31 ธ.ค. 2022 เวลา 08:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เลือกหุ้น IPO ไงไม่ให้เจ๊ง #ของขวัญปีใหม่66จากน้าแดง 🎁
.
จริงๆตั้งใจจะเขียนนานแล้ว แต่คิดไปมารอให้ตลาดหุ้นปิดปี 2565 ก่อนดีกว่า จะได้เริ่มปีพร้อมๆมีไอเดียติดอาวุธกัน ก่อนไปที่หลักการเลือกหุ้น IPO เราต้องเข้าใจกฏเหล็ก 4 ข้อก่อนแบบไม่โลกสวยกันเลย
1. หุ้น IPO ไม่ได้เป็นภาคบังคับ ไม่ซื้อ ก็ไม่มีใครว่าโง่
2. คนซื้อ อยากขายราคาสูงๆวันแรก
3. คนขาย(เจ้าของ) อยากได้เงินเยอะๆวันจอง และตัวเองต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของ (dilution) น้อยสุด
4. คนทำดีลขาย(FA,UW) อยากได้ค่าธรรมเนียมเยอะๆ
.
จะเห็นว่า ข้อ 3 และ 4 สมประโยชน์กันอยู่ เลยเป็นที่มาของการตั้งราคาขายสูงๆเพื่อให้ deal size ใหญ่ๆ เจ้าของได้เงินเยอะ FA ได้ค่าธรรมเนียม % เยอะ แถมบางทีมีอมหุ้นไว้เอง(ดูด float) ไว้อีก กะแจกปาให้เต็มคาราเบลในวันแรกที่ราคาลอยๆ ดังนั้นหากเราโลภจัด กาวข้อ 2 เยอะไป โอกาสเป็นเหยื่อสูงมาก จรรยาบรรณเรื่องการ balance ระหว่างข้อ 2-3-4 มันหาไม่ได้ง่ายในวันที่เงินหายากแบบนี้ด้วยความสัจจริง
.
เข้าใจแล้วนะ เราไปกันต่อกับ 8 หลักการช่วยเลือกจองหุ้น IPO เพื่อให้เราเอาไป action ในข้อ 1 เริ่มด้วย basic ก่อนค่อยไป advance ตอนท้ายๆ เพื่อตอบคำถามให้ตัวเองว่าหุ้นตัวนี้ “น่าจองซื้อหรือไม่”
.
1️⃣ ราคา IPO – ใน Exclusive summary ของหนังสือชี้ชวน มันจะคำนวน P/E เสนอขาย แบบ fully diluted มาให้ (เสมือนว่าหุ้น IPO เข้ามาหมดแล้ว) วิธีดูง่ายๆคือ มันควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน กลุ่มที่ทำธุรกิจคล้ายๆกัน ตรงนี้ให้ลืมไปเลยนะว่า
(1) SET หรือ mai อย่าไปแคร์ ตลาดมันไม่มี boundary แล้ว ตลาดทั้งสองไม่ได้ทำให้การทำธุรกิจเสียเปรียบอะไรกัน บางบริษัทเก่งมาก แต่ก็ยังอยู่ mai
(2) มอง Trailing P/E ถูกต้องแล้ว อย่าเพิ่งไปมอง Forward P/E ข้างหน้า ไม่มีอะไรชัวร์ทั้งหุ้นที่จะ IPO และ ตัวเปรียบเทียบ มัน make กันได้ ถ้า P/E เสนอขาย 20x ส่วนกลุ่มเทรด P/E 25x แบบนี้มีส่วนลด 20% อ๊ะใช้ได้ แต่ถ้าไม่ให้ส่วนลดเลย ก็ต้องมีคำตอบให้ทำนองว่า หุ้น IPO นี่เก่งมาก ตัวพ่อ เทพกว่าหุ้นในตลาดเยอะ IPO เสร็จแล้วจะเป็นเสือติดปีกทิ้งห่างอย่างเหนือชั้น มาร์เก็ตแชร์ทะยาน ดุดันไม่เกรงใจใคร!! ** สรุป ดูส่วนลด Discount
.
2️⃣ อุตสาหกรรมขาขึ้น/ขาลง – บางคนดูแค่ข้อ 1 อาจตกม้าตายได้ เพราะส่วนลดที่ให้ บางทีมันเกิดจากอุตสาหกรรมที่เป็นขาลงอยู่ได้เช่นกัน ตัวอย่างสมมติ ธุรกิจโบร๊คเกอร์หุ้น แข่งกันหั่นค่าคอมกันเละ นี่ได้ยินจะมีเทรดฟรี แล้วจะเอากำไรจากไหน พวกนี้จะเสนอขายแพงไม่ได้ ดังนั้นแม้ ราคา IPO จะมีส่วนลดกลุ่มก็จริง แต่ถ้ามันอยู่ในธุรกิจขาลง มันก็ไม่น่าลงทุนอยู่ดี การ IPO จะกลายเป็นการ exit ของเจ้าของนั่นเอง (ขนหุ้นมาขาย แจกไม่อั้น)
ข้อนี้เพื่อนๆต้องไปทำการบ้าน อ่านเยอะๆทั้งในตลาดไทย ตลาดต่างประเทศ ** สรุป จองขาขึ้น ขาลงไม่น่าจอง ถ้าจะจองต้อง discount ลึกมากๆ
.
3️⃣ เอาเงินไปทำอะไร – อันนี้เหมือนจะพื้นๆ แต่มันให้เบื้องหลังที่น่าสนใจ คือ ในหนังสือชี้ชวนต้องระบุว่า เงินที่ระดมมาได้จากประชาชน จะเอาไปทำอะไร เป็นบริษัทมหาชนไม่ใช่กงสี จะเอาไปใช้สุรุ่ยสุร่ายไม่ได้ ทุกๆบาทต้องทำเพื่อผู้ถือหุ้นทุกคน บริษัทที่ดีจะมีแผนชัดเจน 3-5 ปีข้างหน้า เช่น จะเอาเงินไปซื้อเครื่องจักร ขยายกำลังการผลิต ขยายสาขา เอาไปเปลี่ยนสายการผลิตเป็น robot เอาไปทำ R&D คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น ให้คิดง่ายๆนะ เอาไปใช้อะไรก็ได้ให้บริษัทเก่งขึ้น ดีขึ้น ทำกำไรมากขึ้น แบบนี้ถือว่า ok
แต่ถ้าในดันระบุว่า ส่วนใหญ่เอาไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working capital : W/C) รู้ไหมว่ามันจะเกิดคำถามอะไรในหัวนักการเงินที่มีประสบการณ์ มันจะถามว่า ที่ผ่านมา run ธุรกิจมาได้ไง ไม่มี working cap เหรอ แล้วเดินมาได้ไง กำไรที่แสดงมา make ป่าว? การระบุกว้างๆว่าเอาเงินไปเป็น W/C มันดูไม่มีกึ๋น และก่อให้เกิดความสงสัย และพาลไปในเชิงลบมากกว่า
แต่มีข้อยกเว้นในพวกธุรกิจที่เน้นซื้อมาขายไป, งานบริการธุรกิจ พวกนี้ capacity ของเค้าคือ W/C เพราะเค้าต้อง สต๊อกสินค้า และต้องให้เครดิตเทอมลูกค้าหลายเดือน พวกนี้ถ้าระบุว่าเงินที่ได้เพื่อเป็น W/C อันนี้ ok
คราวนี้มีคำถามแน่ว่า ถ้า IPO มา เพื่อเอาเงินไปคืนหนี้สินล่ะ? ตอบแบบนักการเงินง่ายๆไม่ ok นะ เพราะต้นทุนกู้ยืม 3-5% กับ ต้นทุนจากการระดมทุนด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน IPO 10%++ (ค่าเสียโอกาส ค่าโดน dilution ความเป็นเจ้าของ ค่า FA ค่าประชาสัมพันธ์) มันต่างกันเยอะ ถ้าเจ้าของฉลาด(แบบเจ้าสัว) นายธนาคาร หรือ การออกหุ้นกู้ คือเพื่อนที่น่าคบที่สุด ใครๆก็อยากได้เงินถูกๆมาทำธุรกิจ ** สรุป วัตถุประสงค์ใช้เงิน ส่อเจตนา ทำธุรกิจ หรือ ทำหุ้น
.
4️⃣ การกระจายหุ้น – การออกหุ้นใหม่แล้วขาย IPO ที่ดี ผู้ถือหุ้นเดิม(เจ้าของ) จะต้องยังคงครองความเป็นใหญ่ ทั้งสัดส่วนการถือ การบริหาร ตรงนี้ไม่ค่อยมีปัญหา สมบัติยากส์ที่จะกระเด็นไปให้คนอื่น แต่หัวข้อนี้ มันหมายถึง การกระจายตัวของหุ้น IPO ว่าจะไปตกในมือใครบ้าง? อันนี้ไม่มีสูตรตายตัว แต่หลักคิดง่ายๆนะ มันควรจะกระจายไปให้สอดคล้องกับโครงสร้างตลาดหุ้น กอง-ฝรั่ง-เม่า เพื่อให้หุ้นตัวนั้นเข้ามาในตลาดแบบ smooth ราบรื่น หลากความคิด หลากพฤติกรรม ผสมกันไป
แต่อนิจจา ปัจจุบันการกระจายหุ้น IPO มันขับเคลื่อน drive ด้วย อุปสงค์ในหุ้นตัวนั้นเสียมากกว่า ใครเสียงดัง มือใหญ่ สาวได้สาวเอา คนขายก็อยากขายได้ทีละเยอะๆ 10-20 ล๊อตขายหมด จัดการง่าย ก็ยิ้ม ไม่วุ่นวายขายเหมือนให้เม่าหลักหมื่นคน
พวก FA จึงชอบจัดสรรให้ นักลงทุนสถาบัน และ รายใหญ่ มากกว่า และบางทีเจ้าของก็เข้าใจผิดว่าถ้าหุ้นตัวเอง สถาบันถือเยอะ รายใหญ่แบรนด์เนมถือ จะถูกมองว่า เป็นหุ้นดีหุ้นเทพ หารู้ไม่เวลาพี่ๆเคลื่อนออกนี่ ก็เละนะครับ (จริงๆการมีเม่าถือเยอะกระจายกันน่าจะทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากกว่าด้วยซ้ำ)
กลับมาเรื่องนี้ก่อน ด้วยความเชื่อข้างต้น หุ้น IPO จึงมักจะถูกเลือก หรือให้ priority กับ สถาบัน หรือ รายใหญ่ ได้เลือกก่อน เหลือเท่าไหร่ เม่าค่อยมาแย่งเอากันอีกที มันเลยมีประโยคทำนองว่า “หุ้น IPO ดีๆ มันไม่ตกมาถึงรายย่อยหรอก เมื่อใดที่โบร๊คประเคนหุ้น IPO มาให้ย่อย เมื่อนั้นแหล่ะ จงระวัง”
แอบเล่า วิธีนึงที่จะสื่อสารถึงความไม่น่าจองหุ้น X ที่น้ามักใช้บ่อยๆเวลาเจอหุ้นไม่ค่อย sexy แล้วมีคนถาม ด้วยเราเองก็ไม่ได้อยากทำร้ายธุรกิจใคร หรือ มันอาจมีพลังวิเศษถีบหุ้นขึ้นก็ได้ น้าก็มักใช้ประโยคเอาตัวรอดว่า “จองได้นะ แต่เอาแค่กันเพื่อนล้อก็พอ อย่าไปเยอะ” ดังนั้นเพื่อกันตกรถ แม้ว่ารถมันเบี้ยวๆบูดๆ ก็เอาแค่กันเพื่อนล้อไปพอ(ฮา)
คราวนี้พอจองหุ้นกันเสร็จ เราจะเห็นข้อมูลว่าหุ้นไปกระจุกตัวอยู่ที่ใคร ซึ่งอันนี้กว่าเราจะรู้ เราก็จ่ายเงินจองไปแล้ว ยากจะแก้เกมส์ ** สรุปง่ายๆคือ ถ้าหุ้นดี(ดูในหัวข้ออื่นๆ)กอง/รายใหญ่จะไม่รีบขาย แต่ถ้าไม่ดี พรี่ๆพร้อมเปิด
.
5️⃣ ทิศทาง(อัตรา)กำไร – ทุกคนก็คงบอกแหงดิ จะจองหุ้นก็ต้องเอาหุ้นที่เค้าโม้ว่ากำไรจะโตมันถึงน่าจอง ยังๆ มีมากกว่านั้น สิ่งที่ต้องดูมากๆคือ อัตรากำไร ไม่ว่าจะเป็น อัตรากำไรขั้นต้น(Gross profit margin : GPM) อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) อัตรากำไรสุทธิ (Net profit margin : NPM) อัตรากำไรจากเงินสด (EBITDA margin) สิ่งที่เราดูคือ trend (แนวโน้มครับ)
อันนี้สำคัญมาก อัตราเหล่านี้ มันบอกเราว่าทิศทางบริษัท การแข่งขันในอุตสาหกรรมมันเป็นอย่างไร ต่อให้กำไรสุทธิดี ปีที่แล้ว 90 กำไรนี้คาด 100 ปีหน้าคาด 120 ปีถัดไปคาด 130 ลบ. กำไรโตจริงเว้ย!! แต่ถ้า GPM เริ่มจาก 8% เหลือ 7% 6% และ 5% เทรนด์แบบนี้ ไม่ตัวบริษัท ก็ อุตสาหกรรมมีปัญหาละ (เช่น คู่แข่งเข้ามาเพียบ วัตถุดิบพุ่ง สินค้าตกเทรนด์คนไม่ใช้ละเลยต้องลดราคา) เทรนด์แบบนี้ พี่กอง พี่หรั่ง เค้าอ่านออก เค้าจะไม่จอง IPO นะจ๊ะ
เพื่อนๆน่าจะเจอคำนึง “ขายตอน peak” อันนี้ไม่ได้หมายถึงการ IPO ตอนกำไรสุทธิสูงสุดนะ แต่มันหมายถึง การขายในจังหวะที่ดีที่สุดของบริษัท ซึ่งก็คือ อัตราการทำกำไรที่ดีที่สุดนั่นเอง ดังนั้นหุ้น IPO ที่เทรนด์อัตรากำไรขาลงแบบนี้ถือว่าไม่น่าเอา แต่ถ้าอัตรากำไรยืนได้สม่ำเสมอ หรือขยายตัวขึ้น อันนี้ยิ่งน่าจอง IPO ** สรุป ดูเทรนด์อัตรากำไร มากกว่า ดูกำไรสุทธิ
.
6️⃣ ก่อน IPO เธอเคยผ่านอะไรมาบ้าง – เรื่องนี้เอาไว้อ่าน money game กันนะ กลับไปที่ basic การ IPO คือ การระดมทุนจากประชาชนเพื่อเอาเงินไปขยายกิจการให้เติบโต ดังนั้นจริงๆแล้ว ก่อน IPO สัก 12 เดือน มันไม่ควรมีการเพิ่มทุนแล้ว เพื่อให้บริษัทนิ่งพร้อมไปเสนอขาย IPO แต่ ในบางกรณีเราจะเห็นบางบริษัทมีการเพิ่มทุนในราคาพาร์ หรือ ราคาต่ำ IPO ก่อนการเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปไม่กี่เดือน อันนี้ให้ระวัง เพราะต้นทุนคนเหล่านี้จะต่ำมาก และถ้ายิ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ติด Silent period พวกเค้าก็พร้อมแจกขายให้เต็มข้อแก่ fc
คนชอบถาม “หุ้นต่ำจอง มันเอาที่ไหนมาขายวะ” ก็อันนี้แหล่ะจ้า
ดังนั้นถ้า money game เยอะจัดๆแพรวพราวเหลือเกิน ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้หล่อขั้นเทพ ราคาขาย IPO ไม่ได้ discount อะไร การเป็นผู้ดู ก็ไม่ผิดนะ ** สรุป Money game เยอะ ตามไม่ทัน นั่งดูก็ได้
.
7️⃣ การปันผลก่อน IPO – เอาจริงๆทำได้ และเป็น practice มาตรฐาน เพราะผู้ถือหุ้นใหม่ถือว่าเป็นคนภายนอก กลุ่มผู้ก่อตั้ง(เจ้าของ)ควรต้องเอาผลกำไรก่อน IPO ออกไปก่อนทำ IPO “เพียงแต่” อย่าให้เหลือเป็นภาระกับผู้ถือหุ้นใหม่อย่างเราๆมากนัก ถ้าเอาให้สวย และจำเป็นต้องกู้มาจ่ายปันผลให้ตัวเองก่อน ก็ควรทำก่อน IPO สัก 2 ปีไปเลย คนจะได้เห็นงบชัดๆว่าภาระดอกเบี้ยหน้าตาเป็นไง จองไม่จอง ค่อยไปดูข้ออื่นอีกที ** สรุป การปันผลก่อน IPO ไม่ใช่เงื่อนไขตัดสินใจ
.
8️⃣ พี่เป้าขอร้อง – ท่านๆ CEO มักจะมีเป้าหมายไว้เรียกแขกเสมอ อันนี้พูดยากเพราะเราก็เพิ่งรู้จักเค้า ก็ปล่อยแกพูดไปเหอะอย่าไปขัด เพียงแต่เราก็ดูสิ่งแวดล้อมภายนอกว่ามันเอื้อสิ่งที่แกโม้หรือเปล่า คนที่ให้เป้า “สอดคล้อง” กับความเป็นจริงที่สุด ถือว่าสอบผ่าน พวกโม้เกินเบอร์มักมีอะไรแอบแฝง ให้ไปดูข้อ 4-5-6 ประกอบ ** สรุป คนจริงไม่โม้เยอะ
.
ครับ น้าคิดว่าหลัก 8 ข้อนี้ น่าจะพอเป็นเหลี่ยมมุมให้คิดตัดสินใจได้บ้าง แล้วอย่าลืมกฏเหล็กข้อ 1 นะ(สำคัญ) สุดท้ายบทความนี้ ถือว่าน้าให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2566 กับเพื่อนๆแล้วกัน เอาไว้เป็นอาวุธทางปัญญาสู้ศึกหุ้นปีหน้ากันครับ สวัสดีปีใหม่ครับผม 😁🙏
ปล.เขียนไว้เพื่อการศึกษา จากประสบการณ์ มิได้ระบุเจาะจงถึงหุ้นใดๆที่เคย IPO มาในอดีตนะครับผม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา