29 ม.ค. 2023 เวลา 13:55 • ประวัติศาสตร์

โกษาปานพบแคสสินี ถอดรหัสดาราศาสตร์ ในสมัยพระนารายณ์ แห่งอยุธยา และฝรั่งเศส

[ตอนที่ 1]
เมื่อพูดถึงดาราศาสตร์ในประเทศไทยคิดว่าหลายคนคงจะนึกถึงปรากฏการณ์สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1868 ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปี และเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง จนประชาชนถวายพระราชสมัญญานามทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ที่เราท่องจำกันในหนังสือเรียน
5
แต่แท้จริงแล้ว ทราบหรือไม่ว่า หากเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ฉบับยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการนั้น ได้เคยเดินทางมาถึงแผ่นดินที่ปัจจุบันเราเรียกว่าไทย ตั้งแต่เมื่อสี่ร้อยกว่าปีที่แล้ว
2
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากพาทุกคนไปชมภาพที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาดาราศาสตร์ในประเทศไทย การเข้ามาของดาราศาสตร์ตะวันตกในสยาม ความเป็นไปตามบริบทราชสำนัก ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส จนถึงจุดจบที่ (อาจจะ) น่าเสียดายของศาสตร์นี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
2
บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Year of Innovation 2023 ปีแห่งนวัตกรรมไทยฝรั่งเศส ซึ่งสามารถศึกษาและติดตามข่าวสาร และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีได้ทาง https://www.yearofinnovationfrancethailand.com
ศาสตร์การดูดาวในอดีต
1
หากใครที่เป็นแฟนของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) อาจเคยเห็นว่าทางสถาบันฯ ได้มีการศึกษาและพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างยุคของพระนารายณ์ ในสมัยอยุธยา กับอิทธิพลจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสในหลายโอกาส หนึ่งในนั้นก็คือการออกหนังสือที่มีชื่อว่า ดาราศาสตร์ราชสำนัก ซึ่งมีการตีพิมพ์ออกมาในปี 2013 ซึ่งก็ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปและความเชื่อมโยงของดาราศาสตร์กับสังคมไทย ซึ่งก่อนอื่น อยากจะให้เข้าใจตรงกันว่า ในบทความนี้
3
เราอาจจะไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าง ดาราศาสตร์ (Astronomy) และโหราศาสตร์ (Astrology) ซึ่งตามหลักการแล้วศาสตร์ทั้งสองมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน และโหราศาสตร์จะนำเอาการเคลื่อนที่ของดวงดาวมาผูกเข้ากับพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต รวมถึงชะตาชีวิตของคน หรือเมือง ในขณะที่ดาราศาสตร์ ถ้าจะพูดให้ถูกมันก็คือโหราศาสตร์ที่ตัดเรื่องชะตาชีวิตออกไป และถูกมองสาระสำคัญเป็นเรื่องการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้า อย่างไรก็ตามศาสตร์ทั้งสองนั้น มีจุดเริ่มต้นจากการคำนวณ และสังเกตเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแค่วิธีตีความ
แรกเริ่มดาราศาสตร์ในราชสำนักมีรากฐานมาจากดาราศาสตร์ของชมพูทวีป โดยในคัมภีร์พระเวทก่อนสมัยพุทธกาลมีส่วนที่เรียกว่า โชยติส (Jyotish) พูดถึงการแบ่งเวลาโดยใช้นาฬิกาน้ำ การแบ่งวันออกเป็นส่วน ๆ การโคจรของดวงอาทิตย์ การหาจุดอุทัยลัคนา เพื่อเลือกเวลามงคลในการบวงสรวงและประกอบพิธีกรรม สิ่งนี้ถูกเล่าไว้ใน Vedanga Jotish of Langhadha ซึ่งเป็นตำราโหราศาสตร์เก่าแก่ ที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนี้
