11 ธ.ค. 2022 เวลา 13:12 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “ความลับที่คนอ่านหนังสือเท่านั้นจะรู้”

เล่มที่ 16
การอ่านหนังสือคือความสุขที่สามารถสัมผัสได้เฉพาะผู้ที่เกิดในเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น
เมื่อเห็นคำคมของหนังสือเล่มนี้ในอินเทอร์เน็ตที่คนอื่นรีวิวหนังสือกันก็รู้สึกชอบ ประกอบกับได้อ่านชื่อหนังสือแล้วก็เห็นว่าน่าสนใจจึงตัดสินใจซื้อโดยที่ไม่ได้อ่านรีวิวแบบละเอียดว่าหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง
ตอนเห็นชื่อหนังสือ ก็เข้าใจไปเองว่าจะบอกเทคนิคดีๆที่ได้จากการอ่านหนังสือมาเยอะ ของผู้เขียนซึ่งจะทำให้เราอ่านหนังสือได้เร็วขึ้น เก่งขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้นไรงี้ แต่พออ่านจบแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ รู้สึกว่านี่เราซื้ออะไรมาเนี่ย
ผู้เขียนบอกว่า “การอ่านหนังสือจะทำให้ความรู้ ความคิด และทัศนคติของคุณเกิดความละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น หากอ่านบ่อยๆจนเป็นนิสัยก็จะอ่านหนังสือเก่งขึ้น ทัศนคติก็จะละเอียดลึกซึ้งขึ้น”
เนื้อหาของหนังสือส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอ่านหนังสือที่ทำให้คนเราละเอียดลึกซึ้งและไม่เป็นคนที่ตื้นเขิน ทั้งเล่มจะเน้นจุดนี้ซะส่วนใหญ่ และเน้นถ้อยคำว่าละเอียดลึกซึ้งอย่างจริงจัง ระหว่างบทจะคอยแทรกหนังสือที่ผู้เขียนอ่านแล้วชอบมาป้ายยาให้เราอ่านตามเพื่อที่จะทำให้เราเป็นคนละเอียดลึกซึ้งขึ้น
ตัวอย่างที่ผู้เขียนชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอ่านหนังสือ เช่น “แม้เราจะไม่สามารถพาตัวเองไปลิ้มรสประสบการณ์ทุกอย่างได้ แต่เราก็สามารถสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงได้จากการอ่านหนังสือ ดังนั้นการอ่านหนังสือจึงทำให้ทัศนคติของคนแต่ละคนกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุมมองชีวิต การเพิ่มทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ และการเพิ่มพูนจินตนาการ”
แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็จะเจอถ้อยคำเจ็บๆจุกๆระหว่างทางตลอด เช่น “การที่คนเราไม่อ่านหนังสือจึงเปรียบได้กับการสูญเสียเกียรติของเผ่าพันธุ์โฮโมเซเปียนส์” โอ้ว แรง
แม้ผู้เขียนจะเป็นคนญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เราจะเห็นบุคลิกของคนญี่ปุ่นว่าเป็นคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่พูดจาตรงๆ แต่ผู้เขียนคนนี้มีความเห็นส่วนตัวที่ค่อนข้างจะพูดตรงๆและแอบแรงอยู่เหมือนกัน ผู้เขียนมองว่าคนเราจะเป็นคนที่ตื้นเขินหรือมีความละเอียดลึกซึ้งในความคิดวัดกันตรงการอ่านหนังสือเยอะและอ่านอย่างมีประสิทธภาพโดยคิดวิเคราะห์สิ่งที่อ่านตามไปด้วย
ผู้เขียนยังแนะนำว่า “การอ่านหนังสือต้องใช้ใจสนุกสนานมีความรู้สึกร่วมไปกับการสัมผัสโลกอันละเอียดลึกซึ้งในหนังสือ หากไม่มีใจตรงนี้การอ่านก็จะเป็นเพียงการเสียเวลาและพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์” และยังแนะนำให้เขียนแนะนำ (หรือรีวิว) หนังสือกันเยอะๆจะส่งผลดีต่อตัวเราช่วยขัดเกลาให้ความคิดละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
แน่นอนว่าผมเห็นด้วยกับความคิดที่ว่าการอ่านหนังสือนั้นทำให้คนเรามีความคิดที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น แต่การที่จะมองว่าคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเป็นคนตื้นเขินไปซะหมดก็คงจะไม่ใช่ คนบางคนต่อให้ไม่ได้อ่านหนังสือมาเยอะมากมายแต่ก็มีกระบวนการความคิดและทัศนวิสัยกว้างไกลได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาโดยไม่ต้องไปเปิดตำราเขาก็มีความคิดที่ละเอียดลึกซึ้งได้
การถ่ายทอดความคิดของผู้เขียนบางอย่างก็ดูรุนแรงและซีเรียสเกินไป ผมว่าไม่ได้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการอ่านหนังสือสักเท่าไหร่ เช่น “สำหรับคนที่ไม่เลือกเส้นทางแห่งการมีชีวิตอันเพียบพร้อมทั้งการศึกษาและความรู้ เขาทำอะไรกันอยู่ ผมไม่อาจเข้าใจได้ แต่ที่แน่ๆ พวกเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองได้พบกับความบันเทิงในชีวิตน้อยกว่าคนอื่น เพราะเคยชินกับความบันเทิงที่ตื้นเขินอย่างมุกเล่นตลกให้ดูหน่อย แต่ไม่อาจเข้าใจความบันเทิงในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่านี้”
ผู้เขียนยังบอกอีกว่าเราจะรู้ความตื้นลึกของความคิดผู้อื่นได้ด้วยความประทับใจที่มีต่อหนังสือ “ถ้าอยากรู้ว่าใครมีพลังความคิดหรือไม่ ให้ตรวจสอบได้จากการเขียนความประทับใจที่มีต่อหนังสือสักเล่ม หากเขาเขียนได้เพียงเรื่องย่อ ถือว่าพลังความคิดของเขาอยู่ในระดับต่ำสุด ส่วนระดับที่สูงขึ้นมาหน่อยคือคนประเภทที่รู้ตัวว่า เพิ่งคิดได้ว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะให้อะไรหลายๆอย่างกับเรา แต่จริงๆการแสดงความคิดเห็นแบบนี้ก็ถือว่าเขาแทบจะไม่ได้คิดอะไรสักเท่าไร”
จะแรงไปไหนครับคุณผู้เขียน Ha Ha Ha จริงๆเรื่องแบบนี้ผมว่าอยู่ที่มุมมองความคิดเห็นการใช้ชีวิตของแต่ละคนนะ บางคนเขาอาจจะมีความคิดที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าเราก็ได้เพียงแค่เขาไม่ใช่คนประเภทที่ต้องแสดงออกให้คนภายนอกรู้ และไม่ใช่คนประเภทที่เก่งในเรื่องการใช้ถ้อยคำอธิบาย จะไปตัดสินเขาด้วยเรื่องแค่นี้ไม่ได้หรอก
หลังจากอ่านจบคิดว่าหนังสือเล่มนี้ให้มุมมองความคิดของผู้เขียนที่แปลกใหม่สุดโต่งเป็นการแนะนำให้อ่านหนังสือเพื่อให้เราได้มีมุมมองกว้างขึ้นเป็นคนที่มีความคิดละเอียดลึกซึ้งขึ้น เพียงแต่การใช้คำพูดและการเปรียบเทียบดูฮาร์ดคอร์ไปหน่อยแต่ก็เข้าใจจุดประสงค์ของผู้เขียนแหละว่าอยากให้ทุกคนหันมาอ่านหนังสือมากกว่าอ่านข้อมูลในอินเทอร์เน็ต
ถึงอย่างนั้นเนื้อหาในเล่มก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากนัก หนังสือที่ผู้เขียนแนะนำส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือของนักขียนชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในประเทศไทย คงจะหามาอ่านตามยาก ทำให้เรารู้สึกว่าเนื้อหาหายไปหลายสิบหน้าเลย คำพูดที่ผู้เขียนหนังสือใช้บรรยายเราต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านอย่างมาก ไม่งั้นเราอาจคล้อยตามไปกับแนวคิดที่สุดโต่งว่าคนไม่อ่านหนังสือเป็นคนตื้นเขิน
ประโยชน์ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ที่จะนำไปทำตามคือ สิ่งที่ผู้เขียนแนะนำว่า “ถ้าคุณต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรสักอย่าง คุณต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้นต่อกันให้ได้ 5 เล่ม คุณถึงจะได้ความรู้จริงๆ” ผมก็จะลองไปทำตามครับ สรุปให้ 2 ดาว ⭐️⭐️
ผู้เขียน : ทาคาชิ ไซโต
ผู้แปล : กมลวรรณ เพ็ญอร่าม
สำนักพิมพ์ : Short cut
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 129 x 186 x 11 มม.
น้ำหนัก : 205 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ
ชนิดกระดาษ : กระถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 200 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786161835675
หนังสือราคา 225 บาท มี 200 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา