14 ธ.ค. 2022 เวลา 03:00
‘ความยืดหยุ่น’ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการทำงาน เพราะทำให้พนักงานหลายคนสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ แต่แล้วในช่วงที่ผ่านมากลับมีหลายบริษัทที่ให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ แน่นอนว่าทำให้หลายคนไม่ชอบใจ
พนักงานยังคงคาดหวังว่าจะยังคงมีอิสระในการทำงานแบบเดิมต่อไป จากการศึกษาโดย McKinsey & Company พนักงาน 40% กล่าวว่าแรงจูงใจในการทำงานอันดับต้นๆ คือความยืดหยุ่น สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจว่าจะยังคงทำงานที่เดิมต่อไปหรือไม่ 41% กล่าวว่า การขาดความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลาออก ในขณะเดียวกัน การศึกษาของ Gallup พบว่า 54% ของพนักงานที่ทำงานทางไกลเต็มรูปแบบ และ 38% ของคนที่ทำงานแบบไฮบริด กล่าวว่าจะลาออกหากบริษัทไม่ให้ทำงานทางไกลแล้ว
ผลวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ‘ความยืดหยุ่น’ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงาน อีกทั้งช่วงนี้หลายบริษัทต่างก็เผชิญปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาและการรักษาคนเก่งมากกว่าที่เคย ทำให้บางบริษัทเริ่มมองหามาตรการเพื่อสนับสนุนพนักงานในเรื่องความยืดหยุ่น เช่น การทำงานทางไกลเต็มรูปแบบ การทำงานแบบ Asynchronous และการทำงานแบบไฮบริด
แต่ท่ามกลางความต้องการที่เปลี่ยนไปของพนักงานนี้ ก็ยังมีบางบริษัทที่ยังคงลังเลหรือไม่ทำตามความคาดหวังของพนักงาน เช่น ผู้บริหารเรียกร้องให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา เพื่อกลับไปสู่การทำงานรูปแบบเดิมก่อนโควิดระบาด หรือแทนที่จะให้อิสระแก่พนักงานบริษัทกลับเลือกที่จะขึ้นเงินเดือนแทน นอกจากนี้บางบริษัทยังมองว่าความยืดหยุ่นเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร
🟥 การเผชิญหน้าระหว่างพนักงานกับบริษัทในประเด็น ‘ความยืดหยุ่น’
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพนักงานหลายล้านคนสามารถทำงานทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงบริษัทหลายแห่งเริ่มเรียกร้องให้พนักงานกลับไปทำงานแบบเดิม นั่นคือการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งบางที่อาจจะให้ทำงานแบบไฮบริด แต่บางบริษัทกลับเรียกให้เข้าออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีความเข้มงวด เช่น ธนาคาร
เพราะธุรกิจการเงินเป็นธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งหากทำงานทางไกลแล้วอาจก่อให้เกิดความยุ่งยาก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมทำให้องค์กรไม่เห็นด้วยกับการจัดการที่มีความยืดหยุ่น ผู้บริหารหลายคนจึงมีความคิดที่ว่าการทำงานรูปแบบเดิมที่มีมาอย่างยาวนานย่อมดีกว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการทำงานใหม่ๆ
ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ผลักดันให้พนักงานกลับมาสู่การทำงานรูปแบบเดิมเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความไม่สมดุลระหว่างทีม เพราะบางอุตสาหกรรมมีทั้งคนที่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศและบางคนสามารถทำงานทางไกลได้ ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีการทำงานแบบตัวต่อตัวมากกว่าเพื่อสร้างความเท่าเทียม
อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงบางคนยังกลัวว่าการทำงานทางไกลอาจส่งผลเสียต่อเป้าหมายทางธุรกิจ และสูญเสียความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปด้วย รวมทั้งผู้บริหารบางคนยังกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นผู้นำของตัวเอง เพราะหากให้พนักงานทำงานทางไกลแล้วตนเองจะเสียการควบคุมและสภาพแวดล้อมที่มีโครงสร้าง
การไม่สนับสนุนความยืดหยุ่นนั้นเป็นผลมาจากความไม่ไว้วางใจ หัวหน้าขาดความไว้ใจต่อพนักงานจึงไม่อยากสนับสนุนให้พนักงานทำงานทางไกล เพราะกลัวพนักงานจะอยู่ไกลสายตาของตนเอง แต่ ‘ความไว้วางใจ’ ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำควรมีในโลกการทำงานใหม่นี้
🟥 ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะสามารถลาออกได้
แม้ว่าพนักงานหลายคนจะตัดสินใจลาออกหากบริษัทให้กลับไปทำงานออฟฟิศ แต่พนักงานทุกคนมีทางเลือกไม่เหมือนกัน พนักงานที่อยู่ในกลุ่มคนทำงานที่มีความรู้มักจะมีทางเลือกมากกว่า เนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงผู้สมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี
ถึงแม้ว่าพนักงานจะดูมีอำนาจในการเลือกมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเลือกได้ คนที่จะสามารถลาออกได้ส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่มีทักษะที่เป็นที่ต้องการในภาคธุรกิจเท่านั้น ถึงจะสามารถก้าวเข้าสู่งานต่อไปได้ง่ายกว่า
🟥 เมื่อการเพิ่มเงินเดือนไม่ใช่ทางออกระยะยาว
ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ให้ความสำคัญในประเด็นความยืดหยุ่น บริษัทสตาร์ทอัพมีแนวโน้มที่จะให้อิสระแก่พนักงานมากกว่า เพราะเป็นองค์กรที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ง่ายกว่า ในขณะที่บริษัทที่อยู่มานานอาจใช้เวลานานกว่าจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่นไปพร้อมๆ กับการรักษาเป้าหมายทางธุรกิจได้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นเรื่องยากสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ จึงทำให้บางบริษัทตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนไปตามความคาดหวังของพนักงาน
หลายบริษัทเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นมากกว่า เช่น การเพิ่มค่าจ้าง แต่การใช้ค่าจ้างเพื่อจูงใจพนักงานอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดึงดูดและรักษาพนักงานเอาไว้ โดยเฉพาะพนักงานผู้มีความสามารถ หากบริษัทไม่หาวิธีเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพนักงานก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้
เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วบริษัทที่ต่อต้านการให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงานจะเริ่มปรับตัว อย่างตัวอย่างล่าสุดคือ JPMorgan Chase ตอนแรกผู้บริหารเคยวิจารณ์ถึงการทำงานทางไกลมาก่อนและต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลา แต่ปัจจุบันก็ออกมาบอกว่าพนักงานประมาณ 40% ของบริษัทจะทำงานแบบไฮบริด เนื่องจากว่าหลายบริษัทเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าการให้พนักงานกลับไปทำงานออฟฟิศไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เมื่อเวลาผ่านไปบริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างนโยบายที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ทั้งพนักงานและบริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โลกของการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนก็ต้องปรับเปลี่ยนตามอย่างเลี่ยงไม่ได้
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3FgB0yc
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา