าความไม่เอาไหนของซาโดจะนำพาความ “ซวย” มาให้กับราชวงศ์
1
ความเครียดจากงานที่เพิ่มพูนขึ้น ผสมกับอาการทางจิตที่ไม่ได้รับการรักษาเยียวยา ทำให้ในปี 1755 มีบันทึกไว้ว่าพระองค์เริ่มกลายมาเป็นคนพูดติดอ่าง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการออกว่าราชการ และนำความอับอายมายังตัวพระองค์เป็นอย่างมาก และแน่นอนกษัตริย์ยองโจก็ยิ่งไม่พอใจในตัวซาโดเข้าไปอีก
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ยองโจแสดงออกว่าตนไม่พอใจซาโด ต่อหน้าธารกำนัล (Source: https://www.koreatimes.co.kr)
คนสนิทล้มหายตายจาก
เมื่อมกุฎราชกุมารอายุได้ 17 ปี ในปี 1752 เจ้าหญิงฮวายอป พี่สาวผู้เป็นที่รักของพระองค์ก็มาเสียชีวิตจากไปด้วยโรคหัด พระองค์เสียใจเป็นอย่างมาก และอีก 5 ปีต่อมาในปี 1757 คนอีกสองคนที่พระองค์สนิทด้วย ได้แก่ราชินีอินวอน และราชินีชองซอง ก็มาเสียชีวิตไปในเวลาไล่เลี่ยกัน การจากไปของคนสนิทของพระองค์ สร้างบาดแผล และนำมาซึ่งความโศกเศร้าให้กับองค์มกุฎราชกุมารเป็นอย่างมาก
การล้มหายตายจากไปของคนสนิทของพระองค์ ทำให้สภาพจิตใจขององค์มกุฎราชกุมารยิ่งย่ำแย่ลง (Source: facebook)
หลังจากบุคคลที่พระองค์รักจากไป พฤติกรรมของมกุฎราชกุมารซาโดก็ยิ่งตกลงไปในวังวนอันมืดมิด พระองค์กลายมาเป็นคนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้น ว่ากันว่าในวันที่ราชินีชองซองเสียชีวิต พระองค์เรียกขันทีเข้ามาในห้องบรรทมของพระองค์หลายคน และทำการทุบตีจนบาดเจ็บสาหัส จนมีบางคนถึงขั้นเสียชีวิต โดยพระองค์ให้เหตุผลว่าเพราะพระองค์รู้สึกเศร้ากับการที่คนรักของพระองค์พากันมาจากพระองค์ไปหมด คาดกันว่านี่คือการฆ่าคนครั้งแรกของพระองค์
ภาพของขบวนพระราชพิธีศพของคนสำคัญของราชวงศ์ในศตวรรษที่ 18 (Source: KBS World)
ในเวลาต่อมา เมื่อใดก็ตามที่พระองค์โกรธ หรือโมโห พระองค์จะเรียกคนรับใช้ หรือขันทีเข้ามาทำร้าย ทุบตีเป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งที่พระองค์ทำร้ายขันทีคนหนึ่งจนเสียชีวิต และตัดสินใจตัดหัวขันทีคนนั้น และถือเข้ามาให้ตำหนักของเจ้าหญิงฮเยกยอง สร้างความสยดสยองให้กับชายาของพระองค์ และเหล่าบรรดานางกำนัลเป็นอย่างยิ่ง เจ้าหญิงฮเยกยองบันทึกไว้ว่าเป็นครั้งแรกที่เธอเห็นหัวของคนตาย
เธอเคยบันทึกคำพูดของซาโดไว้ด้วยว่า “การฆ่าคน หรือสัตว์ช่วยทำให้อาการโกรธ หรือโมโหของเราทุเลาลง” และเธอและเหล่าบรรดาขันทีจะต้องคอยทำความสะอาด เช็ดล้าง และนำศพผู้เสียชีวิตไปคอยซ่อนเสมอ
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne ตอนที่แม่เลี้ยงขององค์มกุฎราชกุมารซาโดเสียชีวิต ซึ่งทำให้พระองค์มีสภาพจิตใจแหลกสลาย และเริ่มฆ่าคน (Source: https://qkoreanfilmorg.blogspot.com)
นอกจากนี้พระองค์ยังกลายมาเป็นผู้ที่มักมากในกาม มีบันทึกว่าพระองค์จะพยายามมีเพศสัมพันธ์กับเหล่าบรรดาสตรีในวัง ตั้งแต่เหล่าบรรดานางสนม นางกำนัล ไปจนถึงสาวใช้ก้นครัว ใครที่ไม่สมยอมก็จะโดนพระองค์ทุบตีและข่มขืน
พระองค์ยังมักจะปลอมตัวเป็นชาวบ้าน ออกไปนอกพระราชวัง โดยที่ไม่บอกใคร และไม่มีใครรู้ว่าพระองค์ไปไหน แต่ว่ากันว่าพระองค์อาจจะออกไปซ่องโสเภณี ซึ่งทำให้พระองค์ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งก็ยิ่งทำให้อาการป่วยทางจิตของพระองค์ยิ่งเลวร้ายถึงขีดสุด