1
ในขณะที่พระไตรปิฏก มีการพูดถึงหัวข้อแต่ไม่ลงรายละเอียดมาก เพราะโหราศาสตร์การพยากรณ์เป็นหนึ่งใน “ติรัจฉานวิชา” คือวิชาที่ไม่ทำให้บรรลุนิพพาน
4
สิ่งที่พบมีทั้งการศึกษาดาราศาสตร์โบราณ รวมถึงพยากรณ์ศาสตร์โบราณด้วย เช่น การโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว การเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา อุุกกาบาต ดาวหาง แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง พุทธานุญาตให้เรียนเรื่องทางนักษัตรและทิศเพื่อป้องกันโจรภัย การกำหนดนักษัตรสำหรับการเข้าพรรษา
โดยช่วงต้นสุโขทัย มีศิลาจารึกที่บันทึกข้อมูลดวงชาตา (ชะตา) เป็นระบบดาราศาสตร์โบราณในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมามากกว่า 100 หลัก (รวบรวมโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร ฐานข้อมูลจารึกประเทศไทย) สำหรับราขวงศ์สุโขทัยนั้น มีหลักฐานว่าพญาลิไทมีความสนใจและมีความสามารถในวิชาดาราศาสตร์ (จากจารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่งบันทึกไว้เป็นภาษาเขมร ใน ด้านที่ 1 ซึ่ง ศ. ยอช เซเดส์เป็นผู้ชำระและแปล) โดยได้คำนวณจำนวนวันตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานมาถึงวันผนวชนั้นด้วยคัมภีร์ดาราศาสตร์โบราณ
3
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีการคำนวณตำแหน่งดาวจากพระราชพงศศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
1
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีการจัดพิธีลบศักราช คือการยกเลิกปีศักราชที่ใช้อยู่แล้วตั้งศักราชขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงว่ามีอภินิหารมากกว่ากษัตริย์พระองค์อื่น (ฮา) โดยเมื่อถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็กลับไปใช้ปีนักษัตรตามลำดับเดิม
1
พระนารายณ์ และอิทธิพลของการเข้ามาจากฝรั่งเศส
อิงจากหนังสือดาราศาสตร์ราชสำนักนั้น การศึกษาโหราศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการบันทึกไว้ในหนังสือโดยลาลูแบร์ชื่อ Du royaume de Siam Vol. II ในปี 1691 โดยในการศึกษาโหราศาสตร์นั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะให้มาดูดาวเลยแต่มีหลักสูตรชัดเจนได้แก่
2
  • ต้องศึกษาคณิตศาสตร์โบราณก่อน คือการท่องสูตรคูณ แต่จาก “สามห้าสิบห้า” ให้ท่องเป็นบาลีว่า “ตรีเบ็ญจะ 15” รวมทั้งคูณหารเลขจำนวนที่มาก
  • เรียนมาตราชั่งน้ำหนัก มาตราตวงปริมาตร มาตราวัดระยะ มาตราเวลา อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จากนั้นฝึกกระจายมาตรา รวมมาตรา ทำโจทย์เลขตลาด ปัญหาเลขที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
  • แล้วจึงเรียนเรื่อง “ฉวาง” ต่อด้วย “กรณสุภาพ” “โคตรกรณ” คือการถอดรากที่ 2 และรากที่ 3
1
พอเรียนทั้งหมดนี้แล้วจะเรียกว่าจบเลขโบราณ หลังจากนั้นก็สามารถศึกษาก่อสร้าง ตำราสถาปัตยกรรม ตำราโหราศาสตร์ได้
ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวที่บ่งชี้ว่า อิทธิพลของการศึกษาศาสตร์ที่ทางฝรั่งยุโรปจะเรียกว่า “ปรัชญาธรรมชาติ” หรือ Natural Philosophy นั้น ปรากฎในภูมิภาคนี้เช่นกัน แต่จะอยู่ในบริบทของการใช้ชีวิต ถ้าให้พูดง่าย ๆ คือ คนในสมัยนั้นอาจจะไม่รู้จักแคลคูลัส หรือฟิสิกส์
