31 ต.ค. 2022 เวลา 04:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมตลาดหุ้นเวียดนามติดลบกว่า 30% จากต้นปี สวนทางเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง?
1
บทความโดย T-Da [ 30 ต.ค. 2565]
ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VN Index) ให้ผลตอบแทนถึง 37% ในปี 2021 สอดคล้องกับผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม (Earnings Growth) ที่เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตได้อีก 16%-20% ในปีนี้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังคลายล็อกดาวน์โควิด-19 แต่ตลาดหุ้นเวียดนามกลับติดลบกว่า 35% นับจากต้นปี
4
เพราะมีปัจจัยกดดัน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การคุมเข้มกฏระเบียบเกี่ยวกับความโปร่งใสและการตรวจปัญหาทุจริตของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม
2
- เริ่มจาก 29 มี.ค. 2022 ซึ่งมีการจับกุมนาย Trinh Van Quyet มหาเศรษฐีเวียดนาม เจ้าของ FLC Group บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ในข้อหาฉ้อโกงและปั่นหุ้น ตามด้วยการจับกุมนาย Do Anh Dung เจ้าของ Tan Hoang Minh Group บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในข้อหาออกหุ้นกู้ผิดวัตถุประสงค์ รวมทั้งจับกุมนาย Do Thanh Nhan เจ้าของ Louis Holdings และนาย Do Duc Nam ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ Tri Viet Securities ในข้อหาปั่นหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2022 เป็นต้นมา
1
- ตลาดหุ้นเวียดนามปรับลงราว 25% จากจุดสูงสุด แล้วเริ่มเห็นการ rebound ได้ประมาณ 10% และเริ่มแกว่งตัวออกด้านข้างในช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค. 2022 แต่แล้วก็ถูกเทขายอีกครั้งเมื่อ HOSE (Hochiminh Stock Exchange) ประกาศระงับการซื้อขายหุ้น FLC (FLC Group) และบริษัทในเครือ HAI (HAI Agrochem JSC) เนื่องจากไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ได้ตามกำหนด
2
- อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา คือ การจับกุมนาง Troung My Lan เจ้าของ Van Thinh Phat Group บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเจ้าของที่ดินทำเลทองมากมายในเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร Saigon Commercial Bank (SCB) และบริษัทหลักทรัพย์ Tan Viet อีกด้วย ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนกแล้วแห่ไปถอนเงินจากธนาคาร SCB ที่เรียกว่าภาวะ Bank Run
3
- จากเหตุ Bank Run ทำให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV: State Bank of Vietnam) ต้องออกมายืนยันว่าเงินฝากของลูกค้าธนาคาร SCB จะได้รับการคุ้มครอง และ SCB เองก็ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีก 1% ไปเป็น 8.5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุดในเวียดนาม
1
ทำให้ในอีก 2 วันถัดมามีลูกค้านำเงินมาฝากกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ SCB เป็นธนาคาร (เอกชน) ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเวียดนาม (นับตามมูลค่าสินทรัพย์) รองจาก 4 ธนาคารใหญ่ที่ล้วนแต่ถือหุ้นโดยรัฐบาล ซึ่ง SBV ได้ส่งบุคลากรผู้มีประสบการณ์จาก 4 ธนาคารใหญ่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหาร SCB ในอีก 2 สัปดาห์ถัดมา
1
2. การไม่ได้เข้าร่วมใน Emerging Market Index ในรอบการทบทวนของ FTSE Russell เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา
- เวียดนามจัดเป็นตลาดในกลุ่มชายขอบ (Frontier Market) ซึ่งได้รับการเพิ่มชื่อเข้าไปใน Watch list ของตลาดเกิดใหม่ระดับ2 (Secondary Emerging Market) ตั้งแต่ ก.ย. 2018 ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่าจะได้รับการยกระดับขึ้นไปเป็น Secondary Emerging Market อย่างเป็นทางการในรอบการทบทวนเมื่อปลาย ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า FTSE Russell ยังประกาศคงสถานะเวียดนามใน Watch list เหมือนเดิม ทำให้นักลงทุนผิดหวังและเทขายหุ้นออกมา
5
- อย่างไรก็ดีทาง FTSE จะมีรอบทบทวนระหว่างกาล (Interim Review) อีกครั้งในเดือน มี.ค. 2023 ก่อนที่จะมีการพิจารณาอย่างเป็นทางการอีกครั้งตามรอบทบทวนปกติในเดือน ก.ย. 2023 ซึ่งหากเวียดนามได้รับการปรับเข้าไปอยู่ใน Secondary Emerging Market ก็จะทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้น
3
3. การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของ Fed กดดันให้ธนาคารกลางเวียดนามต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 2% ในการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา
4
