3 ธ.ค. 2022 เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เล่าที่มาที่ไปของเคสหุ้น MORE ตอนที่ 4: ระบบซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต

เล่าที่มาที่ไปของเคสหุ้น MORE ตอนที่ 4: ระบบซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต
ในอดีต การซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์จะต้องทำผ่านเจ้าหน้าที่มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งจะทำหน้าที่ป้อนคำสั่งซื้อขาย เพื่อส่งคำสั่งดังกล่าวเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์ฯ
แต่ตั้งแต่ปี 2543 ที่บริษัท settrade.com จำกัดได้เปิดให้ดำเนินการซื้อขายหุ้นผ่านคอมพิวเตอร์ และต่อมาให้บริการผ่านมือถือ และแทบเบล็ตทำให้การซื้อขายเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น และต่อมาก็มีผู้ให้บริการอื่นให้บริการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งปัจจุบัน นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ก็ใช้บริการผ่านทางช่องทางนี้แล้ว เพราะสะดวกสบาย และสามารถได้ด้วยตัวเอง
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า แล้วเรื่องการเทรดผ่านอินเตอร์เน็ตมันมาเกี่ยวกับเคสนี้ได้อย่างไร นั่นก็เป็นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นจากการคีย์คำสั่งซื้อขายจำนวนมากผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ หรือผ่านตาพนักงานมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งหากรายการเหล่านี้ได้ผ่านตาทุกรายการ
ก็น่าจะสังเกตเห็นความผิดปกติเหล่านี้เป็นแน่ เพราะหุ้นที่ถูกสั่งซื้อ หากไปเทียบกับยอดเงินสด และหลักทรัพย์ที่นำมาฝากไว้ มันจะดูสูงมาก ๆ นี่ยังไม่รวมไปถึงยอดสั่งซื้อสั่งขายที่สูงเกิดกว่าปริมาณการซื้อขายในวันปกติ
นั่นเป็นเพราะ ปกติแล้ว การซื้อขายในปริมาณที่มากขนาดนี้ แทนที่จะไปลงรายการผ่านช่องทางปกติ มักจะไปลงธุรกรรมผ่านช่องทาง block trade แทน เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาหุ้น และจะได้จับคู่ธุรกรรมกับผู้ซื้อผู้ขายได้อย่างถูกต้อง
แต่รอบนี้ กลับมาป้อนคำสั่งซื้อขายค้างไว้ตั้งแต่คืนก่อนหน้า โดยตั้งราคาเป็นแบบ ATO ผ่านอินเตอร์เน็ต จนทำให้คำสั่งดังกล่าวถูกจับคู่ตั้งแต่ตอนเปิดตลาด ซึ่งกว่าจะพบความผิดปกติ มันก็สายเกินไปเสียแล้ว
จริงอยู่ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวมานานแล้ว และได้ระบุให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เชื่อมต่อกับตลาด จำเป็นจะต้องมีระบบ Pre-Trade Risk Management (PTRM) ในการตรวจสอบและคัดกรองคำสั่งซื้อขายทุกรายการในทุกช่องทาง โดยจะต้องสามารถตรวจสอบ
- วงเงินซื้อขาย (Credit / Exposure Limit)
- มูลค่าเสนอซื้อขายสูงสุดต่อ 1 คำสั่ง (Maximum Value Per Order)
- ปริมาณหุ้นที่เสนอซื้อขายสูงสุดต่อ 1 คำสั่ง (Maximum Volume Per Order)
- ราคาเสนอซื้อขาย (Order Price Check)
- มีระบบและ/หรือฟังก์ชัน Kill Switch เพื่อหยุดการส่งคำสั่งซื้อขายใหม่ และยกเลิกคำสั่งซื้อขายที่ส่งเข้ามาแล้วได้ทันที ในกรณีจำเป็น
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบ PTRM เป็นระบบที่แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการกันเอง และอาจจะไม่มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนอัตโนมัติเพียงพอ จึงไม่สามารถตรวจจับ และป้องกันปัญหาในลักษณะนี้ได้
Cr: ประชาชาติธุรกิจ
จากที่ผ่านมา 4 ตอนแล้ว ผู้อ่านน่าจะเห็นได้ว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้วเป็นอย่างดี และอาศัยช่องโหว่เหล่านี้ในการกระทำเหตุดังกล่าว
อ่านอีก 4 ตอนก่อนหน้านี้ได้ที่ซีรีย์ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา