29 พ.ย. 2022 เวลา 05:05 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - อยากประหยัดภาษี เลือกลงทุนใน SSF และ RMF อย่างไรดีในโค้งสุดท้ายของปี 2565?
27 Nov 2022 by T-Da
เข้าใกล้ช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2565 แล้ว เป็นช่วงที่หลายคนกำลังมองหาตัวช่วยประหยัดภาษีโดยการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF อยู่ว่าจะลงทุนในกองทุนไหนดี? ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันก่อนว่าเงื่อนไขการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF เป็นอย่างไรในปีภาษี 2565 นี้
นอกจากเงื่อนไขข้างต้นแล้วยังมีข้อกำหนดใหม่ที่เพิ่มเติมมานี้ปีนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 414 และ 415 ที่ระบุให้ผู้มีเงินได้ที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อกองทุนรวม SSF และ RMF ที่ซื้อตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป ให้แจ้งความประสงค์ใช้สิทธิฯ ต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยตรง โดยแจ้งยินยอมเพียงครั้งเดียวต่อ บลจ. (ไม่ต้องแจ้งซ้ำในปีถัดไปสำหรับ บลจ. ที่เคยแจ้งไว้แล้ว) ทั้งนี้สำหรับปีภาษี 2565 ควรแจ้งให้เรียบร้อยภายใน 31 ธ.ค. 65 เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง
4
มาลองพิจารณาเสมือนว่าเรากำลังเลือกลงทุนในตลาดหุ้น ณ ช่วงสิ้นปี 2563 และ สิ้นปี 2564 เทียบกับปัจจุบัน (25 พ.ย. 65) กันดูว่า ณ ช่วงเวลานั้นๆ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย (ใช้ SET Index เป็นดัชนี) เทียบกับตลาดหุ้นจีน (ใช้ MSCI China เป็นดัชนี) และตลาดหุ้นทั่วโลก (ใช้ MSCI ACWI เป็นดัชนี) ย้อนหลัง 1ปี, 5ปี, และ 10ปี แบบปักหมุดเป็นอย่างไรกันบ้าง
จะเห็นได้ว่าถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2ปีก่อน (ช่วงสิ้นปี 2564 และ สิ้นปี2563) ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยทั้งในระยะสั้น (1ปี), ระยะกลาง (5ปี), และระยะยาว (10ปี) ดูไม่น่าสนใจเท่ากับผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นจีน เพราะมีหุ้นเติบโตสูง และหุ้นเทคโนโลยีมากมายที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากการที่ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างมโหฬารเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นจากผลกระทบของ Covid-19 ที่เริ่มระบาดหนักในช่วงต้นปี 2563
ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ก็คล้ายกัน กล่าวคือ ในช่วง 2-3ปีก่อนนั้นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศให้ผลตอบแทนดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ไทย แต่ในช่วง 1 ปีล่าสุดนี้กองทุนตราสารหนี้ไทยกลับให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ลองมาดูผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนเปิดกรุงศรีพันธบัตรระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFLTGOVRMF) เทียบกับกองทุน PIMCO GIS Income Fund ที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐ/เอกชนทั่วโลก ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้มี Effective Duration ที่ใกล้เคียงกัน (3.10ปี และ 3.87ปี ตามลำดับ) เป็นตัวอย่างกัน
2
(กด Zoom ที่รูปเพื่ออ่านรายละเอียด)
เห็นตัวอย่างผลตอบแทนตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรปีล่าสุดแล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมตอนนี้หลายคนอาจรู้สึกสับสน
เพราะเมื่อเปิดดูผลตอบแทนของกองทุน SSF และ RMF ที่ซื้อไว้ก่อนหน้านี้ก็เจอผลตอบแทนติดลบทั้งกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ต่างประเทศที่เผชิญกับขาลงมาตั้งแต่ต้นปี จากแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อ, ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น, และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ยิ่งทำให้บางคนถึงขั้นลังเลว่าปีนี้จะลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ดีหรือไม่เพราะกลัวจะขาดทุนมากกว่าภาษีที่ประหยัดได้
อย่างไรก็ดีบางคนก็มองในมุมกลับกันว่าการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF เป็นการลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ดังนั้นในภาวะตลาดขาลงแบบนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ลงทุนในหุ้นดีราคาถูกแล้วรอเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในระยะยาว และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในภาวะที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นมาสูงกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถบอกจุดต่ำสุดของตลาดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
1
แต่หลายคนก็เชื่อว่าโอกาสที่ตลาดจะปรับลงต่อในปีหน้ามากกว่าภาษีที่ประหยัดได้นั้นมีไม่มากแล้ว ปลายปี 2565 นี้จึงถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน
ทั้งนี้อาจจำแนกแนวทางการเลือกกองทุน SSF และ RMF ตามมุมมองตลาดและระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ เป็น 4 กลุ่มดังนี้
1). กังวลว่าตลาดจะลงต่อ/ไม่อยากเสี่ยงขาดทุน แค่อยากลดหย่อนภาษี
ในกรณีนี้สามารถเลือกเป็นกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงิน (Money Market) ซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่ำคล้ายเงินฝากออมทรัพย์ (ประมาณ 0.2% - 0.4% ต่อปี) และมีความผันผวนต่ำ
หรือถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงชนะเงินฝากขึ้นมาอีกหน่อย (ประมาณ 0.4% - 1.5% ต่อปี) ก็สามารถเลือกเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นน้อยกว่าและช้ากว่ายุโรปและสหรัฐฯ ก็จะทำให้กองทุนตราสารหนี้ไทยมีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ดังนั้นท่านที่ไม่อยากเสี่ยงขาดทุนก็อาจะเลือกเป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย, หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่เป็น investment grade เป็นต้น
2
2) เชื่อว่าตลาดยังลงต่อได้ แต่น่าจะเห็นจุดต่ำสุดในปีหน้า/ไม่อยากขาดทุนเพิ่ม อยากรอให้ตลาดเริ่มปรับขึ้นค่อยเข้าลงทุน
1
ในกรณีนี้อาจเลือกพักเงินทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ในกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงิน (Money Market) หรือกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (ตามที่แนะนำในกลุ่มที่ 1) และลงทุนในกองทุนหุ้นที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ดูแล้วว่าเป็นของดีราคาถูกเอาไว้บางส่วน (เพราะไม่มีใครรู้ว่าจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน) แล้วค่อยรอจังหวะที่ตลาดเริ่มปรับขึ้นชัดเจนในปีหน้าแล้วค่อยสับเปลี่ยน (switch) จากกองทุนเดิมที่ซื้อไว้มาเข้ากองทุนใหม่ที่สนใจก็ได้
ซึ่งผู้ลงทุนที่ต้องการจับจังหวะลงทุนในลักษณะนี้ ควรเลือกกองทุนของ บลจ. ที่มีกองทุนหลากหลายประเภทให้เลือก เพราะการสับเปลี่ยนกองทุนภายใน บลจ. เดียวกันจะทำให้สะดวกรวดเร็วและเสียค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการสับเปลี่ยนข้าม บลจ. ซึ่งนอกจากจะเสียค่าธรรมเนียมแพงกว่าแล้ว ในบางครั้งต้องรอเงินค่าขายหน่วยลงทุนจาก บลจ. ต้นทาง แล้วค่อยไปซื้อหน่วยลงทุนของ บลจ. ปลายทาง ซึ่งใช้เวลาหลายวันทำการ ถ้าเป็นจังหวะที่ตลาดปรับขึ้นพอดีก็จะเสียโอกาสที่จะทำกำไรในช่วงระหว่างที่รอสับเปลี่ยนนั่นเอง
3) เป็นจังหวะซื้อของดีราคาถูก/ไม่กลัวตลาดลงต่อในระยะสั้น อยากเข้าลงทุนสะสมเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว
ในกรณีนี้สามารถเลือกเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศได้ ซึ่งก็มีให้เลือกทั้งกองทุนที่เน้นการลงทุนทั่วโลกในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง หรือบางท่านอาจมีข้อมูลหรือมุมมองเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเทศว่าตอนนี้ราคาหุ้นนั้นถูก และมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้มากในอนาคต เช่น เวียดนาม จีน สหรัฐฯ ก็สามารถเลือกเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนเฉพาะประเทศนั้นๆ ได้เช่นกัน
ส่วนท่านที่อาจจะมีมุมมองเฉพาะเจาะจงเป็นบาง Theme ที่เชื่อว่าจะมาแรงในอนาคต เช่น Healthcare, ESG, Technology, Semiconductor (ตามคุณปู่ Warren Buffet) ก็มีกองทุน SSF และ RMF ที่ตอบโจทย์ลักษณะนี้เช่นกัน แต่ต้องอย่าลืมว่าบาง Theme อาจมีช่วงวัฏจักรที่ขึ้นลงแรงและอาจจะยาวนานกว่าที่คิดไว้ ทำให้ผู้ที่เลือกลงทุนในกองทุนลักษณะแบบนี้อาจจะต้องคอยติดตามและสับเปลี่ยน Theme ด้วยตามความเหมาะสม
1
4) ไม่มีมุมมองเกี่ยวกับตลาดเลย เน้นลดหย่อนภาษีเป็นหลัก
กลุ่มนี้มักจะต้องการความสะดวก ไม่ต้องการข้อมูลตลาดมาวิเคราะห์เอง มักจะเลือกลงทุนตามเพื่อนหรือบุคคลที่ตนเองให้ความไว้วางใจ ซึ่งก็มีกองทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่หลาย บลจ. อาศัยความสามารถของผู้เชี่ยวชาญทั้งใน บลจ. เองและในต่างประเทศมาช่วยบริหารกองทุนแบบเชิงรุกให้ โดยจัดเป็น portfolio การลงทุนตามลักษณะความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ซึ่งผลตอบแทนที่ได้ก็จะสูงขึ้นตามความเสี่ยงนั่นเอง
กองทุนลักษณะนี้ บลจ. มักจะจัดทำออกมาเป็น series เช่น เสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ หรืออาจจะแบ่งย่อยมากกว่านั้นเป็น 5 ระดับ (5 กองทุน) ก็มีให้เลือกเช่นกัน
ในโค้งสุดท้ายของปี 2565 นี้ อย่าลืมคำนวณให้ดีก่อนว่ามีเงินสดเท่าไรที่พร้อมจะลงทุนในระยะยาว (เพราะถ้าผิดเงื่อนไขจะโดนเรียกภาษีส่วนที่ขอลดหย่อนไว้คืน แถมยังต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการลงทุนด้วย)
จากนั้นดูว่าต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในกองทุน SSF และ RMF เป็นจำนวนเงินเท่าไรบ้าง แล้วถามตัวเองว่าท่านมีมุมมองตลาดและการยอมรับความเสี่ยงแบบใดใน 4 กลุ่มข้างต้น เพื่อจะได้เลือกกองทุนที่เหมาะสม ที่สำคัญอย่าลืมแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อกองทุนรวม SSF และ RMF กับ บลจ. ให้เรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ด้วยนะ
#SSF #RMF #กองทุน #ลดหย่อนภาษี
โฆษณา