ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในรายงาน The Thai Military’s Bid to Control Democracy Is Floundering ของ The Freedom House ในปี 2019 ที่ชี้ให้เห็นว่า การก่อรัฐประหารในไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งการแสดงข้อมูลของไทยบนหน้าเว็บเริ่มต้นในปี 2017 อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ใต้การปกครองโดยนายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร ทำให้คะแนนของประเทศไทยอยู่ในอันดับต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาสำคัญที่ฉุดคะแนนเสรีภาพในประเทศไทยต่ำลง คือการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังคงใช้อำนาจอย่างไร้การตรวจสอบถ่วงดุล และมีการควบคุมจำกัดสิทธิทางการเมือง รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำคัญในการประเมินของ The Freedom House
ปัญหาสำคัญที่ The Freedom House มองเห็นในปีนี้ คือ การที่มีการจับกุมนักกิจกรรม นักวิชาการ หรือสื่อมวลชนจำนวนมาก ที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ คสช. และสถาบันกษัตริย์ ตัวอย่างสำคัญคือการดำเนินคดีกับไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) นักสิทธิมนุษยชน จากการแชร์บทความของสำนักข่าว BBC ลง Facebook ที่ถูกรัฐตีความว่ามีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์
ปีเดียวกันนี้เอง ยังมีการร้องขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วน ซึ่ง The Freedom House ระบุว่าสถาบันกษัตริย์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และ คสช. ก็ได้ตอบรับอย่างรวดเร็ว
ปัจจัยสำคัญที่ The Freedom House ระบุในปีนี้ คือการสั่งยุบพรรคฝ่ายค้านที่เกิดใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองต่างถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องทั้งทางกฎหมายและทางร่างกาย อีกทั้งการผลักดันแนวคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของประชาชนก็ถูกตอบโต้ด้วยกฎหมายมาตรา 112 เรื่อยมา
ดังนั้นเพียงแค่ข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปจึงอาจจะไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องทั้งหมดหากต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวออกจากกลุ่มประเทศ ‘ไม่เสรี’ เนื่องจากการคำนวณคะแนนของ The Freedom House จะใช้ข้อมูลจากข่าวการจับกุม การคุกคามของรัฐ หรือจำนวนคดีที่รัฐละเมิดปัจเจกทั้งในชีวิตจริงและบนอินเทอร์เน็ต
เมื่อประเทศไทยเลือกแล้วว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แต่กลับใช้เวลาหลายทศวรรษในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเสรี การจัดอันดับและประเมินสิทธิเสรีภาพในช่วงกว่าสิบปีให้หลังของ The Freedom House จึงชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยยังคงวนเวียนกับการถกเถียงในหัวข้อเดิมๆ