9 ธ.ค. 2022 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

6 ข้อคิดชีวิตกับการเงิน

บางคนอาจมองว่า “เงินไม่สำคัญ”
ชีวิตเราเกี่ยวพันกับการแลกเปลี่ยนเพื่อความสะดวกสบายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยมนุษย์ยุคหิน ที่ใช้ขวานหินและกำไลเปลือกหอย เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันและกัน
ในยุคปัจจุบันก็ไม่ต่างจากยุคโบราณ แต่เราใช้เงิน แทนขวานหินและกำไลเปลือกหอย ในการแลกเปลี่ยนความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน
เงินมีบทบาทในชีวิตเราทุกวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน หรือแม้กระทั่ง ในขณะที่เรานอนหลับ เราใช้เงินซื้อของเข้าบ้านตั้งแต่ชิ้นเล็กจนถึงชิ้นใหญ่ - ตั้งแต่แปรงสีฟันจนถึงเครื่องซักผ้า สำหรับคนมีรายได้มากพอที่มีเงินลงทุน เงินก็จะทำงานให้ขณะที่นอนหลับ
เห็นได้ว่า การเงินกับชีวิตมีความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เงินเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการดำเนินชีวิต" ที่เราใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เรามีทางเลือกและมีอิสระมากพอสำหรับใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการได้
1
6 ข้อคิด ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับการเงิน
1. เงินช่วยลดความเครียดในชีวิตประจำวันได้
เราไม่สามารถเลี่ยงปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เพราะเรายังคงเกี่ยวพันกับสังคมและคนรอบข้างในทุกๆวัน ไม่ว่าด้วยเรื่องส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน
ถ้าเราไม่สร้างปัญหาให้กับตัวเอง คนรอบข้างก็ยังคงนำปัญหาต่างๆมาให้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
ถ้าเรามีอิสรภาพทางการเงินที่ดีพอ โดยการมีวินัยและรู้จักจัดการบริหารเงินเป็น จะช่วยลดปัญหาที่สร้างความรำคาญและความเครียดให้กับตัวเองได้ และจะช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งสำคัญอื่นๆในชีวิตได้มากขึ้น
ไม่มีใครมาช่วยรับผิดชอบเรื่องเงินให้เราได้ทุกครั้งไป ไม่ช้าก็เร็ว เราก็ต้องจัดการเรื่องเงินด้วยตัวเอง ดังนั้น ฝึกบริหารจัดการเรื่องเงินให้เป็นนิสัย ตั้งแต่วันนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
2. อิสรภาพทางการเงินเป็นส่วนหนึ่งของอิสรภาพทางชีวิต
เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับอิสรภาพทางชีวิตที่ต่างกัน รวมถึงอิสรภาพทางการเงิน
คนที่เกิดมารวย สามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนที่เกิดมายากจน ง่ายๆว่า ถ้าคนรวยเกิดอุบัติเหตุ ก็มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลโดยไม่เดือดร้อน หรือ ถ้าคนรวยทำอะไรขาดทุน ก็สามารถหยุดพักและเริ่มใหม่ได้โดยไม่เดือดร้อน ต่างจากคนยากจนหรือคนมีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงนี้ได้
บางคนมักคิดว่าคนที่เกิดมารวย จะมี”ความสุข”แถมติดมาโดยอัตมัติ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะความร่ำรวยไม่ใช่เครื่องการันตีหรือเครื่องชี้บ่ง “ความสุข”ในชีวิต ..สิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป ..
"การมีเงินมากหรือหามาได้มาก ไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักจัดเก็บและบริหารการเงิน" เพราะถ้ามีเงินมาก แต่ไม่มีวินัยเงิน ชีวิตก็จะย่ำแย่ในอนาคต ในทางกลับกัน คนมีเงินน้อย แต่ถ้ามีวินัยเรื่องเงิน ก็จะร่ำรวยในอนาคตได้
3. รายได้เสริมสำคัญ โดยเฉพาะกับคนที่มีรายได้ไม่มากพอกับรายจ่าย
การมีรายได้เสริม นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้มีเพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายประจำวัน รายจ่ายประจำเดือน หรือช่วยลดและปลดหนี้ได้บ้างแล้ว ยังช่วยให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นอาชีพที่เราต้องการได้ในอนาคต
ดังนั้น การมีรายได้เสริมจึงมีความสำคัญโดยเฉพาะกับคนที่มีรายได้ประจำไม่มากพอกับรายจ่าย
แม้ว่า การมีรายได้เสริม ไม่ใช่”คำตอบหรือสามารถแก้ทุกปัญหา”ที่เรามีได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อย ก็”ช่วยลดปัญหา”ในด้านการเงินให้เราได้
