Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
30 พ.ย. 2022 เวลา 07:58 • ไลฟ์สไตล์
ปริเฉทที่ ๖ (ตอน ๑)
มหาภินิกขมนปริวรรต
การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่
**********
~ เทวทูต ๔ ~
พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น
ประกอบไปด้วยความสมบูรณ์ และความเป็นสุขดังนี้
ดำรงอยู่ในฆราวาสสุขสมบัติถึง ๒๙ พรรษา...
ต่อมาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์มีพระประสงค์
จะเสด็จยังภูมิภาคในพระอุทยานจึงตรัสเรียกสารถีมาตรัสว่า
"จงเทียมรถม้า"
นายฉันนะอำมาตย์ จึงประดับประดารถอย่างดีที่สุด
เทียมม้าสินธพอันเป็นมงคล ซึ่งมีสีดุจกลีบดอกบัวขาว ๔ ตัว
เสร็จแล้วไปทูลบอกแด่พระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นรถ
อันเป็นเช่นกับเทววิมาน
ทรงบ่ายพระพักตร์สู่พระอุทยาน...
เทวดาทั้งหลายคิดว่า
กาลที่จะตรัสรู้ของพระสิทธัตถราชกุมาร
ใกล้เข้ามาแล้ว พวกเราจักแสดงบุพนิมิต
เเล้วแสดงเทวบุตรคนหนึ่งทำให้
เป็นคนแก่หง่อม มีฟันหัก มีผมหงอก
มีหลังโกงดุจกลอนเรือน มีตัวโค้งลง
มีมือถือไม้เท้า เดินงกๆ เงินๆ อยู่
พระโพธิสัตว์ และสารถี ก็ได้ทอดพระเนตรเห็น
"คนแก่"
พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่า
"ชายคนนี้เป็นอะไรไปนะ แม้แต่ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่น"
นายฉันนะตอบว่า "นั้นคือ คนแก่ พระเจ้าข้า"
ทรงสดับคำของสารถีแล้ว ทรงมีพระทัยสังเวชว่า
"เมื่อมีความเกิด... ความแก่ จักต้องปรากฏ
แก่สัตว์ผู้เกิด แล้วอย่างแน่นอน"
แล้วเสด็จกลับจากพระอุทยานเสด็จขึ้นสู่ปราสาท
พระราชาตรัสถามว่า
"เพราะเหตุไรบุตรของเราจึงกลับเร็วนัก"
พวกอำมาตย์ทูลว่า "เพราะทอดพระเนตรเห็นคนแก่ พระเจ้าข้า"
พระราชาตรัสว่า
"พวกเจ้าพูดว่า ลูกของเราเห็นคนแก่แล้วจักบวช
เพราะเหตุไร จึงมาทำลายเราเสียเล่า
จงรีบจัดหาละครมาแสดงแก่บุตรของเรา
เธอเสวยสมบัติอยู่ จักไม่ระลึกถึงการบรรพชา"
แล้วให้เพิ่มอารักขามากขึ้น... ในระยะทางหนึ่งโยชน์
ในทุกทิศ... เพื่อป้องกัน ไม่ให้เห็น สิ่งที่น่าสังเวช
ในวันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปยังพระอุทยานเหมือนเดิม
ทอดพระเนตรเห็น
"คนเจ็บ"
ที่เทวดาเนรมิตขึ้น
จึงตรัสถามโดยนัยก่อนนั่นแหละ...
ทรงมีพระหฤทัยสังเวชแล้วกลับในรูปสู่ปราสาท.
ฝ่ายพระราชา ก็ตรัสถามแล้วจัดแจงตามเดิม
ทรงวางอารักขาเพิ่มขึ้นอีก
ต่อมาอีกวันหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังพระอุทยานเหมือนเดิม
ทรงทอดพระเนตรเห็น
"คนตาย"
ที่เทวดาเนรมิตขึ้น ทรงตรัสถามโดยนัยก่อนนั่นแหละ
มีพระหฤหัยสังเวชแล้ว เสด็จกลับในรูปสู่ปราสาท
ฝ่ายพระราชาก็ตรัสถามแล้วทรงจัดแจงตามเดิม
ทรงวางอารักขาเพิ่มขึ้นอีกในที่ประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ.
ในวันหนึ่งต่อมาอีก
พระโพธิสัตว์เสด็จไปสู่พระอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็น
"บรรพชิต"
นุ่งห่มเรียบร้อย มีเทวดาเนรมิตขึ้นเช่นเดิมนั่นแหละ
จึงตรัสถามสารถีว่า นี่แน่ะเพื่อน
"คนนั้นเขาเรียกชื่ออะไรนะ"
สารถีไม่ทราบถึงบรรพชิตหรือคนที่ทำให้เป็นบรรพชิตเลย
เพราะไม่มีการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็จริง
แต่ด้วยอานุภาพแห่งเทวดาจึงกราบทูลว่า
"คนนั้นเขาเรียกชื่อว่าบรรพชิตพระเจ้าข้า"
แล้วพรรณนาคุณแห่งการบวช
พระโพธิสัตว์ให้รู้สึกเกิดความพอพระทัยในบรรพชิต
ได้เสด็จไปยังพระอุทยานในวันนั้น.
**********
แต่ท่านผู้กล่าวทีฆนิกายกล่าวว่า
พระโพธิสัตว์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง ๔
ในวันเดียวเท่านั้น
**********
~ พระอินทร์ตรัสสั่งให้เทพบุตรช่วยแต่งองค์ ~
พระโพธิสัตว์เสด็จเทียวเตร่ตลอดวัน
ทรงสระสนานในสระโบกขรณีอันเป็นมงคล
เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว ประทับนั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล
มีพระประสงค์จะประดับประดาพระองค์
ทีนั้นพวกบริจาริกาของพระองค์พากันถือผ้ามีสีต่าง ๆ
เครื่องอาภรณ์ต่างชนิดมากมาย และดอกไม้ของหอม
เครื่องลูบไล้ มายืนห้อมล้อมอยู่โดยรอบ
ในขณะนั้น อาสนะที่ประทับนั่งของท้าวสักกะได้เกิดร้อนขึ้นแล้ว
ท้าวเธอทรงใคร่ครวญดูว่า
ใครหนอมีประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่นี้
ทอดพระเนตรเห็นกาลที่จะต้องประดับประดาพระโพธิสัตว์
จึงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า
ดูก่อนวิสสุกรรมผู้สหาย วันนี้สิทธัตถราชกุมาร
จักเสด็จออกมหาภิเนษกรมน์ในเวลาเที่ยงคืน
นี้เป็นเครื่องประดับอันสุดท้าย ของพระองค์
ท่านจงไปยังพระอุทยานพบพระมหาบุรุษแล้ว
จงประดับด้วยเครื่องประดับทุกชนิด
วิสสุกรรมเทพบุตรทูลรับ พระดำรัสว่า ดีแล้ว
ในขณะนั้นนั่นเองด้วยเทวานุภาพ
แปลงเป็นช่างกัลบกของพระองค์ทีเดียว
แล้วรับเอาผ้าโพกจากมือของช่างกัลบก
มาพันพระเศียรของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ทรงทราบด้วยสัมผัสแห่งมือเท่านั้นว่า
ผู้นี้มิใช่มนุษย์เขาเป็นเทวบุตร
พอพันผ้าโพกเข้า
ผ้าพันผืนก็ปลิวสูงขึ้นโดยอาการเหมือนแก้วมณี
ที่พระเมาลีบนพระเศียร
เมื่อพันอีกก็เป็นผ้าพันผืน เพราะฉะนั้น
เมื่อพันสิบครั้ง ผ้าหมื่นผืนก็ปลิวสูงขึ้น.
ไม่ควรคิดว่า พระเศียรเล็กผ้ามีมาก ปลิวสูงขึ้นได้อย่างไร
ก็บรรดาผ้าเหล่านั้นผืนที่ใหญ่ที่สุด
มีประมาณเท่าดอกสามลดา (เถาจิงจ้อ)
ที่เหลือนอกนี้มีประมาณเท่าดอกกุตุมพกะ
พระเศียรของพระโพธิสัตว์หนาแน่นด้วยศก
เป็นเหมือนดอกสารภีที่แน่นทึบด้วยเกสร
ต่อมาเมื่อพวกนักดนตรีแสดงปฏิภาณของตน ๆ อยู่
เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวยกย่องด้วยคำเป็นต้นว่า
ข้าแต่พระจอมนรินทร์ ขอพระองค์จงทรงชำนะเถิด
และเมื่อพวกสารถีและมาฆตันธกะเป็นต้น
กล่าวยกย่องอยู่ด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล
คำชมเชยและคำป่าวประกาศนานัปการ
แก่พระโพธิสัตว์ผู้ประดับประดาแล้ว
ด้วยเครื่องประดับสารพัด
พระองค์ก็เสด็จขึ้นยังพระราชรถอันประเสริฐ
ซึ่งประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง.
**********
~ พระราชโอรสราหุลประสูติ (ห่วงเกิดแล้ว) ~
ในสมัยนั้น
พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับข่าวว่า
พระราชมารดาของพระราหุล ทรงประสูติพระราชโอรสแล้ว
จึงทรงส่งข่าวสารไปด้วยตรัสว่า
พวกเธอจงบอกความดีใจของเราแก่ลูกด้วย
พระโพธิสัตว์ทรงสดับข่าวนั้นแล้วตรัสว่า
"ราหุล เกิดแล้ว เครื่องจองจำเกิดแล้ว"
พระราชาตรัสถามว่า ลูกของเราพูดอะไรบ้าง
ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
จำเดิมแต่นี้หลานของเราจงมีชื่อ
ว่า "ราหุลกุมาร" เถิด
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เสด็จขึ้นยังพระราชรถอันประเสริฐ
เสด็จเข้าพระนครด้วยพระยศอันยิ่งใหญ่
ด้วยพระสิริโสภาคย์อันน่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก
**********
~ อาจริยภาค ค่าเล่าเรียนของครู ~
ในสมัยนั้นพระนางกิสาโคตมีขัตติยกัญญา
เสด็จอยู่ ณ พื้นปราสาทชั้นบนทอดพระเนตร
เห็นพระรูปสิริของพระโพธิสัตว์ ผู้ทรงกระทำประทักษิณพระนครอยู่
ทรงเกิดพระปีติและโสมนัส จึงทรงเปล่งอุทานนี้ว่า
"หญิงใดเป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้
ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้
พระกุมารนี้เป็นพระสวามีของหญิงใด หญิงนั้นดับทุกข์ได้"
พระโพธิสัตว์สดับคำเป็นคาถานั้นแล้ว
ทรงดำริว่า
"พระนางกิสาโคตมีนี้ตรัสอย่างนี้ว่า
หทัยของมารดา หทัยของบิดา หทัยของภริยา
ดูเห็นอัตภาพเห็นปานนี้อยู่ ย่อมดับทุกข์ได้
เมื่ออะไรหนอดับหทัย จึงชื่อว่า "ดับทุกข์" ได้
ทีนั้น พระโพธิสัตว์ผู้มีน้ำพระทัยคลายกำหนัดแล้วในกิเลสทั้งหลาย
ได้ทรงมีพระดำริว่า
"เมื่อไฟคือราคะดับ ขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ก็มีได้
เมื่อไฟคือโทสะดับ ขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ก็มีได้
เมื่อไฟคือโมหะดับ ขึ้นชื่อว่าความดับทุกข์ก็มีได้"
"เมื่อความเร่าร้อนทั้งหลายในกิเลสทั้งปวงมีฐานะและทิฏฐิเป็นต้น
ดับแล้ว ขึ้นชื่อว่า ความดับทุกข์ ก็มีได้"
พระนางให้เราได้ฟังคำที่ดี
ความจริงเราก็กำลังเที่ยวแสวงหานิพพานอยู่
เราควรจะทิ้งฆราวาสออกไปบวชและแสวงหานิพพานเสียวันนี้ทีเดียว
แล้วทรงปลดสร้อยไข่มุกมีค่าพันหนึ่งจากพระศอก
ส่งไปมอบให้แก่พระนางกิสาโคตมี
ด้วยทรงดำริว่า นี้จงเป็นอาจริยภาค
[ค่าเล่าเรียนของครู] สำหรับพระนางเถิด.
พระนางเกิดปีติและโสมนัสว่า
สิทธัตถราชกุมารมีจิตรักใคร่ในเรา จึงส่งบรรณาการมาให้
**********
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย