11 ธ.ค. 2022 เวลา 04:52 • หนังสือ
✴️ บทที่ 4️⃣ ศาสตร์สูงสุดแห่งการรู้พระเจ้า ✴️ (ตอนที่ 3)
🌸 ประวัติศาสตร์และแก่นแท้ของโยคะ 🌸
⚜️ โศลกที่ 1️⃣➖2️⃣ ⚜️ (ตอนที่ 3)
หน้า 458–462
———————💠———————
วิญญาณลงมาเข้าสู่จิตมนุษย์
———————💠———————
#เมื่อตีความในเชิงรหัสยนัย คีตาสองโศลกนี้อธิบายถึงที่มาของโยคะ แสงจักรวาลคือสิ่งสำแดงแรกของบรมวิญญาณ พระเจ้าทรงส่งจิต จักรวาลสั่นสะเทือนเป็นพลังปัญญาญาณแห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งโศลกนี้เรียกว่า วิวัสวัต “ผู้เปล่งแสงหรือแผ่แสงรังสี” (ฤษีผู้รู้แจ้งในยุคโบราณเป็นที่รู้จักกันในฐานะเทพแห่งดวงอาทิตย์)
แสงหรือพลังจักรวาลอันทรงฤทธิ์นี้อยู่ในมนุษย์ในลักษณะแสงสุรีย์น้อย ๆ ที่วิญญาณจักษุ ซึ่งจะเห็นสิ่งทั้งหลายในช่วงการทำสมาธิ เมื่อจิตของผู้ภักดีกับตาเนื้อทั้งสองเพ่งอยู่ที่จุดระหว่างคิ้ว “ตาเป็นประทีปของร่างกาย เพราะฉะนั้น #ถ้าตาของท่านรวมเป็นหนึ่ง #ทั้งตัวของท่านก็จะพลอยสว่างไปด้วย”★
★มัทธิว 6:22
นี่ไม่ใช่คำสัญญาเล่น ๆ แต่เป็นการพูดถึงการสำแดงอันรุ่งโรจน์โชติช่วงนี้ พลังญาณปัญญาสร้างสรรค์จักรวาลทั้งปวง ดำรงอยู่ในจักรวาลน้อย ๆ แห่งวิญญาณจักษุ ประสบการณ์ทั้งหลายที่เกิด ณ วิญญาณจักษุนี้ สัมพันธ์กับกิจกรรมในจักระสมองร่วมไขสันหลังของกายและจิต ในกายเนื้อ กายทิพย์ และกายเหตุ★ — นั่นคือ วิญญาณลงมาสถิตในกายและสุดท้ายจะกลับขึ้นสู่บรมวิญญาณ
★อ่านบทที่ 1:4–6
.
◾ความสำคัญเชิงรหัสนัยของ “วิวัสวัต”◾
ทุกวิญญาณล้วนมาจากจิตจักรวาล ต่างมีแสงจักรวาลซึ่งเป็นพลังสั่นสะเทือนน้อย ๆ แสดงด้วยสัญลักษณ์ คือ วิวัสวัต ต่อจากนั้นวิญญาณลืมว่าตนคือบรมวิญญาณที่มีแสงจักรวาลห่อหุ้มอยู่ วิญญาณนั้นจึงกลายเป็นจิตปัจเจกหรืออหังการวิญญาณ กายเหตุของจิตอันบริสุทธิ์ที่ห่อหุ้มอยู่ในกายทิพย์ การห่อหุ้มเป็นไปดังนี้ :
อำนาจการสร้างสรรค์ของพระเจ้าซึ่งส่งไปที่วิญญาณทำให้เกิดความรู้สึก (จิตตะ) ซึ่งก็คือการรับรู้ของวิญญาณ หรือรับรู้ว่าสิ่งนั้นดำรงอยู่ ความรู้สึกทำให้เกิด “การคิด” หรือกระบวนการจำได้หมายรู้