ฝึกสร้าง ‘ความมั่นคงทางการเงิน’ จากอิสรภาพชีวิตที่เรามี ตามจังหวะที่เราทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่า อย่างน้อยเรามีรายได้สม่ำเสมอและเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
4. การออม คือ การให้เงินได้พักผ่อน
การออมเงิน หมายถึง การควบคุมจัดเก็บและจัดการให้เงินอยู่นิ่งในที่ปลอดภัย โดยไม่มีกิจกรรมใดๆเกิดขึ้น ที่ส่งผลบวกหรือลบต่อเงินที่เราออมโดยตรง - ยกเว้น อัตราค่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทุกๆปี จะส่งผลให้มูลค่าเงินออมลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
การออมเงินเหมาะสำหรับเป้าหมายระยะสั้น เช่น ออมเพื่อเงินฉุกเฉิน ออมเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ออมเงินเพื่อเรียนต่อหรือเข้าคอร์สระยะสั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ การออมเงินสำคัญและเหมาะกับคนที่มีรายได้น้อย ที่ต้องรู้จักเก็บออมเพื่อปล่อยให้เงินได้พักผ่อนชั่วคราว อย่างน้อยออมไว้เพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะคนรายได้น้อยไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงกับปัญหา หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เช่น สถานการณ์โควิด คนรวย(อาจ)ไม่เดือดร้อนเท่ากับคนที่มีรายได้น้อย หลายคนต้องใช้เงินที่เก็บออมออกมาเพื่อรักษาหรือเยียวยาตัวเองในช่วงวิกฤติ เห็นได้ชัดว่า คนที่มีรายได้น้อยและไม่มีเงินออม คือ คนที่โดนผลกระทบที่แรงที่สุด
ดังนั้น ต้องรู้จักใช้เงินอย่างประหยัด และต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอว่า “อย่าใช้ชีวิตตามสังคม” และ "จงสบายใจและไม่อายกับสิ่งที่เราเป็น ต่อสิ่งที่เรามี"
ในขณะเดียวกัน เป็นการเริ่มต้นที่ดีเพื่อการลงทุน โดยทยอยเก็บออมตามความสามารถทางการเงินที่หามาได้ เพื่อไว้ลงทุนในทรัพย์สินที่จะสร้าง Passive Income ต่อไปในอนาคต
5. การลงทุน คือ การให้เงินได้ทำงาน
เราต้องรู้จักใช้เงินให้เป็นเครื่องมือในการสร้างอิสรภาพทางเวลา โดยให้เงินทำงานแทนเรา เพื่อให้มีเวลาได้ทำในสิ่งสำคัญอื่นๆ ที่เราต้องการในชีวิตได้
1
การให้เงินทำงาน คือ การมีทรัพย์สินที่สามารถสร้างเป็น Passive Income เหมือนเราปลูกพืชที่ให้ผล แล้วเราเก็บเกี่ยวดอกผลมาใช้กินได้เมื่อเติบโต เช่น การลงทุนในกองทุน พันธบัตร หุ้น หรือเป็นเจ้าของห้องปล่อยให้เช่า เป็นต้น
ถ้ามีรายได้มาก ก็สามารถออมเงินและลงทุนได้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า คนมีรายได้น้อย จะไม่สามารถเก็บออมหรือลงทุนได้เลย ถ้ามีวินัยทางการเงินที่ดี เราก็สามารถสร้างความมั่งคั่งได้เช่นเดียวกัน
สำหรับคนที่ยังต้องอาศัยรายได้ประจำเป็นหลัก และไม่มีทรัพย์สินเพื่อสร้างเป็น Passive Income อาจต้องเก็บออมเพื่อเป็นเจ้าของในทรัพย์สินก่อน ในขณะเดียวกัน ต้องหมั่นหาความรู้ในเรื่องที่เราสนใจเป็นพิเศษ ไปพร้อมๆกับความรู้ทางการเงิน เพื่อเพิ่มอิสรภาพทางชีวิตให้มีมากขึ้น
ให้เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นและตัวเราคือคนที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเรายึดมั่นในการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมการใช้เงิน การเปลี่ยนแปลงนั้นจะค่อยๆสะสมและทบต้น กลายเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน
6. เป้าหมายของความมั่งมี คือ "การเป็นเจ้าของเวลา"
1
จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม “เวลา”เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด เป็นสินทรัพย์เพียงชนิดเดียวในชีวิตที่เราไม่สามารถหาซื้อได้และไม่สามารถหมุนเวียนได้
“เงิน” ที่เป็นสินทรัพย์ที่หามาได้ เมื่อเราใช้หมด ยังหาใหม่ได้ โดยเก็บออมและลงทุน ต่างกับ “เวลา” ที่เราทุกคนมี 24 ชั่วโมงต่อวันเท่ากัน เมื่อหมดแล้วหมดเลย เราไม่สามารถเก็บออมและหาใหม่ได้
เรามักให้ความสำคัญกับ"ความมั่งมีทางการเงิน” โดยสะสมเงินจากการทำงาน จนลืมความสำคัญของ”ความมั่งมีทางเวลา”เพื่อใช้ชีวิต ถ้าเรามัวทำงานสะสมเงิน เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นความสุขให้กับชีวิตในภายหลัง เราจะลงเอยด้วยการมั่งมีเงินทอง แต่ขัดสนเวลาแทน
ดังนั้น อย่ามัวทำงานหาเงิน (Make a Living) จนลืมใช้ชีวิต (Make a Life)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา