9 ธ.ค. 2022 เวลา 13:00 • ปรัชญา
นิ้วที่ชี้ไปที่พระจันทร์ไม่ใช่พระจันทร์
Finger and the Moon
เราแยกออกโดยทันที ว่านิ้วที่ชี้ไปที่พระจันทร์ไม่ใช่ตัวของพระจันทร์
แล้วจะยกมาพูดอะไรทำไมกัน? ก็รู้อยู่แล้วนี่!
.
สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าพระจันทร์อยู่ตรงไหน คนที่รู้ก็จะสามารถบอกได้ว่ามันอยู่ตรงไหน
ทิศทางที่นิ้วชี้ไปนั้น บอกให้ผู้ซึ่งไม่รู้ มองไปยังทิศทางที่มีพระจันทร์อยู่ได้
ก็คนดูเขารู้นี่นะว่า นิ้ว กับ พระจันทร์ มันคนละเรื่องกันเลย
.
ลองเปลี่ยนคำว่า "พระจันทร์" เป็นคำว่า "พระธรรม"
เปลี่ยนคำว่า "นิ้ว" เป็นคำว่า "ถ้อยคำ"
เปลี่ยนคำว่า "ชี้" เป็นคำว่า "อธิบาย"
.
2
เหตุใดการเรียนธรรมศึกษาธรรมของเราจึงเต็มไปด้วยการทำความเข้าใจนิ้ว?
ตื่นเต้น หลงไหล ตีความ ถกเถียงกันในเรื่องของนิ้ว เรียนและสอบกันในเรื่องของนิ้ว
ภาคภูมิกับความสามารถในการทรงจำลักษณะของนิ้ว ภาคภูมิกับความสามารถในการตีความและอธิบายลักษณะของนิ้ว วิเคราะห์ความแตกต่างของนิ้ว แยกแยะว่าเป็นนิ้วจริงนิ้วปลอม นิ้วนี้ใช่ นิ้วนี้ไม่ใช่
.
แต่ไม่เคยเห็นพระจันทร์เลย
.
สร้างตัวตนอันภาคภูมิ สร้างตัวตนอันมั่นใจและแข็งแกร่ง สร้างอีโก้ให้พอกพูนโดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างไร? ดวงจันทร์ก็ไม่เคยเห็น
ทั้งๆ ที่ธรรมะของบรมครู เป็นไปเพื่อการสลัดออก
.
กลับกัน หากเราเป็นเจ้าของนิ้วที่ชี้พระจันทร์นั้นอยู่ เห็นเช่นนี้แล้วจะรู้สึกอย่างไร?
เข้าใจได้เลยใช่หรือไม่? อารมณ์ที่ "ท้อจนไม่อยากสอน" ที่่บรมครูมีในเวลานั้น
ถ้าไม่มีใครรู้ตามได้ ก็เหมือนกับว่าเราเป็นคนบ้า
.
คำพูด ถ้อยคำ ที่พูดที่ใช้อธิบายถึงสัจจะและชี้ให้เห็นถึงสัจจะนั้น มันไม่ใช่ตัวสัจจะเอง
สัจจะ ธรรมะ อยู่เบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น
มีกระบวนการที่เป็นกิจกรรมทางสมองและระบบประสาทมากมายที่เกิดขึ้นในตัวของผู้ที่กำลังอธิบาย
เขาเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง รู้สึกและได้ประสบการณ์บางอย่างในระดับสัจจะที่อาศัยอุปกรณ์คืออายตนะของเขาทั้งภายนอกและภายในใช้เป็นพยานของความจริง รับรู้สัจจะที่ปรากฏอยู่
แต่สิ่งนี้จะบอกให้คนอื่นรู้ได้อย่างไร?
เหมือนเธอไปกินอาหารที่เรียกว่าพระกระโดดกำแพงมา แล้วเพื่อนของเธอขอให้เธออธิบายให้เขารู้ตามได้ว่ารสชาติของมันเป็นอย่างไร
เหมือนเธอไปเที่ยวต่างประเทศมา สัมผัสกับอากาศหนาว -20 องศา แล้วเพื่อนของเธอขอให้เธออธิบายจนเขาได้รับประสบการณ์นั้นเช่นกัน
มันไม่มีวิธี copy/paste ประสบการณ์อันเป็นกิจกรรมทางสมองและระบบประสาทอันซับซ้อนอันนั้นออกมาแล้วเอาไปใส่ให้อีกคนที่อยากรู้มารู้ตามได้
ก็ต้องไปพึ่งพา ภาษา คำพูด ถ้อยคำ ใบลาน วิดิทัศน์ ก็มันเลี่ยงไม่ได้
เขาก็ต้องเปรียบเทียบและเลือกคำ มาใช้ในการอธิบาย
ซึ่งคำอธิบาย คุณภาพในการถ่ายทอดประสบการณ์ของมันแห้งแล้งมาก เมื่อเทียบกิจกรรมทางสมองอันซับซ้อนเหล่านั้น เรามองออกได้ใช่ไหม?
สัจจะ เปรียบเหมือนพระจันทร์ คำพูด ถ้อยคำ คำภีร์ บทความ เป็นเพียงความพยายามที่จะชี้ให้เราเห็นว่าพระจันทร์อยู่ตรงไหน ดังนั้น Ordinarility จึงเคยบอกไว้ว่าเรียนธรรมไม่ต้องจำ เธอเพียงแค่ต้องเข้าใจแล้วปล่อยมันไป อย่าไปหลงยึดติดกับสิ่งที่่ได้ยินได้ฟัง เพราะความจริงมันอยู่เบื้อหลังคำอธิบายเหล่านั้น ความจริงอันเป็นกระสบการณ์ของเจ้าของนิ้ว
สิ่งที่เราต้องทำคือฟังที่ธรรม แต่ให้ดูที่พระจันทร์
สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านั้นคืออะไร?
เหตุใดถ้อยคำเหล่านั้นถึงได้ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อใช้ในการอธิบาย?
ผู้อธิบายกำลังมองเห็นอะไรอยู่?
ถึงเธอจะเห็นว่าคำอธิบายมันสำคัญ แต่ก็ให้มองข้ามความสำคัญของคำอธิบายและมองเบื้องหลังของคำอธิบายนั้นอย่างตั้งใจ
ดวงจันทร์ก็อาจจะปรากฏให้เธอเห็นได้
.
โฆษณา