เมื่อความรู้สึกที่พระเจ้าให้มานี้ถูกบิดเบือนด้วยอำนาจของมายา จึงเกิดอหังการหรือการสำคัญตน มนินทรีย์ทำให้คิดไปว่า “ฉันคือผู้รับรู้” สิ่งที่ควบคู่มากับอหังการคือพุทธิปัญญา ซึ่งจะแสดงออกในการคิด การใช้ปัญญาแยกแยะ และการอวดดี เมื่อความหลง (โมหะ) เข้าครอบงำปัญญา ก็จะกลายเป็นจิตที่มืดบอด (มนัส) จิตเป็นเครื่องมือในการประสานงาน เป็นตัวประสานระหว่างโลกแห่งอินทรีย์กับอหังการและพุทธิปัญญา
ธรรมชาติของจิตมี 4 ขั้นตอน 1️⃣ ความชอบใจในผัสสอินทรีย์ 2️⃣ การใช้ปัญญาแยกแยะ (การทำงานของอวัยวะตามบัญชาของพุทธิปัญญา) 3️⃣ ความอยาก (ความตื่นเต้นหรือความอยากที่เกิดจากอารมณ์สัมผัส) และ 4️⃣ จินตนาการ (หลงเชื่อว่าปรากฏการณ์นั้นเป็นสิ่งจริง) ช่องทางทั้ง 4 นี้เป็นเหตุให้เกิดสิ่งคู่ (รัก-ชัง) ความอยากของหัวใจ (ความรู้สึกหรือจิตตะ) กับความอยากของอหังการ จิตของมนุษย์เกิดจากกิจกรรมเหล่านี้ของจิตนั่นเอง
เมื่อวิญญาณที่จุติลงมาตกอยู่ใต้อำนาจของจิต วิญญาณจึงมีความจำกัดไปตามจิตของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ภาวะของวิญญาณที่ลงมาจุตินี้เรียกว่า มนู
พลังจักรวาลอันดำรงอยู่ทุกที่ (วิวัสวัต) สำแดงเป็นพลังชีวิตในมนุษย์ไปตามอำนาจของจิต ซึ่งในที่นี้เรียกว่า การให้ความรู้ (อำนาจโยคะ) แก่มนู มนู หมายถึง มนุษย์ ซึ่งแปลว่า ผู้คิดเป็น มาจากรากศัพท์สันสกฤต มนัส หรือจิต ฤษีวยาสะผู้รจนาคีตา จึงใช้มนูอธิบายบทบาทของจิตที่มาจุติเป็นจิตและชีวิตในกายมนุษย์ นอกจากนี้ชื่อมนูยังมีความสำคัญ เพราะเป็นชื่อของฤษียุคโบราณ —ผู้รวมไว้ซึ่งความเลิศประเสริฐของมนุษย์ เป็นบิดาแห่งมนุษยชาติ— เป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับจิต (มนัส) และบทบาทของจิตที่ก่อให้เกิดจิตมนุษย์
.
◾พลังจักรวาลสำแดงเป็นพลังชีวิตในกายมนุษย์ด้วยอำนาจของจิต (“มนู”)◾
พลังจักรวาลซึ่งดำรงอยู่ทุกที่ (วิวัสวัต) เป็นแหล่งเกิดของพลังชีวิตที่สําแดงในกายทิพย์ของมนุษย์ตามอำนาจของจิต (มนู) พลังชีวิตกับจิตสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งสองฝ่ายไม่อาจอยู่ในกายมนุษย์ได้
เมื่อกายกับจิตจุติจากจิตจักรวาลและพลังจักรวาล แรกสุดจะสําแดงผ่านดวงตาแห่งสหัชญาณ (วิญญาณจักษุเหตุซึ่งสัมพันธ์กับช่องทางของจิตเหตุในไขสันหลัง) จากนั้นจึงเข้าสู่ทิพยจักษุ (วิญญาณจักษุทิพย์ ซึ่งสัมพันธ์กับช่องทางทั้งสามในไขสันหลังของกายทิพย์) (อ่านบทที่ 1:4-6)
โศลกนี้ใช้ อิกษวากุ (โอรสของพระมนูกษัตริย์พระองค์แรกแห่งวงศ์สุริยกษัตริย์) เป็นสัญลักษณ์หมายถึงตาทิพย์ซึ่งเป็นทางผ่านของชีวิตและจิตสู่กายทิพย์ วยาสะจึงใช้นามของอิกษวากุ หมายถึงการเกิดของทิพยจักษุ —พลังชีวิตทิพย์และจิตทิพย์— เมื่อมีจิต หรือ มนู เป็นเครื่องมือ อิกษวากุ มาจากศัพท์ อิกษ แปลว่า “มองแล้วเกิดความเข้าใจ” “เห็น”★
★นามในภาษาสันสกฤตที่มาจากรากศัพท์ อิกษ เช่น อิกษนาม (การมองแล้วเกิดความเข้าใจ การเห็นการสร้างภาพ) ซึ่งโศลกนี้ของคีตาหมายถึงดวงตาด้วย
อิกษวากุ เป็นนามในคัมภีร์พระเวท มีอยู่ทั้งในฤคเวทและอาถรรพเวท เนื่องจากพระเวทอนุโลม ให้ใช้ อิ เสียงสั้น แทน อิ เสียงยาว (อี) ได้ ดังในกรณีของอิกษวากุนี้ รากเสียง อา กับ อี หรือ อิ เปลี่ยนแปลงไปมาได้ จึงยากที่จะบอกได้ว่ารากอักขระแท้จริงคือสระตัวไหน
ในคัมภีร์อุปนิษัทนั้น โดยหลักไวยากรณ์ อิกษ มีนัยหมายถึง การเห็น หรือ รู้ ด้วยจิตสากลอันสร้างสรรค์ ซึ่งต่อมา ท่านอาทิศังกราจารย์ได้ให้อรรถาธิบายไว้ใน พรหมสูตร (ซึ่งถือกันว่าเป็นคัมภีร์เวทานตะที่เชื่อถือได้มากที่สุด) พร้อมกับยกตัวอย่าง เช่น “นั่น (พรหมัน) ได้เห็น ขอข้าฯ จงกลายเป็นหลายสิ่ง...” (จันโทกะยะอุปนิษัท VI:2:3) “เมื่อแรกนั้น อาตมัน เป็นหนึ่ง หนึ่งเดียวเท่านั้น จริงแท้...พระองค์ทรงเห็น ให้เราสร้างโลก” (ไอตเรยะอุปนิษัท I : i.l)
“การเห็น” ในเชิงรหัสยนัยนี้ จึงใกล้เคียงกับ คำว่า “ตรัส” ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ เช่น ในบทปฐมกาล “พระเจ้าตรัสว่า จงเกิดความสว่าง...” “พระเจ้าตรัสว่า ให้เราสร้างมนุษย์...” ซึ่งล้วนหมายถึงพลังปัญญาญาณอันสั่นสะเทือนที่พระเจ้าทรงส่งมาเพื่อการสร้างโลก
รากศัพท์ อิกษ ตามความหมายของอิกษวากุจึงไม่ใช่การเห็นทั่ว ๆ ไป แต่เป็นจิตสร้างสรรค์อันเป็นสากลของพระองค์ผู้ทรงความสูงสุด สามารถทำให้เกิดการสร้างสรรค์ในขั้นตอนต่าง ๆ ทิพยจิต อันทรงญาณปัญญาและพลังนี้สำแดงอยู่ในชีวิตมนุษย์ในลักษณะการเห็นด้วยสหัชญาณ และพลัง สั่นสะเทือนของญาณปัญญาแห่งตาทิพย์ ที่ทำให้รูปทั้งหลายปรากฏ เช่น การสร้างและให้พลังแก่กายมนุษย์
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
.
◾วิญญาณเข้าสู่กายทิพย์ผ่านทางทิพยจักษุ (“อิกษวากุ”)◾
จากภาวะมนู วิญญาณไหลผ่านช่องการรับรู้ทางสหัชญาณ (สหัชญาณแห่งเหตุจักษุ) จากนั้นเข้าสู่ช่องพลังชีวิตทิพย์และจิตทิพย์ (ทิพยจักษุ) ในภาวะอิกษวากุนี้ วิญญาณรับรู้สหัชญาณแห่ง อหังการ รู้ว่าตนดำรงอย่างเป็นปัจเจกและจำกัดอยู่กับกายทิพย์ ซึ่งอำนาจการรู้และการรับรู้ของอหังการทิพย์ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ทางอินทรีย์ แต่เกิดจากสหัชญาณหรือสัมผัสที่หก อหังการทิพย์รับรู้พลังที่ทำงานอยู่ในกายทิพย์ว่าเป็นองค์ประกอบที่แท้จริงของสสาร
จากภาวะสหัชญาณทิพย์แห่งอิกษรากุ วิญญาณลงต่อไปสู่ภาวะต่าง ๆ ของการรับรู้ผ่านอินทรีย์อันทรงพลัง แรกสุดสำแดงในลักษณะอำนาจทิพยอินทรีย์อันประณีต (ญาเณนทรีย์) จากนั้นไหลสู่กายหยาบแห่งอินทรีย์ ซึ่งเรียกกันว่า ‘ราชฤษี’ หรือภาวะที่เป็นหนึ่งเดียวกับอินทรีย์
เมื่อกระแสคู่ของจิตกับพลังชีวิตไหลเข้าสู่ระบบประสาท การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัสของอวัยวะรับรู้ทั้งห้า (รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส) อินทรีย์รับรู้ทั้งห้าจึงเกิดขึ้น แต่ทิพยอำนาจนั้นตรงกันข้าม ด้วยว่าเป็นพลังชีวิตที่บริสุทธิ์ หรือ ปราณ ไม่อยู่ในวงจํากัด เป็นปัญญาญาณแห่งสหัชญาณ กายทิพย์จึงสามารถมีประสบการณ์กับอารมณ์ทุกประเภทด้วยอินทรีย์ใด ๆ เพียงอย่างเดียว★
★“ในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้สำรวจความสามารถอันน่าสนใจของมนุษย์ที่จะใช้ผิวหนังตรวจสี แสง และบางครั้งถึงกับตรวจจับรูปแบบบางอย่างได้ ปัจเจกบุคคลสามารถ “เห็น” ได้โดยไม่ต้องมีตา... การตรวจสอบเริ่มด้วยการฝึกอาสาสมัครให้ใช้ปลายนิ้วรับรู้สี... มีรายงานว่า สามารถใช้มาตรการบางอย่างฝึกเด็กตาบอดที่แก้วตา (คอร์เท็กซ์) ยังดีอยู่ให้เห็นด้วยปลายนิ้วได้ จึงเสมือนว่าประสาทตาไม่มีความสำคัญต่อการรับรู้ลักษณะนี้ แต่ถ้าสมองส่วนการเห็นเสียหายไปก็ไม่อาจเห็นได้...
“การเห็นโดยไม่ต้องใช้สายตานั้น ไม่ใช่การเห็นตามปกติ #แต่เห็นด้วยการสัมผัสหรือรู้สึกได้ด้วยแสง แม้ผิวหนังจะอยู่ห่างจากวัตถุทดลองหลายนิ้ว ปกติแล้วผู้ที่ผ่านการฝึกมาจะบอกได้ถึง ความหนืด ความหยาบ ความเรียบ ความเย็น ความร้อน และลักษณะที่แตกต่างทั้งหลายของสีนั้น ๆ ปฏิกิริยานี้จะยิ่งคมชัดมากขึ้นในผู้ที่ผ่านการฝึกมานานพอ เขาสามารถอธิบายถึงรายละเอียดของเฉดสีที่แตกต่าง และรายละเอียดของภาพ สามารถอ่านสิ่งพิมพ์ได้ด้วยสัมผัสใหม่นี้” — The Brain Revolution โดยมาริลิน เฟอร์กูสัน (New York: Bantam, 1973)
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
.
◾เมื่อจิตลงไปคลุกกับอินทรีย์ (“ราชฤษี”) จิตวิญญาณก็ถูกลืม◾
ญาเณนทรีย์ทั้ง 5 นั้นเรียกว่า “ราชฤษี” เพราะปัญญาทั้งหลายจากภายนอก (คัมภีร์หรือโยคี/นักบุญ) จะไปถึงจิตและพุทธิปัญญาได้ต้องผ่านช่องทางของผัสสอินทรีย์ “ราชฤษี” หรือเครื่องมืออันเรืองโรจน์นี้สามารถรับรู้และเสวยปรากฏการณ์จักรวาลที่พระเจ้าประทานได้ ถ้าผ่านการฝึกฝนโดยมีพุทธิปัญญาแห่งญาณวิญญาณเป็นเครื่องนำทาง
แต่เมื่อวิญญาณภาวนาถูกละเลย อินทรีย์รับรู้จะหนืดเนือยเฉื่อยชา ไม่รับรู้คำสอนฝ่ายจิตวิญญาณ เพราะมัวข้องอยู่กับอารมณ์และความใคร่ในวัตถุ จิตของมนุษย์จึงถอยไปยึดมั่นอยู่กับวัตถุ ลืมการเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณ ระยะเวลาอันมืดมนยาวนานที่จิตวัตถุครอบงำนี้ ทำให้ความรู้เกี่ยวกับโยคะและการเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าเสื่อมถอยและถูกลืม
1
🔸กล่าวโดยสรุปได้ว่า🔸 โยคะหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณและวิญญาณบรมวิญญาณในฐานะจิตจักรวาล รวมกับพลังจักรวาลอันสถิตทั่ว และเชื่อมโยงกับจุลจักรวาลวิญญาณจักษุแห่งชีวิตและจิตในมนุษย์ ชีวิตกับจิตเชื่อมโยงกับจิตใจ จิตใจเชื่อมโยงกับตาทิพย์และจิตสหัชญาณของกายทิพย์ ทิพยชีวินกับจิตเชื่อมโยงกับญาเณนทรีย์ทั้ง 5
เมื่อมนุษย์ลงมาจากจิตจักรวาลแล้วเข้าสู่กาย มันจะจมอยู่กับชีวิตทางวัตถุซึ่งได้ผ่านการเกิดแล้วเกิดเล่ามาหลายภพชาติ แล้วมันก็ลืมโยคะ [ซึ่งก็คือ การที่อินทรีย์ของตน “ราชฤษี” ที่เป็นหนึ่งเดียวกับพลังชีวิต (อิกษวากุ) ลืมความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชีวิตกับจิต ‘มนู’ จิตกับพลังจักรวาล (วิวัสวัต) พลังจักรวาลกับจิตจักรวาล (กฤษณะ)]
อย่างไรก็ตาม กฎที่ทำให้มนุษย์ระลึกถึงการเชื่อมโยงที่ตนหลงลืม (อหังการกับอินทรีย์ พลังชีวิตกับจิตใจ วิญญาณกับบรมวิญญาณ) นั้นมีอยู่อย่างนิรันดร์แล้วในตัวเขา พร้อมที่จะให้ถูกนำมาใช้และแสดงตน
คําสอน 2️⃣ โศลกนี้ให้ความหวังแก่มนุษย์ไปชั่วนิรันดร์ แม้เขาได้หลงลืมไปแล้วอย่างยาวนาน สักวันหนึ่งเขาย่อมตระหนักว่าความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว (โยคะ) กับบรมวิญญาณ มีอยู่ในตัวเขาอย่างที่ใครไม่อาจทำลายได้
มนุษย์จำไม่ได้ว่า บรมวิญญาณสั่นสะเทือนสู่ภาวะต่าง ๆ ได้อย่างไร วิญญาณจึงถูกลืมเมื่อมันลงไปหาอินทรีย์ แต่ทุกครั้งที่มนุษย์ตั้งใจปฏิบัติกิริยาโยคะ เขาจะระลึกได้ถึงความเชื่อมโยงนิรันดร์ระหว่างวิญญาณกับบรมวิญญาณ โยคะศาสตร์อันเป็นทิพย์นี้จะมีชีวิตอีกครั้งเมื่อผู้ภักดีถอนอาตมันที่แท้ของตนไปจากอินทรีย์ ด้วยการปฏิบัติ “กริยาโยคะ” รวมวิญญาณเข้ากับบรมวิญญาณ
(มีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา