8 ธ.ค. 2022 เวลา 13:00 • ปรัชญา
ตื่นรู้ กับ ตระหนักรู้ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
What different between Awaken and Realized?
นี่เป็นคำถามทางความคิด เพราะมันแตกต่างกันที่การใช้ภาษา
ที่ใช้ภาษาแตกต่างกันเพราะลักษณะของมันไม่เหมือนกัน เมื่อลักษณะของมันไม่เหมือนกันจึงต้องกำหนดใช้ภาษาคนละแบบ
เมื่อมีการใช้ภาษา นั่นจึงหมายถึงมีการใช้ความคิด เพราะถ้าไม่คิดก็หยิบเอาศัพท์ที่ถูกต้อง ออกมาเรียงต่อกันให้กลายเป็นประโยคทางภาษาที่เราใช้ในความคิดไม่ได้
เมื่อเกิดความสงสัยในข้อแตกต่างของสองสิ่งนี้ ถึงกล่าวว่านี่เป็นคำถามทางความคิด แต่ก็ต้องอาศัยคิดนั่นแหล่ะไปก่อน
(แต่ถ้ามองในโดเมนของความคิด หากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะเห็นชัดเจนขึ้น ก็อาจจะไม่ต้องถามว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร)
.
ทำไมถึงบอกว่านี่เป็นคำถามทางความคิด?
เป็นคำถามทางความคิดหรือไม่เป็นคำถามทางความคิด สำคัญตรงไหน?
เพราะถ้ารู้ว่าคิด คำถามนี้มันจะหายไปเอง เพราะมันจะตระหนัก แล้วก็จะตื่นเอง ผู้ถามก็จะไม่ต้องถาม (ผู้ถามคนนี้กำลังเรียนรู้ที่จะตื่น)
การตระหนักรู้นั้นเกี่ยวข้องกับความคิด แต่การตื่นรู้นั้นเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ
.
เท่าที่สังเกต คนส่วนใหญ่ใช้คำว่าตื่นรู้พร่ำเพรื่ออยู่ในหลายๆส่วนของชีวิต
แต่นั่นก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะชีวิตและจิตวิญญาณก็ดูเหมือนจะใหญ่เกินไปสำหรับผู้คนจนต้องแยกมันออกเป็นส่วนๆ
เช่นเขาตื่นรู้ในเรื่องความขึ้เกียจจนตอนนี้ขยันทำมาหากิน
เขาตื่นรู้ในเรื่องอาหารจนตอนนี้กลายเป็นนักโภชนาการเชี่ยวชาญการลดน้ำหนัก
เขาตื่นรู้เรื่องความรักจนตอนนี้กลายเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องความรัก
เขาตื่นรู้สถานะทางการเงินของตัวเองจนต้องรีบแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่จะสายเกินไป
ฯลฯ
แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้คุยกันเรื่องตื่นรู้แบบนี้ เราหมายถึงตื่นรู้ทางจิตวิญญาณจริงๆ
เราจะตระหนักรู้ได้เราต้องคิดก่อน
.
ความคิดที่ยังไม่ถูกตระหนักก็ยังเป็นเพียงความคิดธรรมดาๆ ที่เรียกว่า thinking แต่หากความคิดถูกตระหนักแล้ว ก็จะมีชื่อเรียกอาการนั้นว่า realize
ลักษณะของ realize นั้นคือการทำให้มันแข็งขึ้น เด่นชัดขึ้น จับต้องได้ ในขณะที่ thinking นั้นมีความเบาบาง ลักษณะลอยๆ ไหลๆ
แต่เมื่อความคิดธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปที่ลอยๆ ไหลๆ ถูกรับรู้ขึ้นมาอย่างเด่นชัด แข็งแกร่ง แข็งแรง และจับต้องได้ เมื่อนั้นเราได้ตระหนักรู้ในความคิดนั้นแล้ว
ยังมีอีกคำหนึ่งในภาษาไทยที่ต่อเนื่องกันไปเมื่อมีความกังวลเกิดขึ้นตามหลังการตระหนักได้ คือคำว่า ตระหนก
แต่การตื่นรู้นั้นไม่ต้องอาศัยความคิด เพราะมันเกิดที่จิตวิญญาณ มันเกิดที่จิตรู้
.
