20 ธ.ค. 2022 เวลา 06:11 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ ๑๕ (ตอน ๓)
อุรุเวลคมนปริวรรต
โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
**********
~ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ~
ลำดับนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาค
เมื่อให้พระชฎิลพันองค์ สำเร็จพระอรหัตผล
ด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์พิเศษ
คือ อาทิตตปริยายสูตร
เสร็จแล้ว ณ คยาสีสประเทศ
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์หนึ่งพันนั้นแวดล้อม
ทรงพระดำริว่า จักเปลื้องปฏิญญาที่ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร
จึงได้เสด็จไปยังลัฏฐิวัน อุทยานสวนตาลหนุ่ม (สุปติฏฐเจดีย์)
ณ ชานพระนครราชคฤห์.
พระราชาได้ทรงสดับจากสำนักของนายอุทยานบาลว่า
พระศาสดาเสด็จมาแล้ว
จึงทรงห้อมล้อมด้วย
พราหมณ์และคฤหบดี ๑๒ นหุต (คือ ๑๒ หมื่น)
เข้าได้เฝ้าพระศาสดา
ในขณะนั้น
พื้นพระบาทของพระพุทธเจ้า
อันวิจิตรด้วยจักรกำลังเปล่งแสงสุกสกาวขึ้น
ประหนึ่งเพดานแผ่นทองคำ
พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงหมอบพระเศียร
ลงแทบพระบาทของพระตถาคตเจ้า
ถวายอภิวาทนมัสการ
แล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งพร้อมกับบริษัท.
แต่พราหมณ์คฤหบดีราชบริวาร ๑๒ นหุตนั้น
มีอากัปกายวจีการต่าง ๆ กัน
บางจำพวกถวายอภิวาทบังคมพระผู้มีพระภาค
บางจำพวกเป็นแต่กล่าวสัมโมทนียกถาปฏิสันถาร
บางจำพวกประฌมกรนมัสการแต่ไม่อภิวาทกราบไหว้
บางจำพวกร้องประกาศนามและโคตรแห่งตน
บางจำพวกนิ่งอยู่ไม่กระทำกายวจีวิการ
**********
ครั้งนั้น พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น
ได้มีความคิดดังนี้ว่า
"พระมหาสมณะ ประพฤติพรหมจรรย์ในท่านอุรุเวลกัสสป?
หรือว่า ท่านอุรุเวลกัสสป ประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ?"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกในจิต
ของพราหมณ์ และคฤหบดีเหล่านั้น
ด้วยจิตของพระองค์แล้ว
ทรงประสงค์จะแสดงความจริงให้สิ้นสงสัย
จึงได้ตรัสกะพระเถระอุรุเวลกัสสป
ด้วยพระคาถาว่า
"ดูก่อน ท่านอยู่ในอุรุเวลาประเทศมานาน
ท่านผู้เป็นปาโมกข์คณาจารย์ (ผู้สอน)
สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอมอยู่ ด้วยกำลังพรต"
"เห็นโทษอะไรหรือ
จึงละไฟ (ที่บูชา) เสีย?"
"ดูก่อนกัสสป เราถามเนื้อความนี้กะท่าน
อย่างไร ท่านจึงละการบูชาไฟเสียเล่า?"
ฝ่ายพระเถระรู้พระประสงค์
ของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคาถานี้ว่า
"ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวยิ่ง
สรรเสริญผล คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
อารมณ์ที่สัตว์ปรารถนา
และหญิงที่น่าใคร่ทั้งหลาย
แสดงว่าบูชายัญแล้วก็จะได้ผล
คือ อารมณ์ที่รักมีรูป เสียง กลิ่น รส เหล่านี้เป็นต้น"
ข้าพระองค์รู้ว่า นี้เป็นมลทิน (เครื่องหม่นหมอง)
ในอุปธิทั้งหลาย
อันยัญทั้งหลาย
ย่อมกล่าวสรรเสริญผล ล้วนแต่มลทินอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์
จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง
และการบูชาเพลิง ที่ทำมาในกาลก่อน"
**********
สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า
"ดูก่อนกัสสป ก็ใจแห่งท่านไม่ยินดีในอารมณ์เหล่านั้น
คือ รูป เสียงและรสเหล่าวัตถุกามแล้ว"
"ดูก่อนกัสสป ก็ทีนั้นใจแห่งท่านยินดีแล้วในสิ่งไรเล่า
ในเทวโลกและมนุษยโลก?"
