29 ม.ค. 2023 เวลา 15:06 • ประวัติศาสตร์

โกษาปานพบแคสสินี ถอดรหัสดาราศาสตร์ ในสมัยพระนารายณ์ แห่งอยุธยา และฝรั่งเศส

[ตอนที่ 2]
โกษาปานเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ และเข้าพบกัสซีนี
อ้างอิงจากจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชาร์ด หน้า 1 ทางราชสำนักสยามได้ขอให้บาทหลวงตาชาร์ดไม่ต้องเดินทางไปจีนและเป็นผู้ไปเจรจากับราชสำนักฝรั่งเศสเพื่อขอบาทหลวงคณะเยสุอิต 12 รูปมาประจำที่สยาม และจากการแนะนำของเดอโชมองต์ ฟอลคอนได้เลือกออกพระวิสุทรสุนทร หรือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูตไปฝรั่งเศส โดยให้โกษาปานเป็นราชทูตไปขอร้องบาทหลวงเดอ ลา แชส (François de la Chaise) ให้บอกเรื่องนี้กับสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย
1
จนกระทั่ง วันที่ 1 กันยายน 1686 โกษาปานก็ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ พระเจ้าหลุยที่ 14 ก็อนุญาตให้ประกาศรับสมัครและคัดเลือก จนได้ได้บาทหลวงทั้ง 12 รูป และแต่งตั้งให้เป็นนักคณิตศาสตร์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งฝรั่งเศส (Mathematician of the King of France) และได้รับการอบรมความรู้เพิ่มเติมจากราชบัณฑิตแห่งสภาวิทยาศาสตร์ (Académie des Sciences) ก่อนจะมายังสยาม
ภาพลายเส้นรูปออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) ราชทูตสยามและคณะเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 ภาพจากปฏิทินฝรั่งเศสปี 1687 ที่มา – ศิลปวัฒนธรรม
ระหว่างที่อยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลา 6 เดือนนั้น โกษาปานได้ไปชมความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และโรงงานอุตสาหกรรมที่เมืองเดเบลอ เข้าชมห้องเครื่องจักรที่พระที่นั่งลูฟร์ ซึ่งมีเครื่องจักรชนิดต่าง ๆ ซึ่งคิดขึ้นมาใหม่ นอกจากการนี้ยังชมเครื่องทดลองแรงดันทางอากาศ ห้องบังคับอุณหภูมิ โดยราชทูตได้ร่วมทำการทดลองต่าง ๆ ว่าอากาศมีน้ำหนัก โดยมี ม.ฮูแบง (ช่างทำเครื่องถมของหลวงและมีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์)
เป็นผู้อธิบายความรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้น นอกจากนี้ยังได้ไปชมโรงพิมพ์หลวง โดยราชทูตได้ถามถึงวิธีการหล่อแม่พิมพ์ แร่ธาตุที่ใช้ทำตัวหนังสือ วิธีเข้าปก ตลอดจนแท่นพิมพ์ และยังได้ไปชมสวนสัตว์ที่เมืองเมนาเญอรี ซึ่งมีสัตว์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย (ระบุไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 42 ในชุดของคุรุสภา เล่มที่ 25 หน้า 67)
และที่สำคัญคือการเยี่ยมชมหอดูดาวปารีส โดยโกษาปานได้พูดคุยกับกัสซินีผู้อำนวยการหอดูดาวออบแซร์วาตัวร์ที่กรุงปารีสในขณะนั้น ถึงประเด็นดาราศาสตร์ เช่น จุดมืดบนดวงอาทิตย์ การคำนวณการเกิดคราส การโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์
รวมทั้งศึกษาอุปกรณ์ดาราศาตร์ต่าง ๆ เช่น กระจกดูดแสงแดดรูปกลมศูนย์กลางกว้างเกือบ 2 เมตร, แผนที่ดาวบนท้องฟ้า, กล้องส่องดาวยาว 8 เมตร, แผนที่โลกที่ได้จากการคำนวณวิถีจันทรคราสที่เกิดขึ้นที่ปารีสเทียบเคียงกับละโว้เมื่อปี 1685, นาฬิกาแดด และโกษาปานยังขอให้หอดูดาวสร้างแผนที่ดาวที่เหมือนดวงดาวทางท้องฟ้าเมืองไทยขึ้นอีกแผ่นสำหรับสมเด็จพระนารายณ์ด้วย ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องเล่าโดยด็องโน เดอ วิเซส์ ในหนังสือชื่อ พระยาโกษาปานไปฝรั่งเศส