การตื่นรู้มันเกิดก่อน ความคิดเกิดทีหลัง
จะว่าไป ปกติเราก็ตื่นรู้เป็นส่วนๆ ในระหว่างวันอยู่แล้ว
เวลาเราหิว เวลาเราปวดอยากเข้าห้องน้ำ นั่นคือเราตื่นรู้ เรารู้เอง เรารู้ได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยความคิด แต่อาศัยชีวิต
การที่จิตรู้ระบบชีวิตทำให้เรารู้ได้ว่าเราหิวหรือไม่หิว เราไม่ต้องไปเสียเวลาคิดว่าตอนนี้ฉันหิวหรือยังหนอ ตอนนี้ฉันปวดอยากเข้าห้องน้ำหรือยังหนอ เมื่อตื่นรู้ เรารู้เลย เราไม่ต้องไปถามจากใคร
นี่เป็นอุปมาตื่นรู้เรื่องความหิวความปวดความรู้สึก แต่การตื่นรู้แบบนี้มันผิวเผินมากๆ มันยังห่างไกลจากการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ
แต่จะมาอธิบายการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณมันก็ยากจนแทบจะอธิบายไม่ได้
เพราะการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณมันอยู่เหนือสมมุติ แค่พอเข้าไปดูมันเพื่อจะลองหาลักษณะอะไรมาอธิบายมันก็ว่างมันก็หายไปหมดแล้ว มันเลยหาคำพูดมาอธิบายไม่ได้
ยิ่งพยายามอธิบายมัน ก็จะยิ่งทำให้ออกห่างจากมันไป
เพราะคำอธิบายก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะในนั้นจะว่ามีก็มี จะว่าไม่มีก็ใช่ แต่ถ้ามี แล้วไม่มีคืออะไร ก็ถ้าไม่มี แล้วที่รู้สึกอยู่คืออะไร มันคล้ายๆ เนวสัญญานาสัญญา คือจะรับรองก็ไม่ได้ ปฏิเสธก็ไม่ได้ ใช้คำที่ใกล้เคียงที่สุดก็ได้แค่คำว่าตื่น
แต่ว่าสองสิ่งนี้มันอยู่ใกล้กันอย่างแนบเนียน มันเลยเนียนเข้าเนียนออกสลับกันไปมาให้เราหลุดจากสเตทได้ง่ายๆ
เช่นเราตื่นรู้ขึ้นมาว่าเราหิว ตื่นรู้เกิดก่อน ความคิดเกิดทีหลัง มันก็อาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงหิว แล้วเราก็ตระหนักได้ว่าเรายังไม่ได้กินอะไรเลยมาตั้งแต่สองวันที่แล้ว เราก็เลยตระหนกว่าเราจะเป็นอะไรรึเปล่า
หรือขณะที่เราตื่นรู้ทางจิตวิญญาญอยู่ มันก็มีลักษณะเด่นชัดเหมือนกัน มีลักษณะแข็งแกร่งคล้ายจับต้องได้เหมือนกัน แล้วเดี๋ยวมันก็จะไปตระหนักว่าเราตื่นอยู่ ซึ่งนั่นมันกลายเป็นความคิดไปแล้ว คือมันเนียนหลุดออกมาจากการตื่นไหลไปสู่การหลับคือหลงไปคิดเหมือนเดิม
มันก็ยากระดับนี้ หลายคนก็เลยดูไม่ออกว่ามันเป็นกับดัก
หลวงปู่ดูลย์ก็เคยพูดไว้ว่า คิดๆเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิดถึงจะรู้
ดังนั้นต่อให้คิดจนตระหนักรู้ได้ก็ไม่ตื่นรู้ แต่เมื่อตื่นรู้ได้ ก็จะตระหนักรู้ต่อมาได้เอง
แต่การตระหนักรู้ ก็เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการตื่นรู้นั่นแหล่ะ
โฆษณา