21 พ.ย. 2022 เวลา 06:09 • ข่าว
10 พฤศจิกายน 2565 หลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อ่านคำวินิจฉัยคดีลิขสิทธิ์นวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เสียงวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงทัศนะหลากหลายแง่มุมก็ตามมา ข้อนี้นับเป็นเรื่องปกติ
รายงานขนาดสั้นชิ้นนี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 ลำดับความเป็นมา เส้นทางการเดินทางของนวนิยายหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จากอาร์เจนตินามาสู่สังคมการอ่านในประเทศไทย
เนื้อหาส่วนนี้ต้องการสื่อสารให้เห็นการกำเนิดขึ้นและดำรงอยู่ของสำนวนแปล ปณิธาน-ร.จันเสน ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงข้อถกเถียงเรื่องมารยาท
ส่วนที่ 2 แนวทางการตัดสินของศาล
โดยปกติแล้ว หากเลือกใช้กระบวนการทางกฎหมายหาข้อยุติกรณีพิพาท ก็จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายและวินิจฉัยของศาล
เนื้อหาส่วนนี้อธิบายว่าศาลใช้หลักการใดพิจารณายกฟ้องคดีนี้ คำตัดสินของศาลอาจช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจข้อเท็จจริง ก่อนจะใช้คำว่าผิดลิขสิทธิ์ หรือละเมิดลิขสิทธิ์
ส่วนที่ 3 สาระสำคัญอื่นๆ ในคำพิพากษา
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา วินิจฉัยของศาลที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไปถึงลิขสิทธิ์งานแปล รวมถึงการอธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ผ่านคำพิพากษา จึงเป็นประเด็นที่ควรเก็บเป็นความรู้เพื่อพิจารณาต่อ
แน่นอนว่า คดีนี้เพิ่งผ่านวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ยังมีขั้นตอนกระบวนการต่อสู้ในชั้นศาล มีแง่มุมให้ถกเถียง แลกเปลี่ยนทางสังคม จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
  • ความเป็นมา
ปี พ.ศ. 2510 นวนิยาย Cien años de soledad ประพันธ์โดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) นักเขียนชาวโคลอมเบีย ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาสเปน ในประเทศอาร์เจนตินา
ปี พ.ศ. 2513 เกรกกอรี ราบาสซา (Gregory Rabassa) แปล Cien años de soledad จากภาษาสเปนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อ One Hundred Years of Solitude ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ แอนด์ โรว์ (Harper & Row)
ปี พ.ศ. 2518 บ็อบ ฮอลิเดย์ (Bob Halliday) อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แนะนำให้สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในขณะนั้น) รู้จักนวนิยายเรื่องนี้ ผ่านฉบับภาษาอังกฤษสำนวนแปล เกรกกอรี ราบาสซา
ปี พ.ศ. 2525 กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม
ปี พ.ศ. 2526 นิตยสารโลกหนังสือ โดยบรรณาธิการ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ตีพิมพ์เผยแพร่บทความแนะนำให้สังคมไทยรู้จัก กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นวนิยาย One Hundred Years of Solitude และวรรณกรรมสกุล Magical Realism
ปี พ.ศ. 2529 หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ฉบับภาษาไทย สำนวนแปล ปณิธาน-ร.จันเสน แปลจาก One Hundred Years of Solitude สำนวนภาษาอังกฤษ โดย เกรกกอรี ราบาสซา ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์วลี
ปี พ.ศ. 2533 สำนักพิมพ์วลี ตีพิมพ์เผยแพร่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว สำนวนแปล ปณิธาน-ร.จันเสน ครั้งที่ 2
ปี พ.ศ. 2547 วชิระ บัวสนธ์ ได้รับอนุญาตจาก ปณิธาน-ร.จันเสน เจ้าของลิขสิทธิ์สำนวนแปล ตีพิมพ์เผยแพร่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ครั้งที่ 3 ในนาม สำนักพิมพ์สามัญชน
ปี พ.ศ. 2552 วชิระ บัวสนธ์ ได้รับอนุญาตจาก ปณิธาน-ร.จันเสน เจ้าของลิขสิทธิ์สำนวนแปล ตีพิมพ์เผยแพร่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ครั้งที่ 4 ในนาม สำนักพิมพ์สามัญชน
ปี พ.ศ. 2557 วชิระ บัวสนธ์ ได้รับอนุญาตจาก ปณิธาน-ร.จันเสน เจ้าของลิขสิทธิ์สำนวนแปล ตีพิมพ์เผยแพร่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ครั้งที่ 5 ในนาม สำนักพิมพ์สามัญชน
ปี พ.ศ. 2557 กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เสียชีวิต
ปี พ.ศ. 2559 สำนักพิมพ์บทจร ซื้อลิขสิทธิ์นวนิยาย Cien años de soledad ต้นฉบับภาษาสเปน จากทายาทผู้ประพันธ์
ปี พ.ศ. 2564 สำนักพิมพ์บทจร ตีพิมพ์เผยแพร่นวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว แปลจาก Cien años de soledad ต้นฉบับภาษาสเปน โดย ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ และดำเนินการให้ระงับการขายเก็บนวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว สำนวนแปล ปณิธาน-ร.จันเสน โดย สำนักพิมพ์สามัญชน
ปี พ.ศ. 2564 กอนซาโล การ์เซีย บาร์ซา ทายาทผู้ประพันธ์ โจทก์ที่ 1 และ ห้างหุ้นส่วนจำกัดบทจร เป็นโจทก์ที่ 2 ฟ้อง วชิระ บัวสนธ์ กระทำการแทนในนาม สำนักพิมพ์สามัญชน ข้อหาละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เรียกค่าเสียหาย 4,300,847.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของเงินต้น 3,890,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 ค่าเสียหาย 1,268,470.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของเงินต้น 1,175,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2
10 พฤศจิกายน 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
  • แนวทางคำพิพากษา
ประเด็นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิจารณาคือ
หนึ่ง – จำเลยละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่
สอง – จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่
การพิจารณาประเด็นที่หนึ่ง ศาลมีแนวทางว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของงานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ต้องพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่มีการสร้างสรรค์หรือโฆษณางานวรรณกรรมนั้นเป็นครั้งแรก แล้วแต่กรณี ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นต้องพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในเวลาที่มีการกล่าวอ้างว่าเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ สร้างสรรค์วรรณกรรม Cien años de soledad ณ ประเทศเม็กซิโก และตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ. 2510 ที่ประเทศอาร์เจนตินา
ประเทศอาร์เจนตินาและประเทศไทย เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มีผลบังคับใช้กับงานอันเป็นลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศดังกล่าว วรรณกรรมของกาเบรียลย่อมได้รับความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 30 ปี ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว
ประเด็นที่ศาลใช้พิจารณาโดยยึดตามอนุสัญญากรุงเบิร์นคือ หากผู้สร้างสรรค์ไม่ได้แปลผลงานตนเองเป็นภาษาที่ต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศภาคีใดภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่การเผยแพร่งานเดิมเป็นครั้งแรก สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะแปลงานของตนเป็นภาษาดังกล่าวย่อมหมดสิ้นไป
ในฐานะผู้สร้างสรรค์ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มิได้อนุญาตให้ผู้ใดจัดทำคำแปลวรรณกรรมดังกล่าวเป็นภาษาไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2520 สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแปลและเผยแพร่เป็นภาษาไทยจึงหมดไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2521
การแปลฉบับภาษาไทยสำนวน ปณิธาน-ร.จันเสน แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ One Hundred Years of Solitude สำนวนแปล เกรกกอรี ราบาสซา โดยสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ แอนด์ โรว์ ได้รับอนุญาตจากกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ อีกทอดหนึ่ง ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นการแปลและเผยแพร่ภายหลังจากสิทธิในการแปลและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยแต่เพียงผู้เดียวของกาเบรียลเจ้าของลิขสิทธิ์ระงับไปแล้ว
ศาลพิพากษาว่าการแปลวรรณกรรมนี้เป็นภาษาไทย ย่อมทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากกาเบรียล และไม่เป็นการละเมิดสิทธิของกาเบรียลแต่อย่างใด
ข้อสรุปคำตัดสินคือ เมื่อจำเลยมิได้ทำซ้ำและเผยแพร่วรรณกรรมแปลอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 แต่จำเลยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปล การกระทำของจำเลยที่จัดพิมพ์และจำหน่ายวรรณกรรมแปลเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 เช่นกัน ประเด็นพิจารณาว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงตกไป
  • สาระสำคัญอื่นๆ
นอกเหนือจากแนวทางคำพิพาษาดังกล่าวแล้ว สาระสำคัญประการหนึ่งในคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีนี้ก็คือ คำตัดสินให้คุณค่าความคุ้มครองครอบคลุมไปถึงลิขสิทธิ์ผลงานแปลด้วย เนื้อหาตอนหนึ่งในคำพิพากษาระบุว่า
“(ปณิธาน-ร.จันเสน) ได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานแปลเป็นภาษาไทยด้วยตนเอง โดยต้องใช้ความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ประกอบด้วยความวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนประสบการณ์ในการแปล ผู้แปลร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยจึงได้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมที่แปลเป็นภาษาไทยเรื่อง ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ดังกล่าว โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทันทีที่สร้างสรรค์งานเสร็จ มีอายุแห่งความคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย”
ใจความสำคัญอีกประเด็นหนึ่งในคำพิพากษาคดีนี้คือ การยืนยันเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่มักจะเป็นข้อกล่าวอ้างถกเถียง โดยศาลระบุว่า งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 บังคับใช้ แม้ไม่มีลิขสิทธิ์หรือแม้สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ระงับไปแล้วตามกฎหมายเดิม แต่เมื่องานดังกล่าวยังคงมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายใหม่ ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ
เจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์คือ ประสงค์ให้บุคคลสัญชาติไทยมีช่องทางในการใช้ประโยชน์จากงานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศอันมีลิขสิทธิ์ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยกำหนดเงื่อนไขว่า วรรณกรรมที่อาจขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ในพฤติการณ์นี้ ต้องเป็นวรรณกรรมซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้มีการจัดทำคำแปล หรือมีเหตุอันทำให้ไม่สามารถตกลงการแปลงานกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร
ทั้งนี้ สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้นมิได้ถูกลิดรอน โจทก์ที่ 1 ยังคงดำรงไว้ซึ่งสิทธิในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนโจทก์ที่ 2 ตามที่ศาลวินิจฉัยว่าการแปลวรรณกรรมเรื่อง Cien años de soledad จากสำนวนแปลภาษาอังกฤษเรื่อง One Hundred Years of Solitude โดย ปณิธาน-ร.จันเสน เมื่อปี พ.ศ. 2529 เป็นการทำได้โดยชอบ และงานแปลดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้แปลร่วมทั้งสอง
วรรณกรรมแปลเรื่อง ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของโจทก์ที่ 2 กับงานวรรณกรรมแปลเรื่อง ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ของ ปณิธาน-ร.จันเสน ต่างเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยมีบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างรายกัน
text: อธิคม คุณาวุฒิ
โฆษณา