คณะทูตชุดที่ 2 เดินทางถึงสยามเมื่อเดือน ตุลาคม 1687 เป็นการกลับมาของโกษปานพร้อมกับราชทูตพิเศษนำโดย ม. เดอ ลา ลู แบร์ (Simon de la Loubère) และ ม. เดอ เซเบเรต์ (Ceberet)
การมาเยือนสยามครั้งนี้ ลาลูแบร์ได้เขียนหนังสือซึ่งบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบราชการไทย รวมถึงชีวิตประจำวัน และยังนำ วิธีสยาม หรือวิธีเดอ ลา ลูแบร์ (Siamese method , De la Loubère method) เป็นวิธีการง่าย ๆ ในการสร้างจัตุรัสกล (Magic Square) เป็นโจทย์ที่ใช้ทดสอบเชาวน์ปัญญาทางคณิตศาสตร์ในการศึกษาดาราศาสตร์โบราณ
โดยให้ตีตารางจตุรัสด้านกว้างและยาวอย่างละสามช่อง ให้ใส่เลข 1-9 โดยให้ผลบวกของแนวดิ่ง แนวขวาง และแนวทแยงมีค่าเท่ากัน ถ้าใครทำได้หมายถึงมีเชาว์ปัญญาดี ก็สามารถเรียนเลขคณิตในระดับที่สูงขึ้นไปได้ (อาจารย์อารี สวัสดีได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ ปฎิทินปักขคณนาที่มาจากคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์สารัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ถึงเชาวน์ปัญญาไม่ได้อาจจะเรียนทางอักษรศาสตร์ วิชาช่างหรือวิชาที่ใช้ประกอบอาชีพทั่วไปแทน (มีคำบรรยายวิธีสยามในหนังสือ A new historical relation of the kingdom of Siam โดยเดอ ลา ลู แบร์)
หน้าแรกของบทความเรื่องข้อสังเกตการนับศักราช ปีปฏิทินและความรู้ทางดาราศาสตร์ของชาวสยาม ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาโดยบาทหลวงริโช
รายงานการประชุมสภาราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสเมื่อ 1688 มีเนื้อหาบางตอนกล่าวถึงเรื่องการสังเกตุปรากฏการณ์ดาราศาสตร์จากสยาม รวมทั้งเรื่องสมเด็จพระนารายณ์ทรงสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนที่เมืองลพบุรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1688 (สำเนาจากหอจดหมายเหตุสภาราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสเมื่อพฤศจิกายน1994)
นอกจากนี้การคำนวณดวงอาทิตย์และดวงจันทร์แบบสยามก็ถูกเผยแพร่ในยุโรปด้วย จากบาทหลวงริโช ซึ่งนำกล้องโทรทรรศน์ความยาว 12 ฟุตจากฝรั่งเศสมาใช้ที่หอดูดาวเมืองลพบุรี และมีความสนใจดาราศาสตร์จารีตสยาม จึงได้ศึกษาและเขียนบทความชื่อว่าข้อสังเกตเรื่องการนับศักราช ปีปฏิทิน และความรู้ดาราศาสตร์ของชาวสยาม (Remarques sur l’Ère des Siamois, sur leur Calandrier & sur leur Astronomie) มีการพิมพ์เผยแพร่ที่กรุงปารีสเมื่อ 1692
การศึกษานี้ลาลูแบร์ได้นำต้นฉบับภาษาสยามกลับไปยังฝรั่งเศส และมอบให้กับกัสซีนีไปศึกษาในปี 1687 โดยจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ฝรั่งเศสรวบรวมไป หนึ่งในนั้นคือ คัมภีร์สุริยยาตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ทำปฎิทินโหร ใช้คำนวณตำแหน่งดาวในสมัยพระนเรศวร และพระราชพิธีลบศักราชในสมัยพระเจ้าปราสาททอง โดยกัสซินีได้ทำการวิเคราะห์และอธิบาย สรุปเบื้องต้นว่าเป็นวิธีการที่แปลก ไม่มีการวางตารางสูตร มีแต่การบวก ลบ คูณ หาร ด้วยเลขบางจำนวน
ภายใต้จำนวนนี้ได้แฝงปีปฎิทินไว้หลายแบบ อาทิ ปีปฎิทินทางสุริยคติ ปีปฎิทินทางจันทรคติ ปีปฎิทินซีวิล ปีปฎิทินทางวิษุวัต ปีปฎิทินที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุด และปีปฎิทินแห่งรอบสุริยกาล ไม่ได้คำนวณเป็นลำดับตามหลักเกณฑ์ มักจะปนกับจำนวนอื่น ๆ แล้วผลบวกผลลบก็นำไปคูณหรือหารกับเลขอีกจำนวนหนึ่ง จำนวนก็ไม่ใช่จำนวนธรรมชาติ มีทั้งเศษส่วนชั้นเดียว และหลายชั้น บางจำนวนเศษอยู่อีกมาตราหนึ่ง จำนวนส่วนอยูในอีกมาตราหนึ่ง