1
แต่ก็เข้าใจแนวคิดของ หน่วยชั่ง ตวง วัด ระบบการนับเลข รวมถึงการท่องสูตรคูณ และที่สำคัญก็คือ ตัวเลขในระบบภาษา (งงไหม) คือการซ่อนการคำนวณไว้ในการแต่งบทร้อยกรองต่าง ๆ ทำให้บทร้อยกรองของไทย มีความซับซ้อนมาก (ถ้าที่เรียนกันก็คือมีทั้ง กลอน 8 กลอน 4 กลอน 6 กาพย์ยานี 11 เห็นไหมว่าเป็นตัวเลขทั้งนั้นเลย)
1
จากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ สู่สมัยพระนารายณ์
ก่อนอื่นเราต้องบอกก่อนว่า ในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) นั้น มันมีบริบทภายในซ่อนอยู่ มากกว่าแค่การตีความทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาว่าในยุค 1500-1600 เป็นช่วงที่มีการล้มล้างแนวคิดเดิมว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่มันคือการร้อยเรียงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการนำอุปกรณ์การสังเกต มาถูกใช้เพื่อส่องไปยังวัตถุท้องฟ้า (โดยเฉพาะของกาลิเลโอ ที่นำไปสู่การค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี หรือภูเขาบนดวงจันทร์)
หรือการทำลายกำแพงด้านแนวคิดว่า วัตถุบนท้องฟ้านั้นก็ล้วนแล้วแต่ใช้กฎทางฟิสิกส์ชุดเดียวกันกับบนโลกผ่านการอธิบายกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน
ที่เราต้องเตือนไว้ก็เพราะว่า เราอาจมองว่าองค์ความรู้ของตะวันตกในตอนนั้น นับเป็นสิ่งใหม่ไปเลย แต่ในความเป็นจริงเราอาจมองได้ว่ามันเป็นเพียงแค่การวกกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการศึกษาธรรมชาติอีกครั้ง อาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เคยวิเคราะห์ว่า “Revolution” มีอีกความหมายหนึ่งซึ่งมาจากคำกริยา “To Revolve” หมายความว่าหมุน หรือโคจรรอบ ๆ ในความหมายนี้ “Revolution” จึงหมายถึงการการหมุนกลับมาที่เดิม หรือการรื้อฟื้นของเก่าที่เคยมีมาก่อนแต่ได้สูญหายหรือผู้คนลืมเลือนไปในเวลาถัดมา
3
กาลิเลโอและพระสันตะปาปา จริง ๆ แล้วกาลิเลโอนั้น นับว่าเป็นชนชั้นสูงในสมัยนั้น และรู้จักหน้าคร่าตากับศาสนจักร
ดังนั้น เราอยากไม่ได้อยากให้ทุกคนมองว่ามันมีความวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น ถึงขั้นว่าปฏิเสธพระเจ้า หรือท้าทายว่าพระเจ้าไม่มีจริง เพราะตัวละครที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ส่วนมากก็ทำงานเพื่อรับใช้ราชสำนัก หรือเป็นนักบวชทั้งสิ้น สิ่งนี้จึงไม่ใช่การหักดิบ แต่เป็นการคล่อย ๆ คลายแนวคิดของศาสนจักรที่มีต่อธรรมชาติลง (เรียกว่าปฏิรูปสถาบันก็ได้)
2
เราแนะนำให้ทุกคนอ่านบทความเรื่อง การปฏิวัติวิทยาศาสตร์คืออะไรกันแน่ ผ่านมิติประวัติศาสตร์และสังคม
ภายหลังจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์นั้น ส่งผลให้เกิดเทคโนโลยี รวมถึงศาสตร์ด้านการมองธรรมชาติที่ใกล้เคียงกับในสมัยปัจจุบันมากขึ้น และเมื่อความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มาผนวกรวมกับความต้องการเป็นมหาอำนาจของชาติในยุโรป ทำให้ในแต่ละประเทศมีนโยบายในการเดินเรือเพื่อไปยังดินแดนใหม่ ๆ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส
ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ฌ็อง-บาติสต์ กอลแบรต์ (Jean-Baptiste Colbert) ซึ่งถูกแนะนำโดยอัครมหาเสนาบดี พระคาร์ดินัลมาซาแร็ง (Jules Cardinal Mazarin) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีการคลังและสภาที่ปรึกษาแผ่นดินรวมถึงหน้าที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เสนาบดีประจำสำนักพระราชวัง และราชนาวี เสนาบดีกิจการเหมืองแร่ และอุตสาหกรรม เสนาบดีด้านการเดินเรือ ด้านการค้าขายต่าง ๆ
กอลแบรต์เชื่อในลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantillism) ซึ่งขึ้นอยู่กับการสร้างอาณานิคมและการค้าทางทะเล โดยวิธีการค้าของกอลแบรต์ คือการพัฒนาประเทศจากภายใน โดยปฎิรูปการเก็บภาษีอย่างรัดกุมทำงบประมาณค่าใช้จ่ายของประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อจะไม่ต้องจ่ายเงินซื้อของจากต่างประเทศ และส่งเสริมจากส่งออกสินค้าให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ทองเข้าประเทศ
ข้อมูลนี้ถูกตีความไว้ในงานศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา โดย พลับพลึง มูลศิลป์
ในแง่การเดินเรือและราชนาวี รัฐสนับสนุนให้ต่อเรือสินค้าขนาดใหญ่จาก 200 ลำ เป็น 500 ลำ ในช่วง 1680-1688 กองทัพเรือของฝรั่งเศสมีเรือรบขนาดใหญ่กว่า 300 ลำ ถือเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญซึ่งทำให้ฝรั่งเศสขยายอาณานิคมได้กว้างขวาง (อ่านเพิ่มเติม – https://www.silpa-mag.com/history/article_24309 ) สิ่งนี้จึงนำมาซึ่งการพบกันของสองโลกในที่สุด
การสนับสนุนการศึกษาธรรมชาติของฝรั่งเศส
หลังจากสาธยายพื้นเพ (เกือบ) รอบด้านทั้งจากฝั่งสยามและฝรั่งเศสก็เห็นสมควรจะได้ขยับเข้ามาใกล้ดาราศาสตร์เสียที โดยตัวละครสำคัญของเรื่องนี้เป็นชาวอิตาลีที่ย้ายงานไปยังฝรั่งเศสด้วยเงินเดือนที่มากกว่าเดิม 3 เท่า นั่นคือ โจวันนี โดเมนีโก กัสซีนี (Giovanni Domenico Cassini) ซึ่งในบทความอื่นเราจะเรียกเขาว่าแคสสินี แต่ในบทความนี้เพื่อความหรูหรา เราจะเรียกเขาว่ากัสซีนี
เมื่อกัสซีนี สำเร็จการศึกษาจาก the Jesuit College และ Abbey of San Fructuoso กัสซีนีก็ได้งานที่หอดูดาว Panzano จากนั้นในปี 1650 กัสซีนีวัย 25 ปี ได้ย้ายไปเป็นศาสตราจารย์ดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Bologna ตามพระบัญชาของสันตะปาปา Clement ที่ 9
อาคารหอดูดาวกรุงปารีสเมื่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1672 เผยแพร่ครั้งแรก 1729. วาโดย Gabriel Perelle ที่มา – Wiki Archive
ในขณะนั้นพระเจ้าหลุยที่ 14 ได้มีการก่อตั้ง Academy of Sciences and Arts และได้สร้างหอดูดาวปารีสเพื่อให้นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสทำงาน โดยสั่งให้กอลแบรต์ นายกรัฐมนตรีตอนนั้นหานักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ ไปทำงานที่ฝรั่งเศส โดยได้เชิญมาทั้งหมด 3 คนได้แก่
4
  • คริสตียาน เฮยเคินส์ (Christian Huygens) จากฮอลล์แลนด์
  • โอเลอ เรอเมอร์ (Ole Roemer) จากเดนมาร์ก
  • โจวันนี โดเมนีโก กัสซีนี (Giovanni Domenico Cassini) จากอิตาลี
ซึ่งมีผลงานโดดเด่นก่อนหน้า เช่น ในปี 1665 ได้เห็นจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสบดีในเวลาไล่เลี่ยกับ Robert Hooke เมื่อหอดูดาวที่ปารีสสร้างเสร็จในปี 1671 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงแต่งตั้งให้กัสซีนีเป็นผู้อำนวยการประจำหอดูดาว และในปี 1675 กัสซีนีก็เป็นคนแรกที่ได้พบว่า แถบบรรยากาศในส่วนต่าง ๆ ของดาวพฤหัสบดีมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน และได้พบช่องว่างระหว่างวงแหวนรอบดาวเสาร์
กอลแบรต์แนะนำสมาชิก Royal Academy of Sciences ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใน 1667 ในด้านหลังคือ หอดูดาวปารีส (Paris Observatory) วาดโดยศิลลปินชาวฝรั่งเศส Henri Testelin ที่มา – Wiki Archive
สามารถอ่านเรื่องราวตอนนั้นได้ในบทความ – https://spaceth.co/saturn-ring/
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สนับสนุนการศึกษาวิชาดาราศาตร์เพื่อการทำแผนที่โลกที่แม่นยำ นำไปสู่ความได้เปรียบทางการค้าจึงส่งนักคณิตศาสตร์นักดาราศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักบวชคณะเยสุอิต เพื่อไปตั้งศูนย์ค้นคว้านอกทวีปยุโรป โดยเลือกกรุงปักกิ่งจีนเป็นเป้าหมายแรกใน เนื่องจากผลประโยชน์อื่น ๆ ที่จะตามมา
เช่น ได้รู้จักสินค้าจีนซึ่งเป็นที่ต้องการในยุโรป และคนจีนจำนวนมากที่อาจจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์คาทอลิก ในเวลานั้นสมเด็จพระจักรพรรดิคังซีของจีนก็ให้ความสนับสนุนศาสตร์นี้ด้วย โดยระบุไว้ใน หนังสือการเดินทางมาสยามเมื่อ 1685 โดยบาทหลวงตาชาร์ด หนึ่งในคณะเยสุอิต
1
พระบาทหลวงคณะนี้เป็นนักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์จึงเข้ามาทำการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และสำรวจภูมิศาสตร์ มีการนำเครื่องมือทางดาราศาสตร์เข้ามาจำนวนมาก กล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ จำนวน 7 กล้อง เครื่องมือวัดมุมดาว นาฬิกาดาราศาสตร์ รวมถึงปฎิทินแสดงตำแหน่งดาวและกำเนิดอุปราคา ซึ่งได้มาการคำนวณมาจากหอดูดาวปารีสภายใต้การอำนวยการของกัสซีนีเพื่อให้บาทหลวงทำการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในการเดินทางสู่ตะวันออกครั้งนี้ โดยนอกจากงานด้านวิชาการแล้วบาทหลวงคณะนี้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนาควบคู่ไปด้วย
อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักวิชาการ ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช : พระมหากษัตริย์ผู้สนพระทัยและองค์อุปถัมภ์การศึกษาดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามพระองค์แรก บอกไว้ว่าการที่บาทหลวงสามารถแสดงความอัศจรรย์ให้ชาวพื้นเมืองประจักษ์ เช่น การคำนวณการเกิดคราสได้ จะทำให้ชาวพื้นเมืองศรัทธาและหันมาเข้ารีตมากขึ้น (มุกเดิมมาก)
การที่คณะเยสุอิตมาแวะที่สยามในระหว่างเดินทางไปยังจีนต่อเมื่อ 1685 ก็ทำให้ข่าวการพัฒนางานด้านดาราศาสตร์มาถึงหูของสมเด็จพระนารายณ์ ในขณะนั้นสยามเองก็มีนโยบายพัฒนาการดินเรือ ความรู้เรื่องแผนที่ภูมิศาสตร์เพื่อการเดินเรือที่ทันสมัยถูกต้องน่าจะทำให้พระนาราย์สนใจดาราศาสตร์ตะวันตก
การศึกษาดาราศาสตร์ตามแนวทางตะวันตกเกิดขึ้นในสยามอย่างน้อย 3 ปี ก่อนคณะราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะเข้ามาในสยาม โดยเริ่มจากบาทหลวงโธมัส (le P. Thomas) และบาทหลวงกูย (le P. Gouye) โดยมีพระนครศรีอยุธาเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีการสังเกตจันทรุปราคาเมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1682 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตอน 03.45 น. และคลายเมื่อ 04.52 น. ซึ่งหลักฐานปรากฎในหนังสือ Annales Céleste Du Dix-septième Siècle (สารบรรณปรากฎการณ์บนท้องฟ้าเมื่อคริสศตวรรษที่ 17) ของประเทศฝรั่งเศส
โดยได้รวบรวมรายงานข้อมูลจันทรุปราคาครั้งนี้จากนักดาราศาสตร์ที่สังเกตจากที่ตาง ๆ เช่น โรเมอร์จากกรุงโคเปนเฮเกน, ฮัลลีย์ จากเมืองกรีนิช และกัสซีนีจากกรุงปารีส รวมถึง บาทหลวงโตมา จากพระนครศรีอยุธยา
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงร่วมสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1689 (ภาพต้นฉบับเป็นสมบัติของห้องสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส)
เหตุการณ์ที่น่าสนใจนี้ถูกบันทึกไว้ใน จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด หน้า114-122
เมื่อราชทูตคณะแรกเข้ามานำโดยเชวาเลีย เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) เชิญสมเด็จพระนารายให้เข้ารีตเป็นคริสตัง แต่พระองค์ปฎิเสธ ระหว่างแวะพักที่สยาม คณะเยสุอิตก็ได้ศึกษาปรากฎการบนท้องฟ้าทั้งที่พระนครศรีอยุธยาและลพบุรีไปด้วย โดยเฉพาะการสังเกตปรากฎการณ์จันทรุปราคาต่อหน้าสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระราชวังทะเลชุบศร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1689
1
โดยสรุปได้ว่า สมเด็จพระนารายณ์อนุญาตเป็นพิเศษให้บาทหลวงลุกขึ้นยืนเพื่อติดตั้งกล้องดูดาวต่อหน้าพระที่นั่งได้ และมีคำสั่งให้สร้างหอดูดาวที่เมืองละโว้และอยุธยาก่อนที่ทูตฝรั่งเศสคณะใหม่จะมาถึง” โดยมีข้าราชการไทยและคณะบาทหลวงเยซูอิตอยู่ด้วย โดยพระองค์ได้ถามปัญหาต่าง ๆ ว่า
  • เหตุไฉนดวงจันทร์จึงเห็นกลับทางกันในกล้องส่องดูดาว
  • เหตุไรเราจึงยังเห็นดวงจันทร์อยุ่อีกเป็นบางส่วนเมื่อจับเต็มคราสแล้ว
  • ขณะนี้เวลาที่กรุงปารีสเท่าไหร่แล้ว
  • การสำรวจที่กระทำขึ้นพร้อม ๆ กันในที่ห่างไกลนั้นจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นบ้าง
ซึ่งน่าตื่นเต้นมากเพราะนี่เป็นคำถามที่เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือการสังเกต ทั้งคำถาม และทั้งสมมติฐาน ที่สองโลกมาพบกันในช่วงนี้
3
การสังเกตครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดเส้นแวงทางภูมิศาสตร์ของเมืองลพบุรีเทียบกับกรุงปารีส โดยทำการสังเกตการเกิดจันทรุปราคาตามลำดับเหตุการณ์ นับตั้งแต่สัมผัสจนเสร็จสิ้น โดยบันทึกเวลาที่เหตุการณ์นั้น ๆ เกิด ตามระบบเวลาของเส้นเมอริเดียนลพบุรี ในขณะเดียวกันที่กรุงปารีส กัสซีนีก็ทำแบบเดียวกัน ในระบบเวลาของเส้นเมดิเตอเรเนียนของกรุงปารีส แล้วจึงนำผลต่างของเวลาที่เหตุการณ์เดียวกันถูกสังเกตมาคำนวณหาเส้นแวงของเมืองลพบุรีเทียบกับเส้นเมดิเตอเรเนียนของกรุงปารีส
สมเด็จพระนารายณ์สนใจที่จะสร้างหอดูดาว, ที่พักบาทหลวงและโบสถ์ให้แก่บาทหลวงคณะเยซูอิต ที่เมืองลพบุรี ซึ่งรู้จักกันในชื่อวัดสันเปาโลในปัจจุบัน โดยรูปแบบหอดูดาวของลพบุรีก็มีลักษณะคล้ายหอดูดาวปารีส ซึ่งมีลักษณะเป็นหอสูงสามชั้น แปดเหลี่ยม หลังคาแบนราบ (แต่ปัจจุบันหอดูดาวปารีสมีการต่อเติมเป็นโดมครอบ) อาจกล่าวได้ว่าเป็นหอดูดาวที่ทันสมัยแห่งแรกของ Far East Asia ในสมัยนั้น
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
โฆษณา