5 ธ.ค. 2022 เวลา 06:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เล่าที่มาที่ไปของเคสหุ้น MORE ตอนที่ 5: กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย
1
Disclaimer: บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรหนึ่งองค์กรใด ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำ หรือลอกเลียนก่อนได้รับอนุญาต
ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเกิดขึ้นได้ ทำไมผู้ก่อเหตุไม่มีความเกรงกลัวใด ๆ เลยหรือ นี่เป็นสาเหตุที่หลาย ๆ คนถามกันมากมาย และสาเหตุนั้นก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายนั่นเอง ทั้งจากตัวบทกฎหมาย ผู้บังคับใช้ และการบังคับใช้กฎหมายนั่นเอง
ก่อนอื่น เราต้องยอมรับกันว่า พ.ร.บ. หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.​ 2535 เป็นพระราชบัญญัติที่ถูกร่างขึ้นมาถึง 30 ปีแล้ว (ถึงแม้จะมีการแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง โดยล่าสุด มีการปรับปรุงแก้ไข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2562 และฉบับที่ 7 กำลังอยู่ในระหว่างการร่าง และการพิจารณา) จึงมีปัญหาในการบังคับใช้พอสมควร
ตัวอย่างที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นคดีหุ้น EARTH ที่เหตุเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ที่มีทั้งการปั่นหุ้น การทุจริตในการบริหารงาน ที่ผิดทั้ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และมีมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ทั้งกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ และผู้ถือหุ้นอีกกว่าหมื่นราย แถมยังมีผู้กระทำความผิดมากถึง 14 ราย
แต่ผู้ทำความผิดเพิ่งถูก ก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษดำเนินคดีอาญาต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเท่านั้นเอง และน่าจะใช้เวลาอีกนับปีกว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำสำนวนส่งฟ้อง และอีกหลายปีกว่าคดีจะถึงที่สุด
หากในทุกคดีเป็นแบบนี้ ผู้ก่อเหตุคงไม่ต้องกลัวอะไร มีเวลานานนับเป็นสิบปีกว่าที่จะทำอะไรกับคนก่อเหตุได้ หากมีความเสี่ยงจริง ก็เคลื่อนย้ายเงินหนี และหนีออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ นี่ยังไม่รวมผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ที่ก่อเหตุแล้วไม่มีใครจับได้ ไม่ว่าจะเพราะหาไม่เจอ หรือมีอำนาจ หรือเงินล้นฟ้ามากจนสามารถปิดหูปิดตาเจ้าหน้าที่ได้
หากถามว่า แล้วปัญหาในเรื่องนี้มันมีอะไรบ้าง คงมีปัญหาหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1. การปั่นหุ้นมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ จนขอบเขตของการปั่นหุ้นที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่กว้างพอที่จะเอาความผิดได้ในทุก ๆ เคส ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มบุคคลที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาพบได้ หรือการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการทำงาน (บางครั้งง่ายขนาดปั่นหุ้นกันผ่าน line group) ทำให้ตรวจพบได้ยากขึ้น
2. การตรวจสอบการปั่นหุ้นทำให้ยาก เนื่องจากไม่เห็นเส้นทางทางการเงินจนกว่าจะสามารถหาหลักฐานได้ชัดเจนพอ แต่การหาหลักฐานให้ชัดเจน กลับต้องการข้อมูลเส้นทางทางการเงินด้วยเช่นกัน จึงดูเหมือนเป็นไก่กับไข่ที่ยากต่อการทำงาน
3. ก.ล.ต. ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนก่อนที่จะกล่าวโทษใคร เรื่องนี้ฟังเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนดี
แต่ในบางครั้งก็ทำให้การกล่าวโทษเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้ตั้งใจทำผิดกฎหมาย จึงกระทำการบางอย่างผิดพลาดทางเทคนิค เช่น คนที่ถือหุ้นมากถูก "สงสัย" ตามนิยามในกฎหมายไว้ก่อนให้เป็นผู้ที่มีข้อมูลภายใน หากซื้อขายในบางช่วงเวลา ก็อาจจะถูกกล่าวโทษว่าผิดไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้ข้อมูลภายในก็ได้
ส่วนคนร้ายที่ตั้งใจทำความผิด จะสามารถที่จะปิดบังการกระทำได้ จนทำให้ไม่สามารถที่จะเอาผิดได้โดยง่าย
4. การเอาผิดนั้น มีขั้นตอนที่ยาวนานมาก ไม่ว่าจะผ่านหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้งตลาดหลักทรัพย์​ ก.ล.ต.​ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อนที่จะเอาผิดทางอาญาได้ จึงมีโอกาสไม่ฟ้องสูงมาก
ถึงแม้ในภายหลังจะเปิดช่องทางให้ ก.ล.ต. สามารถเอาผิดทางแพ่งได้ โดยไม่ต้องสั่งฟ้อง แต่ค่าเสียหายก็น้อยมาก ๆ จนเรียกได้ว่าคุ้มความเสี่ยง
พอกลับมาดูในเคสหุ้น MORE นี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ทราบว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไร ทำไมผู้ก่อเหตุถึงกล้าที่จะกระทำการดังกล่าว ก็พอที่จะเดาได้ว่า (ไม่ใช่การหมิ่นประมาท เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น)
- ผู้ก่อเหตุอาจจะคิดว่า หากก่อเหตุ อย่างมากก็เพียงไม่ชำระหนี้ค่าหุ้น และก็จะถูกฟ้อง ทรัพย์สินทั้งหลายก็อาจจะถูกโยกย้ายไปอยู่ในชื่อคนอื่นเรียบร้อย อย่างมากก็ถูกฟ้องล้มละลาย เพียงไม่กี่ปี ก็อาจจะกลับมาเป็นคนปกติได้แล้ว
- ผู้ก่อเหตุอาจจะร่วมมือกับบุคคลอื่น และอาจจะได้รับผลตอบแทนจากการกระทำดังกล่าวก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม หากผู้ก่อเหตุกระทำการกับบริษัทหลักทรัพย์เพียงหนึ่งแห่ง และทำความเสียหายไม่มากนัก เรื่องราวคงจะไม่ได้เป็นอย่างนี้ ทุก ๆ คนคงจะกล่าวโทษว่าเป็นความหละหลวมของบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวในการบริหารงาน และบริษัทหลักทรัพย์นั้นคงจะต้องกัดฟันกลืนเลือดความเสียหายนั้นไปตามลำพัง และเรื่องราวคงจะกลืนหายไปในสายลม
แต่คราวนี้ ผู้ก่อเหตุกลับทำการใหญ่ สร้างความเสียหายรวมหลายพันล้านบาทให้กับบริษัทหลักทรัพย์มากกว่า 10 แห่ง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีตามปกติอีกต่อไป นี่เป็นคดีที่สร้างความเสียหายในเชิงโครงสร้าง และนับเป็นคดีการฉ้อโกงประชาชน จนอยู่ในข่ายที่ ปปง. สามารถดำเนินการอายัดทรัพย์ได้ (ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์กรรโชก รีดเอาทรัพย์ชิงทรัพย์ปล้นทรัพย์ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ตามมาตรา 3(18) )
ถึงแม้ ก.ล.ต. จะไม่ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินตามมาตรา 267 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการสั่งอายัดรายการจ่ายเงิน อายัดบัญชีเงินสดของผู้ที่ถูกสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องบางรายไว้ก่อน ในระหว่างการตรวจสอบ และดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม ปปง. ได้สั่งอายัดทรัพย์สินต่าง ๆ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน คือ นับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.2565 ถึงวันที่ 18 ก.พ.2566 หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ยังไม่สามารถที่จะสรุปสำนวนคดีที่รัดกุมได้ ทรัพย์สินทั้งหลายก็อาจจะกลับไปอยู่ในมือของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้
ในเวลาที่เหลืออยู่ไม่นานนี้ การสรุปสำนวนคดีจึงเป็นจุดเป็นจุดตายของบริษัทหลักทรัพย์ที่เสียหาย หากไม่สามารถฟ้องร้องได้ ก็อาจจะต้องรับความเสียหายจำนวนมาก และอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าที่จะติดตามฟ้องร้องค่าเสียหายได้
อ้างอิง :
ติดตามตอนอื่นๆ ได้ที่ซีรีย์ : https://www.blockdit.com/series/63897c07dc5c46d666b99def

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา