30 พ.ย. 2022 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เล่าที่มาที่ไปของเคสหุ้น MORE ตอนที่ 2: การชำระราคา
ตอนที่ 2 เราจะมาพูดถึงที่มาที่ไปของการชำระราคากัน ว่ามันมีความเกี่ยวโยงอะไรบ้าง และทำไมต้องเป็นเช่นนั้น
ตั้งแต่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นต้นมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ในการช่วยจัดการเรื่องการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์มาตลอด โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2518 และย้ายมาเป็นหน้าที่ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ.​ 2537 และสำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) ในปี 2547 (ตราสารอนุพันธ์) และ 2553 (หลักทรัพย์ปกติ)
ซึ่งตั้งแต่แรก ระยะเวลาในการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ ถูกกำหนดอยู่ที่ T+3 หรือ 3 วันทำการหลังจากการตกลงซื้อขายหลักทรัพย์
จนกระทั่งวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.​ 2561 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาให้เป็น T+2 ตามมาตรฐานที่ทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานั้น เพื่อลดต้นทุน และความเสี่ยงในการดำเนินงาน
มาตรฐานระยะเวลาการชำระราคาแบบนี้ มักจะถูกกำหนดให้เป็นอย่างเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถที่จะบริหารสภาพคล่องได้สะดวก เช่น หากวันนี้่ เราถือหุ้นกู้เอาไว้ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
เราก็สามารถสั่งขายหุ้นกู้ในวันนี้ และซื้อหุ้นในวันเดียวกัน แล้วค่อยนำเงินค่าขายไปชำระเงินค่าซื้อหุ้นได้ในวันที่ T+2 ได้ตรงกัน โดยไม่มี funding/liquidity gap
แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท จะมีกลไกที่แตกต่างออกไป เช่น กองทุนรวม ที่มักจะต้องให้โอนเงินค่าซื้อทันทีในวันที่ซื้อ และกว่าจะได้เงินค่าขายก็อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ T+1 จนถึง T+5 เลยทีเดียว ทำให้ต้องระมัดระวังในการบริหารสภาพคล่องไม่ให้ผิดพลาด
อีกเรื่องที่ควรเล่าให้ฟัง ก็คือ ระบบการชำระราคาทั้งหมดนี้ถูกจัดการผ่านสำนักหักบัญชี โดยบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จะเข้ามาเป็นคู่สัญญา และรับประกันการชำระราคาและส่งมอบในทุกๆ รายการซื้อขายที่เกิดขึ้น
หากสมาชิกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำนักหักบัญชีจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจ่ายชำระราคา หรือ ส่งมอบหลักทรัพย์ให้กับคู่สัญญาแทน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงของคู่สัญญา (Counterparty risk) จากการซื้อขายในตลาดลดลง
ส่วนสำนักหักบัญชีเอง ก็ต้องมีกระบวนการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับตัวบริษัท ด้วยการดำรงเงินกองทุนของตัวเองที่มากพอ มีการให้บริษัทหลักทรัพย์วางเงินประกันตามสัดส่วนของธุรกรรมที่คงค้างการชำระราคา และดำรงเงินกองทุนให้ได้ตาม Net Capital (NC) และ Net Capital Ratio (NCR) ตามเกณฑ์ของสำนักหักบัญชี
1
อีกหนึ่งกระบวนการในการลดความเสี่ยงของคู่สัญญา คือ การชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์แบบ Net Settlement ทำให้บริษัทสมาชิกมีความจำเป็นที่จะต้องหาเงิน และหลักทรัพย์มาส่งมอบลดลง
1
คราวนี้เรากลับมาที่หุ้น MORE กันว่ามันเกิดอะไรขึ้น และผู้ก่อเหตุอาศัยช่องทางนี้ในการฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ได้อย่างไร
เนื่องจากคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการสืบสวน จึงยังไม่ทราบความเป็นไปมาแน่ชัด จึงขอยกตัวอย่างว่า ผู้ก่อเหตุ "อาจจะ" สามารถกระทำความผิดได้อย่างไรในกรณีหนึ่ง (ขอเน้นย้ำว่า อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น และไม่ใช่การกล่าวหา หรือหมิ่นประมาทแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น)
เริ่มต้นจากผู้กระทำความผิด อาจจะมีความสัมพันธ์กับผู้ขาย และร่วมมือกันก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุทำการตั้งคำสั่งซื้อไว้ตอนที่ตลาดเปิด พร้อม ๆ กันการที่กลุ่มผู้ขายตั้งคำสั่งขายไว้เช่นกัน และมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการจับคู่กันของหลักทรัพย์ในช่วงที่ตลาดเปิด
1
เมื่อธุรกรรมดังกล่าวถูกจับคู่ อย่างที่เกริ่นไปในตอนที่แล้วว่า หุ้น และเงินจะถูกส่งมอบในวันที่ T+2 ซึ่งก็คือวันจันทร์ เนื่องจากวันที่เกิดธุรกรรมเป็นวันพฤหัสบดี
หากในภาวะปกติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผู้ซื้อก็ควรจะโอนเงินค่าหุ้นมาส่งมอบ ในขณะที่ผู้ขายก็ต้องมีหุ้นฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อเตรียมส่งมอบ ภายในวันจันทร์นั้น สำนักหักบัญชีก็จะหักหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งคนขาย และโอนให้กับบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งคนซื้อ และหักเงินจากบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งคนซื้อ และโอนให้กับบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งคนขาย
แต่พอผู้ซื้อมีความตั้งใจที่จะผิดนัดชำระหนี้ ไม่นำเงินมาส่งมอบตามกำหนด หากไม่มีสำนักหักบัญชีแล้ว ธุรกรรมก็จะล้มเหลว แต่พอมีสำนักหักบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้อง และวัตถุประสงค์หลักของสำนักหักบัญชีคือ ไม่ให้เกิดปัญหาในการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ ธุรกรรมนี้จึงต้องดำเนินการไปจนจบ เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมของการชำระราคา
ดังนั้น เงินของบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งผู้ซื้อ ซึ่งมีมากกว่า 10 บริษัท จึงถูกโอนไปหาบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งผู้ขาย โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ฝั่งผู้ซื้อไม่ได้รับเงินตามที่สัญญาไว้ เนื่องจากผู้ซื้อผิดนัดชำระหนี้
คราวนี้ เงินไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ฝั่งผู้ขายแล้ว หากไม่กระทำการใดๆ เลยเงินก็จะตกไปอยู่กลับผู้ขาย หากผู้ขายเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ผู้ขายก็ควรได้รับเงินไป แต่ถ้าผู้ขายร่วมกระบวนการกับผู้ซื้อแล้ว เราก็ไม่ควรปล่อยให้ธุรกรรมแบบนี้เกิดขึ้นได้ เพราะนับเป็นการฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ครั้งใหญ่เลยทีเดียว
ไว้เรามาติดตามตอนต่อไปกันครับ ว่าแล้วเราจะทำอะไรกันได้บ้าง เพื่อหยุดการปล้นกลางแดดในครั้งนี้
ติดตามตอนอื่นๆ ได้ที่ซีรีย์ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา