8 ธ.ค. 2022 เวลา 13:55 • ไลฟ์สไตล์
รอบรั้ว น้ำเงินขาว
เป็นครั้งที่สอง ของทีม Blue Bangkok ที่ได้เข้ามาสำรวจภายในรั้ว น้ำเงินขาว
โรงเรียนเซนต์คาเบรียล แห่งนี้
ความทรงจำที่คุ้นเคยกับโรงเรียนแห่งนี้ คือ ร้านของเล่น เพราะเราเคยเรียนประถมละแวกนี้ ตรงข้ามโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เพราะร้านของเล่นรอบโรงเรียนที่นี่แปลกใหม่ในยุคนั้น ขนมก็น่ากิน ด้วยความเป็นเด็กตอนนั้น
วันนี้ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัย ต้องแลกบัตรโดนสอบถามมากมาย เพียงเพราะจะเข้ามาถ่ายภาพอาคารคู่กับ โมเดลตึกจิ๋ว ที่ทางสมาคมศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล มีความกรุณาติดต่อมาให้เรา ทีม Blue Bangkok ออกแบบ ซึ่งต้องชื่นชมระบบการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากโรงเรียนมีหลายระดับชั้น ตั้งแต่เด็กเล็ก จนกระทั่งเด็กโต(พวกนี้ให้ข้ามถนนด้วยสะพานลอยหน้าโรงเรียน ไปเรียนอีกฟากที่เป็นตึกของสมาคมฯมีสระว่ายน้ำหรืออาคารที่น่าจะเป็นอาคารเรียนได้เอง)
ลืมเล่านอกเรื่อง ก่อนที่เราจะเข้ามาถ่ายภาพในโรงเรียน และทุกครั้งที่มาที่นี่ เราต้องหาร้านอาหารละแวกนี้ เพราะเที่ยงวันท้องร้องตลอด ซึ่งรอบรั้วย่านนี้มีร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ให้เลือกสองร้าน ตั้งคนละฝั่งของถนน เราเลือกฝั่งโรงเรียนตลอดเลย ยังไม่เคยได้ชิมร้านฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเสียที
ชามแรก เราเลือกเส้นเล็กหมูน้ำตก ชามละ 25 บาท หน้าตาไม่ค่อยน่าสนใจ แต่พอได้ซดน้ำที่คิดว่าเค็มเล็กน้อย เผ็ดปานกลาง ผสมเกี๊ยวหรือกากหมูที่โรยมา เป็นสัมผัสที่น่าสนใจมาก เส้นก็น้อยตามสไตล์ก๋วยเตี๋ยวเรือ แอบคิดถึงเจ้าดังที่อนุสาวรีย์มาก ๆ จนสุดท้ายรู้ตัวอีกทีว่าหมด มองไปยังโต๊ะตรงข้าม พี่ๆน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไม่โรงเรียน ก็มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่พักเที่ยงเหมือนกันกำลังจกส้มตำสกล ที่เราสบตาแล้วยิ้มแห้งๆเพราะข้าวเหนียวในห่อที่สั่งมาน้อยเกิน แม่ค้าก็ใจดี กลับไปเปลี่ยนแล้วตะโกนกันว่า มันผิดพลาด ๆ
ด้วยความลังเลระหว่างส้มตำหรือต่อชาม ในที่สุด เส้นเล็กต้มยำใส่ทุกอย่าง ก็ตามมา มีหมู ลูกชิ้น ตับ ไส้อ่อน น้ำออกหวานแต่มันถั่ว สำคัญคือ กากหมูที่ชิ้นเล็กๆกรอบ ๆ เคี้ยวเพลิน
กินเสร็จเราเดินกลับไปโรงเรียน มาหยุดที่ป้ายบอกสถานที่ละแวกนี้ ย่านเดิมในอดีตชาวญวนสามเสนหรือคนแถบนี้หลายเชื้อหลากชาติ เป็นชาวคริสต์ มีโบสถ์ โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง กระจายความเจริญในยุคนั้น ซึ่งจรดเลียบฝั่งเจ้าพระยา หากมองมาจากสะพานกรุงธนบุรี หรือ สะพานซังฮี้ คุณจะเห็นยอดโบสถ์เซนต์ฟรังซิสเซเวียร์
ร้านค้าละแวกโรงเรียน ในยุคเก่าหรือปัจจุบันยังมีให้เห็น จะมีป้ายร้าน การตกแต่งหรือสินค้าจิปาถะสำหรับนักเรียนให้ชม
แอบยืนถ่ายรูปนาน จนคุณยายเจ้าของมองแรง จึงส่งยิ้มไปให้แล้วถอยกรูด
แอบเจอตุ๊กตาสวมชุดนักเรียน สวนกุหลาบ
สุภาพบุรุษเซนต์คาเบรียล
ร้านนี้ทำให้คิดถึงร้านรวงรอบโรงเรียนหลายที่ ไม่ว่าจะต่างจังหวัดหรือย่านเก่ากลางกรุง ของใช้สารพัด สินค้าที่นักเรียนต้องการสารพันร้อยแปด มักจะหาได้ ไม่รู้ไปซ่อนซุกในซอกไหน แต่เจ้าของจะหาให้เราจนเจอ โด่งดังสุดแถบสถาปัตย์จุฬาฯ ก็ จีฉ่อย เป็นตำนานทุกวันนี้ เรายังเคยไปดูร้านอาม่าเขารกมากตอนยังไม่ทุบเป็นสามย่านมิตรทาวน์ตอนนี้
ร้านนี้ให้เช่า เราชอบ ถึงขั้นอาจเอาไปรีโนเวทบ้านเตรียมทำสตูดิโอของ Blue Bangkok
เริ่มตั้งแต่ทางเข้า ช่วงนี้จะเป็นเทศกาลคริสมาต์ ชอบไอเดียที่ว่า ถ้ายุคนี้ขยะพลาสติกกลายเป็นรางหญ้า พระคริสต์ท่านจะรู้สึกอย่างไร ทำไมมนุษย์ช่างบาปหนาขนาดนี้
ถ้าจะเหนือล้ำกว่านั้นคือการตัดบางส่วนมาประกอบด้วยเทคนิดตอกตาไก่ หรือประสานด้วยความร้อนอื่นๆ เป็นรูปทรงตามจินตนาการ แต่แค่นี้ก็น่าจะเหงื่อตกกันแล้ว นับว่าน่าชื่นชมทั้งความคิดและความพยายาม
เรามุ่งตรงมายังตึกแดง (อาคารมาร์ติน เดอ ตูร์) ประวัติเล่าไว้แล้วที่นี่
ในภาพนี้ด้านข้างจะพบรูปปั้นคุณพ่อมาร์ติน เดอ ตูร์ ทางขวาของภาพ ส่วนด้านบนยอดจะพบซุ้มพระแม่มารีย์กับกางเขนด้านบน
ภาพนี้จากนอกรั้วฝั่งตรงข้ามโรงเรียน
เข้ามาในทางเข้าริมสุดทางขวามือเมื่อหันหน้าเข้าหาตึกแดง จะพบห้องประชาสัมพันธ์ ที่เราต้องมาติดต่อขออนุญาต ได้พบ มาสเตอร์ ประพนธ์ จินตไพจิตร ท่านให้ความกรุณาเล่ารายละเอียดบางเรื่องเท่าที่เวลาอันแสนสั้นจะอำนวย
ด้วยความที่เราแอบทำการบ้านมาบ้าง จึงได้พอประติดประต่อเรื่องราวของคณะภรดาเซนต์คาเบรียลจากฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเผยแผ่ศาสนา(ซึ่งเหมือนตั้งใจมาสอนหนังสือตามคำเชิญของคุณพ่อกอลมเบต์มากกว่า)
เราขออนุญาตชมอาคารตึกแดง ซึ่งทำได้แค่ชิ้นล่างและชั้นสองเท่านั้น ซึ่งสะดุดกับทางขึ้นบันไดตรงนี้ มาสเตอร์นิพนธ์ ท่านเลยเริ่มเล่า ถึงที่มารูปสลักไม้ อายุเกือบ 90 ปีที่บาทหลวงท่านหนึ่งนำมาจากโปรตุเกส ตรงนี้เราสงสัยเพราะยุคนั้นคงมีภรดาหลากเชื้อหลายชาติมาสอน ที่มาชื่อแม่พระฟาติมา ก็มาจากสเปน นอกเหนือแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด
รูปแม่พระสลักนี้มีการบูรณะไปเมื่อไม่กี่ปี ส่วนซุ้มนี่ก็เก่าแก่เกือบร้อยปีกว่าจากโบสถ์เซนฟรังซิเซเวียร์ (มาสเตอร์แอบเล่าว่าคุณพ่อบาทหลวงท่านขายเชิงทำบุญให้กับภรดาที่พอรู้จักกัน แล้วนำมาประดิษฐานพระแม่ จนเมื่อไม่นานมานี้ทางโบสถ์ท่านอยากได้กลับคืนเสียเองด้วยความเสียดายในคุณค่างานฝีมือ)
ก่อนเราจะขึ้นมาชมชั้นสองของอาคารตึกแดง ด้วยความสงสัยในตราสัญลักษณ์
คำตรงกลางที่เขียนภาษาอังกฤษ คือ ชื่อคณะภรดาเซนต์คาเบรียล ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ส่วนคำสามคำนั้นเป็นภาษาละติน(มักใช้กับศาสนา)
labor รากจากคำว่า กรรมกาย การใช้แรงกายทำกิจ เพื่อยังประโยชน์
omnia หมายถึงทุกสิ่งอย่าง มาสเตอร์ขยายความถึง ความมุ่งมั่นและจิตพิสุทธื์
vincit ชัยชนะ คำนี้เราเคยคุ้น เพราะ จูเรียสซีซารืชอบพูด ข้ามาข้าเห็นข้าพิชิต
เราถามต่อถึงตราอาร์ม หรือ โล่ห์ ตรงกลาง เพราะยุคกลางสืบเนื่องมาชอบใส่ความหมายไว้ในภาพ สัญลักษณ์ มาสเตอร์ท่านก็กรุณาให้ความกระจ่างอีกครั้งว่า
AM มาจาก Ave Maria (ภาษาละติน) คือ “วันทา มารีย์” พระนามพระมารดามารีย์ผู้บริสุทธ์ของพระเยซู ที่แทนด้วยภาพช่อดอกซ่อนกลิ่นขาว โดยอีกนัยหนึ่ง A.M. ย่อมาจาก Alma Mater (ภาษาละติน) หรือ ภาษาอังกฤษว่า Mother College หมายความว่าสถาบันเรา เปรียบประดุจบ้านเกิดของเรา และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของเรา จะรักสถาบัน เปรียบประดุจผู้บังเกิดเกล้าของเรา
เรือใบ เปรียบได้กับ “เรือแห่งชีวิต” ที่ต้องต่อสู้คลื่นลมแสงแดดไปจนถึงฝั่ง เป็นคติให้ ได้คิดเสมอว่า “ชีวิต คือการต่อสู้” ความพยายามในการใช้ชีวิต
ดวงดาวอยู่ในท้องฟ้าเหนือเรือที่กำลังสู้คลื่นลม หมายถึง แสงแห่งความหวัง ได้แก่ แสงธรรมนำศรัทธา และแสงแห่งปัญญาที่ได้รับจากโรงเรียน เพื่อส่องนำทางคนในเรือ สู่จุดหมาย มีความรู้ก็ต้องมีธรรม
ส่วนสุดท้าย D S (ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส Dieu Seul) ซึ่งมีความหมายว่าจะทำทุกสิ่งเพื่อเป็นสิริมงคล แด่พระเป็นเจ้าโดยอีกนัยหนึ่ง D หรือ Divinity หมายถึง ศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จิตใจ เครื่องหมายกางเขนเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเสียสละแห่งความรัก S หรือ Science หมายถึง วิทยาการความรู้ที่ทำให้เรามีเหตุผล มาสู่คำว่า God Alone อันเป็นคำที่ย้ำเตือน ทุกการกระทำทำเพื่อพระองค์ผู้สูงสุด
จริงๆเราจำได้บางส่วน แอบมาค้นต่อ ตามลิงค์นี้ไปเลย https://www.acs.ac.th/about/AboutACS/Logo.html
เคยมีหนังสือพวกภาพ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ เราอ่านแล้วงงหนักกว่าเดิมเสียอีก เพราะต้องได้เห็นภาพ สัญญะนั้นจริงๆ หรืออยู่ในบริบทแวดล้อมเกี่ยวข้องถึงจะเข้าใจ
ก่อนขึ้นชั้นสอง หันไปทางซ้ายระหว่างฟังมาสเตอร์นิพนธ์ ท่านบรรยายกึ่งเล่าด้วยเสียงเนิบทุ้ม ขัดกับสมองเราที่แล่นไวร้อนเร่าเพราะกลัวแดดด้านนอกเผามาก จะพบทางเดินภายในอาคาร ที่กว้างจนตกใจ อาคารดูไม่ใหญ่เพราะเราโดนหลอกตา อาคารอื่นๆเบียดบังใหญ่โตกว่า ตึกแดง จึงดูเหมือนเล็ก ซึ่งไม่จริง ถ้าเราได้มาสัมผัส
แหงนหน้า คานไม้ที่เป็นพื้นทางเดินด้านบนพาดผ่านผนังก่ออิฐฉาบปูนที่ไว้รับน้ำหนัก ยังคงรูปแบบเดิม สมกับคำบอกเล่าของศิษย์เก่าที่เราได้ค้นคว้ามาว่ายุคนั้น ตึกแดง ดูใหญ่โตและแงนว่าสร้างและตั้งอยู่ได้อย่างไรกัน
ขึ้นชั้นสองเสียที เราล่ำลาและขอบพระคุณมาสเตอร์นิพนธ์ที่ท่านสละเวลามาเล่าเกร็ดเพียงเล็กน้อย ก่อนก้าวท้าวขึ้นด้านบน บันไดไม้เงาวาวแวว รักษาดูแลกันอย่างดีเสียจริงเชียว ผิดกับตึกยาวสวนกุหลาบ ด้านเพราะนักเรียนขึ้นลงกันแถมผนังแอบร้าวอีกต่างหากบางจุด ตอนนี้น่าจะไม่ใช้เรียนกันแล้ว หรือเรียนแค่ม.1 ส่วนตึกแดงไม่ได้ใช้เรียนกันแล้ว เป็นส่วนธุรการและห้องอธิการ
โถงทางเดินชั้นสอง ยิ่งทำให้เรารู้สึกประหลาดและตื่นเต้น เพราะ ตึกแดง ออกแบบได้อย่างน่าสนใจ มีห้องเป็นกึ่งกลาง ส่วนโถงด้านหน้าและหลังของอาคารวางเป็นทางเดินแนวยาวตลอดตัวตึก พื้นที่กว้างจนตกใจ มีการประดับประดาภาพงานฝีมือตลอดทางเดินบางส่วน
ส่วนน่าสนใจที่สุดคือบรรดารูปปั้นโลหะหล่อ ไม่ทราบว่ามีตั้งแต่ยุคแรกหรือสมัยใด แอบชวนให้นึกถึงภาพยนต์พ่อมดในโรงเรียนเวทย์มนต์ของปราสาทยุคกลาง ดดยเฉพาะประติมากรรมเหล่านี้บางชิ้น
คล้ายงานของประติมากรชื่อดังยุคเรเนซองส์ เช่น ของ ราฟาเอล ซานตี ในเรื่องเทวากับซาตานเคยพูดถึง ตามลิงค์นี้
คราวต่อไป จะให้ชมรูปที่เราฝ่าแดด ถ่ายรูปโมเดลของที่ระลึกตึกจิ๋ว คู่กับอาคารสถานที่จริง ๆ ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลให้ชม บางภาพอาจเล่าขั้นตอนบ้าง หรือวิธีการคิดงาน จัดองค์ประกอบ ซึ่งบางส่วนทุลักทุเลพอสมควร
ติดตามเพจเฟสบุ๊คสมาคมศิษยืเก่าเซนต์คาเบรียล เพื่อติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะการจัดจำหน่ายของที่ระลึกชุดดนี้ได้ตามลิงค์นี้
โฆษณา