- ในการประชุมของ SBV หรือธนาคารกลางเวียดนามเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% มาอยู่ที่ 5% (Refinancing Rate) นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 11ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดไม่ได้คาดไว้ เพราะเงินเฟ้อในเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 4% และค่าเงินดอง (VND) ก็อ่อนค่า (เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) ไปไม่ถึง 5% นับจากต้นปี ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
3
- เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา SBV ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีก 1% จากการประชุมครั้งที่แล้ว ทำให้ Refianancing Rate มาอยู่ที่ 6% และ Discount Rate อยู่ที่ 4.5% เพราะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงกว่า 4% แล้ว และค่าเงินดอง (VND) มีการอ่อนค่าไปอีกเกือบ 5% นับจากการประชุมครั้งก่อนหน้า
ในขณะที่ข้อมูลจาก IMF ระบุว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของเวียดนามปรับลดลงจากระดับสูงสุดที่ 1.122 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่ระดับ 9.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าปัจจุบันอาจอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว
3
- อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นในขณะที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีความไม่แน่นอนนี้ จะทำให้นักลงทุนบางส่วนมีโอกาสที่จะขายหุ้นในตลาดหุ้นเวียดนามออกไป หรือบางส่วนอาจจะหยุดการซื้อขายไปโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ซึ่งจะส่งผลลบต่อปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นและราคาหุ้นเวียดนามได้
3
เศรษฐกิจเวียดนามยังเติบโตได้ดี แม้ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลง จาก 3 ปัจจัยดังกล่าวไปข้างต้น
1
- ยอดค้าปลีกของเวียดนามมีการเติบโตในอัตราเร่งสูงมาตลอดช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ภายหลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ก่อนที่การเติบโตจะชะลอลงในเดือน ก.ย. แต่ก็ยังเติบโตได้ถึง +36%YoY สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภายในประเทศซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของ GDP growth ของเวียดนามนั้นยังคงแข็งแกร่ง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า 3.5% มาตลอด แล้วเพิ่งมาเร่งตัวขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร แม้จะต้องนำเข้าพลังงาน แต่ภาครัฐก็มีการควบคุมราคาไว้ ประกอบกับค่าเงินที่ไม่ได้อ่อนค่ามากนักในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามก็เติบโตได้ดีมาตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ล่าสุดในเดือน ก.ย. ก็ยังเติบโตได้ +12.5%YoY เพราะเวียดนามมีสถานะนำเข้าสุทธิจากจีน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลงของจีน แต่กลับได้รับอานิสงส์จากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ (Friendshoring ซึ่งเคยอธิบายไว้ที่นี่)
1
ที่ทำให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาในเวียดนามเป็นจำนวนมาก อาทิ Apple, Samsung, Adidas เป็นต้น เห็นได้จาก FDI (Foreign Direct Investment) ที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องและจะทำให้รัฐบาลต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นด้วยในอนาคต
- นอกจากนี้เวียดนามยังมีความได้เปรียบเชิงโครงสร้างประชากรที่มีเกือบ 100 ล้านคน โดยมีค่ากลางของช่วงอายุ (Median Age) อยู่เพียง 32-33ปี เท่านั้น ซึ่งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศได้รับประโยชน์จากโครงสร้างประชากรที่มีอายุน้อยนี้ไปอีก 10-15ปี ข้างหน้า นอกจากนี้ GDP per capita ของเวียดนามก็กำลังเติบโตเข้าใกล้ระดับ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Consumption Boom) ดังที่เห็นมาแล้วในหลายประเทศ
1
ปัจจัยที่นักลงทุนพึงระวังในการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม
แม้ว่าเศรษฐกิจของเวียดนามยังดูมีโอกาสที่จะเติบโตได้ในระยะกลาง-ยาว ประกอบกับราคาหุ้นที่ปรับลงมาล่าสุดทำให้ P/E Ratio ของหุ้นเวียดนามอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เท่า ซึ่งนับว่าน่าสนใจมาก (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10ปีย้อนหลังกว่า 2 S.D.) ในขณะที่คาดการณ์ EPS growth ในปีนี้และปีหน้ายังอยู่ในช่วง 16%-20% ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ใน ASEAN แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยในระยะสั้นและปัจจัยด้านการเมืองในระยะยาวที่นักลงทุนพึงระวังว่าการรีบเข้าซื้อหุ้นเวียดนามในช่วงนี้อาจยังมีความเสี่ยงขาลงได้อีกราว 30% เนื่องจาก
2
- ค่า P/E Ratio ของตลาดหุ้นเวียดนามโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าประเทศอื่นใน ASEAN อยู่ 15%-20% โดยประมาณ เพราะยังจัดอยู่ใน Frontier Market ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องสัดส่วนหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายได้ (Foreign Limit) รวมถึงสภาพคล่องในตลาดที่ยังต่ำกว่าตลาดหุ้นไทยเกือบ 3เท่าตัว แม้ว่าจะปรับสูงขึ้นมากว่าช่วงก่อนโควิด-19 มากแล้วก็ตาม
3
นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดเวียดนามราว 90% ยังเป็นนักลงทุนรายย่อยซึ่งเพิ่งมาเปิดบัญชีซื้อขายกันในช่วง 3ปีที่ผ่านมานี้เอง (ก่อนโควิด-19มี 2.5ล้านบัญชี ปัจจุบันมี 6.5ล้านบัญชี)
1
- การที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากทำให้ตลาดมีความเปราะบางและมีความผันผวนสูงทั้งในขาขึ้นและขาลง จากข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ Thanh Cong Securities ของเวียดนามพบว่ามีนักลงทุนจำนวนมากที่หยุดซื้อขายไปหลังจากหุ้น FLC ร่วงลงแรงในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ขาดทุนราว 50%-60% จากการลงทุนในปีนี้ ในขณะที่ VN Index ปรับลงประมาณ 35% เพราะถือหุ้นที่มีความผันผวนมากกว่าตลาด และกลุ่มนี้ยังขายหุ้น (cut loss) ออกไม่หมด
5
ในขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ (มูลค่าพอร์ตเกิน 30ล้านบาท) ในเวียดนามส่วนใหญ่ขายหุ้นออกไปแล้วในช่วงที่ VN Index อยู่ที่ระดับ 1,400-1,500 จุด และยังรอโอกาสเข้าซื้อใหม่
- หุ้นกลุ่มธนาคาร (30.5%) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (21.5%) เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักรวมกันกว่า 50% ในดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VN Index) ซึ่งการที่ภาครัฐเข้ามาจัดการกับออกหุ้นกู้ผิดวัตถุประสงค์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นจะส่งผลกระทบทางอ้อมไปถึงกลุ่มธนาคารด้วย ทำให้ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นเวียดนามอาจปรับลงได้อีก แต่ในระยะยาวการจัดระเบียบนี้จะทำให้ตลาดเวียดนามมีความโปร่งใสมากขึ้นซึ่งเป็นผลดีกับนักลงทุนด้วย
2
- เงินเฟ้อของเวียดนามและการอ่อนค่าของเงินดอง (VND) เริ่มเร่งตัวขึ้น ในขณะที่ SBV มีหน้าตักค่อนข้างจำกัดในการเข้าแทรกแซงค่าเงิน ทำให้มีความเสี่ยงที่ SBV เลือกใช้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ผลตอบแทนจากเงินฝากมีความน่าดึงดูดมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตลาดหุ้น (ที่ต้องเผชิญความเสี่ยง)
1
- เศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลงกว่าช่วง 8 เดือนแรกของปี และมีโอกาสที่จะชะลอลงอีก เนื่องจากตลาดส่งออกหลักเป็นสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงซึ่งตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ทำให้มีความเสี่ยงจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปลายปีนี้-ต้นปีหน้า ซึ่ง GDP เวียดนามยังมีโอกาสเติบโตได้ 7%-8% ในปี 2022 นี้ ก่อนที่จะเติบโตในอัตราที่ลดลงในปีหน้า (คาดการณ์ 6%)
9
- การเมืองของเวียดนามมีลักษณะคล้ายกับจีนค่อนข้างมาก เพราะมีพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียว มีการประชุมสมัชชาฯ ใหญ่ทุก 5ปี โดยมีผู้แทน 1,600คน เข้าร่วมประชุมเพื่อคัดเลือกสมาชิก 200 คน เป็นคณะกรรมการกลางเพื่อไปลงคะแนนเลือก 20 คน เป็นสมาชิก Politburo และจะมี 4 คนในนี้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญสูงสุด 4 ตำแหน่ง (เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์, นายกรัฐมนตรี, ประธานาธิบดี, ประธานสภาแห่งชาติ)
2
ซึ่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ นั้นต่อได้เพียง 2 สมัย (10ปี) แต่เมื่อต้นปี 2021 มีการแก้ระเบียบให้นาย Nguyen Phu Trong ในวัย 76ปี ได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3
1
- นอกจากการสืบทอดอำนาจที่คล้ายจีนแล้ว นาย Nguyen Phu Trong ยังมีนโยบายต่อต้านทุจริตที่ชื่อว่า "Blazing Furnace" ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2016 คล้ายกับจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศต่อไป
1
โดยมีการปราบทุจริตในวงการเมืองระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง และลงโทษอย่างรุนแรง ก่อนที่จะขยายวงมาสู่การปราบทุจริตในบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ซึ่งในความคล้ายก็มีความต่างที่สำคัญ นั่นคือ เศรษฐกิจเวียดนามยังอยู่ในช่วงที่เติบโตสูงไปได้อีก 10-15ปี ด้วยโครงสร้างประชากรที่อายุน้อยกว่าจีนนั่นเอง
2
โฆษณา