Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
21 ธ.ค. 2022 เวลา 05:21 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ ๑๖
อัครสาวกบรรพชาปริวรรต
อัครสาวกบรรพชา
**********
~ เหตุที่ชื่อ สารีบุตร และ โมคคัลลานะ ~
ในที่ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์
(ที่ตำบลนาลันทา)
มีหมู่บ้านพราหมณ์ สองหมู่บ้าน
ชื่อ อุปติสสคาม และ โกลิตคาม
ในสองบ้านนั้น
ในวันที่นางพราหมณีชื่อสารี ในอุปติสสคามตั้งครรภ์นั่นแล
แม้นางพราหมณีชื่อโมคคัลลีในโกสิตคามก็ตั้งครรภ์.
ได้ยินว่า ตระกูลทั้งสองนั้น ได้เป็นสหาย
เกี่ยวพันสืบเนื่องกันมาถึง ๗ ชั่วตระกูลทีเดียว.
พราหมณ์ผู้สามีได้ให้พิธีบริหารครรภ์แก่พราหมณีทั้งสองนั้น
ในวันเดียวกันเหมือนกัน.
โดยกาลล่วงไป ๑๐ เดือน
นางพราหมณีทั้งสองนั้นก็คลอดบุตร.
ในวันขนานชื่อ
พวกญาติตั้งชื่อบุตรของสารีพราหมณีว่า “อุปติสสะ”
เพราะเป็นบุตรของตระกูลนายบ้าน ในตำบลอุปติสสคาม,
(แต่เพราะเป็นบุตรของนางสารีจึงนิยมเรียกกันว่า “สารีบุตร”)
ตั้งชื่อบุตรของโมคคัลลีพราหมณีว่า “โกลิตะ”
เพราะเป็นบุตรของตระกูลนายบ้านในตำบลโกลิตคามนอกนี้.
(แต่นิยมเรียกกันว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา)
**********
เด็กทั้งสองนั้นถึงความเจริญแล้ว
ได้ถึงความสำเร็จแห่งศิลปะทุกอย่าง.
ในเวลาไปสู่แม่น้ำหรือสวนเพื่อประโยชน์จะเล่น
อุปติสสมาณพมีเสลี่ยงทองคำ ๕๐๐ เป็นเครื่องแห่แหน,
โกลิตมาณพมีรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๕๐๐ เป็นเครื่องแห่แหน,
ชนทั้งสองมีมาณพเป็นบริวารคนละ ๕๐๐.
ก็ในกรุงราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขาทุกๆ ปี
หมู่ญาติได้ยกเตียงซ้อนกันเพื่อกุมารทั้งสองนั้น
ในทีเดียวกันนั่นเอง.
แม้กุมารทั้งสองก็นั่งดูมหรสพร่วมกัน
ย่อมหัวเราะในฐานะควรหัวเราะ
ย่อมถึงความสังเวชในฐานะที่ควรสังเวช
ย่อมตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล.
**********
~ สองสหายแสวงหาธรรม ~
วันหนึ่ง
เมื่อกุมารทั้งสองเหล่านั้นดูมหรสพโดยทำนองนี้
ความหัวเราะในฐานะที่ควรหัวเราะ
หรือความสังเวชในฐานะที่ควรสังเวช
หรือตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล
มิได้มีแล้วเหมือนในวันก่อนๆ
เพราะญาณถึงความแก่รอบแล้ว.
ก็ชนทั้งสองคิดกันอย่างนี้ว่า
“จะมีอะไรเล่า? ที่น่าดูในการนี้,
ชนทั้งหมดแม้นี้ เมื่อยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี
ก็จักถึงความเป็นสภาพหาบัญญัติมิได้,
ก็เราทั้งสองควรแสวงหาธรรมเครื่องพ้นอย่างเอก”
ดังนี้แล้ว ถือเอาเป็นอารมณ์นั่งอยู่แล้ว.
ลำดับนั้น
โกลิตะพูดกะอุปติสสะว่า
“อุปติสสะผู้สหาย ไฉน? ท่านจึงไม่หัวเราะรื่นเริงเหมือนในวันอื่นๆ
วันนี้ ท่านมีใจไม่เบิกบาน ท่านกำหนดอะไรได้หรือ?”
อุปติสสะนั้นกล่าวว่า
“โกลิตะผู้สหาย เรานั่งคิดถึงเหตุนี้ว่า
‘ในการดูคนเหล่านี้ หาสาระมิได้,
การดูนี้ไม่มีประโยชน์, เราควรแสวงหาโมกขธรรมเพื่อตน’,
ก็ท่านเล่า เพราะเหตุไร? จึงไม่เบิกบาน.”
แม้โกลิตะนั้น ก็บอกอย่างนั้นเหมือนกัน.
ลำดับนั้น
อุปติสสะทราบความที่โกลิตะนั้นมีอัธยาศัยเช่นเดียวกันกับตน
จึงกล่าวว่า “สหายเอ๋ย เราทั้งสองคิดกันดีแล้ว,
ก็เราควรแสวงหาโมกขธรรม,
ธรรมดาผู้แสวงหาต้องได้บรรพชาชนิดหนึ่งจึงควร,
เราทั้งสองจะบรรพชาในสำนักใครเล่า?”
**********
~ สองสหายได้กระทำกติกา ~
ก็สมัยนั้นแล
ปริพาชกหนึ่งนามชื่อว่า "สญชัย"
อาศัยอยู่ ณ เมืองราชคฤห์ กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่.
สารีบุตรและโมคคัลลานะทั้งสองนั้น
ตกลงกันว่า “เราจักบวชในสำนักท่านสญชัยนั้น,”
ต่างส่งมาณพ ๕๐๐ ไปด้วยคำว่า
“ท่านทั้งหลายจงเอาเสลี่ยงและรถไปเถิด,”
พร้อมด้วยมาณพ ๕๐๐ บวชแล้วในสำนักของสญชัย.
จำเดิมแต่เขาทั้งสองบวชแล้ว
สญชัยก็ได้ถึงความเลิศด้วยลาภและยศอย่างเหลือเฟือ.
ทั้งสองเรียนจบลัทธิสมัยของสญชัยโดยสองสามวันเท่านั้น
จึงถามว่า “ท่านอาจารย์ ลัทธิที่ท่านรู้มีเพียงเท่านี้ หรือมีแม้ยิ่งกว่านี้?”
เมื่อสญชัยตอบว่า “มีเพียงเท่านี้แหละ, เธอทั้งสองรู้จบหมดแล้ว”
เขาทั้งสองจึงคิดกันว่า
“เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักของท่านผู้นี้ก็ไม่มีประโยชน์
เราทั้งสองออกมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม,
โมกขธรรมนั้น เราไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้ในสำนักของท่านผู้นี้,
อันชมพูทวีปใหญ่นัก, เราเที่ยวไปยังคามนิคม ชนบท และราชธานี
คงจักได้อาจารย์ผู้แสดงโมกขธรรมสักคนเป็นแน่.”
ตั้งแต่นั้น ใครพูดในที่ใดๆ ว่า
“สมณพราหมณ์ผู้บัณฑิต มีอยู่”
เขาทั้งสองย่อมไปทำสากัจฉาในที่นั้นๆ
ปัญหาที่เขาทั้งสองถามไป อาจารย์เหล่าอื่นหาอาจตอบได้ไม่,
แต่เขาทั้งสองย่อมแก้ปัญหาของอาจารย์เหล่านั้นได้.
เขาสอบสวนทั่วชมพูทวีปอย่างนั้นแล้ว
กลับมายังที่อยู่ของตน จึงทำกติกากันว่า
“โกลิตะผู้สหาย ในเราสองคน
ผู้ใดได้บรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอก (แก่กัน)”
**********
~ พระอัสสชิเถระ ~
เมื่อเขาทั้งสองทำกติกากันอย่างนั้นอยู่
พระศาสดาเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
โดยลำดับดังที่กล่าวแล้ว ทรงรับเวฬุวันแล้ว ประทับอยู่ในเวฬุวัน.
ในกาลนั้น พระอัสสชิเถระในจำนวนพระปัญจวัคคีย์
ระหว่างพระอรหันต์ ๖๑ องค์
ที่พระศาสดาทรงส่งไปเพื่อประกาศคุณพระรัตนตรัย
ด้วยพระดำรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์
เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมากเถิด,”
กลับมายังกรุงราชคฤห์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น
ท่านถือบาตรและจีวรไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่.
**********
ในขณะนั้นเป็นเวลาเช้า
อุปติสสปริพาชกทำภัตกิจแต่เช้าตรู่แล้ว
ไปยังอารามของปริพาชก
ได้พบพระเถระแล้ว
**********
ท่านพระอัสสชินุ่งอันตรวาสกแล้ว
ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์
มีมรรยาทก้าวไป ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน
น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ.
สารีบุตรปาริพาชก ได้เห็นท่านพระอัสสชิ
กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์
น่าเลื่อมใส
ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า
บรรดาพระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุพระอรหัตมรรคในโลก
ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่
ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้...
แล้วได้ดำริต่อไปว่า "ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้
เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต
ถ้ากระไร เราเมื่อแสวงหาโมกขธรรม
ควรติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลังๆ"
**********
ครั้งนั้น
ท่านพระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์
ถือบิณฑบาตกลับไป.
สารีบุตรปริพาชกทราบความที่พระเถระนั้นประสงค์จะนั่ง
จึงได้จัดตั่งของปริพาชกสำหรับตนถวาย.
แม้ในเวลาที่ท่านฉันเสร็จแล้ว
ก็ได้ถวายน้ำในกุณโฑของตนแด่พระเถระ.
ครั้นทำอาจาริยวัตรอย่างนั้นแล้ว
จึงทำปฏิสันถารกับพระเถระซึ่งฉันเสร็จแล้ว
ถึงได้พูดปราศรัยกับท่านพระอัสสชิ
ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง
เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
สารีบุตรปริพาชกยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กล่าวคำนี้กะท่านพระอัสสชิว่า
"ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส
ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือ ท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?"
**********
~ พระอัสสชิแสดงหัวใจพระศาสนา ~
พระเถระคิดว่า “ธรรมดาปริพาชกเหล่านี้ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา,
เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพาชกนี้,”
เมื่อจะแสดงความที่ตนบวชใหม่
พระอัสสชิจึงกล่าวว่า : "ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตร
เสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล
เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา
และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น"
สารีบุตรปริพาชก : "ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?"
พระอัสสชิ : "ผู้มีอายุ เราแลเป็นผู้ใหม่ บวชแล้วไม่นาน
เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง
แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ"
ปริพาชกเรียนว่า “ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ,
ขอพระผู้เป็นเจ้ากล่าวตามสามารถเถิด
จะน้อยหรือมากก็ตาม ข้อนั้นเป็นภาระของข้าพเจ้า
เพื่อแทงตลอดด้วย ๑๐๐ นัย ๑,๐๐๐ นัย”
“จะมากหรือน้อยก็ตาม ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเถิด,
จงบอกแก่ข้าพเจ้าแต่ใจความเท่านั้น,
ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว
จะต้องทำพยัญชนะให้มากไปทำไม.”
**********
~ พระอัสสชิเถระแสดงธรรม ~
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิ
ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชก ว่าดังนี้:-
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้"
**********
~ สารีบุตรปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม ~
ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ ดวงตาเห็นธรรม
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา"
ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชก
ธรรมนี้แหละ ถ้ามีก็เพียงนี้ เท่านั้น
ท่านทั้งหลาย จงแทงตลอด บทอันหาความโศกมิได้
บทอันหาความโศกมิได้นี้
พวกเรายังไม่เห็น... ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัลป์.
**********
~ สารีบุตรปริพาชกเปลื้องคำปฏิญญา ~
ปริพาชกฟังเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น
ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล อันถึงพร้อมด้วยนัยพันหนึ่ง,
พระเถระยัง ๒ บทนอกนี้ให้จบลง ในเวลาเขาเป็นพระโสดาบัน.
เขาเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อคุณวิเศษชั้นสูงยังไม่เป็นไปอยู่,
ก็คาดว่า “เหตุในสิ่งนี้จักมี”
จึงเรียนกะพระเถระว่า “ท่านขอรับ”
ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนายิ่งขึ้นไป เพียงเท่านี้ก็พอ
พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ไหน?”
พระเถระตอบว่า “ประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ผู้มีอายุ.”
เขาเรียนว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ถ้ากระนั้น ขอท่านโปรดล่วงหน้าไปก่อนเถิด
ข้าพเจ้ามีเพื่อนอีกคนหนึ่ง
และข้าพเจ้าทั้งสองได้ทำกติกากะกันและกันไว้ว่า
‘ผู้ใดบรรลุอมตะก่อน ผู้นั้นจงบอกกัน‘
ข้าพเจ้าเปลื้องปฏิญญานั้นแล้ว
จักพาสหายไปสำนักพระศาสดา”
ดังนี้แล้ว หมอบลงแทบเท้าทั้งสองของพระเถระ
ด้วยเบญจางคประดิษฐ์
ทำประทักษิณ ๓ รอบ ส่งพระเถระไปแล้ว
ได้บ่ายหน้าไปสู่อารามของปริพาชกแล้ว.
**********
~ โมคคัลลานปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม ~
เวลาต่อมา
สารีบุตรปริพาชกเข้าไปหาโมคคัลลานปริพาชก.
โมคคัลลานปริพาชกได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล
ครั้นแล้วได้ถามสารีบุตรปริพาชกว่า
"ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วกระมังหนอ?"
สารีบุตรปริพาชก : "ถูกละ ผู้มีอายุ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว"
โมคคัลลานปริพาชก : "ท่านบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร ด้วยวิธีไร?"
สารีบุตรปริพาชก : "ผู้มีอายุ วันนี้เราได้เห็นพระอัสสชิ
กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ น่าเลื่อมใส
ต่อมา เราได้เข้าไปหาพระอัสสชิ
ครั้งนั้น พระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ ว่าดังนี้:-
"ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้"
ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้
โมคคัลลานปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม ว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา"
**********
ครั้งนั้น
โมคคัลลานปริพาชกได้กล่าวชักชวนสารีบุตรปริพาชกว่า
"ผู้มีอายุ เราพากันไปสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด
เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของเรา"
**********
~ ผู้บูชาอาจารย์ ~
ก็ธรรมดา พระสารีบุตรเถระนี้
ย่อมเป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ในกาลทุกเมื่อเทียว
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวกะสหายอย่างนี้ว่า
“ สหาย เราจักบอกอมตะที่เราทั้งสองบรรลุ
แก่สญชัยปริพาชกผู้อาจารย์ของเราบ้าง, ท่านรู้อยู่ก็จักแทงตลอด,
เมื่อไม่แทงตลอด, เชื่อพวกเราแล้วจักไปยังสำนักพระศาสดา,
สดับเทศนาของพุทธบุคคลทั้งหลายแล้ว จักทำการแทงตลอดซึ่งมรรคและผล”
สารีบุตรปริพาชกกล่าวต่อไปว่า
"ผู้มีอายุ ปริพาชก ๕๐๐ คนนี้อาศัยเรา เห็นแก่เราจึงอยู่ใน
สำนักนี้ เราจงบอกกล่าวพวกนั้นก่อน พวกนั้นจักทำตามที่เข้าใจ"
ลำดับนั้น สารีบุตรโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้น
ครั้นถึงแล้วได้กล่าวว่า
"ท่านทั้งหลาย เราจะไปในสำนักพระผู้มีพระภาค
เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของเรา"
พวกปริพาชกตอบว่า "พวกข้าพเจ้าอาศัยท่าน เห็นแก่ท่านจึงอยู่ในสำนักนี้
ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ พวกข้าพเจ้าทั้งหมด
ก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะด้วย"
**********
~ สองสหายชักชวนอาจารย์ ~
ต่อมา สารีบุตรโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปหาท่านสญชัยปริพาชก
ครั้นถึงแล้วได้เรียนว่า
"ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปในสำนักพระผู้มีพระภาค
เพราะพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระศาสดาของพวกกระผม"
สญชัยปริพาชกพูดห้ามว่า "อย่าเลย ท่านทั้งหลาย อย่าไปเลย
เราทั้งหมด ๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้"
สารีบุตรโมคคัลลานะได้กล่าวคำนี้ต่อสญชัยปริพาชก
แม้ครั้งที่ ๒ ...
แม้ครั้งที่สาม
สญชัยปริพาชกจึงถามว่า “ พ่อทั้งสอง พวกพ่อได้ใครที่แสดงทางอมตะแล้วหรือ?”
สหายทั้งสองจึงเรียนว่า “ได้แล้วขอรับ ท่านอาจารย์
พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก, พระธรรมก็อุบัติขึ้นแล้ว,
พระสงฆ์ก็อุบัติขึ้นแล้ว, ท่านอาจารย์ประพฤติธรรมเปล่า ไร้สาระ
เชิญท่านมาเถิด เราทั้งหลายจักไปยังสำนักพระศาสดา. ”
สญชัยปริพาชก : "ท่านทั้งสองไปเถิด. ข้าพเจ้าไม่สามารถ"
สหายทั้งสอง: "เพราะเหตุไร?"
สญชัยปริพาชก : "เราเทียวเป็นอาจารย์ของมหาชนแล้ว
การอยู่เป็นอันเตวาสิกของเรานั้น เช่นกับเกิดความไหวแห่งน้ำในตุ่ม,
เราไม่สามารถอยู่เป็นอันเตวาสิกได้"
สหายทั้งสอง: "อย่าทำอย่างนั้นเลย ท่านอาจารย์"
สญชัยปริพาชก : "ช่างเถอะ พ่อ พ่อพากันไปเถอะ, เราจักไม่สามารถ"
สหายทั้งสอง : "ท่านอาจารย์ จำเดิมแต่กาลแห่งพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก
มหาชนมีของหอมระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือไปบูชาพระองค์เท่านั้น,
แม้กระผมทั้งสองก็จักไปในที่นั้นเหมือนกัน, ท่านอาจารย์จะทำอย่างไร?"
สญชัยปริพาชก : "พ่อทั้งสอง ในโลกนี้ มีคนเขลามากหรือมีคนฉลาดมากเล่า?"
สหายทั้งสอง : "คนเขลามากขอรับ ท่านอาจารย์ อันคนฉลาดมีเพียงเล็กน้อย"
สญชัยปริพาชก : "พ่อทั้งสอง ถ้ากระนั้น พวกคนฉลาดๆ
จักไปสู่สำนักพระสมณโคดม, พวกคนเขลาๆ จักมาสู่สำนักเรา
พ่อไปกันเถิด เราจักไม่ไป"
สหายทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ท่านจักปรากฏเอง"
ดังนี้ แล้วหลีกไป.
**********
เมื่อสหายทั้งสองนั้นไปอยู่.
บริษัทของสญชัยแตกกันแล้ว.
ขณะนั้นอารามได้ว่างลง.
สญชัยนั้นเห็นอารามว่างแล้ว ก็อาเจียนออกเป็นโลหิตอุ่น.
ในปริพาชก ๕๐๐ คน ซึ่งไปกับสหายทั้งสองนั้น
บริวาร ๒๕๐ คน เปลี่ยนใจ กลับคืนสู่อาราม
(เพราะสงสารอาจารย์)
**********
สหายทั้งสองได้ไปสู่พระเวฬุวัน พร้อมด้วยปริพาชก ๒๕๐ คน
ผู้เป็นอันเตวาสิกของตน.
ครั้งนั้น สารีบุตรโมคคัลลานะพาปริพาชก ๒๕๐ คนนั้น
มุ่งไปทางที่จะไปพระวิหารเวฬุวัน.
ก็โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากสญชัยปริพาชกในที่นั้นเอง.
**********
~ ทรงพยากรณ์พระอัครสาวก ~
สหายแม้ทั้งสองนั้น ลาสัญชัยปริพาชกแล้ว
ได้ไปสู่พระเวฬุวัน...
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรโมคคัลลานะมาแต่ไกล
ครั้นแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนนั้น คือโกลิตะ และอุปติสสะ
กำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกที่ดีเลิศของเรา
จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา
ก็สหายสองคนนั้นเมื่อพ้นแล้ว ในธรรมอันเป็นที่สิ้นอุปธิ
อันยอดเยี่ยม จักมีญาณวิสัยอันลึกซึ้ง"
**********
สหายสองคนนั้น ยังมาไม่ทันถึงพระวิหารเวฬุวัน
พระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว ดังนี้.
**********
~ เข้าเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท ~
สารีบุตรโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ครั้นถึงแล้ว
ได้ซบเศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค
แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า
"ขอพวกข้าพระพุทธเจ้า พึงได้บรรพชา
พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด
พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด." ดังนี้
คนทั้งหมดได้เป็นผู้ทรงบาตรจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์
ราวกะว่าพระเถระ ๑๐๐ พรรษา.
**********
ครั้งนั้น
พระศาสดาทรงขยายพระธรรมเทศนา
ด้วยอำนาจจริยาแก่บริษัทของทั้งสองสหายนั้น
เว้นพระอัครสาวกทั้งสองเสีย,
ชนที่เหลือบรรลุพระอรหัตแล้ว.
**********
~ สาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่ ~
ก็กิจด้วยมรรคเบื้องสูงของพระอัครสาวกทั้งสองมิได้สำเร็จแล้ว.
ถามว่า “เพราะเหตุไร”
แก้ว่า “เพราะสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่”
ต่อมาในวันที่ ๒ แต่วันบวชแล้ว
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เข้าไปอาศัยหมู่บ้านกัลลวาละ
ในแคว้นมคธอยู่. เมื่อถีนมิทธะครอบงำ,
อันพระศาสดาทรงให้สังเวชแล้ว บรรเทาถีนมิทธะได้
กำลังฟังพระธาตุกรรมฐาน ที่พระตถาคตประทานแล้ว
ได้ยังกิจในมรรค ๓ เบื้องบนให้สำเร็จ
บรรลุที่สุดสาวกบารมีญาณแล้ว.
**********
ฝ่ายพระสารีบุตร ล่วงได้กึ่งเดือนแต่วันบวช
เข้าไปอาศัยกรุงราชคฤห์นั้นแหละ อยู่ในถ้ำสูกรขาตา
กับด้วยพระศาสดา,
เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตร
แก่ทีฆนขปริพาชกผู้หลานของตน,
ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระสูตร
ก็ได้บรรลุที่สุดสาวกบารมีญาณ
เหมือนผู้ที่บริโภคภัตที่เขาคดให้ผู้อื่น.
**********
มีคำถามว่า
“ก็ท่านพระสารีบุตร เป็นผู้มีปัญญามาก มิใช่หรือ?
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
จึงบรรลุสาวกบารมีญาณช้ากว่าพระมหาโมคคัลลานะ.”
แก้ว่า “ เพราะมีบริกรรมมาก”
เหมือนอย่างว่า พวกคนเข็ญใจประสงค์จะไปในที่ไหนๆ
ก็ออกไปได้รวดเร็ว, ส่วนพระราชาต้องได้ตระเตรียมมาก
มีการตระเตรียมช้างพระราชพาหนะเป็นต้น จึงสมควรฉันใด,
อุปไมยนี้ พึงทราบฉันนั้น.
**********
~ เสียงติเตียน ~
ก็โดยสมัยนั้นแล
พวกกุลบุตรชาวมคธที่มีชื่อเสียงๆ
พากันประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค.
ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า
"พระสมณะโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร
พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อให้หญิงเป็นหม้าย
พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อตัดสกุล"
บัดนี้ พระสมณโคดมให้ชฎิลพันรูปบวชแล้ว
และให้ปริพาชกศิษย์ของท่านสญชัย ๒๕๐ นี้บวชแล้ว
และกุลบุตรชาวมคธที่มีชื่อเสียงๆ
พากันประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม.
อนึ่ง ประชาชนได้เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วได้โจทย์ด้วยคาถานี้ ว่าดังนี้:-
"พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระนคร
คอกเขาของชาวมคธแล้ว
ได้ทรงนำปริพาชกพวกสญชัยทั้งปวงไปแล้ว
บัดนี้ จักทรงนำใครไปอีกเล่า?"
**********
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนพวกนั้นเพ่งโทษ
ติเตียน โพนทะนาอยู่
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงนั้นจักอยู่ไม่ได้นาน จักอยู่ได้เพียง
๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็จักหายไป"
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าชนเหล่าใดกล่าวหาต่อพวกเธอ
ด้วยคาถานี้ ว่าดังนี้:-
"พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระนคร
คอกเขาของชาวมคธแล้ว
ได้ทรงนำปริพาชกพวกสญชัยทั้งปวงไปแล้ว
บัดนี้ จักทรงนำใครไปอีกเล่า?"
พวกเธอจงกล่าวโต้ตอบต่อชนเหล่านั้น ด้วยคาถานี้ ว่าดังนี้:-
"พระตถาคตทั้งหลายผู้แกล้วกล้ามาก
ย่อมทรงนำชนทั้งหลายไปด้วยพระสัทธรรม
เมื่อชนทั้งหลายอันพระองค์ทรงนำไปอยู่โดยธรรม
ผู้เข้าใจอย่างนี้จะริษยาทำไม"
ก็โดยสมัยนั้นแล ประชาชนทั้งหลายได้เห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว
ย่อมกล่าวหาด้วยคาถาดังนี้:-
ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวโต้ตอบต่อประชาชนพวกนั้น ด้วยคาถาดังนี้:-
ประชาชนกล่าวอย่างนี้ว่า
"ได้ยินว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทรงนำชน
ทั้งหลายไปโดยธรรม ไม่ทรงนำไปโดยอธรรม"
เสียงนั้นได้มีเพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็หายไป.
**********
~ พวกภิกษุติเตียนพระศาสดา ~
ก็ในเวลาบ่ายวันนั้นเอง
พระศาสดาทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน
ประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้ว
ทรงแสดงพระปาติโมกข์.
พวกภิกษุติเตียนกล่าวว่า
“พระศาสดาประทาน [ตำแหน่ง] แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยเห็นแก่หน้า,
อันพระองค์ เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก
ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชก่อน.
เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น
ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข,
เมื่อไม่เหลียวแลถึงภิกษุเหล่านั้น
ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์,
เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระพวกภัทรวัคคีย์เหล่านั่น
ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง
มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น,
แต่พระศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นมีประมาณถึงเพียงนี้
เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก
ก็ทรงเลือกหน้าประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาทั้งหมด.”
**********
~ ประทานตำแหน่งที่ปรารถนา ~
พระศาสดาตรัสถามว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน?”
เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า “เรื่องชื่อนี้”
จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ [ตำแหน่ง] แก่พวกภิกษุไม่,
แต่เราให้ตำแหน่งที่แต่ละคนๆ ปรารถนาแล้วๆ นั่นแลแก่ภิกษุเหล่านี้,
**********
แล้วทรงแสดงบุรพกรรม
ของพระสาวกแต่ละองค์...
ที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้...
แต่กาลก่อน...
บุรพกรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะ
บุรพกรรมของชน ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นต้น
บุรพกรรมของภัทรวัคคีย์ ๓๐ คน
บุรพกรรมของภัทรวัคคีย์ ๓๐ คน
บุรพกรรมของพระอัครสาวกทั้งสอง
**********
[ที่มา]
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=1358&Z=1513
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=8
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย