18 ม.ค. 2023 เวลา 11:59 • ปรัชญา

ในการปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี้ มีตัวธรรมที่เป็นผู้ทำงาน

ซึ่งอาจจะใช้ศัพท์เรียกว่าเป็นคณะทำงานในการปฏิบัติธรรมก็ได้เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ชุดนี้เป็นตัวทำงาน
โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมที่อยู่ในฝ่ายของโพธิ พูดง่าย ๆ ว่าธรรมที่เป็นพวกของโพธิ คือ เกื้อหนุนการตรัสรู้หรือช่วยสนับสนุนอริยมรรค มี ๓๗ อย่าง จัดเป็น ๗ หมวด คือ
๑. สติปัฏฐาน แปลว่า การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ไม่ใช่ความคิดปรุงแต่งของเราที่คิดให้มันเป็นหรืออยากให้มันเป็น ท่านจึงจัดแยกสติปัฏฐานออกตามประเภทของสิ่งที่ชีวิตของเราเกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น ๔ ข้อ คือ
๑) กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพทางร่างกาย
๒) เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันความรู้สึกสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น
๓) จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันสภาพจิตใจ
๔) ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน ใช้สติตามดูโดยมีปัญญารู้เท่าทันเรื่องราวทั้งหลายที่รู้ที่คิดที่เกิดขึ้นในใจ
๒. ปธาน ๔ ปธาน แปลว่า ความเพียร การตั้งความเพียรหรือการประกอบความเพียร ความเพียร ๔ ประการ ได้แก่
๑) สังวรปธาน ความเพียรในการที่จะระวังหรือปิดกั้นอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็ไม่ให้เกิดขึ้น
๒) ปหานปธาน ความเพียรในการละเลิกกำจัดอกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดสิ้นหายไป
๓) ภาวนาปธาน ความเพียรในการฝึกอบรมทำกุศลกรรมหรือธรรมที่ดีที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
๔) อนุรักขนาปธาน ความเพียรในการรักษาส่งเสริมกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เจริญยิ่งขึ้นจนไพบูลย์
๓. อิทธิบาท ๔ คือ ธรรมให้ถึงความสำเร็จหรือทางแห่งความสำเร็จ
๔. อินทรีย์ ๕ แปลว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เฉพาะแต่ละอย่างหรือธรรมที่เป็นเจ้าการในการข่มกำราบอกุศลธรรมที่ตรงข้ามกับตน อินทรีย์ ๕ นั้น ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน
๕. พละ ๕ ธรรมที่เป็นกำลังในการต้านทานไม่ให้อกุศลกรรมเข้าครอบงำ ก็ได้แก่อินทรีย์ ๕ นั่นแหละ แต่มาทำหน้าที่เป็นฝ่ายรับ
๖. โพชฌงค์ ๗ แปลว่า องค์ของผู้ตรัสรู้หรือองค์ประกอบของการตรัสรู้ เป็นกลุ่มธรรมสำคัญในการทำงานให้เกิดโพธิ คือ ปัญญาตรัสรู้ ซึ่งทำให้ทั้งรู้ ทั้งตื่น และทั้งเบิกบาน ได้แก่
๑) สติ ความระลึกได้...
๒) ธรรมวิจัย ความเฟ้นธรรม...
๓) วิริยะ ความเพียร...
๔) ปีติ ความอิ่มใจ...
๕) ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย ความสงบ เย็นกายเย็นใจ
๖) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น...
๗) อุเบกขา ความวางทีเฉยดู หมายถึง ความมีใจเป็นกลาง จิตใจเรียบสม่ำเสมอ นิ่งดูไปอย่างพร้อมสบาย ในขณะที่จิตปัญญาทำงานก้าวหน้าไปเรียบรื่นตามกระบวนการของมัน
๗. สุดท้ายก็คือตัวมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการชอบ) สัมมาอาชีวะ (ดำริชอบ) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ)
ว่าที่จริง โพธิปักยธรรม ก็ขยายมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละ หลักสุดท้ายนี้จึงเป็นตัวรวม
• • • • •
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "สมุดบันทึก ธมฺม"
|เพื่อความสะอาด สว่าง สงบ แห่งปัญญา
โฆษณา