ราวกับว่าผู้คำนวณมีเจตนาซ่อนเร้นประเภทและวิธีใช้ของจำนวนเลขเหล่านี้ (หรืออาจจะมั่วจริง ๆ ฮา) และยังได้อธิบายเกณฑ์การคำนวณในคัมภีร์สุริยยาตร์เทียบกับหลักตรีโกณมิตในระบบคณิตศาสตร์ปัจจุบันด้วย
คำภีร์สุริยยาตร์ซึ่งลาลูแบร์ได้นำไปจากกรุงศรีอยุธยา ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และแปลกลับมาเป็นภาษาไทย (ภาพจากเอกสารบรรยายพิเศษ เรื่อง คัมภีร์สุริยยาตร์กับโหราศาสตร์ไทย โครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ครั้งที่ 32 ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร)
จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม 1691 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสเด็จสวรรคต ยังคงมีการศึกษาวิชาการในสยามหลังจากนั้นอีกหนึ่งปี แต่ด้วยช่วงเวลาเดียวกันเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสยามและฝรั่งเศส จึงบีบให้ชาวฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากสยาม รวมทั้งบาทหลวงคณะเยสุอิตก็ต้องถอนตัวไปเช่นกัน การศึกษาดาราศาสตร์ตะวันตกในสยามช่วงอยุธยาจึงสิ้นสุดลงเช่นนี้
ใครปล่อยพระเจ้าแผ่นดินไปดูสุริยุปราคา
ระหว่างที่เรากำลังค้นคว้าข้อมูลอยู่ก็นึกขึ้นได้ว่าอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์เองก็มีตำแหน่งโหราจารย์เช่นกัน โหรวิกรม ปรมาภูติ ได้ให้ความเห็นไว้ในการเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง สุริยคราสมหันตภัยของไทย จัดโดยสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1995 (บันทึกไว้ในศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 1995) ไว้ว่า
เป็นความเชื่อสืบต่อกันมาแต่โบราณว่าอุปราคาหรือคราส เป็นปรากฏการณ์ประเภทลางร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เป็นนิมิตรที่ไม่ดี พืชพันธัญญาหารจะไม่ได้ผลแม้แต่น้อย ผู้ครองนครจะประสบความวิบัติ โดยที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
เห็นเช่นนี้แล้วโหราจารย์จะไม่ทักท้วงที่สมเด็จพระนารายณ์ชมปรากฎการณ์อุปราคาเลยเหรอ จากหลักฐานที่เราได้ไปค้นคว้า (หากอ่านมาถึงตรงนี้ อยากเสนอหลักฐานเพิ่มเติม โปรดส่งมาด้วย อยากรู้เหมือนกัน) มีเพียงบันทึกจากบาทหลวง เดอ ชัวซี (จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี 1685 และ 1686 หน้า 501) บันทึกความตอนหนึ่งว่า “พระโหราจารย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้มาชมดวงดาวจากกล้องดูดาวอันใหญ่ของพวกบาทหลวงเยซูอิต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 1685”
ซึ่งเราก็ตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานอาจถูกทำลายทิ้งในช่วงที่เกิดความขัดแย้งการเมืองระหว่างสยามและฝรั่งเศส และเมื่อไม่เห็นถึงหลักฐานวิพากษ์ดาราศาสตร์ตะวันตกจากฝั่งราชสำนักอยุธยา อย่าง “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณะ” โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ในหลายข้อความมุ่งให้ประชาชนละทิ้งแนวคิดดั้งเดิมที่ถูกมองว่าเป็น ไสยศาสตร์ ไม่สอดคล้องกับวิทยาการสมัยใหม่ จึงอาจหมายความได้ว่า การศึกษาธรรมชาติในแบบตะวันตกนั้นไม่ได้หยั่งรากลึกในอยุธยาหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคมสยามเลย
ทำไมกระบวนการแบบตะวันตกจึงจุดไม่ติดในสังคมสยามตอนนั้น
เอียน ฮอดจ์ (Ian hodges) เขียนถึงสาเหตุไว้ใน Western Science in Siam ว่า “มันเป็นเรื่องไม่แปลกที่พระนารายณ์ไม่สามารถยึดกุมแนวคิดอันเป็นหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์แบบยุโรปได้ นั่นก็เพราะไม่มีการศึกษาอะไรของพระนารายณ์หรือวิธีการมองจักรวาลแบบไทยที่จะตระเตรียมให้สามารถปรับและรับเอาทฤษฎีวิทยาศาสตร์ตามแบบอย่างตะวันตกได้
เมื่อปราศจากความรู้ความเข้าใจในหลักการทฤษฎีวิทยาศาสตร์ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องโทรทัศน์ นาฬิกา ตารางดาราศาสตร์ หรือลูกโลกจำลอง ก็เป็นเพียงของสะสมสำหรับการตกแต่งที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์เท่านั้น” (แรงมาก อ่านแล้วยังสะดุ้งราวกับว่าทุกวันนี่ก็ยังเป็นอยู่)
ชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาในอยุธยาได้มีการบันทึกเกี่ยวกับความรู้ของชาวสยาม โดยเฉพาะวิทยาการในราชสำนัก ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการก่อสร้าง การจัดการระบบน้ำ การใช้ปฎิทิน ความเข้าใจในภูมิศาสตร์และดาราศาสตร์ รวมถึงการแพทย์
แต่ในสายตาชาวยุโรปนั้น ความรู้ที่อาจเรียกว่า วิทยาศาสตร์พื้นถิ่น (Vernacular science) นี้ยังไม่อาจถูกนับรวมเป็นวิทยาศาสตร์ได้ วิธีคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานศาสนาและประเพณีเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแบบวิทยาศาสตร์ เป็นเวลายาวนานกว่าราชสำนักสยามจะสามารถสลัดความคิดที่ล้าหลังและรับเอาวิทยาการแบบตะวันตกไว้ได้ ซึ่งเกิดในอีก 2 ศตวรรษถัดมาในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (อาจารย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ ท่องไปบนดวงดาว ก้าวลงบนดวงจันทร์: ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ในสังคมไทย หน้า 20)
ภาพวาดสีน้ำของหอดูดาวเมืองลพบุรีเมื่อครั้งยังสมบูรณ์ บาทหลวงปูโช (Pouchot) คณะเยสุอิตมอบให้หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส ที่มา – ศิลปวัฒนธรรม
สำหรับบุคคลทั่วไปนั้น ลาลูแบร์ได้เล่าความสามารถของชาวสยามในกรุงศรีอยุทยาตอนปลายไว้สรุปได้ว่า ชาวสยาม (ทั่วไป) ไม่มีความรู้ในวิชาเรขาคณิตและกลศาสตร์ เพราะอาจจะไม่ต้องใช้ ดาราศาสตร์ที่ศึกษากันก็ใช้เชิงพยากรณ์เท่านั้น เขามีความรู้เชิงปฎิบัติแต่ไม่พยายามจะเข้าใจที่มา
ดูเหมือนเขาจะได้ปฎิรูปปฎิทิน 2 ครั้ง เพื่อให้ตารางราศีดาวนพเคราะห์สมบูรณ์ขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ค่อยพลาดจากวิถีโคจรของดาวนพเคราะห์ในปฎิทิน โดยคำนวณเพื่อแจ้งว่าในปีถัดไปดาวนพเคราะห์จะสถิตอยู่ที่ราศีใด ซึ่งเกือบจะใกล้เคียงกับที่นักดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสคำนวณได้โดยบวกเกณฑ์ 11 เข้ากับจำนวนวันทางจันทรคติของปีก่อน
ในงานวิจัยเรื่อง Magic, Science and Religion: And Other Essays โดย Bronislaw Malinowski, Robert Redfield, และ Joseph P. Ascherl ในปี 1954 บอกว่า “ความรู้ท่องถิ่นมีบทบาทในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่ต่างไปจากวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่เลย”
อ่านมาถึงตรงนี้สำหรับเราเองก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการที่ดาราศาสตร์ตะวันตกในสมัยอยุธยาหลุดจากมือไปเช่นนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายหรือไม่ เนื่องจากโหราศาสตร์เองก็ได้มีช่วงเวลาโลดแล่นในราชสำนักอีกกว่า 2 ศตวรรษ ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดบทบาทลงในสังคมสยาม โดยเรื่องราวเหล่านี้เป็นภาพที่ฝรั่งเศสมองไทยทั้งสิ้น ซึ่งไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับเนื่องจากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงชุดเดียวที่เหลืออยู่ หากมีหลักฐานใดถูกค้นพบเพิ่ม ก็หวังให้การปรากฎนั้นมาเติมเรื่องราวในส่วนที่ขาดหายไป
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
สรุปหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันเป็นที่มาของบทวิเคราะห์
  • S.K. Mukherjee, Vedanga Jotish of Langhadha, (New Delhi: Indian Nation Science Academy, 1985
  • จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร) ด้านที่ 1 ซึ่ง ศ. ยอช เซเดส์เป็นผู้ชำระและแปล
  • ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ของพระมหาราชครูมเหธรและพระราชพงศาวการกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ
  • อารี สวัสดี, วรพลไม้สน, ดาราศาสตร์ราชสำนัก
  • โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, วิทยาศาสตร์ในสังคมและวัฒนธรรมไทย
  • Steve Fuller, Science(Buckingham : Open university Press, 1997), หน้า 35-39
  • Steve Shapin, The Scientific Revolution(Chicago : University of Chicago Press, 1996),หน้า1-4,โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ แปล
  • René Descartes, Discourse on the Method
  • Collins, 2009; 112; ชนาธิป เกสะวัฒนะ, 2543; 79
  • พลับพลึง มูลศิลป์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในสมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา(พ.ศ.2199-2246)หน้า68
  • Annales Céleste Du Dix-septième Siècle(สารบรรณปรากฎการณ์บนท้องฟ้าเมื่อคริสศตวรราที่17) ของประเทศฝรั่งเศส
  • ตาชาร์ด, จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยามของบาทหลวงตาชาร์ด, หน้า114-122
  • บาทหลวงตาชารด์ แต่ง,สันต์ ท.โกมลบุตร แปล,จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่2ของบาทหลวงตาชาร์ด,(กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร,2519),หน้า1
  • ศิลปากร, กรม ประชุมพงศาวดารภาคที่42 ในชุดของคุรุสภา เล่มที่ 25 หน้า67
  • ด็องโน เดอ วิเซส์ แต่ง, เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แปล,วรรณกรรม ฟ.ฮีแลร์ พระยาโกษาปานไปฝรั่งเศส.(กรุงเทพฯ: โรงเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพฯ,2540), หน้า71-79
  • Remarques sur l’Ère des Siamois, sur leur Calandrier & sur leur Astronomie) มีการพิมพ์เผยแพร่ที่กรุงปารีสเมื่อ 1692
  • เดอชัวซี, จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี 1685 และ 1686
  • (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ท่องไปบนดวงดาว ก้าวลงบนดวงจันทร์: ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ในสังคมไทย หน้า 20
  • Bronislaw Malinowski, Robert Redfield, and Joseph P. Ascherl, Magic, Science and Religion: And Other Essays (Garden City, NY: Doubleday, 1954
โฆษณา