19 ม.ค. 2023 เวลา 11:10 • ข่าว

อุปสงค์ & อุปทาน หลากกลเม็ดสร้างรายได้ในตลาดมืดของวงการวิจัยโลก

วงการวิจัยไทยร้อนระอุในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการเปิดโปงด้านมืดว่า นักวิจัยไทยจำนวนไม่น้อยจ่ายเงินซื้อผลงานวิจัย เพื่อให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ทำให้หลายสถาบันพากันออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าว และเริ่มกระบวนการตรวจสอบผลงานวิจัยของบุคลากรในสังกัด ทั้งในทางลับและทางแจ้ง
2
ทว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของธุรกิจมืดในตลาดบทความวิชาการระดับโลก ที่อุปทานถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์จำนวนมหาศาลของแวดวงวิชาการในหลายประเทศ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น
2
// เริ่มต้นที่อุปสงค์ เมื่อคุณภาพนักวิชาการต้องถูกการันตีด้วยปริมาณงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ //
แวดวงวิชาการในหลายประเทศกำหนดให้จำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และจำนวนการได้รับการอ้างอิง เป็นปัจจัยสำคัญในการขอเลื่อนตำแหน่ง หรือการขอตำแหน่งทางวิชาการ กฎเกณฑ์เหล่านี้มีส่วนในการสร้างอุปสงค์ให้ตลาดบทความวิจัย และประเทศไทยก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของตลาดนั้น
3
คณะกรรมการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านความสามารถทางวิชาการที่ยกระดับขึ้นทุกปี
ล่าสุดปี 2565 กพอ. กำหนดเกณฑ์ของผู้ที่จะขอตำแหน่งศาสตราจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ไว้ว่า ต้องมีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารที่มีฐานข้อมูลของ Scopus อย่างน้อย 10 ชิ้น ผู้ขอต้องเป็นนักวิจัยชื่อแรก (first author) หรือเป็นนักวิจัยที่รับผิดชอบผลงานวิจัยนั้นโดยตรง (corresponding author) ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงทั้งหมด (life-time citation) อย่างน้อย 1,000 รายการ ไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง ต้องมีค่า h-index ไม่น้อยกว่า 18 และต้องเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ
2
ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์ในสายสังคมศาสตร์ บางสาขาก็กำหนดคุณสมบัติไว้ค่อนข้างสูง เช่น สาขาบริหารธุรกิจ ต้องมีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงจากวารสารเกรด Scopus รวมอย่างน้อย 500 รายการ ไม่นับผลงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง มี life-time h-index ไม่น้อยกว่า 8 และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกอย่างน้อย 30 โครงการ
อุปสงค์ในตลาดบทความวิจัยไทยยังเกิดจากกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่ประสงค์จะเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากในปัจจุบันการรับนักศึกษารอบแรกหรือที่เรียกกันว่ารอบพอร์ต (มาจาก portfolio) ไม่ได้วัดจากคะแนนสอบ แต่จะพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสมและผลงานที่ผ่านมาของนักเรียน
การมีบทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้นๆ ได้รับการตีพิมพ์ จะทำให้ผู้สมัครได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษจากคณะกรรมการ จนเกิดธุรกิจสถาบันติวเข้มด้านการวิจัยที่รับประกันว่า ผู้เรียนจะมีชื่อเป็นผู้แต่งคนแรกในผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาประเทศ เพื่อนำไปยื่นพอร์ต
ประเทศที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวชัดเจนไม่แพ้กันคือ จีน มหาวิทยาลัยจำนวนมากในจีนผูกโอกาสการได้รับตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรไว้กับจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม SCI (Science Citation Index) ภายในเวลา 5 ปี ก่อนยื่นขอตำแหน่ง ถ้าเป็นผู้แต่งชื่อแรกหรือเป็นผู้รับผิดชอบบทความจะได้รับโอกาสมากเป็นพิเศษ
แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐของจีนเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องแบกรับความกดดันในการผลิตบทความวิจัย เพราะการเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าทางวิชาชีพขึ้นอยู่กับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ใน SCI ไม่ใช่คุณภาพในการรักษาคนไข้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบางแห่งยังกำหนดว่า ผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ นอกจากต้องมีวิทยานิพนธ์ของตนเองแล้ว ยังต้องมีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารกลุ่ม SCI ด้วย
อิหร่านเป็นอีกประเทศที่สถาบันการศึกษาต้องการเห็นบุคลากรของตนมีบทความวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ อุปสงค์ในประเทศอิหร่านมาจากนักวิชาการและนักศึกษาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่นอกจากต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์แล้ว นักศึกษาอิหร่านส่วนใหญ่ยังต้องการคนรับจ้างทำวิทยานิพนธ์อีกด้วยโดยเฉพาะนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยานิพนธ์เป็นใบเบิกทางที่สำคัญในการทำงานของสายอาชีพนี้
6
ส่วนอาจารย์หรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผลงานตีพิมพ์ของพวกเขาจะถูกใช้เป็นมาตรวัดคุณภาพและยกระดับชื่อเสียงและ ranking ของสถาบัน ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาของอิหร่านที่มีจำนวนถึง 2,540 แห่ง ต่างก็ต้องแข่งกันเพื่อดึงดูดนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ
จะเห็นได้ว่า อุปสงค์จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดอุปทานตามมาในหลากหลายรูปแบบในวงการวารสารวิชาการระดับโลก
// วารสารวิชาการที่เข้าถึงฟรี (open access journal) จากเครื่องมือปลดแอกสู่แหล่งรายได้และเครดิตจอมปลอม //
open access journal หมายถึงวารสารที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิกหรือซื้อบทความ วารสารประเภทนี้เพิ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี
1
open access journal กำเนิดขึ้นเพื่อต่อต้านสำนักพิมพ์บทความวิจัยขนาดใหญ่ที่เรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าบทความราคาแพง บางรายบังคับซื้อสิทธิในการเข้าถึงบทความเป็นพวง (bundle) คือบังคับให้เป็นสมาชิกวารสารของสำนักพิมพ์ทุกเล่มทำให้ค่าสมัครแพงขึ้น จนกลายเป็นภาระของห้องสมุดและนักวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต่างก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงบทความวิชาการเหล่านั้น กระทั่งเกิดกระแสต่อต้าน และเกิดธุรกิจวารสารวิชาการรูปแบบใหม่ที่ผู้เขียนบทความเป็นผู้รับผิดชอบค่าตีพิมพ์ และผู้อ่านสามารถเข้าอ่านได้ฟรี
2
open access journal ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว เพราะนอกจากนักวิจัยจะสามารถเผยแพร่ผลงานได้ง่ายขึ้น ยังทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างสะดวก โดยไม่เสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ เมื่อสำนักพิมพ์ในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มเกิดการแข่งขันในตลาดวิชาการ บางเจ้าเริ่มทำการตลาดทางตรง (direct marketing) คือ ให้กองบรรณาธิการส่งจดหมายเชิญนักวิจัยเพื่อให้ส่งบทความมาลงวารสารโดยตรง หรือเชื้อเชิญนักวิจัยมาร่วมงานในฐานะกองบรรณาธิการ