"ท่านจงกล่าวซึ่งธรรม เป็นที่ยินดีแห่งใจของท่านสิ่งนั้น"
พระอุรุเวลกัสสป กล่าวคาถาตอบว่า
"ข้าพระองค์ได้เห็นแล้ว
ซึ่งส่วนที่สัตว์จะพึงถึง คือ นิพพาน
อันระงับแล้ว เพราะไม่มีกิเลส
และทุกข์เครื่องเร่าร้อนกระวนกระวาย
ไม่มีอุปธิ คือ ขันธ์ และกิเลส และอภิสังขาร
อันจักไม่เป็นอย่างอื่น คือ จักแปรปรวน
ใช่ธรรมที่บุคคลอื่นจะพึงนำไป
คือ ไม่เป็นวิสัยที่ผู้อื่นจะมาให้ผู้อื่นรู้ได้
ต่อผู้ที่จะกระทำให้แจ้งจึงจะรู้เฉพาะตัว
ไม่มีกังวล เหตุราคะเป็นต้น
มิได้เข้าพัวพัน (ในกาม)
ไม่ข้อง ไม่ติดอยู่แล้วในกามภพ
ไม่ข้องไม่ติดอยู่แล้วในภพทั้ง ๓
มีกามภพ เป็นประธาน
ข้าพระองค์ได้เป็นซึ่งสันตบท ทางระงับ
คือ นิพพาน แจ้งแก่จิตแล้ว"
"เพราะเหตุนั้น
ข้าพระองค์จึงไม่ได้ยินดี ในการเซ่นสรวง
ไม่ได้ยินดีในการบูชาเพลิง
อันไม่ใช่มรรคาแห่งนิพพาน"
พระอุรุเวลกัสสปกล่าวคาถานี้แล้ว
ลุกจากอาสนะ กระทำอุตราสงค์ผ้าห่มเฉียงบ่าข้างหนึ่ง
ซบเศียรลง ณ พระบาทยุคลแห่งสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค
แล้วทูลประกาศฉะนี้ว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
พระองค์เป็นพระศาสดาผู้สั่งสอนแห่งข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นสาวกผู้ฟังโอวาท"
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาผู้สั่งสอนแห่งข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นสาวกผู้ฟังโอวาท" ดังนี้แล้ว
เหาะขึ้นสู่เวหาส ๗ ครั้ง
คือ ๑ ชั่วลำตาล ๒ ชั่วลำตาล
จนประมาณ ๗ ชั่วลำตาล
แล้วลงมาถวายบังคมพระตถาคตแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
**********
มหาชนได้เห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว
พากันสิ้นสงสัย
กล่าวพรรณนา
พระคุณของพระศาสดาว่า
"น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพมาก
แม้พระอุรุเวลกัสสป ชื่อว่ามีทิฏฐิเข็มแข็งอย่างนี้
สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์
ก็ถูกพระตถาคตทำลายข่ายคือทิฏฐิทรมานแล้ว"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"เราทรมานพระอุรุเวลกัสสปแต่ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้"
แม้ในอดีต พระอุรุเวลกัสสปนี้ก็ถูกเราตถาคต
ทรมานมาแล้วเหมือนกัน"
แล้วตรัสมหานารทกัสสปชาดก
ในเพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น แล้วทรงประกาศสัจจะทั้ง ๔.
พระเจ้ามคธราช พร้อมกับบริวาร ๑๑ นหุต
เกิดธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) บรรลุพระโสดาปัตติผล
ส่วนอีกหนึ่งนหุต (หนึ่งหมื่น) ประกาศความเป็นอุบาสก
ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์.
**********
~ บรรลุความปรารถนาทั้ง ๕ ~
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารบรมบพิตร
เมื่อทรงสถิตในพระโสดาปัตติผลแล้ว
สำเร็จความปรารถนาครบทั้ง ๕ อย่าง
จึงกราบทูลแก่พระโลกนาถเจ้าว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ณ กาลก่อนเมื่อข้าพระองค์ยังเป็นพระกุมารอยู่
ยังไม่ได้ราชาอภิเษกนั้น
ได้มีความปรารถนาเป็นเครื่องยินดี ๕ อย่างว่า
ข้อ ๑) ขอให้ชนทั้งหลายซึ่งจัดแจงราชสมบัติ พึงอภิเษกเราในราช
สมบัติเป็นราชามหากษัตริย์มคธราชนี้เถิด
ข้อ ๒) ขอองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พึงเสด็จมาหยั่งลงยังแว่นแคว้นแห่งเราผู้ได้อภิเษกแล้วนั้น
ข้อ ๓) ขอตัวเรา พึงได้เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ข้อ ๔) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พึงทรงแสดงธรรมแก่เรา
ข้อ ๕) ขอตัวเรา พึงตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
บัดนี้ ความปรารถนาแห่งข้าพระองค์
ทั้ง ๕ อย่างนั้นสำเร็จแล้วทุกประการ.
หลังจากนั้น พระเจ้าพิมพิสาร
ทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า
เพื่อเสวยภัตตาหารในวันต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงรับ ด้วยความเป็นผู้นิ่งอยู่เป็นสำคัญ
พระเจ้าพิมพิสารทราบว่า ทรงรับนิมนต์แล้ว
ก็เสด็จลุกจากพระอาสน์
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วกระทำประทักษิณ
เสด็จกลับยังพระราชนิเวศน์สถาน.
**********
วันรุ่งขึ้น
พระเจ้าพิมพิสาร ให้ตกแต่งโภชาหารอันประณีตเสร็จแล้ว
จึงดำรัสให้ราชบุรุษไปกราบทูลภัตตกาล.
พวกมนุษย์ชาวเมืองราชคฤห์แม้ทั้งสิ้นนับได้ ๑๘โกฏิ
ทั้งที่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า และทั้งที่ไม่ได้เห็น
มีความประสงค์จะเห็นพระตถาคต
จึงได้จากกรุงราชคฤห์ไปยังลัฏฐิวันแต่เช้าตรู่.
หนทาง ๓ คาวุตไม่เพียงพอ.
ลัฏฐิวันอุทยานทั้งสิ้น ได้แน่นขนัดไปหมด.
มหาชนแลดูอัตภาพอันถึงความงามด้วยพระรูปโฉมของพระทศพล
ไม่อาจกระทำให้อิ่มได้.
พึงพรรณนาความสง่างามแห่งพระรูปกายแม้ทั้งสิ้นนี้
อันมีประเภทเป็นพระลักษณะ
และพระอนุพยัญชนะของพระตถาคต
ชื่อว่าวรรณรูป (การพรรณนารูป).
มหาชนผู้แลดู พระสรีระของพระทศพล อันถึงความงาม
ด้วยพระรูปโฉม แน่นขนัดไปหมดด้วยอาการอย่างนี้
จึงไม่มีโอกาสที่แม้ภิกษุรูปหนึ่ง
จะออกไปที่อุทยานและที่หนทาง.
**********
~ ท้าวสักกะทรงนิรมิตเพศ เป็นมาณพน้อย ~
ได้ยินว่าหากเป็นเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงขาดพระกระยาหาร
การขาดพระกระยาหารนั้น อย่าได้มีเลย...
เพราะเหตุนั้น
อาสน์ที่ท้าวสักกะประทับนั่ง จึงแสดงอาการร้อน
ท้าวสักกะนั้น ทรงพระรำพึงอยู่
ได้ทรงทราบเหตุการณ์นั้น
จึงทรงนิรมิตเพศ เป็นมาณพน้อย
กล่าวคำสดุดีอันปฏิสังยุตด้วย
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
เสด็จลงตรงเบื้องพระพักตร์ของพระทศพล
ได้โอกาสด้วยเทวานุภาพ
เสด็จนำไปข้างหน้า
กล่าวคุณของพระศาสดา ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
"พระผู้มีพระภาคเจ้า
มีวรรณะงามดุจลิ่มทองสิงคี ผู้ทรงผูกแล้ว
เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์พร้อมด้วยพระปุราณชฏิล
ผู้ฝึกตนได้แล้ว ผู้หลุดพ้นแล้ว"
"พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีวรรณะงามดุจลิ่มทองสิงคี
ผู้หลุดพ้นแล้ว เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์
พร้อมกับพระปุราณชฏิล ผู้หลุดพ้นแล้ว"
"พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีวรรณะงามดุจทองสิงคี
ผู้ทรงข้ามแล้ว เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์
พร้อมกับพระปุราณชฏิล ผู้ข้ามพ้นแล้ว"
"พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๑๐
มีพระกำลัง ๑๐
ทรงรู้แจ้งธรรม ๑๐
และประกอบด้วยพระคุณ ๑๐
มีบริวารพันหนึ่ง เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์แล้ว"
มหาชนได้เห็นความสง่าแห่งรูปของมาณพน้อยแล้วคิดว่า
มาณพน้อยนี้มีรูปงามยิ่งนัก
ก็มาณพน้อยนี้ เราไม่เคยเห็นเลย
จึงกล่าวว่า
"มาณพน้อยนี้มาจากไหน หรือมาณพน้อยของใคร?"
มาณพน้อยได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
"พระสุคตเจ้าพระองค์ใด ทรงฝึกพระองค์ได้ในที่ทั้งปวง
ทรงประเสริฐที่สุด ไม่มีบุคคลเปรียบเป็นพระอรหันต์ในโลก
เราเป็นคนรับใช้ของพระสุคตเจ้าพระองค์นั้น"
พระศาสดาทรงดำเนินทางซึ่งมีโอกาสอันท้าวสักกะทรงกระทำแล้ว
ทรงห้อมล้อมด้วยภิกษุพันหนึ่ง
เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์.
พระราชาทรงถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
**********
~ ทรงถวาย อุทยานเวฬุวัน (วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา) ~
เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว
ทรงพระราชาปริวิตก
ถึงสถานควรจะเป็นที่เสด็จอยู่แห่งพระโลกนาถเจ้า
ทรงเห็นเวฬุวันอุทยาน
ว่า เป็นที่ไม่ไกลไม่ใกล้นักแต่บ้าน
บริบูรณ์ด้วยทางไปทางมา
ควรที่มนุษย์ทั้งหลายมีประโยชน์จะพึงก้าวถึง
กลางวันไม่เกลื่อนกล่นด้วยหมู่มนุษย์
กลางคืนเงียบเสียงอื้ออึงกึกก้อง
และปราศจากลุ่มชน ที่จะสัญจรเข้าออก
ควรแก่กรรมมี ณ ที่สงัดแห่งมนุษย์
ควรเป็นที่หลีกออกเร้น อยู่ด้วยวิเวกสุข ตามสมณวิสัย
พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันจักไม่อาจเป็นไปอยู่โดยเว้นรัตนะทั้งสาม
หม่อมฉันจักมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ในเวลาบ้างไม่ใช่เวลาบ้าง
ก็ชื่อว่า "ลัฏฐิวันอุทยาน" ไกลเกินไป
แต่อุทยานชื่อว่า "เวฬุวัน" ของหม่อมฉันนี้
ไม่ไกลเกินไปไม่ใกล้เกินไป
เป็นเสนาสนะสมบูรณ์ด้วยการคมนาคม
สมควรแก่พระพุทธเจ้า"
"ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับ เวฬุวัน นี้เถิด"
เมื่อจะทรงบริจาคพระเวฬุวันอุทยาน
ทรงเอาพระสุวรรณภิงคาร (พระเต้าทอง)
อันมีสีดังแก้วมณี ตักน้ำอบ ด้วยดอกไม้ และของหอม
แล้วทรงหลั่งน้ำให้ตกลงบนพระหัตถ์ ของพระทศพล
ในขณะทรงรับพระอาราม
มหาปฐพีได้หวั่นไหว
อันเป็นเหตุให้รู้ว่า
รากแก้วของพระพุทธศาสนาได้หยั่งลงแล้ว.
**********
จริงอยู่ ในชมพูทวีปยกเว้นพระเวฬุวันเสีย
ชื่อว่าเสนาสนะอื่นที่ทรงรับแล้วแผ่นดินไหว ย่อมไม่มี.
ฝ่ายในตามพปัณณิทวีป (คือเกาะลังกา)
ไม่มีเสนาสนะอื่นที่รับแล้วแผ่นดินไหว ยกเว้นมหาวิหาร.
**********
พระศาสดาครั้นทรงรับพระเวฬุวนารามแล้ว
ทรงกระทำอนุโมทนาแก่พระราชา
แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ ห้อมล้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ได้เสด็จไปยังพระเวฬุวัน.
**********

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา