บทความ ‘Democrats Blast Corporate Profits as Inflation Surges’ ของ The New York Times ได้กล่าวโจมตีแนวคิดนี้ไว้ว่า สภาวะการควบรวมทางธุรกิจดำเนินขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายปี ขณะที่สภาวะเงินเฟ้อต่ำนั้นเกิดขึ้นมาแล้วเกือบสิบปี ดังนั้นการควบรวมบริษัทจนเหลือผู้เล่นน้อยรายไม่น่าจะเป็นตัวการที่ทำให้ตลาดอาหารมีราคาแพงขึ้น และมองว่าต้นเหตุเกิดจากการอัดฉีดเงินของรัฐบาลที่มากเกินไปโดยไม่สนสภาพที่พังทลายของห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ของผู้บริโภค
โดยยกความคิดเห็นประกอบจากกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างบรรดาสถาบันเนื้อแห่งชาติ (Meat Institute) และสภาหอการค้าแห่งสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce) แต่แทบไม่มีบทความอื่นใดเลยที่จะนำเสนอแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างตลาดอาหารกับอำนาจของกลุ่มธุรกิจอาหารที่มีอยู่เพียงไม่กี่ราย ดังที่สำนักข่าว The Guardian และ The American Prospect พยายามนำเสนอเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกสำนักข่าวจะมีทัศนะเอนเอียงไปในทิศทางเดียวกับ The New York Times ทั้งหมด โดยนิตยสาร Times ได้ลงบทความที่มีความเห็นของผู้บริหาร Groundwork อย่าง ดร.ลินด์เซย์ โอเวนส์ (Lindsay Owens) ซึ่งพูดถึงการที่บริษัทอาหาร ธุรกิจเนื้อสัตว์ และธุรกิจขนส่งยักษ์ใหญ่ใช้วิกฤตเงินเฟ้อในการขึ้นราคาและทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากมีอำนาจในการกำหนดเพดานราคาจากการรวมศูนย์ตลาดทั้งหมดเอาไว้ที่ตนเอง