จิตใจมกุฎราชกุมารซาโด ตกลงไปสู่วังวนแห่งความมืดมิด (Source: pinterest)
และทุกครั้งที่พระองค์หายไป เจ้าหญิงฮเยกยองและหัวหน้าขันที ก็จะต้องคิดแผนการอันแยบยลขึ้นมา โดยให้หัวหน้าขันทีปลอมตัวเป็นองค์มกุฎราชกุมารเข้าไปอยู่ในห้องบรรทม เพื่อหลอกคนอื่นว่าองค์มกุฎราชกุมารกำลังป่วย และไม่อยากถูกรบกวน
ที่น่าเศร้าคือตลอดเวลาที่เรื่องเลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถช่วยรักษาพระองค์ได้เลย มีเพียงเจ้าหญิงฮเยกยองเท่านั้นที่เขียนบันทึกไว้ว่า เธอเข้าใจว่าพระองค์มีอาการจิตไม่ปกติ ซึ่งเกิดการจากการที่องค์มกุฎราชกุมารเติบโตมาโดยปราศจากความรัก แต่ขนาดคนที่เข้าใจพระองค์ เจ้าหญิงฮเยกยองยังเคยถูกพระสวามีขว้างกระดานโกะใส่ จนเกือบจะต้องเสียดวงตามาแล้วข้างหนึ่ง
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne องค์มกุฎราชกุมารซาโด ทำร้ายเหล่าบรรดาคนรับใช้ของพระองค์ (Source: https://qkoreanfilmorg.blogspot.com)
ชายาผู้โชคร้าย
แน่นอนว่าตามวัฒนธรรมของราชสำนักโจซอน เจ้าชายหรือกษัตริย์ย่อมมีพระชายา หรือนางสนมได้หลายพระองค์ ซึ่งหนึ่งในชายาของพระองค์คือหญิงที่มีนามว่า ปาร์ค บิงเอ ซึ่งกลายมาเป็นสนมขององค์มกุฎราชกุมารในปี 1757 เธอคนนี้เป็นสาวงามที่เคยเป็นนางกำนัลของย่าของพระองค์มาก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดจารีตประเพณีของราชวงศ์อย่างมาก เพราะเหมือนเป็นการเอานางสนมคนหนึ่งของปู่ตัวเองมาเป็นภรรยา
เหล่าบรรดานางสนม และนางกำนัลสมัยราชวงศ์โจซอน (Source: https://www.scoopnest.com)
ว่ากันว่าเมื่อกษัตริย์ยองโจทราบเรื่อง เรียกได้ว่าพระราชวังแทบจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ พระองค์สั่งให้ซาโดหยุดทำเรื่องเหลวไหลเสียที ทำให้เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง จนกระทั่งองค์มกุฎราชกุมารถึงกับวิ่งออกไปยังสวนและกระโดดบ่อน้ำ เพื่อทำอัตวิบาตกรรม แต่โชคดีที่บรรดาทหารสามารถช่วยพระองค์ไว้ได้ทัน
แต่สุดท้ายพระสนมบิงเอ ก็ไม่สามารถทำให้องค์มกุฎราชกุมารพอใจได้ วันหนึ่งในขณะที่กำลังแต่งตัวอยู่ โรคอาการกลัวเสื้อผ้าของพระองค์กำเริบขึ้น ไม่มีใครสามารถทำให้พระองค์พอใจได้ และสนมบิงเอก็กลายเป็นแพะ เธอโดนพระองค์ทุบตีทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และถูกปล่อยให้นอนจมกองเลือดเสียชีวิตในที่สุด
สั่งพ่อย้ายวัง
ในปี 1760 ในงานคล้ายวันเกิดของพระองค์ พระองค์เกิดทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงกับกษัตริย์ยองโจ และมารดาของพระองค์ รวมถึงบรรดาลูกชายลูกสาวของพระองค์ด้วย ทำให้สุดท้ายพระองค์ได้ไปขอร้องให้เจ้าหญิงฮวาวาน น้องสาวแท้ ๆ ของพระองค์ และเป็นลูกสาวคนโปรดของกษัตริย์ยองโจ ไปเจรจาให้ตัวกษัตริย์ย้ายไปอยู่ที่พระราชวังแห่งอื่น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าตัวกษัตริย์ยองโจเองก็ยอมย้ายออกไปจริง ๆ และเจ้าหญิงฮวาวานนี่แหละที่ต่อมา องค์มกุฎราชกุมารใช้เป็นผู้ส่งสารระหว่างตัวเขาเองและกษัตริย์ยองโจ
พระราชวังคยองฮีกุงที่กษัตริย์ยองโจย้ายไปพำนัก หลังจากโดนขอร้องโดยเจ้าหญิงฮวาวาน (Source: https://afuncouple.com)
และด้วยความที่องค์หญิงกลัวพฤติกรรมอันน่าสยดสยองของซาโด ทำให้พระองค์ได้สิ่งที่พระองค์หวังเสมอ ก็ลองคิดดูละกันว่าพระองค์เคยบอกกับองค์หญิงฮวาวานว่า ถ้าไม่ช่วยพระองค์ คอขององค์หญิงจะต้องหลุดออกจากบ่าอย่างแน่นอน เป็นถึงขนาดนี้เป็นใครก็คงจะต้องกลัวและยอมทำตามเป็นธรรมดา และในอนาคตเจ้าหญิงฮวาวานคนนี้นี่แหละที่จะเข้ามามีบทบาทต่อลูกชายขององค์มกุฎราชกุมารซาโดเป็นอย่างมาก
ปีศาจร้ายในสำนักราชวัง
แม้ในตอนแรกพฤติกรรมของซาโดจะยังไม่ถึงหูของกษัตริย์ยองโจ แต่ในปี 1753 พระองค์ได้รับนางกำนัลเข้ามาคนหนึ่ง และพี่ชายของนางกำนัลคนนั้นได้รับหน้าที่จากกษัตริย์ยองโจ ให้รายงานอาการและการกระทำของมกุฎราชกุมารซาโดให้พระองค์ได้รับทราบ ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งนานวัน พระองค์ก็ยิ่งหมดหวังในตัวลูกชายหนึ่งเดียวของพระองค์
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne มกุฎราชกุมารซาโดมักจะมีอารมณ์ขึ้นลงตลอดเวลา ทำให้ข้าราชบริพานล้วนหวาดกลัวพระองค์ (Source: IMDB)
กษัตริย์ยองโจเคยเรียกซาโดมาถามตรง ๆ ถึงสาเหตุของการกระทำอันเลวร้ายต่าง ๆ ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าพระองค์ตอบกษัตริย์ยองโจไปว่า “เพราะว่าข้าเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา ท่านคือบิดาของข้า แต่ท่านไม่เคยรักข้าเลย”
ตั้งแต่ช่วงปี 1757 เป็นต้นมา องค์มกุฎราชกุมารกลายเป็นเหมือนปีศาจร้ายสติวิปลาศ ทุกคนในพระราชวัง โดยเฉพาะในพระตำหนักขององค์มกุฎราชกุมาร ต่างอยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่มีใครรู้ว่าพระองค์จะอารมณ์ขึ้นเมื่อไร จะเรียกใครเข้าไปทำร้ายทุบตี เหล่าบรรดาขันทีและนางกำนัลต่างภาวนาว่าอย่าให้ตนเองโดนลูกหลงจากอาการอันไม่ปกติขององค์มกุฎราชกุมาร
เหล่าบรรดานางสนม และนางกำนัลสมัยราชวงศ์โจซอน (Source: https://www.scoopnest.com)
และอย่าลืมว่า แม้การกระทำของพระองค์จะเลวร้ายเพียงใด พระองค์ก็เป็นถึงมกุฎราชกุมาร รัชทายาทเพียงหนึ่งเดียวที่จะได้ขึ้นครองบัลลังก์อาณาจักรเกาหลีต่อจากพระบิดา การขัดคำสั่งพระองค์ก็มีค่าเท่ากับการเป็นกบฏ และจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก
ทุกอย่างดูจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อซาโดเริ่มนำแอลกอฮอล์ เข้ามาดื่มในเขตพระราชวังในปี 1762 ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้ามอันร้ายแรง ฤทธิ์มึนเมาของแอลกอฮอล์ยิ่งทำให้พระองค์ตกอยู่ในภาวะหลอน และขาดสติอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่าไม่ว่าจะยุคสมัยไหน แอลกอฮอล์ก็มักจะทำให้คนเรามีพฤติกรรมรุนแรงอยู่เสมอ
มกุฎราชกุมารซาโด แอบลักลอบนำแอลลกอฮอล์เข้ามาในเขตราชสำนัก ซึ่งถือเป็นเรื่องต้องห้าม (Source: korea.net)
มาถึงตอนนี้จำนวนศพมากมายถูกลำเลียงออกมาจากตำหนักของพระองค์ไม่เว้นแต่ละวัน จนคนเลิกที่จะนับจำนวนแล้ว ทุกคนล้วนแต่กลัวว่าใครจะเป็นศพรายต่อไป
ฟางเส้นสุดท้าย
ฟางเส้นแรกที่ขาดลงเห็นจะเป็นการที่ซาโดพยายามที่จะข่มขืนเจ้าหญิงฮวาวาน น้องสาวแท้ ๆ ของพระองค์อยู่หลายครั้งหลายครา เมื่อเรื่องถึงหูของกษัตริย์ยองโจ พระองค์จึงตัดสินใจว่าจะต้องทำบางอย่างเพื่อจะหยุดการกระทำอันชั่วร้ายเหล่านี้เสียที
แต่ยังไม่ทันจะได้ตัดสินใจอะไร ในช่วงฤดูร้อนของปี 1762 องค์มกุฎราชกุมารเกิดทะเลาะวิวาทกับเสนาบดีคนหนึ่งของกษัตริย์ยองโจ ทำให้พระองค์หัวเสียเป็นอย่างมาก และขู่ที่จะฆ่าลูกชายของเสนาบดีคนนั้น
ในคืนนั้นซาโด แอบย่องเข้าไปในคฤหาสน์ของเสนาบดี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตำหนักของกษัตริย์ยองโจ พร้อมกับดาบในมือ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพระองค์มีจุดประสงค์จะฆ่าลูกชายของเสนาบดีหรือไม่ แต่ในคืนนี้ลูกชายของเสนาบดีไม่อยู่ พระองค์จึงตัดสินใจขโมยของบางอย่าง เพื่อเป็นเหมือนกับคำขู่แทน
มกุฎราชกุมารซาโด แอบย่องเข้าไปในคฤหาสน์ของเสนาบดีพร้อมดาบในมือ ส่งผลให้เกิดข่าวลือ และนำไปสู่จุดจบของพระองค์ในที่สุด (Source: pinterest)
แต่พระองค์ดันโดนเสนาบดีคนนั้นจับได้ ตอนที่กำลังจะหนีกลับวังของตนเอง และหลังจากนั้นเรื่องการที่พระองค์บุกเข้ามายังคฤหาสน์ของเสนาบดีก็ไปไวเหมือนไฟลามทุ่ง เริ่มมีการใส่สีตีไข่จากฝ่ายที่อยากกำจัดพระองค์ จนเรื่องราวเปลี่ยนไปเป็นว่า จริง ๆ พระองค์ต้องการที่จะบุกไปยังพระตำหนักของกษัตริย์ยองโจ เพื่อสังหารพ่อแท้ ๆ ของตนเอง
เมื่อเรื่องไปถึงหูของกษัตริย์ยองโจ ความอดทนของพระองค์ก็ขาดสะบั้นลง และถ้าพระองค์มีข้อสงสัยว่าจะกระทำการขั้นเด็ดขาดดีหรือไม่ ข้อสงสัยนั้นก็หายไปทันทีเมื่อแม่แท้ ๆ ขององค์มกุฎราชกุมารเองเมื่อทราบถึงข่าวลือเรื่องนี้ ได้มีการกล่าวโดยสามารถสรุปใจความได้ว่า
“ตอนนี้อาการป่วยขององค์มกุฎราชกุมารนั้น สาหัสมากแล้ว ข้าพเจ้าขอแนะนำให้พระองค์กำจัดองค์มกุฎราชกุมารทิ้งซะ เพื่อปกป้องตัวท่านเองและหลานของท่าน เพื่อที่ราชวงศ์โจซอนจะยังสามารถคงอยู่สืบไปได้ แม้ว่าคำแนะนำนี้จะดูป่าเถื่อน เพราะท่านคือพ่อขององค์มกุฎราชกุมาร แต่ขอให้จำไว้ว่าเหตุที่ท่านต้องทำนั้น ไม่ใช่เพราะท่านไม่รักองค์มกุฎราชกุมาร แต่เพราะเขาป่วยเกินที่จะเยียวยาแล้วต่างหาก”
พระราชวังคยองฮีกุง ที่องค์มกุฎราชกุมารบุกเข้าไป (Source: wikipedia)
เมื่อบิดามารดาแท้ ๆ ของพระองค์มีความคิดเช่นนี้แล้ว ชะตาของมกุฎราชกุมารซาโดก็ขาดสะบั้นลงทันที แต่เนื่องจากตามกฎมณเฑียรบาล ถ้าหากว่าชายใดต้องโทษประหารชีวิต ลูกเมียของเขาจะต้องโดนประหารไปด้วยเช่นกัน แต่กษัตริย์ยองโจมิต้องการที่จะทำเช่นนั้น เพราะพระองค์ยังมีความเห็นใจเจ้าหญิงฮเยกยอง และลูกชายของซาโด ซึ่งจะต้องกลายมาเป็นรัชทายาทคนต่อไปหากซาโดเสียชีวิต ดังนั้นพระองค์จึงต้องคิดแผนการอันแยบยลขึ้นมา
ลงหีบข้าว
ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1762 องค์มกุฎราชกุมารซาโด ถูกเรียกตัวมาเข้าเฝ้ากษัตริย์ยองโจ บันทึกของเจ้าหญิงฮเยกยองกล่าวไว้ว่า “พระองค์มาขอให้ข้าพเจ้านำหมวกของลูกชายมาให้พระองค์สวมใส่ แต่ข้าพเจ้านำหมวกของพระองค์เองไปให้พระองค์” และหลังจากนั้นเธอก็ได้ยินเสียงของคนรับใช้ถามหาหีบข้าว เธอรู้ทันทีว่าชะตาของสามีเธอกำลังจะขาดซะแล้ว
องค์มกุฎราชกุมารถูกสั่งให้มาเข้าเฝ้ากษัตริย์ยองโจกลางลานตัดสิน เหล่าบรรดาข้าราชบริพาร ขันที และคนรับใช้มากมาย ต่างเฝ้ามองดูอย่างห่าง ๆ และเป็นอีกครั้งที่พระองค์ถูกตะคอก และดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรงต่อหน้าธารกำนัล
เจ้าหน้าที่พระราชวัง ในช่วงศตวรรษที่ 18 (Source: Wikipedia)
แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่น เพราะนี่จะเป็นการดุด่าว่ากล่าวครั้งสุดท้าย หลังจากที่ด่าทอลูกชายคนเดียวของตนเองด้วยอารมณ์โกรธเกี้ยวจนเสร็จแล้ว กษัตริย์ยองโจนำดาบประจำราชวงศ์ออกมา พร้อมปักปลายดาบลงบนพื้น และมีคำสั่งให้ถอดยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหมดขององค์มกุฎราชกุมารทิ้ง และสั่งให้ซาโดทำการอัตวิบาตกรรม เพื่อที่ “สายเลือดราชวงศ์โจซอนจะสามารถดำเนินต่อไปได้”
จากนั้นเหล่าบรรดาทหารจึงนำหีบข้าวที่ทำจากไม้ ขนาด 4*4*4 ฟุตออกมาวางไว้ตรงกลางลาน กษัตริย์ยองโจสั่งให้ซาโดก้าวเข้าไปในหีบนั้น จากบันทึกของสำนักราชวังกล่าวไว้ว่าซาโดได้พยายามร้องขอการให้อภัย และร้องขอชีวิตจากกษัตริย์ยองโจ แต่พระองค์ก็ได้แต่เพียงหันหลัง และสั่งให้ซาโดปฏิบัติตาม
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne ตอนที่กษัตริย์ยองโจหันหลังให้กับมกุฎราชกุมารซาโด ซึ่งตอนนี้ไร้ซึ่งยศถาบรรดาศักดิ์ (Source: https://tagalogdubbed.com)
เมื่อเจ้าหญิงฮเยกยองที่กำลังแอบฟังอยู่ที่ประตูด้านนอกทราบเรื่องเข้า พระองค์พยายามที่จะทำอัตวิบาตกรรม ด้วยการนำมีดปักคอตนเอง แต่โชคดีที่บรรดานางกำนัลของพระองค์ช่วยพระองค์ไว้ได้ทัน ส่วนลูกชายคนโตของพระองค์ที่ตอนนี้อายุได้เกือบ 10 ขวบ รีบวิ่งเข้ามากลางลานตัดสิน พร้อมกับร้องขอกษัตริย์ยองโจให้ไว้ชีวิตบิดาของตนเองอย่างน่าเวทนา แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
จนสุดท้ายซาโดซึ่งตอนนี้เป็นเพียงสามัญชน ก็ถูกบรรดาทหารบังคับให้ก้าวลงไปในหีบข้าว เนื่องจากหีบข้าวมีขนาดเล็ก ทำให้พระองค์ต้องนั่งขดตัวอย่างน่าสังเวช หลังจากนั้นฝาหีบก็ถูกปิดลง กษัตริย์ยองโจเป็นคนตอกตะปูปิดฝาหีบด้วยตนเอง และหีบก็ถูกทิ้งไว้กลางลานพระราชวังภายใต้แสงอาทิตย์เดือนกรกฎาคมอันร้อนระอุ
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne ตอนที่มกุฎราชกุมารซาโด โดนบังคับให้ก้าวลงไปในหีบข้าว (Source: IMDB)
ว่ากันว่า 2-3 วันแรก เสียงของซาโดที่พยายามดิ้นรนให้ตนเองหลุดออกจากหีบดังไปทั่วลาน พระองค์ทั้งถีบ เตะ ตะโกน ทั้งขอร้องให้เหล่าบรรดาทหารช่วยเหลือพระองค์ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าขัดคำสั่งขององค์กษัตริย์ได้ มีทหารที่เห็นใจพระองค์แอบเอาอาหาร น้ำ และพัดไปให้พระองค์ หลายคนคิดว่ากษัติรย์ยองโจ น่าจะแค่อยากสั่งสอนบทเรียนให้กับซาโดแค่ 2-3 วันเท่านั้น แต่ปรากฎเมื่อเรื่องไปถึงหูของกษัตริย์ยองโจ พระองค์โกรธมาก และสั่งให้ลงโทษเหล่าบรรดาทหารที่แอบเอาน้ำและอาหารมาให้ซาโด
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne ตอนที่กษัตริย์ยองโจ สั่งให้ทหารปิดหีบข้าวที่มีลูกชายคนเดียวของพระองค์อยู่ด้านใน (Source: https://historycollection.com/)
หีบที่บรรจุร่างของซาโดที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ถูกเคลื่อนไปที่ลานอีกแห่ง พร้อมทั้งมีการนำหญ้ามาคลุมจนมิด พร้อมรัดเชือกอย่างแน่นหนา เสียงของพระองค์ยังคงดังออกมาจากหีบอยู่เป็นระยะ ๆ จนเมื่อเวลาผ่านไป เสียงของพระองค์ก็ค่อย ๆ เงียบลง ไม่มีเสียงทุบหรือเตะหีบข้าวอีกต่อไป เหลือเพียงแต่เสียงหายใจอันรวยริน และเสียงร้องขอน้ำที่อ่อนแรงเต็มที ในระหว่างนี้เจ้าหญิงฮเยกยอง พยายามเขียนจดหมายเพื่อให้กษัตริย์ยองโจตัดสินใจยกเลิกการลงโทษในครั้งนี้ แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne ตอนที่ลูกชายของซาโด มาถวายความเคารพบิดาของตนเองที่โดนขังอยู่ในหีบข้าว (Source: https://koreajoongangdaily.joins.com)
จนกระทั่งวันที่ 8 หลังจากที่ก้าวเข้าไปในหีบ เสียงของซาโดก็เงียบหายไป และเมื่อเปิดฝาหีบขึ้น ก็พบร่างไร้วิญญาณของพระองค์ที่นอนขดตัวอยู่ พระองค์จากไปด้วยภาวะขาดน้ำและอาหาร จากบันทึกของเจ้าหญิงฮเยกยอง กล่าวไว้ว่าในวันที่ 8 ที่มีการเปิดหีบข้าวขึ้นมานั้น บริเวณพระราชวังมีฝนฟ้าคะนอง ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นเทพเจ้าฟ้าดินที่ซาโดเคารพนักหนา ส่งสายฝนมารับวิญญาณของซาโดกลับขึ้นไปก็เป็นได้
หีบข้าวลักษณะเดียวกับที่มกุฎราชกุมารซาโดถูกสั่งให้ปีนลงไป ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พระราชวังเมืองซูวอน (Source: https://historycollection.com)
และเนื่องจากการลงโทษซาโด ถือเป็นการลงโทษที่ “ผิดพลาด” ที่ทำให้นักโทษต้องตายด้วยภาวะขาดน้ำและอาหาร ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การประหารชีวิต เจ้าหญิงฮเยกยองที่ตอนนี้กลายมาเป็นสามัญชน จึงยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และไม่ได้รับการลงโทษใดใดทั้งสิ้น ส่วนลูกชายของซาโดก็ถือว่าไม่ใช่ลูกของฆาตกร และสามารถใช้ชีวิตในวังต่อไปได้
1
แต่เหล่าบรรดาทหาร ขุนนาง และครูของซาโด ไม่โชคดีขนาดนั้น ทุกคนล้วนถูกลงโทษด้วยกันทั้งสิ้น บางคนโดนประหารชีวิต และบางคนโดนเนรเทศให้ออกนอกพระราชวังไป
เจ้าหน้าที่พระราชวัง ในช่วงศตวรรษที่ 18 (Source: Wikipedia)
แน่นอนว่ากษัตริย์ยองโจ แม้จะทำร้ายลูกชายตนเองมากเพียงใด แต่ความรักและสายใยของความเป็นพ่อ ย่อมที่จะตัดไม่ขาด ดังนั้นหลังจากที่ซาโดเสียชีวิตแล้ว ร่างของเขาถูกฝังในสุสานของราชวงศ์โจซอน และอีก 15 วันต่อมา พระองค์ได้มอบชื่อ “ซาโด” ให้กับลูกชายที่เหลือรอดคนเดียวของพระองค์ โดยคำว่าซาโด แปลว่า “คิดถึงด้วยความเศร้าหมอง” พร้อมกับสั่งไม่ให้มีใครพูดถึงบุคคลคนนี้อีกตลอดรัชสมัยของพระองค์
เรื่องราวหลังจากนั้น
หลังจากที่ซาโดเสียชีวิตลง ชายาฮเยกยองกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด จนสุดท้ายเธอก็ได้เขียนบันทึกขึ้นมาในปี 1805 ซึ่งเป็นหลักฐานที่เราใช้ศึกษาชีวิตของมกุฎราชกุมารผู้น่าสงสารคนนี้
ลูกชายคนโตของซาโดนามว่า “อีซาน” กลายมาเป็นรัชทายาทคนถัดไป และถูกกำหนดให้เป็นลูกของเจ้าชายฮโยจาง พี่ชายต่างมารดาของซาโดที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า เพื่อสิทธิ์อันชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ต่อ และถูกเลี้ยงดูโดยเจ้าหญิงฮวาวาน ผู้ที่เคยเป็นคนส่งสารระหว่างซาโด และกษัตจริย์ยองโจ
เจ้าหญิงฮวาวาน (รับบทโดยซอง ฮยอนอา) จากซีรี่ย์เรื่อง Wind of the Palace
อย่างที่บอกไปข้างต้น เจ้าหญิงฮวาวานเป็นลูกสาวคนโปรดของกษัตริย์ยองโจ ทำให้เธอมีอิทธิพลมากในสำนักราชวัง เธอเลี้ยงเจ้าชายอีซานอย่างดี แต่เพื่อเป็นการตัดสายสัมพันธ์ของเจ้าชายกับตระกูลของเจ้าหญิงฮเยกยอง และป้องกันไม่ให้พวกเขา เข้ามามีบทบาทในการปกครองในอนาคต เธอจึงแต่งเรื่องใส่ความลุงและพี่ชายของเจ้าหญิงฮเยกยอง จนทั้งสองต้องโทษประหารชีวิต
และนี่คือสาเหตุที่เจ้าหญิงฮเยกยองตัดสินใจเขียนบันทึกของเธอขึ้นมา เพื่อล้างมลทินให้กับคนในตระกูลของเธอนั่นเอง
บันทึกของเจ้าหญิงฮเยกยอง สามารถหาซื้อได้ในรูปแบบภาษาอังกฤษแล้ว (Source: goodread)
เมื่อกษัตริย์ยองโจสิ้นพระชนม์ลง อีซาน ลูกชายคนโตของซาโด ก็ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นกษัตริย์จองโจ กษัตริย์ลำดับที่ 22 แห่งราชวงศ์โจซอนในปี 1776 พระองค์ได้รับการยกย่อง ให้เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์โจซอน พระองค์ปฏิรูปบ้านเมืองหลายด้าน มีการสร้างหอสมุดขึ้นเป็นครั้งแรกในเกาหลี เพื่อเก็บรวบรวมพงศาวดาร และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ และพระองค์คือผู้สร้างป้อมฮวาซองขึ้นที่เมืองซูวอน สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาหลีในปัจจุบัน
กษัตริย์จองโจ กษัตริย์ลำดับที่ 22 แห่งราชวงศ์โจซอน ลูกชายของมกุฎราชกุมารซาโด (Source: wikipedia)
และสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทำ หลังจากขึ้นครองราชย์แทบจะทันทีคือ พระองค์ประกาศอย่างเต็มปากว่าซาโดคือพ่อของพระองค์ และสั่งให้มีการนำศพของซาโดย้ายไปฝั่งในสุสานแห่งใหม่ ที่มีความยิ่งใหญ่และเหมาะสมมากขึ้น และได้มอบตำแหน่งทั้งหมดคืนให้กับพ่อของตนเอง
1
ส่วนตระกูลของเจ้าหญิงฮเยกยอง ก็ได้รับการยกย่องเชิดชู เพราะสุดท้ายความจริงทุกอย่างก็ถูกเปิดเผย และเจ้าหญิงฮวาวานก็ถูกเนรเทศออกไปจากสำนักพระราชวัง และไปใช้ชีวิตบั้นปายที่เมืองปาจู
เมืองปาจู (Source: https://www.architectural-review.com)
และสุดท้ายอีก 137 ปีต่อมา ในปี 1899 จักรพรรดิกวางมูแห่งราชวงศ์โจซอน ที่ปกครองอาณาจักรเกาหลี ซึ่งเป็นลูกหลานของพระองค์ ได้สถาปนาตำแหน่ง จักรพรรดิยางโจให้กับซาโด และจักรพรรดินีฮยอนยองให้กับเจ้าหญิงฮเยกยอง และหลุมฝังพระศพของพระองค์ในปัจจุบันก็กลายมาเป็น UNESCO World Heritage Site
หลุมฝังศพของมกุฎราชกุมารซาโด และชายาฮเยกยอง ในเมืองซูวอน ที่ปัจจุบันเป็นมรดกโลก (Source: https://www.mykoreanscribbles.com)
ทฤษฎีสมคบคิด
หลังจากการเสียชีวิตขององค์มกุฎราชกุมารซาโด เรื่องราวของพระองค์ก็ถูกลืมเลือนไป จนมาถึงในช่วงศตวรรษที่ 19 เรื่องของพระองค์ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ครั้งนี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากมายว่าจริง ๆ แล้ว การที่องค์มกุฎราชกุมารซาโดต้องถูกลงโทษ เป็นเพราะความชิงดีชิงเด่นกันในสำนักพระราชวัง
ชนชั้นปกครอง ในสมัยราชวงศ์โจซอน (Source: korea.net)
ย้อนกลับไปตอนที่กษัตริย์ยองโจ บิดาของซาโดขึ้นครองราชย์ ในตอนนั้นการเมืองในสำนักพระราชวังกำลังร้อนระอุ เพราะเหล่าบรรดาชนชั้นปกครองถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายโนโรน และฝ่ายโซโรน ซึ่งผมจะขอไม่ลงรายละเอียดมาก เอาเป็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่ถูกกัน และพยายามแย่งชิงอำนาจ โดยพยายามให้กษัตริย์ผู้ปกครองดินแดนเกาหลีเป็น “คน” ของฝ่ายตนเอง
กษัตริย์ที่ปกครองดินแดนเกาหลีก่อนกษัตริย์ยองโจ มีนามว่ากษัตริย์คยองจง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายโซโรน ทางฝ่ายโนโรนจึงพยายามผลักดันให้เจ้าชายยองโจ ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของกษัตริย์คยองจง และเป็นฝ่ายของตนเอง ได้ขึ้นครองราชย์แทน
ชนชั้นปกครอง ในสมัยราชวงศ์โจซอน ที่ถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายโนโรน และโซโรน (Source: koreatimes)
ซึ่งก็ดูเหมือนจะสำเร็จ เพราะบิดาของกษัตริย์คยองจง ได้ย้ำกับพระองค์ว่าให้ตั้งเจ้าชายยองโจ ให้เป็นรัชทายาทลำดับถัดไป ดังนั้นเมื่อกษัตริย์คยองจงสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายยองโจก็จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อ และฝ่ายโนโรนก็จะกลายมาเป็นฝ่ายกุมอำนาจ
แต่แล้วทุกอย่างกลับเปลี่ยนไป เพราะอยู่มาวันหนึ่งกษัตริย์คยองจงเกิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ด้วยอาการอาหารเป็นพิษหลังจากทานอาหารที่เจ้าชายยองโจนำมาให้ หลังขึ้นครองราชย์ได้เพียง 3 ปี การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนี้ ทำให้หลายคนคาดว่ากษัตริย์ยองโจ น่าเป็นผู้วางยาพิษพี่ชายต่างมารดาของตนเองเพื่อให้ตนเองได้ขึ้นครองราชย์
ว่ากันว่ากษัตริย์ยองโจ วางยาพิษในอาหารของพี่ชายตนเอง เพื่อให้ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ (Source: https://www.korea.net)
แต่มีนักประวัติศาสตร์หลายคนคาดกันว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง กษัตริย์คยองจงน่าจะเสียชีวิตจากการกินอาหารทะเลที่ไม่สดมากกว่า เพราะในตอนนั้นน้ำแข็งยังเป็นของหายาก และการนำอาหารทะเลเข้ามาในราชสำนักก็ต้องใช้เวลานาน
อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ขั้วอำนาจเกิดการเปลี่ยน ฝ่ายโนโรนกลับมาเรืองอำนาจ ในขณะที่ฝ่ายโซโรนกลายมาเป็นผู้เสียเปรียบ แต่แล้วในตอนที่กษัตริย์ยองโจ เริ่มให้มกุฎราชกุมารซาโดออกว่าราชการแทนพระองค์ ซาโดกลับไปฝักฝ่ายทางฝั่งโซโรนแทน ส่งผลให้ผู้มีอำนาจในฝ่ายโนโรน จัดฉากใส่ความองค์มกุฎราชกุมาร โหมกระพือข่าวเท็จต่าง ๆ และค่อยเป่าหูกษัตริย์ยองโจให้กำจัดซาโดทิ้งซะ
อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้ ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายโนโรน และโซโรนอาจจะมีอยู่จริง แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็อ้างว่า ไม่มีเหตุผลที่เจ้าหญิงฮเยกยอง จะแต่งเรื่องทุกอย่างขึ้นมาในบันทึกของเธอ
ส่วนหนึ่งจากบันทึกของเจ้าหญิงฮเยกยอง (Source: kadorama-recaps.blogspot.com)
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวอันน่าเศร้าของมกุฎราชกุมารซาโดนะครับ เรื่องราวของพระองค์ได้รับการสร้างเป็นซีรี่ย์หลายครั้ง และล่าสุดได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Throne ที่ออกฉายในปี 2015 ลองไปหาชมกันได้นะครับ
ภาพยนตร์เรื่อง The Throne ตีแผ่ชีวิตและความสัมพันธ์ของกษัตริย์ยองโจ และองค์มกุฎราชกุมารซาโด (Source: https://www.koreatimes.co.kr)
ส่วนตัวคิดว่ามกุฎราชกุมารซาโด คือคนที่น่าสงสารคนหนึ่ง สภาพจิตใจที่อ่อนแอจากการขาดความรัก และการถูกทำให้อับอาย ทำให้พระองค์กลายร่างไปเป็นปีศาจจนต้องมาพบกับจุดจบอันน่าอนาถ ไม่แน่ว่าถ้าพระองค์ถูกเลี้ยงดูมาอีกแบบ พระองค์ก็อาจจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ เหมือนที่ลูกชายของพระองค์ได้รับการยกย่องก็เป็นได้
ครั้งหน้า Kang's Journal จะพาไปท่องโลกประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวอะไรอีก ฝากติดตามกันด้วยนะครับ :)
ที่มา:
Youtube: ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง The Throne

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา