Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เบื่อเมือง
•
ติดตาม
22 ธ.ค. 2022 เวลา 05:24 • ไลฟ์สไตล์
๏ ปริเฉทที่ ๑๖ (ตอน๒)
อัครสาวกบรรพชาปริวรรต
โอวาทปาฏิโมกข์
**********
~ ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวก ~
ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน ๓)
หลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน
พระศาสดาทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน
พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศในท่ามกลางสงฆ์
แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคู่พระอัครสาวก คือ
ตั้ง พระสารีบุตร ผู้ได้รับการยกย่อง
เป็นเอตทัคคะว่า "มีปัญญาล้ำเลิศ"
เป็น "พระอัครสาวกเบื้องขวา"
และตั้ง พระโมคคัลลานะ ผู้ได้รับการยกย่อง
เป็นเอตทัคคะว่า "มีฤทธิ์ล้ำเลิศ"
เป็น "พระอัครสาวกเบื้องซ้าย"
ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้ว
แล้วทรงแสดงพระปาติโมกข์.
**********
~ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ~
พระพุทธองค์ ทรงประทานหลักโอวาทปาฏิโมกข์
อันเป็น "หัวใจของพระพุทธศาสนา"
แก่พระอรหันตสาวก ผู้เป็นเอหิภิกขุทั้ง ๑,๒๕๐ องค์
ที่มาประชุมพร้อมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย
ในวันมาฆปุรณมี เป็นอัศจรรย์
**********
~ วันมาฆบูชา ~
(วันมาฆปุรณมี - วันเพ็ญเดือน 3)
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต"
เพราะมีเหตุการณ์ประจวบกับ ๔ อย่าง
๑. พระอรหันต์สาวกทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนี้
ต่างได้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน โดยมิได้นัดหมาย
๒. พระอรหันต์สาวกหรือพระสงฆ์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนี้
ล้วนเป็นเอหิภิกขุ ที่พระพุทธเจ้าทรงบวช
ให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น
เรียกว่า "พิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา"
๓. พระอรหันต์สาวกทั้ง ๑,๒๕๐รูปนี้
เป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา 6
๔. วันที่พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมายนี้
ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือนสาม)
(วันมาฆบูชา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
**********
~ พระอรหันต์สาวกทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ~
พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ
โดยมีคณะทั้ง ๔ คือ
- คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ ๕๐๐ องค์)
- คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ ๓๐๐ องค์)
- คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ ๒๐๐ องค์)
(คณะศิษย์ของชฎิล ๓ พี่น้อง)
- และคณะของพระอัครสาวกคือคณะพระสารีบุตร
และพระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ ๒๕๐ องค์)
รวมนับจำนวนได้ ๑,๒๕๐ รูป
(จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล ๓ พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)
(วันมาฆบูชา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
**********
~ โอวาทะปาฏิโมกขะคาถา ~
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง,
การไม่ทำบาปทั้งปวง,
กุสะลัสสูปะสัมปะทา,
การทำกุศลให้ถึงพร้อม,
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง
การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ,
เอตัง พุทธานะสาสะนัง,
ธรรม ๓ อย่างนี้
เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา,
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา,
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่า เป็นธรรมอันยิ่ง,
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี,
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต,
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย,
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต,
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย,
ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร,
การสำรวมในปาฏิโมกข์,
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัส๎มิง,
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง,
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,
อะธิจิตเต จะ อาโยโค,
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,
เอตัง พุทธานะสาสะนังฯ
ธรรมเหล่านี้
เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
**********
โอวาทปาฏิโมกข์ (โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก)
หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา
หรือคำสอนอันเป็น "หัวใจของพระพุทธศาสนา"
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงครั้งแรก
แก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป
ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
ณ พระเวฬุวนาราม
ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่า "วันมาฆบูชา"
(อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้
แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา
ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๔)
**********
โอวาทปาฏิโมกข์
"หัวใจของพระพุทธศาสนา"
ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง
สรุป ใจความได้เป็นสามส่วน คือ
๑) หลักการ ๓
๒) อุดมการณ์ ๔
๓) วิธีการ ๖
**********
(๑) หลักการ ๓
[แก้] พระพุทธพจน์คาถาที่หนึ่ง
ทรงกล่าวถึง "หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญ
เพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
แก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ"
หรือ หลักการ 3 กล่าวกันเป็นเป็น
การสรุปรวบยอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
อันเป็นแนวทางที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
มีผู้อธิบายว่าทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ
ศีล สมาธิ และปัญญา
**********
(๒) อุดมการณ์ ๔
[แก้] พระพุทธพจน์คาถาที่สอง
ทรงกล่าวถึงอุดมการณ์อันสูงสุด
ของพระภิกษุและบรรพชิตในพระพุทธศาสนานี้
อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น
อันอาจเรียกได้ว่า อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่
๑. ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
ความอดทนอดกลั้น
เป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือ
และเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่าง
ที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช
เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
๒. พระพุทธเจ้าทั้งหลาย กล่าว "พระนิพพาน"
ว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
การมุ่งให้ถึงพระนิพพาน
เป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช
มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
๓. ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
บุคคลผู้ที่ล้างผลาญ บีบคั้นสัตว์อื่นอยู่
ด้วยเครื่องประหารต่างๆ มีฝ่ามือ เป็นต้น
ชื่อว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
๔. ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการทำความทุกข์กาย
หรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
พระภิกษุตลอดจนบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้
ต้องขอแก่ทายกด้วยอาการที่ไม่เบียดเบียน
(คือ การไม่เอ่ยปากเซ้าซี้ขอ และไม่ใช้ปัจจัยสี่
อย่างฟุ่มเฟือยจนเดือดร้อนทายก)
**********
(๓) วิธีการ ๖
[แก้] พระพุทธพจน์คาถาที่สาม
เป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ในศาสนานี้
และยังหมายถึง วิธีการที่ธรรมทูต
ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ถือเป็นกลยุทธ
พระภิกษุที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งมีเป็นจำนวนมาก
ให้ใช้วิธีการเหมือนกันเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
และถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่ วิธีการทั้ง 6
๑. การไม่กล่าวร้าย
การไม่ติเตียนเอง และการไม่ยังผู้อื่นให้ติเตียน
(เผยแผ่ศาสนา ด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
๒. การไม่ทำร้าย
การไม่ทำร้ายเอง และการไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำร้าย
(เผยแผ่ศาสนา ด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
๓. ความสำรวมในปาติโมกข์
ศีลที่เป็นประธาน ได้แก่ ศีล ๒๒๗
(รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
ความเป็นผู้รู้จักพอดี คือ ความรู้จักประมาณ
(เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
๕. การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
(สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
๖. ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
ความเพียรในอธิจิต ด้วยสมาบัติ ๘
(พัฒนาจิตใจเสมอ มิใช่ว่าเอาแต่สอน
แต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)
**********
[ที่มา]
- พระสุตตันตปิฎก เล่ม 2 ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร
- อรรถกถา มหาปทานสูตร
- จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
**********
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย