16 พ.ย. 2022 เวลา 02:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - เงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุดแล้วหรือยัง? สำคัญอย่างไร?
15 Nov 2022 by T-Da
สาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนอยากรู้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ นั้นได้ผ่านจุดสูงสุดของช่วงขาขึ้นไปแล้วหรือไม่ เป็นเพราะสถิติผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 และการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในช่วงปี 1928-2021 ที่รวบรวมโดย NYU Stern School of Business นั้นชี้ให้เห็นว่าบ่อยครั้งที่เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดของวัฏจักรขาขึ้นไปแล้ว มักจะเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุนในหุ้น เช่น
- ปี 1942 เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด ณ เดือน พ.ค. 1942 ที่ +13.2% ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทน 19.17% ในปีนั้น (จากปีก่อนหน้าที่ให้ผลตอบแทน -12.77%)
- ปี 1975 เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด ณ เดือน ธ.ค. ของปีก่อนหน้า ที่ +12.3% ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทน +37.00% ในปีนั้น (จากปีก่อนหน้าที่ให้ผลตอบแทน -15.90%)
- ปี 1980 เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด ณ เดือน มี.ค. 1980 ที่ +14.8% ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทน 31.74% ในปีนั้น (จากปีก่อนหน้าที่ให้ผลตอบแทน +18.52%)
- ปี 1991 เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุด ณ เดือน พ.ย. ของปีก่อนหน้า ที่ +6.3% ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทน +30.23% ในปีนั้น (จากปีก่อนหน้าที่ให้ผลตอบแทน -3.06%)
เหตุผลเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับเงินเฟ้อขาลงนั้น เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นมักจะปรับลงเข้าสู่วัฏจักรขาลงเมื่อเงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้วนั่นเอง ซึ่งดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้เงินทุนไหลไปหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าอย่างตลาดหุ้น ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในการประกอบธุรกิจที่ถูกลง ก็จะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนักลงทุนจึงให้ความสำคัญกับตัวเลขเงินเฟ้อว่าจะปรับลงจากจุดสูงสุดเมื่อไร
เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ย. 2022 หลังจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (U.S. BLS) เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.2022 ออกมาที่ +7.7%YoY ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี และประกาศตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่ +6.3%YoY คิดเป็น +0.3%MoM ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ ก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะ NASDAQ และดัชนีตลาดหุ้นยุโรปต่างดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากความคาดหวังว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ นั้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนที่ผ่านมา
แม้ว่านักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินการลงทุนหลายแห่งจะมีความเห็นในลักษณะคล้ายกันว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหรือกำลังจะผ่านพ้นไปในเร็วๆ นี้ แต่ระดับเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อระยะยาวของ Fed ที่ตั้งไว้ที่ 2% อยู่อีกกว่า 3 เท่าตัว
นั่นหมายความว่า Fed ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อกดดันให้เงินเฟ้อกลับลงมาสู่ที่ระดับเป้าหมายให้ได้ ซึ่งสิ่งที่ตลาดให้ความสนใจในตอนนี้มี 3 ประเด็นหลัก คือ ดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปสูงสุดที่เท่าไร? อัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในการประชุมแต่ละครั้งจะมากน้อยแค่ไหน? และอัตราดอกเบี้ยจะสิ้นสุดขาขึ้นเมื่อไร?
จากการให้สัมภาษณ์ของ นาย Christopher Waller หนึ่งในคณะผู้ว่าการ Fed ซึ่งถือว่าเป็นสายเหยี่ยว (Hawkish) และนาง Lael Brainard รองประธาน Fed ซึ่งถือว่าเป็นสายพิราบ (Dovish) ต่างก็มีความเห็นคล้ายกันว่าตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ต.ค.2022 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดนั้นเป็นเพียงตัวเลขสถิติหนึ่งที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะเพิ่มโอกาสในการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่น้อยลง (4 ครั้งที่ผ่านมา ขึ้นครั้งละ 0.75%) ตั้งแต่การประชุมครั้งหน้าเป็นต้นไป
1
แต่ยังต้องรอดูข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย โดย Fed ยังมีภารกิจที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อคุมเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
3
ในขณะเดียวกันนักลงทุนชื่อดังอย่าง Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ อัตราเงินเฟ้อจะปรับฐานลงมาอยู่ในระดับเท่าไร จึงจะได้คำตอบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร
Ray Dalio
ซึ่ง Ray มองว่าเงินเฟ้อน่าจะปรับลงมาอยู่ในช่วง 4.5-5.5% และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ควรจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1.5% สักเล็กน้อย นั่นหมายความว่า Fed มีโอกาสที่จะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปสูงสุดที่ระดับใกล้เคียง 5.5% - 6.0% ซึ่งเป็นระดับที่จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น
นอกจากนี้ Ray ยังตั้งข้อสังเกตุว่า หากดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่งถือว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง (Risk-Free Rate) นั้นขึ้นไปถึงระดับ 5.5%-6.0% ก็หมายความว่าบริษัทเอกชนที่มีสถานะความน่าเชื่อถือทางการเงินหรือ credit rating ที่ไม่ค่อยดีย่อมต้องมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่านั้นขึ้นไปอีก
ในบางรายอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงถึง 10%-11% เพื่อจะได้มาซึ่งเงินกู้ที่จะนำมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ บริษัทที่จะสร้างกำไรได้เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากมีบริษัทไปต่อไม่ได้จำนวนมากก็จะนำมาสู่การเลิกจ้างงานและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด
1
คำกล่าวที่ว่า
การทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นเครื่องมือหนึ่งของธนาคารกลางในการจัดการเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ในระดับเป้าหมาย
ดูมีส่วนที่เป็นจริงอยู่ไม่น้อย เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในปีนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อเงินเฟ้อทั่วไปคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานก็จะส่งผลให้มีการปรับค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าค่าจ้างนั้นเมื่อปรับขึ้นไปแล้วจะลงได้ยากมาก (sticky wages) เว้นแต่จะเกิดการเลิกจ้างงานหรือการว่างงานในระดับสูง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี โดยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้เราก็เริ่มเห็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ออกมาประกาศลดการจ้างงานกันแล้ว
1
การจะหาจุดสูงสุดของวัฏจักรเงินเฟ้อ หรือการจะหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เช่นเดียวกับการหาจังหวะเวลาที่ดีที่สุดในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อให้ได้กำไรสูงสุดนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่ในความเป็นจริงนั้นทำได้ยาก
ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องพิจารณาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ควรลงทุนตามกระแสแบบทุ่มหมดหน้าตัก ซึ่งการแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสมในการลงทุนตามกลยุทธ์ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการลงทุนในระยะสั้น และได้ผลตอบแทนกลับมาในระยะกลาง-ระยะยาว
โฆษณา