16 ธ.ค. 2022 เวลา 11:00
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแรงงานยุคใหม่ต่างต้องเผชิญกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมุมมองการทำงานจนทำให้คนรุ่นใหม่ในวัยทำงานทุกวันนี้ต่างแสวงหาความสมดุลในชีวิตจริง ชีวิตการทำงาน ผลตอบแทน และแสวงหาการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ของแรงงานทั่วโลกเป็นผลพวงมาจากช่องว่างระหว่างวัยที่กัดกินทั้งทรัพยากร และเวลาขององค์กรภาคธุรกิจทั่วโลก เพื่อรักษา และค้นหาบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมขับเคลื่อนองค์กร การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารพนักงานที่มีศักยภาพด้วยความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นจึงเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างมากในปัจจุบัน
จากรายงาน The Deloitte Global 2022 Gen Z and Millennial Survey: Striving of Balance, Advocating for Change ซึ่งได้ทำการสำรวจบุคลากรใน Generation Y (Millennials) จำนวน 8,412 คน และ Generation Z อีก 14,808 คน ซึ่งรวมคนไทยรุ่นใหม่ถึง 300 คน เพื่อวัดมุมมองเกี่ยวกับการทำงาน และการมองโลกมิติต่างๆ โดยพบ 4 ประเด็นสำคัญดังนี้
🟥 คนรุ่นใหม่ต้องดิ้นรนกับค่าครองชีพ และวิตกกังวลเรื่องการเงิน
เนื่องด้วยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และความไม่เท่าเทียมกันของฐานะทำให้ 36% ของกลุ่ม Millennials และ 29% ของกลุ่ม Gen Z ทั่วโลกเผยว่าค่าครองชีพได้แก่ ค่าที่อยู่ ค่าเดินทาง และอื่นๆ คือเรื่องที่พวกเขากังวลที่สุดซึ่งสอดคล้องกับคนไทยกลุ่ม Millennials ในขณะที่ 33% ของคนไทยรุ่น Gen Z ห่วงเรื่องการไม่มีงานทำมากกว่า นอกจากนี้พบว่า 3 ใน 4 ของกลุ่ม Millennials กว่า 77% และกลุ่ม Gen Z กว่า 72% เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนว่ามีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
จากรายงานพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของของกลุ่ม Millennials กว่า 47% และ กลุ่ม Gen Z กว่า 46% ต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือนซึ่งเต็มไปด้วยความกังวลในการใช้จ่าย เมื่อเทียบกับคนไทยที่เผชิญสถานการณ์เดียวกันแล้วพบว่าคนไทยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าคนทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญกว่า 67% ของกลุ่ม Millennials และ 68% ของกลุ่ม Gen Z
นอกจากนั้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยทั่วโลกกว่า 59% ของกลุ่ม Millennials และ Gen Z รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะสามารถเกษียณอายุได้อย่างมีชีวิตที่สะดวกสบายซึ่งในทางกลับกันคนไทยกลุ่ม Millennials กว่า 43% และ Gen Z กว่า 51% กลับมีมุมมองเรื่องนี้ในเชิงบวกกว่าเล็กน้อย
ดังนั้น คนรุ่นใหม่ส่วนมากจึงหาทางออกกับสถานการณ์การเงินที่ยากลำบากนี้โดย 33% ของกลุ่ม Millennials และ 43% ของกลุ่ม Gen Z เลือกที่จะทำงานเสริมหรือมีอาชีพที่สองเพิ่มเติมจากงานหลัก ในขณะที่บางส่วนเริ่มย้ายตัวเองไปอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเพื่อทำงานแบบ Remote Work หรือการทำงานทางไกล
แม้ว่าการทำงานในรูปแบบนี้ยังมีจำนวนไม่มากแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ของไทยก็มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดย 63% ของคนไทยกลุ่ม Millennials และ 67% ของกลุ่ม Gen Z มีรายได้มากกว่าช่องทางเดียวโดย 3 อันดับของงานเสริมที่นิยมมากที่สุดของคนไทย ได้แก่ การขายของออนไลน์ การเป็นศิลปิน และการทำงานองค์กรไม่แสวงหากำไร
นอกจากนี้ 11% ของกลุ่ม Millennials และ Gen Z มองว่าความไม่มั่นคงทางการเมือง สงคราม และความขัดแย้งระหว่างประเทศคือประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญสูงสุดอีกด้วย
🟥 The Great Resignation สัญญาณแห่งจุดแตกหักและโอกาสในการประเมินวิธีการทำงานใหม่ๆ
แม้ว่าความภักดีต่องานเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในปีก่อนเล็กน้อย แต่ผลจาก The Great Resignation ยังคงครุกรุ่นโดยเฉพาะกับกลุ่ม Gen Z ซึ่งพบว่า 40% ของ Gen Z ของค่าเฉลี่ยประชากรทั่วโลก และ 39% ของคนไทยวางแผนว่าจะออกจากการทำงานภายใน 2 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับ Millennials แล้ว ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25% และ 13% ของประชากรโลกกับคนไทย ตามลำดับ
ราว 1 ใน 3 ของค่าเฉลี่ยประชากรโลกมีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานโดยที่ไม่มีงานอื่นรองรับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พึงพอใจในงานที่ทำอยู่ซึ่งเทียบกับคนไทยที่ตอบในคำถามเดียวกัน พบว่าคนไทยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าคนทั่วโลกอยู่ราวๆ 2 ใน 3
เพราะฉะนั้น ภาคธุรกิจควรเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถโดยจากรายงานพบว่าค่าตอบแทนคือ สิ่งที่ดึงดูดคนให้อยู่กับองค์กรได้ผลที่สุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักของคนไทยรุ่นใหม่ในการเลือกที่ทำงานคือ ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตที่ดี มีโอกาสการเรียนรู้ และการพัฒนาตนเอง
โดยเฉลี่ยราว 75% ของคนรุ่นใหม่ในกลุ่มประชากรโลกชอบการทำงานแบบ Remote Work เพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย มีเวลาสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ และอยู่ใกล้ชิดครอบครัวได้มากขึ้น นอกจากนี้กว่า 45% ของ Millennials และ 49% ของ Gen Z ต้องการงานที่มีความยืดหยุ่น
ในขณะที่ 64% ของคนไทยในกลุ่ม Millennials และ 71% ของ Gen Z อยากทำงานแบบ Hybrid หรือการทำงานแบบได้มาเจอหน้าเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่ให้มีวันที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ประหยัดเงิน และเวลาในการเดินทาง
นอกจากนี้ประมาณ 20% ของการสำรวจระดับโลกเผยว่ามีการปฏิเสธการทำงานหากงานนั้นๆ ไม่ได้สอดคล้องกับคุณค่าในชีวิต ซึ่งหากนายจ้างแสดงออกถึงความใส่ใจต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีวัฒนธรรมในองค์กรที่ยอมรับในความหลากหลายก็มีแนวโน้มสูงที่คนรุ่นใหม่จะทำงานกับองค์กรนั้นๆ นานกว่า 5 ปี
🟥 คนทำงานรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมในการรักษ์สิ่งแวดล้อม
การปกป้องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญสูงสุดกว่า 75% ของค่าเฉลี่ยทั่วโลก และ กว่า 88% ของคนไทยรุ่นใหม่เชื่อว่าโลกอยู่ในจุดเปราะบางที่อาจจะไม่สามารถหวนคืนสู่สภาพเดิมได้อีกแล้ว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่กลับมีจำนวนไม่ถึงครึ่งที่มองในแง่ดีว่าความพยายามในการปกป้องโลกที่นายจ้างลงทุนไปจะประสบความสำเร็จ
คนส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของคนรุ่นใหม่ทั้ง Millennials และ Gen Z ทั่วโลกพยายามที่จะมีส่วนในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดย 64% ของคนกลุ่ม Gen Z กล่าวว่ายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ส่งผลต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับคำตอบของคนไทยทั้งสอง Generation กว่า 94%
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ทั้ง Millennials และ Gen Z ต้องการที่จะเห็นองค์กรที่ทำงานด้วยให้ความสำคัญด้านสภาพอากาศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมได้โดยตรง อย่างไรก็ตามมีเพียง 16% ของ Millennials และ 18% ของ Gen Z เท่านั้นที่เชื่อว่านายจ้างของพวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงนี้
🟥 สุขภาพจิตในที่ทำงานจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่ม Gen Z ในไทย และทั่วโลกกล่าวว่าตนเองมีความเครียด และความวิตกกังวลมากขึ้นกว่า 60% และ 46% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่ม Millennials ในไทยและทั่วโลกกว่า 42% และ 38% ตามลำดับ มีระดับเกณฑ์ความเครียดในระดับสูงแต่มีการไล่ระดับลดลงมาเมื่อเทียบกับผลสำรวจในปีที่ผ่านมา ซึ่งการเงินทั้งในระยะสั้น และระยะยาวยังคงเป็นปัจจัยหลักของความเครียดของกลุ่ม Gen Z และ Millennials โดย 67% ของคนไทยมีความกังวลกับประเด็นดังกล่าวในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ Gen Z และ Millennials ทั่วทั้งโลก
ในขณะเดียวกันอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากในคนรุ่นใหม่ทั้งสองกลุ่มซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรตระหนักเพื่อพยายามดึงบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้โดยสาเหตุมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าตัวเองหมดไฟจากการทำงานหนัก และอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความกดดันค่อนข้างสูง
เป็นผลให้ในปัจจุบันหลายๆ องค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของที่ทำงานมากขึ้น มากกว่าครึ่งของคนรุ่นใหม่ยอมรับว่าสองประเด็นนี้เป็นสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด
อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบผลสำรวจคนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Z และ Millennials ของคนไทยกับคนส่วนใหญ่ในโลกช่วยสะท้อนให้เห็นบางอย่างที่สามารถนำไปสู่วิธีคิดใหม่ๆ เพื่อรองรับกับบริบทที่มีความแตกต่างมากขึ้นได้ในปัจจุบัน ทั้งมุมมองต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารบุคลากร การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3BF3n8a
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา