27 ม.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

วิ่งมาราธอนส่งผลกับไตอย่างไร

ในแต่ละปี มีนักวิ่งมาราธอนจำนวนมากเป็นแสนเป็นล้านคนทั่วโลก โดยทั่วไปนักวิ่งมาราธอนมักกังวลเรื่องสุขภาพเกี่ยวกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อเป็นหลัก ไม่ได้นึกถึงว่าไตจะมีปัญหาหรือไม่
วิ่งมาราธอนไปเกี่ยวกับไตอย่างไร
การวิ่งมาราธอนเป็นการวิ่งระยะไกล 26.2 ไมล์ ใช้เวลาวิ่งประมาณ 2-4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นาน การวิ่งดังกล่าวทำให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อเป็นจำนวนมาก อาจมากถึง 4 ลิตรได้ และเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไตลดลงเนื่องจากต้องไปเลี้ยงกล้ามเนื้อในขณะวิ่ง
ความร้อนในร่างกายที่สูงขณะวิ่งทำให้อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บรวมถึงไตด้วย นอกจากนี้ กรณีที่เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ทำให้เกิดการสลายของกล้ามเนื้อ(rhabdomyolysis) สารในกล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า มัยโอโกลบิน (myoglobin) ออกมาในกระแสเลือดและตกตะกอนในท่อไต สาเหตุเหล่านี้นำมาซึ่งภาวะไตวายเฉียบพลัน
พอฟังเช่นนี้ นักวิ่งหลายคนอาจเริ่มกังวลใจ แล้วมีข้อมูลงานวิจัยรายงานวาสเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันมากน้อยแค่ไหนระหว่างวิ่งมาราธอน
มีงานวิจัยเชิงสังเกต ในประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาติดตามนักวิ่งมาราธอนจำนวน 22 ราย ซึ่งลงแข่งขันวิ่งมาราธอนในรายการ Hartford Marathon ปี ค.ศ. 2015 นักวิ่งเหล่านี้ได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะ ก่อนและหลังวิ่งมาราธอน เพื่อดูว่า มีภาวะไตวายเฉียบพลันหรือไม่ มีการตรวจสารชีวภาพในเลือดและปัสสาวะเพื่อดูว่า มีการบาดเจ็บและการซ่อมแซมท่อไตหรือไม่
ผู้เข้าร่วมวิจัยมีอายุเฉลี่ย 44 ปี เพศชาย 41% ทุกรายวิ่งจนจบ เวลาจบมาราธอนเฉลี่ย 4 ชั่วโมง ผลวิจัยพบว่านักวิ่งมาราธอนเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน 82% โดยมีการเพิ่มขึ้นของค่าของเสีย (serum creatinine) ในระดับไม่รุนแรง การตรวจปัสสาวะพบว่ามีเซลล์เยื่อบุท่อไตหลุดลอกออกมา และมีสารชีวภาพบ่งชี้ว่ามีการบาดเจ็บและซ่อมแซมของท่อไตเกิดขึ้น (ในอีกงานวิจัยหนึ่งใน ค.ศ. 2017 พบว่าในจำนวนนักวิ่งมาราธอน 23 ราย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน 54%)
1
ฟังผลเบื้องต้น ณ ตอนนี้ อย่าพึ่งตื่นตระหนกไป เมื่อตรวจติดตามที่ 48 ชั่วโมงหลังวิ่ง พบว่าค่าการทำงานไตและของเสียในเลือดกลับมาเป็นปกติทุกราย ไม่มีรายไหนที่ไตวายรุนแรง หรือได้รับการล้างไต
ดังนั้นแล้ว ถ้าวิ่งมาราธอน อย่าลืมใส่ใจเรื่องไตไว้ด้วย ก่อนวิ่งควรเตรียมตัวให้ดี ระหว่างวิ่งต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ ระมัดระวังการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ แม้ว่าโอกาสเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันจะสูง แต่ความรุนแรงต่ำ และเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว
เรื่องไตกับมาราธอน ขอให้ตระหนักไว้แต่ยังไม่ต้องตระหนก สามารถลงวิ่งต่อไปได้ครับ
1
(***เพิ่มเติม: ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลติดตามการทำงานไตของนักวิ่งมาราธอนในระยะยาว มีเพียงข้อมูลติดตามในระยะสั้น ๆ เพียงไม่กี่วัน ดังนั้นควรติดตามข่าวกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร)
เอกสารอ้างอิง
Mansour SG, Verma G, Pata RW, Martin TG, Perazella MA, Parikh CR. Kidney Injury and Repair Biomarkers in Marathon Runners. Am J Kidney Dis. 2017 Aug;70(2):252-261. doi: 10.1053/j.ajkd.2017.01.045. Epub 2017 Mar 28. Erratum in: Am J Kidney Dis. 2017
Mansour SG, Martin TG, Obeid W, Pata RW, Myrick KM, Kukova L, Jia Y, Bjornstad P, El-Khoury JM, Parikh CR. The Role of Volume Regulation and Thermoregulation in AKI during Marathon Running. Clin J Am Soc Nephrol. 2019 Sep 6;14(9):1297-1305.
โฆษณา