อย่างไรก็ดี open access journal ส่วนหนึ่งกลายสภาพจากเครื่องมือต่อสู้เพื่อปลดแอกจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นตลาดวิชาการที่ซื้อ-ขายบทความวิจัยที่ไม่มีคุณภาพ ปัจจุบันสำนักพิมพ์ open access journal หลายแห่งให้บริการครบวงจร ตั้งแต่คิดหัวข้อวิจัย ออกแบบงานวิจัย แปลงานวิจัยภาษาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ ปรับและเรียบเรียงภาษาให้ได้มาตรฐานมากขึ้น กระบวนการ peer review ไปจนถึงทำการตลาดหลังตีพิมพ์ เพื่อให้ยอดเข้าชมและจำนวนการอ้างอิงของบทความเพิ่มขึ้น
1
รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล อดีตผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความเตือนนักวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ให้ระวังการส่งบทความแก่สำนักพิมพ์ open access journal ที่ไม่มีคุณภาพ โดยให้ข้อสังเกตว่า สำนักพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพมักยอมรับบทความอย่างง่ายดาย และตีพิมพ์ออกมาในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งสำนักพิมพ์เหล่านี้มักไม่ระบุตำแหน่งที่ตั้งของสำนักงาน ข้อมูลส่วนใหญ่มีเพียงอีเมล หรือต่อให้มีที่ตั้งระบุไว้ ก็มักตั้งอยู่ในแถบตะวันออกลาง แอฟริกา หรือเอเชียใต้ เช่น อินเดียและปากีสถาน
1
// Cloned Journal วารสารปลอมที่เหมือนจริงทุกประการ ยกเว้นความน่าเชื่อถือและคุณภาพ //
1
Web Cloned Journal หมายถึงเว็บไซต์วารสารวิชาการของปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์ของวารสารที่มีอยู่จริง เพื่อลวงให้นักวิชาการส่งผลงานไปตีพิมพ์
1
หลักการทำงานของเว็บไซต์ประเภทนี้ไม่ต่างจากแก๊งมิจฉาชีพที่สร้างลิงก์หรือเว็บปลอมของสถาบันการเงินหรือกรมสรรพากร เพื่อหลอกให้คนกดเข้าไปทำธุรกรรม แล้วดูดเงินออกจากระบบ เมื่อกดเข้าไปในเว็บวารสารปลอมจะพบว่า หน้าตาของวารสารในนั้นเหมือนวารสารจริงทุกประการ มีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ มีวารสารฉบับเก่าให้สืบค้น มีรายละเอียดเงื่อนไขการรับพิจารณาบทความ และมีกระทั่งการเชิญชวนให้ส่งบทความ
2
เมื่อนักวิชาการหลงเชื่อ และส่งบทความไปยังเว็บไซต์เหล่านี้ ก็มักจะเข้าใจว่า ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมานั้นคือการตีพิมพ์ในวารสารจริง ทั้งๆ ที่มันถูกเลียนแบบขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ cloned journal มักเลียนแบบวารสารแบบ open access เพื่อลวงให้เจ้าของบทความยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้ตีพิมพ์
1
ทุกวันนี้ cloned journal กำลังระบาดหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เหยื่อของเว็บไซต์ประเภทนี้คือนักวิชาการที่ไม่รู้ว่าเป็นวารสารปลอม แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนที่ยอมส่งบทความไปตีพิมพ์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นวารสารที่ถูกโคลนหรือทำปลอมขึ้นมา เพราะส่วนใหญ่วารสารเหล่านี้เป็นวารสารเกรด Scopus และระบบการตรวจสอบภายในประเทศไม่เข้มแข็งพอที่จะแยกได้ว่า วารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม
2
ประกอบกับ cloned journal เหล่านี้มักเปิดรับบทความตลอดทั้งปี และไม่จำกัดสาขาวิชา ทำให้นักวิจัยหลายคนยอมรับความเสี่ยง เพื่อเพิ่มเครดิตทางวิชาการของตนเองในเวลาอันสั้น
1
// Authorship for sale ตลาดซื้อขายชื่อผู้แต่งในบทความวิจัย //
1
Authorship for sale หรือ authorship commerce เป็นธุรกิจสำคัญในวงการวารสารงานวิจัยระดับโลกมานานกว่าทศวรรษ โดยเริ่มได้รับความนิยมครั้งแรกในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2014 แล้วจึงตามมาด้วยอิหร่าน ก่อนจะขยายความนิยมไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
2
ธุรกิจซื้อขายชื่อผู้ประพันธ์งานวิจัยจะดำเนินโดยนายหน้าซึ่งทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้เขียนบทความตัวจริงกับนักวิชาการที่ต้องการมีชื่อเป็นผู้เขียนโดยไม่ต้องลงมือเอง นายหน้าพวกนี้จะมีเครือข่ายนักวิจัยในหลากหลายสาขาที่คอยเขียนบทความป้อนเข้าตลาด เพื่อให้นักวิจัยคนอื่นเลือกซื้อว่าต้องการบทความไหน และเป็นผู้เขียนลำดับที่เท่าไร ในราคาที่กำหนดอย่างชัดเจน
1
วิธีการเช่นนี้จะทำให้นักวิจัยที่ทุนหนาสามารถมีชื่อในผลงานวิจัยปีละหลายร้อยบทความได้ไม่ยาก และสามารถมีผลงานข้ามสาขาวิชาที่ตนถนัดได้ตามใจชอบ และ authorship for sale ก็เป็นตลาดมืดของโลกวิชาการที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในประเทศไทยขณะนี้
1
ราคาซื้อขาย authorship ในตลาดโลกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่นงานวิจัยที่ต้องทำการทดลองจะมีราคาสูงกว่า ชื่อผู้แต่งคนแรกจะแพงกว่าตำแหน่งอื่นๆ หรือถ้าต้องการตีพิมพ์ในวารสารเกรด Scopus ราคาก็จะแพงขึ้น ราคาบทความวิจัยทั่วไปในประเทศอิหร่านอยู่ระหว่าง 600-1,600 ดอลลาร์ ส่วนในประเทศจีน ราคาซื้อขายชื่อผู้แต่งรายแรกในบทความคุณภาพ SCI คือ 14,800 ดอลลาร์ และหากต้องการใส่ชื่อผู้แต่ง 3 คน ก็ต้องจ่าย 26,000 ดอลลาร์
3
จีนยังเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจซื้อขายชื่อผู้ประพันธ์ Science Magazine ที่ตีพิมพ์ในปี 2013 รายงานว่า จำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์ในระบบ SCI ของนักวิจัยชาวจีนพุ่งจาก 41,417 บทความ ในปี 2002 เป็น 193,733 บทความ ในปี 2012 นับว่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
1
ขณะเดียวกัน Science Magazine ยังพบว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านก็ผลิตบทความในวารสารต่างๆ เพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้น เอาเฉพาะในปี 2015 มีบทความด้านวิทยาศาสตร์สัญชาติอิหร่านมากถึงกว่า 30,000 บทความ นับเป็น 20 เท่า ของจำนวนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1979
1
ไม่เพียงเท่านั้น อิหร่านยังเป็นประเทศที่นักวิทยาศาสตร์ถูกถอดบทความ (retract) ออกจากวารสารต่างๆ จำนวนมากด้วย ปี 2016 BioMed Central และ Springer วารสารด้านวิทยาศาสตร์ในเครือ Nature สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับโลก ถอดบทความของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่าน 282 คน รวม 58 บทความ ออกจากระบบ เนื่องจากพบว่าทุกบทความมีการบิดเบือนชื่อผู้แต่ง (authorship manipulation) กระบวนการ peer-review มีความผิดปกติ และพบหลักฐานการคัดลอกผลงาน (plagiarism) ในบทความเหล่านั้น
1
ปี 2021 วารสาร Applied Nanoscience ของสำนักพิมพ์ Springer ถอนบทความ 51 บทความ โดย 2 บทความ มีชื่อ วานิช สุขสถาน อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ร่วมแต่ง สำนักพิมพ์ให้เหตุผลว่า พบข้อสงสัยน่ากังวลในบทความหลายประการ ตั้งแต่กระบวนการ peer-review การทำงานของบรรณาธิการรับเชิญ รายการอ้างอิงที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทความ และเนื้อหาที่ไม่อยู่ในขอบเขตของวารสาร
3
บทความ 2 เรื่องที่ถูกถอดจากวารสาร Applied Nanoscience คือ Serum level estimation of some biomarkers in diabetic and non-diabetic COVID-19 infected patients และ Cancer stages and demographical study of HPV 16 in gene L2 isolated from cervical cancer in Dhi-Qar province, Iraq ทั้งนี้ หลังเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยในโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน วานิชก็แถลงต่อวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ว่า การถูกถอนบทความไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรมการวิจัย
3
// ธุรกิจ peer-review ที่อุดมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญผีและมือปืนรับจ้าง //
3
peer-review เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการผลิตวารสารวิชาการ กองบรรณาธิการจะจัดให้มีคณะผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา เป็นผู้อ่าน ตรวจสอบ ให้ความเห็น และตัดสินว่า บทความที่ส่งมานั้นควรได้รับการตีพิมพ์ (accepted) ปฏิเสธ (rejected) หรือส่งกลับไปปรับปรุงแก้ไข (revised) เพื่อควบคุมคุณภาพผลงาน แต่ในตลาดมืดของธุรกิจวารสารวิชาการ กระบวนการ peer-review มักถูกบิดเบือนด้วยความรู้เห็นเป็นใจของบรรณาธิการวารสาร
2
นิค ไวส์ (Nick Wise) และ อเล็กซานเดอร์ มากาซินอฟ (Alexander Magazinov) แห่ง For Better Science เขียนเปิดโปงในปี 2022 ว่า กระบวนการ peer-review แบบลักไก่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจซื้อขายชื่อผู้ประพันธ์
1
ไวส์และมากาซินอฟพบว่า วารสารบางฉบับสร้างนักวิจัยอวตารขึ้นมา โดยเปิดตัวด้วยการเป็นผู้เขียนบทความบางชิ้นก่อน เพื่อให้มีเกียรติประวัติมากพอที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นจึงนำชื่อเดียวกันนี้มาใส่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่รีวิวบทความ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบทความที่ซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บทความเหล่านั้นผ่านการพิจารณาในระยะเวลาอันสั้น
1
ไวส์และมากาซินอฟยังเปิดเผยว่า เมื่อขุดคุ้ยประวัติจากรายชื่อของผู้รีวิว (reviewer) ให้วารสารหลายเล่ม กลับพบว่า คนเหล่านั้นไม่มีตัวตนจริง และบทความที่ใช้ ‘ผู้เชี่ยวชาญผี’ เหล่านี้มักมีความบกพร่องทางวิชาการ เช่น ใส่รายการอ้างอิงไม่ตรงกับเนื้อหาในบทความ หรือเนื้อหาบทความไม่สอดคล้องกับประเด็นหรือสาขาของวารสารนั้นๆ
2
นอกจากผู้เชี่ยวชาญผี ในตลาดมืดของวารสารบทความวิชาการยังมีบริษัทรับทำ peer-review บทความก่อนส่งวารสารโดยเฉพาะ บริษัทเหล่านี้ให้เหตุผลในการให้บริการว่า ต้องการให้นักวิจัยเจ้าของบทความได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อปิดจุดอ่อนและเพิ่มโอกาสที่บทความจะได้รับการยอมรับจากวารสารกลุ่ม SCI โดยเฉพาะในจีน ข้อมูลที่น่าตระหนกคือ บริษัทรับทำ peer-review มักโฆษณาว่า ผู้เชี่ยวชาญของพวกเขาคือคนกลุ่มเดียวกันกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่อ่านบทความให้กับวารสาร SCI หลายฉบับ
2
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุปสงค์และอุปทานในตลาดมืดของวารสารวิชาการระดับโลกของวารสารวิชาการ หากมองลึกลงไป ฐานของภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมานี้ยังซุกซ่อนรายละเอียดปลีกย่อยและแง่มุมมืดๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นความน่าวิตกกังวลของแวดวงวิชาในโลก
ที่มา
โฆษณา